ThaiPublica > คนในข่าว > NEXT Krungthai ยุค “ผยง ศรีวณิช” DNAแบงก์รัฐ ในโลก “Invisible Banking”

NEXT Krungthai ยุค “ผยง ศรีวณิช” DNAแบงก์รัฐ ในโลก “Invisible Banking”

30 ธันวาคม 2020


Who Says Elephant Can’t Dance ใครว่าช้างเต้นระบำไม่ได้ เป็นเรื่องราวของไอบีเอ็ม ยักษ์ใหญ่ด้านไอที ที่รอดพ้นและฟื้นตัวจากการล้มละลายกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างโดดเด่นอีกครั้งด้วยการฟื้นฟูของลู เกิสต์เนอร์ ซีอีโอของไอบีเอ็ม แต่นั่นเป็นเรื่องราวของธุรกิจใหญ่ในโลกตะวันตก

ในประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารใหญ่อันดับต้นของไทยที่หลายสิบปีก่อน ถูกมองว่าอืดอาดยืดยาด เคลื่อนไหวช้า กลับลุกขึ้นมาเต้นระบำ ภายใต้การนำพาของ ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพลิกรูปแบบธุรกิจการให้บริการการเงินที่ทันสมัย ตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าและผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้แบบเรียลไทม์และไม่สะดุด บน open banking และ open platform

open banking บริการการเงินดิจิทัลโดยธนาคารกรุงไทยที่ประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศสามารถใช้ได้แม้ไม่มีบัญชีกับธนาคาร และยังก้าวสู่การใช้ invisible banking อย่างไม่รู้ตัวผ่านทั้งโครงการชิมช้อปใช้ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง

“เกิสต์เนอร์ได้พูดไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนว่า เทคโนโลยีจะทำลายล้างทุกอย่าง ผลของมันจะปฏิรูปทุกสถาบันในโลกนี้ จะสร้างผู้แพ้ ผู้ชนะ และที่สำคัญที่สุดจะเปลี่ยนวิถีการสอนลูกหลาน ไปจนถึงวิธีที่เราสื่อสารและก็ปฏิสัมพันธ์ของมนุษยชาติด้วย ซึ่งก็เป็นจริงแล้ว” ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หยิบยกคำพูดของ ลู เกิสต์เนอร์ ซีอีโอของไอบีเอ็ม มาเริ่มต้นการฉายภาพธนาคารกรุงไทยในช่วง 3–4 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับชี้ทิศทางของธนาคารในปี 2021 ในสถานะ “ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ”

“ผยง” ให้ภาพการเปลี่ยนผ่านธุรกิจธนาคารที่ชัดเจนอันเป็นผลจากพัฒนาการเทคโนโลยีว่า การเชื่อมโยงสาขาธนาคารในอดีตเป็นเชิงกายภาพ ลูกค้าจะไปใช้บริการต้องใช้โทรศัพท์ติดต่อล่วงหน้า รวมทั้งต้องใช้เวลาเดินทางไปที่ทำการสาขาและธนาคารเองต้องมีที่จอดรถรองรับ แต่โลกปัจจุบันเชื่อมโยงด้วยดิจิทัล สามารถใช้บริการเรียลไทม์ได้ และใช้ได้ตลอดเวลา เพราะมีระบบเครือข่ายสื่อสารที่ดี มีระบบประมวลผลที่ชาญฉลาดหรือ AI

4 ปีแห่งการปรับโครงสร้างให้แข็งแกร่ง

“ผยง”เล่าว่า ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยได้เพิ่มความแข็งแกร่งของโครงสร้างโดย ด้านแรก ได้ยกระดับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (loan loss coverage ratio: LLCR) จากระดับ 100% มาเป็นระยะ เพื่อให้ใกล้เคียงกับธนาคารที่เป็นคู่เทียบซึ่งมี LLCR อยู่ในระดับสูง 140–160% จนปัจจุบัน LLCR ของธนาคารกรุงไทยอยู่ที่ระดับ 125–130%

