จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็น เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2028 เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม 5 ปี จากความสามารถที่เหนือกว่าประเทศอื่นๆ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก เป็นผลจากการฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แตกต่างกัน
รายงาน World Economic League Table หรือ WELT 2021 รายงานฉบับล่าสุดที่จัดทำ Center for Economics and Business Research (Cebr) ในลอนดอน
“การแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจและการใช้อำนาจละมุน หรือ soft power ระหว่างสหรัฐฯ และจีน เป็นประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจโลกมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว” Cebr ระบุในรายงานประจำปีที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมนี้ “การระบาดใหญ่ของโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาทำให้จีนได้เปรียบในการแข่งขันอย่างแน่นอน”
Cebr ระบุว่า “ทักษะการจัดการกับการระบาด” ของจีน ด้วยการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด และผลกระทบที่รุนแรงต่อการเติบโตในระยะยาวของฝั่งตะวันตก เทียบกันแล้วเศรษฐกิจของจีนมีสภาพที่ดีกว่า
เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเฉลี่ย 5.7% ต่อปีในช่วงปี 2021-25 ก่อนที่จะชะลอตัวลงและขยายตัวในอัตรา 4.5% ต่อปีช่วงปี 2026-30
ขณะที่สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะมีการฟื้นตัวหลังการระบาดอย่างรุนแรงในปี 2021 แต่การเติบโตจะชะลอตัวลงเหลือ 1.9% ระหว่างปี 2022 และ 2024 จากนั้นจะขยายตัว 1.6%
ญี่ปุ่นจะยังคงเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ในสกุลเงินดอลลาร์ จนถึงต้นปี 2030 ที่อินเดียจะแซงขึ้นมา พร้อมกับเบียดเยอรมนีให้ร่วงลงจากอันดับ 4 ไปอยู่ที่อันดับ 5
อย่างไรก็ตามในปี 2020 นี้ อินเดียซึ่งแซงหน้าอังกฤษในปี 2019 ได้ถูกอังกฤษกลับมานำอีกครั้ง เพราะอินเดียได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคระบาด และอังกฤษจะมีอันดับเหนือกว่าอินเดียไปจนถึงปี 2024 ก่อนที่อินเดียจะแซงหน้าได้อีกรอบ
ปัจจุบันอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 จากกาปรระเมินรของ CEBR จะหลุดไปอยู่อันดับที่ 6 ในปี 2024 อย่างไรก็ตามแม้จะได้รับผลกระทบในปี 2021 จากการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป แต่ GDP ของอังกฤษในสกุลเงินดอลลาร์ก็คาดว่าจะสูงกว่าฝรั่งเศส 23% ภายในปี 2035 ซึ่งเป็นผลจากการเป็นผู้นำของอังกฤษในเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีความสำคัญมากขึ้น
ยุโรปซึ่งมีสัดส่วน 19% ของมูลค่า GDP ในกลุ่ม 10 อันดับแรกของเศรษฐกิจโลกรวมกันในปี 2020 จะลดลงเหลือ 12% ภายในปี 2035 หรือน้อยกว่านั้น หากมีการแตกแยกอย่างรุนแรงระหว่างสหภาพยุโรปและอังกฤษ
นอกจากนี้ Cebr ยังระบุว่า ผลกระทบของการระบาดใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะแสดงให้เห็นมากขึ้นในอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ไม่ใช่การเติบโตที่ช้าลง
“เราเห็นวัฏจักรเศรษฐกิจที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2020” Cebr ระบุซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลที่กู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อเป็นทุนในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 “ แต่แนวโน้มที่ชัดเจนคือ เป็นเร่งให้ไปสู่โลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เมื่อก้าวเข้าสู่ทศวรรษ 2030”
รายงาน Cebr ยังประเมินว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ GDP โลก ราว 6 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2020
ในระยะยาวผลกระทบจะลดลงเหลือประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2034 แต่มีแนวโน้มที่ผลกระทบด้านอื่นๆ จะเกิดขึ้น และเชื่อว่าจะแผลเป็นทางเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบให้ต้องยอมแลกระหว่างการขยายตัวกับเงินเฟ้อ ดังนั้นจึงคาดว่าเงินเฟ้อที่สูงขึนจากผลกระทบด้านอุปทานในช่วงการระบาดจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
มองไปข้างหน้า การระบาดของโควิด-19 จะกระทบ GDP ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่
-
1) ภาระหนี้รัฐบาลจะสูงขึ้น
2) กระทบความต้องการ ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
3) กระทบอุปทาน ผ่านผลกระทบต่อการลงทุน และลดผลิตภาพอันเป็นผลจากการใช้มาตรการเข้มงวดสกัดการแพร่ระบาด
4) เป็นจุดเริ่มต้นกระแสใหม่ให้เกิดขึ้นเร็ว ทั้งการปรับไปสู่ดิจิทัล และการทำงานจากระยะไกล
การที่มีวัคซีนพร้อมใช้ที่แพร่หลายมากขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจสามารถเริ่มเดินหน้าได้ และความเข้มงวดของมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อสกัดการระบาดจะลดลง จึงคาดว่าในสิ้นปี 2021 มาตรการจำกัดจะน้อยกว่าเดิม แม้ว่าจะยังมีผลกระทบไปอีกระยะหนึ่งในหลายประเทศ
รายงาน WELT ติดตามเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ พบว่าได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างชัดเจน แต่โดยทั่วไปแล้วเอเชียจัดการกับปัญหาได้ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ขณะที่ยุโรปและอเมริกาทำได้ด้อยกว่า ด้วยเหตุนี้ (แม้ว่าตัวเลขอาจเทียบไม่ได้ทั้งหมด) ประเทศเอเชียส่วนใหญ่ มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าและได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่า ขณะที่ประเทศในตะวันตก มีการจัดการที่ไม่ดีทั้งในด้านทางการแพทย์และเศรษฐกิจ
ความสำเร็จในเอเชียตะวันออก (และออสตราเลเซีย) ได้รับการถ่ายทอดไปในหลายประเทศที่มีวัฒนธรรมประเพณีและการเมืองที่แตกต่างกัน
บทเรียนหนึ่งสำหรับตะวันตก คือ เศรษฐกิจตะวันตกจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเอเชียเพื่อให้ก้าวทันกับการพัฒนาระหว่างประเทศ
สิ่งที่บ่งชี้ว่าเอเชียตะวันออกทำได้ดีกว่าตะวันตกและชัดเจนมากขึ้น คือ จากรายงาน WELT 2020 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯในสกุลเงินดอลลาร์ในปี 2033 แต่กลับกลายเป็นว่าจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในปี 2028 เร็วขึ้นจากที่ประเมินไว้เดิมถึง 5 ปี และยังเป็นภาพสะท้อนถึงเศรษฐกิจของประเทศเอเชียอื่นๆ