“ตอนนั้น LLCR กรุงไทยอยู่ที่ 100% ขณะที่คู่เทียบอยู่ที่ 140–160% นานแล้ว และเราประกาศจะว่ายกระดับมาที่ 110–120% และ 130–140% เราก็ได้ทำในสิ่งที่เราพูด วันนี้เงิน LLCR อยู่ในช่วง 125–130% ซึ่งเรามองว่าระดับ 130% บวกลบเป็นระดับที่เหมาะสมกับแนวทางธนาคารกรุงไทย แม้ระดับเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 150–160% แต่ธนาคารกรุงไทยก็ได้สร้างความแข็งแกร่งขึ้น”

ด้านที่สอง ได้ปรับปรุงคุณภาพของพอร์ตโฟลิโอสินเชื่อให้ดีขึ้น จากเดิมที่มีสินเชื่อหลายประเภท สินเชื่อที่ความเสี่ยงสูงมีผลตอบแทนต่ำมีสัดส่วนสูง เพราฉะนั้นจึงได้ปรับปรุงพอร์ตโฟลิโออย่างมีนัยสำคัญ ชนิดที่เรียกว่า de-risk ถอยออกจากความเสี่ยงที่ด้อยคุณภาพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ

    1) สินเชื่อในอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ ธนาคารกรุงไทยมีสัดส่วนสินเชื่อสูงถึงกว่า 60% จึงได้ถอยออกจากความเสี่ยงด้วยการตั้งสำรองและไม่เพิ่มสัดส่วนสินเชื่อในอุตสาหกรรมนี้

    2) การปล่อยกู้กลุ่มสหกรณ์ ซึ่งเดิมมีสินเชื่อสูงมากประมาณ 70,000 ล้านบาท และยังเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน แต่ตอนนี้การปล่อยสินเชื่อในกลุ่มสหกรณ์ลงมาเหลือแค่ 30,000 กว่าล้านบาทและเป็นหนี้ที่มีหลักประกันทั้งหมด

ด้านที่สาม ยกระดับความสามารถในการขาย ที่ผ่านมานอกจากการให้สินเชื่อที่กระจุกในภาคอุตสาหากรรมข้าว กลุ่มสหกรณ์ และสินค้าเกษตรแล้ว ธนาคารกรุงไทยยังมีความสามารถในการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าตัวหลัก (cross-sellings) ค่อนข้างจำกัด ทำให้ขายได้เพียงผลิตภัณฑ์สินเชื่ออย่างเดียวเป็นหลักและยังเป็นลูกหนี้รายใหญ่ ซึ่งมีผลต่องบดุล จึงได้เร่งเพิ่มเงินกู้ระยะสั้นเพื่อให้เงินหมุนหลายรอบ รวมทั้งเร่งการนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่นที่ตอบโจทย์ ทั้งการให้บริการด้านธุรกรรมธนาคาร (transactional banking) สินเชื่อการค้า (trade finance) อัตราแลกเปลี่ยน และธุรกิจตลาดทุนตลาดเงิน

วางยุทธศาสตร์คู่ขนานสู่ Open Banking

“ผยง” เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาเทคโนโลยีของธนาคารกรุงไทยยังห่างจากคู่เทียบถึง 5 ปี จึงนำไปสู่การปรับเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนธนาคารใหม่ โดยวางยุทธศาสตร์คู่ขนาน เพื่อให้บริการได้ทั้งในระบบปิดและระบบเปิด เนื่องจากมองเห็นถึงแนวโน้ม open banking จะเติบโตและขยายวงกว้างในอนาคต

“ที่ผ่านมาเทคโนโลยีของธนาคารกรุงไทยห่างจากคู่เทียบ 5 ปี ช่วงนั้นธนาคารคู่เทียบได้ให้บริการโมบายแบงกิงแล้ว แต่ธนาคารกรุงไทยยังให้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิง ในชื่อกรุงไทยเน็ตแบงก์อยู่ จึงเป็นจุดที่ต้องทำให้ตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะมุ่งไปในทิศทางไหน ณ วันนั้นเราเชื่อว่า ดิสรัปชันมาแน่ โมบายแบงกิงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ และที่สำคัญเรามองเห็นว่า คงขับเคลื่อนเข้าสู่ open banking อย่างแน่นอน เราก็ตัดสินใจครั้งสำคัญของธนาคารกรุงไทย จากสองทางเลือกว่า หนึ่ง จะเพียงแค่ปิดแกปกับคู่เทียบด้วยการพัฒนาโมบายแบงกิงขึ้นมาแข่ง หรือสอง เราจะทำสิ่งใหม่ วันนั้นจึงตัดสินใจเดินยุทธศาสตร์คู่ขนาน”

ยุทธศาสตร์คู่ขนานหรือ “2 Banking Model” ประกอบด้วย กลยุทธ์แบบเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งมุ่งปกป้อง ป้องกัน รักษา และพัฒนาธุรกิจดั้งเดิมของธนาคาร และกลยุทธ์เรือเร็ว มุ่งเน้นการทำงานแบบเรือเร็ว กระชับ เป็นลักษณะการทำงานแบบ agile ด้วยคติการเรียนรู้แบบ fail fast, learn fast ซึ่งจะเป็นการทำงานแบบสอดประสานกัน เพื่อให้ธนาคารกรุงไทยสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างเหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบ

“ผยง”เล่าต่อว่า ในที่สุดธนาคารก็ตัดสินใจว่า ต้องลงทุนเพื่อพัฒนาโมบายแบงกิงเพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังใช้โมบายแบงกิงที่เป็นระบบปิด ระบบธนาคารในการทำธุรกรรมต่าง เนื่องจากยังไม่มั่นใจต่อความปลอดภัยทางการเงิน ซึ่งธนาคารกรุงไทยมองว่าโมบายแบงกิงยังมีพลวัตต่อเนื่องอีก 3-5 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น แต่แนวโน้มจะลดลงในอนาคต และมุ่งสู่ open banking แน่นอน

“การที่ยังพัฒนาโมบายแบงกิงเพราะเราต้องไปดึงลูกค้าที่อยู่ในระบบของธนาคารก่อน ให้เป็นลูกค้าของเราก่อน เพื่อให้มีจุดยึดโยงบ้าง เพราะการปล่อยให้ลูกค้าออกไปจากธนาคารแล้วดึงกลับภายหลังจะยากและต้องใช้ความพยายามอย่างมาก จึงต้องเร่งพัฒนาโมบายแบงกิง” ผยงกล่าว

“ผยง” เล่าต่อว่า ระบบโมบายแบงกิงของธนาคารล่มภายในสองชั่วโมงหลังจากที่เปิดตัว จึงเป็นบทเรียนครั้งสำคัญว่า ระบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางไอทีหรือ core banking รวมทั้งระบบฐานข้อมูลของธนาคารเป็นระบบที่ไม่สามารถรองรับธุรกรรมที่ต้องประมวลผลธุรกรรมในปริมาณมหาศาลต่อวินาทีได้ ต่างจากการประมวลผลแบบเดิมผ่านสาขาที่มีหลายพันแห่งทั่วประเทศ ที่แม้จะมีผู้ใช้บริการผ่านเคาน์เตอร์จะมีจำนวนมาก แต่ปริมาณธุรกรรมไม่ได้มากเหมือนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้แก้ไขปรับปรุงจนทุกวันนี้มีเสถียรภาพมาก

ในขณะเดียวกัน ธนาคารกรุงไทยได้พัฒนาเป๋าตัง ซึ่งเป็นบริการในระบบเปิด ต่อยอดจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งช่วงนั้นเป็นบัตรที่มีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-wallet จำนวน 20 กระเป๋า โดยธนาคารกรุงไทยได้ร่วมมือกับกระทรวงการคลัง เพราะเห็นตรงกันว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะนำไปสู่สิทธิและสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่มีบัตร ในอนาคตจะนำไปสู่การไร้บัตร จึงเร่งพัฒนาเป๋าตังขึ้นมา เป๋าตังเป็นสวัสดิการแห่งรัฐที่ใช้ซื้อของในตลาดได้ เพราะแม่ค้าในตลาดไม่ได้มีเครื่องอีดีซี แต่มีมือถือ ใช้แอปได้ ใช้จ่ายได้

“เราเร่งทำระบบเปิดคู่ขนาน วันนี้ระบบปิดของเรา กับระบบเปิดเป็นระบบที่แยก และข้างหลังเป็นสถาปัตยกรรมที่เราออกแบบ เพื่อเราตั้งใจที่จะรองรับ 40-60 ล้านคน นั่นคือวิสัยทัศน์ที่วางไว้เมื่อ 3-4 ปีก่อน วันนี้โมบายแบงกิงกรุงไทย Next เป็นระบบเสถียรภาพที่ดีที่สุดในประเทศไทยเพราะ 100% อยู่บนระบบคลาวด์ เป็นระบบโมบายแบงกิงเดียวที่ออนคลาวด์ มีความสามารถรองรับการขยายตัวได้ (scalability) และเชื่อถือได้ (reliability) เพราะมีเสถียรภาพมาก”

“ผยง” กล่าวต่อว่า ผลของการพัฒนาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่เทคโนโลยีธนาคารช้ากว่าคู่เทียบ 5 ปี ซึ่งกลับเป็นข้อดีคือ ซื้อเทคโนโลยีมาได้ถูกกว่าคู่เทียบอย่างมาก และสามารถพัฒนาได้เร็ว

เรือเร็วอินฟินิธัสบุกสู่บริการไร้ขอบเขต

นวัตกรรมการเงินที่สำคัญ ในโลกปัจจุบัน มีด้วยกันสองด้าน คือ หนึ่ง การใช้ระบบเปิด open banking, open platform สอง ระบบต้องเชื่อมโยงถึงกันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อขยายบริการในระบบเปิดและหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ธนาคารกรุงไทยได้ก่อตั้ง บริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่ Innovation Lab

อินฟินิธัส บาย กรุงไทย เป็นเรือเร็ว (speed boat) ที่จะออกหาโอกาสดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์คู่ขนาน

“วันนี้เรือเร็วของเรามีชื่อว่าอินฟินิธัส ที่ไร้ขอบเขต จิตนาการธุรกิจใหม่แล้วลงมือปฏิบัติ ค้นหาให้เจอทำวิจัย ต้องหาให้เจอ สิ่งที่เราเดินมา 3-4 ปีและอินฟินิธัสรับภาระกิจต่อไป คือ เราต้อง think big ถ้าล้มเหลวก็เป็นเรื่องปกติ เป็นการเรียนรู้ แต่ต้องเรียนรู้ให้เร็ว สิ่งที่อินฟินิธัสต้องทำให้เร็วคือการวางโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศไทย เพื่อทำแพลตฟอร์มให้รับได้ถึง 40-60 ล้านคน สร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ไปจนถึงระบบนิเวศ หาพันธมิตร”

“ผยง” กล่าวว่า ภายใต้ 5 ระบบนิเวศ กรุงไทยเน็กซ์ในระบบปิด และเป๋าตังในระบบเปิด เริ่มกลมกลืนกัน สะท้อนภาพใหญ่คือ การขยายฐานลูกค้ากรุงไทยแบบก้าวกระโดด เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นเป็นโอกาส เพราะมองว่าดิสรัปชันคือโอกาสในการก้าวกระโดด ใช้โอกาสตรงนี้กระโดดก้าวไปให้ไกลในวันข้างหน้า ให้ได้หลายระดับ บน 5 ระบบนิเวศ

“ผมได้เรียนตลอดเวลาว่า กรุงไทยเหมือนเรือบรรทุกเครื่องบิน ต้องค่อยๆเลี้ยว แต่เลี้ยวแล้ว เรามั่นใจในทิศทางและเป้าหมาย”

“ผยง” กล่าวว่า การทุ่มเทพัฒนาที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงเส้นทางการก้าวสู่ open banking และมาสู่ invisible banking อย่างชัดเจน ทิศทางของธนาคารตอบโจทย์ในสิ่งที่โลกเปลี่ยนไป พร้อมกับเร่งสร้างสิ่งใหม่ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

ค้นพบตัวเอง “ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ”

“ผยง” เล่าอีกว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยยังค้นพบตัวเองว่าเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ และไม่สามารถหลีกเลี่ยง DNA ความเป็นรัฐได้ จึงต้องใช้ประโยชน์และโอกาสสูงสุดของรัฐในฐานะที่เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ อีกทั้งที่ผ่านมาตลอดเวลาหลายสิบปีกรุงไทยถูกจัดให้แข่งขันกับ 4 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ด้วยความต้องการของผู้ถือหุ้นของธนาคาร ดังนั้นเมื่อกรุงไทยมีโครงสร้างเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ก็ต้องแข่งขันและตอบโจทย์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครบถ้วนไปพร้อมๆ กัน

“เราตระหนักว่า ความที่เราเป็นรัฐวิสาหกิจ ณ เวลานั้น เราคงหนีไม่ได้ มันคือ DNA ของเรา เพราฉะนั้นก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ ด้วยบริบทของความที่มี DNA ดังกล่าวกลับกลายเป็นจุดแข็ง เพราะเป็นความสมดุล ไม่เน้นกำไรสูงๆ ในระยะสั้นและยังรวมถึงการดูแลคนไทย ดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคมให้ยั่งยืน”

ธนาคารกรุงไทยได้เติบโตคู่ขนานมากับระบบสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง รัฐได้มอบหมายให้กรุงไทยรับดูแลผู้ฝากเงินของ 56 สถาบันการเงินที่ถูกสั่งปิด และให้เข้าเทคโอเวอร์ธนาคารมหานคร

“ผยง” ได้เล่าย้อนไปว่า เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว กระทรวงการคลังได้โอนหุ้นทั้งหมดที่มีในธนาคารกรุงไทยที่ถืออยู่ 37% ให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งถือหุ้นธนาคารกรุงไทยอยู่แล้ว 31% ส่งผลให้ FIDF เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารกรุงไทย โดยปัจจุบันถืออยู่ 55% หลังจากมีการเพิ่มทุน แต่ในด้านการบริหารจัดการมีกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารจัดการมาตลอด

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

“ฉะนั้นบนความที่เราไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ในเชิงสาระสำคัญไม่มีอะไรแตกต่าง เราคือสถาบันการเงินของรัฐอยู่ดี เรายังเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ คำนิยามรัฐวิสาหกิจต้องไปดูกฎหมายหลายฉบับ แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า FIDF ถือหุ้นเรามา 55% มากว่า 30 ปีแล้ว”

“ผยง” อธิบายที่มาของการไม่ได้มีสถานะรัฐวิสาหกิจของธนาคารว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดทำพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ซึ่งให้คำนิยาม ธปท. ว่า มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น ส่งผลให้ FIDF เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเช่นกัน และเป็นจุดตั้งต้นการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องจนถีงปี 2561 ในยุคคณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการแก้ไขกฎหมายงบประมาณ

“ทิศทางของธนาคารกรุงไทย ไม่ได้เปลี่ยน ทุกปี FIDF มอบอำนาจให้กระทรวงการคลังไปโหวตในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ถือหุ้น 55% ผ่านการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีทุกปีเป็นเวลามากว่า 30 ปีแล้ว และไม่มีอะไรแตกต่าง ผู้แทนของกระทรวงการคลังยังนั่งเป็นประธานธนาคาร”

ยุทธศาสตร์ X2G2X ต่อยอดจากคู่ค้า-ลูกค้า

“เมื่อเราค้นพบตัวเองว่า เราเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ณ วันที่เราทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หลังจากนั้นเราก็เดินหน้ามาตลอด”

การเดินบนความเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ จึงเป็นที่มาของยุทธศาสตร์การต่อยอดธุรกิจจากคู่ค้าของลูกค้า หรือ X2G2X โดย”ผยง”อธิบายว่า รัฐบาลในบริบททั่วไปมักจะไปอยู่ในกลุ่มของภาครัฐหรือ G แต่กรุงไทยกับรัฐบาลเป็นพันธมิตรกันมานาน และรัฐบาลมีหลายบริบทกับธนาคารกรุงไทย ทั้งบทของผู้ถือหุ้นที่กำกับดูแลธนาคารกรุงไทย การเป็นตัวแทนของ FIDF บริบทของลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารกรุงไทย และในบริบทพันธมิตรของธนาคารกรุงไทย ไม่ต่างจากลูกค้ารายใหญ่กับธนาคารอื่น

“ผยง” อธิบายว่า รัฐบาลเป็นทั้งลูกค้ารายใหญ่ของธนาคาร เป็นสถาบันและเป็นระบบนิเวศหลักที่คนไทยทุกคนเข้าไปไปฝังตัวอยู่ ธนาคารกรุงไทยจึงยกให้ตัว G อยู่ตรงกลางเป็นศูนย์ เพราะมีคุณสมบัติเฉพาะ มีภาระกิจแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป จึงเรียกว่า ยุทธศาสตร์ X2G2X ตัว X จะเป็นตัว C ก็ได้ จะเป็นตัว G ก็ได้ เป็นการเชื่อมโยงของภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ผู้บริโภค ภาครัฐบาล ในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น B2C, C2C หรือการจ่ายภาษี C2G

ยุทธศาสตร์ X2G2X เชื่อมโยงกับ 5 ระบบนิเวศของธนาคาร ได้แก่ กลุ่มการชำระเงิน กลุ่มการรักษาพยาบาลและสุขภาพ กลุ่มสถาบันการศึกษาและนักเรียน กลุ่มระบบขนส่ง และกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ

“ผยง” กล่าวอีกว่า ภาระกิจของธนาคารกรุงไทยสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมคนบนดิจิทัล ยึดโยงกับภาระกิจพื้นฐานของคน คือ ปัจจัยสี่ ซึ่งก็ตรงกันกับภาระกิจของรัฐบาล และเมื่อรัฐบาลกลายเป็นพันธมิตรหลักของธนาคารกรุงไทย ก็มีการปรับแนวทางในเรื่องของกลุ่มเป้าหมายที่มี และจะต้องเข้าไปตอบโจทย์

“เราต้องเลือกพื้นที่ที่แข่งขันแล้วชนะ ในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย จึงเป็นจุดแข็งของธนาคารกรุงไทยที่มีเครือข่ายทุกจังหวัด เราเข้าใจ เราเข้าถึง เรายืนอยู่บนความเข้มแข็งของเรา เรายืนอยู่บนความเป็นตัวตนของเรา และเราจะจับมือกับพันธมิตรที่เราเข้าใจเขาและเขาเข้าใจเรา นั่นคือสิ่งที่เราเดินมา 3 ปีที่ผ่านมา”

“ผยง” กล่าวต่อว่า การที่ธนาคารกรุงไทยมองทิศทางเทคโนโลยีอย่างรอบคอบ ศึกษาทำความเข้าใจ และระมัดระวังในการประเมินทางเลือกตลอดเวลา ส่งผลให้วันนี้ธนาคารกรุงไทยสามารถให้บริการได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการชิมช้อปใช้ รวมทั้งความพร้อมในการตอบโจทย์ให้คนไทยในการเยียวยาโควิดผ่านเงินช่วยเหลือ 5,000 พันบาท ความพร้อมในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการดูแลคนไทยจากโควิดด้วยแอปพลิเคชันไทยชนะ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ธนาคารได้สร้างมาบนความที่เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ และประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายบนโรดแมปที่วางไว้

ยุทธการฝ่าวิกฤติ Execution Through Perfect Storm

“ผยง”กล่าวว่า มองไปในอนาคตความท้าทายก็คือ การระบาดของโควิด-19 ทำให้โลกไม่เหมือนเดิม เพราะความรุนแรงของผลกระทบสูงมาก การฟื้นตัวจะไม่เท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน ภูมิภาค อาชีพ และยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เพราะโลกเริ่มมีการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต มีการลดความเสี่ยง กระจายความเสี่ยง และมีการลดความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจลง (deglobalization)

สำหรับเศรษฐกิจไทยปีหน้าคาดว่าจะขับเคลื่อนด้วยรัฐบาลเป็นหลัก ดังนั้นการใช้จ่ายของรัฐต้องมีประสิทธิภาพ เพราะการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 20% ของจีดีพีนั้นคงเป็นภาคธุรกิจที่จะเปิดให้บริการหลังภาคธุรกิจอื่นๆ และคงไม่เติบโตมากนัก โดยธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณการว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประมาณ 5.5 ล้านคน ขณะที่การส่งออกของไทยยังกระจุกค่อนข้างสูงในภาครถยนต์กับอิเล็กทรอนิกส์ หากไม่สามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ การฟื้นตัวจะมีความไม่แน่นอนสูงเช่นกัน

ความท้าทายระบบเศรษฐกิจไทยอีกด้านคือ หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง หากรายได้ยังไม่เพิ่มก็ไม่สามารถลดลดหนี้ครัวเรือนลงได้ ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ยังมีความจำเป็นต้องประคองระบบเศรษฐกิจ ด้วยการดูแลสินเชื่อผ่านมาตรการดูแลลูกหนี้ เพื่อให้ฝ่าวิกฤติโควิดให้ได้ แม้มาตรการ ธปท. ช่วยให้ดูแลลูกหนี้ตามกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น และสามารถปรับโครงสร้างหนี้ไปได้ถึงสิ้นปี 2564 แต่อาจนำไปสู่ผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว (cliff effect) ทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองเพื่อความเสี่ยง

“โลกเปลี่ยนไปมากจากเทคโนโลยี การให้บริการทุกอย่างต้องราบรื่นตอบโจทย์ทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกัน เป็นความท้าทายของระบบเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญที่สุดของธนาคารกรุงไทยและผู้เล่นในหลายอุตสาหกรรมคือ ถ้าจะอยู่รอดเราต้องปรับตัวให้สู้การเปลี่ยนแปลงให้ได้ ยุทธการฝ่าวิกฤติ Execution Through Perfect Storm จึงเป็นพันธกิจ ปี 2021 ของธนาคารกรุงไทย

ยุทธการฝ่าวิกฤติประกอบด้วย 5 เสาหลัก ได้แก่

หนึ่ง จะประคองการเติบโตของธุรกิจหลัก ธุรกิจเดิมให้ต่อเนื่องและมีคุณภาพ ต้องดูแลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดคุณภาพ (non-performing loan: NPL) การปรับโครงสร้างหนี้ ดูแลลูกหนี้ การ cross-sellings ตามบริบทเดิม ประคองไป ให้ลูกหนี้กระทบน้อยที่สุด เท่าที่จะดำเนินการได้

สอง การสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ด้วยอินฟินิธัส จะพยายามเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเป็นการขายให้ได้ ปัจจุบันธนาคารมีพนักงานระดับสูงประจำตามสาขา การให้บริการหลายอย่างจะถูกทดแทนด้วยดิจิทัล เพราะฉะนั้นการให้บริการจะปรับรูปแบบไป เช่น คอลเซ็นเตอร์ การติดตามหนี้ การประเมินหลักทรัพย์

สาม จะดูแลให้องค์กรใช้กระดาษน้อยที่สุด แต่จะปรับเป็นกระบวนการทำงานดิจิทัลมากขึ้น โดยจะเร่งนำหุ่นยนต์มาใช้ และบางจุดจะใช้ AI เข้ามาในการประมวลงานด้วย ส่วนประมวลการพิจารณาสินเชื่อ เป็นกระบวนการที่ไร้กระดาษโดยสิ้นเชิง และจะต้องอยู่บนระบบที่ฉลาดหรือ AI

สี่ จะต้องยึดโยงอยู่กับการทำธุรกิจ กับคู่ค้าของลูกค้า คือ X2G2X บนห่วงโซ่ดิจิทัล เพราะโลกแห่งอนาคตอย่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งหมด

ห้า ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ทั้งในเรื่องปฏิรูปวัฒธรรมองค์กร การยกระดับทักษะ reskill, upskill, cross-skill ไปจนถึงการปรับรูปแบบกระบวนการทำงานเพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องชุมชนแข็งแรง เพราะกรุงไทยจะมีลูกค้าที่แข็งแรงและนำไปสู่ความยั่งยืนของธนาคารกรุงไทย

“ผยง” กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชาชน 40 ล้านคนที่อยู่ในระบบปิดและระบบเปิดของกรุงไทย หรือเกิน 50% ของประชากรทั้งประเทศ ในความร่วมมือกับพันธมิตรคือกระทรวงการคลัง

“ยุทธศาสตร์ของเราไม่ใช่เพิ่งเริ่มขึ้น แต่เป็นสิ่งที่เดินต่อเนื่องมา 3–4 ปี ปรับแต่งให้ลึกลง เห็นภาพชัดและจับต้องได้ ทั้งหมดประกอบด้วยวิสัยทัศน์ พันธกิจที่รู้เป็นใคร เรารู้ตัวว่าตัวตนเราคือใคร พันธกิจมีความเหมาะสมกับความเป็นตัวเรา และบนวิสัยทัศน์ เรามีความมั่นใจ เรามองโลกมองอนาคต ในแบบที่ไร้ขอบเขตเต็มศักยภาพ การยึดโยงโลกอนาคตด้วยโครงข่ายดิจิทัล ที่สำคัญที่สุด คนกรุงไทยทุกคนลงมือทำ และทั้งหมดสู่ความยั่งยืน”