ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > พระราชดำริค้ำจุนสังคม: “บ้านบางโรง” จากวิกฤติป่าชายเลนสู่แหล่งอาหาร วันที่มรสุมโควิดพัดพาคนกลับสู่ท้องทะเล

พระราชดำริค้ำจุนสังคม: “บ้านบางโรง” จากวิกฤติป่าชายเลนสู่แหล่งอาหาร วันที่มรสุมโควิดพัดพาคนกลับสู่ท้องทะเล

6 ธันวาคม 2020


ภาพจำ “ภูเก็ต” ของใครหลายคนคือเมืองท่องเที่ยวที่คึกคัก และคราค่ำไปด้วยผู้คนแทบตลอดปี เกาะเล็กๆ ที่ปีหนึ่งๆ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 4 แสนล้านบาทต่อปี แต่ด้วยวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้เมืองแห่งนี้เงียบลงถนัดตา ภูเก็ตในวันที่การท่องเที่ยวซบเซาจากพิษของโรคระบาด แต่ชีวิตอีกมุมหนึ่งในภาคการเกษตรและประมงยังคงดำเนินไปตามปกติ ความคุ้นชินกับความปรวนแปรของกระแสน้ำทำให้คนในชุมชนบ้านบางโรง ไม่ได้ยี่หระต่อผลกระทบทางในครั้งนี้สักเท่าไร และที่แห่งนี้กลับเป็นแหล่งรองรับให้คนเมืองหวนคืนวิถีดั้งเดิมอย่างประมงเสียด้วยซ้ำ ธรรมชาติยังคงเป็นแหล่งพักพิง และเป็นแหล่งทำกินที่มั่นคงให้กับมนุษย์ได้เสมอ

สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรม-ปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ พาไปสำรวจอีกมุมหนึ่งของภูเก็ต มุมเล็กๆ ที่เป็นอีกแหล่งอาหารของเกาะแห่งนี้ บ้านบางโรงชุมชนต้นแบบที่กำลังเผชิญการปรับตัวอีกระรอก ทั้งจากขั้วการเมืองท้องถิ่นที่เปลี่ยนไป การหยุดนิ่งของการท่องเที่ยว และการหวนคืนถิ่นของคนเมืองที่บอบช้ำจากวิกฤติโควิด-19

สิ่งที่บ้านบางโรงกำลังเผชิญในวันนี้ไม่ได้น่าหวาดหวั่นในสายตาของ “บังเสบ” เพราะที่แห่งนี้เคยผ่านพ้นวิกฤติใหญ่ที่เกือบสูญพื้นที่ป่าชายเลนที่เป็นแหล่งก่อเกิดทรัพยากรหลายพันไร่ไปทั้งพื้นที่ แต่ก็สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้ด้วยแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และหลักการทางศาสนาที่เป็นหลักตั้งมั่นให้กับชาวบ้าน

น้อมนำคำสอน สร้างระบบพัฒนาคน ฟื้นคืนป่าชายเลน 2,900 ไร่

เสบ เกิดทรัพย์ หรือบังเสบ ประธานการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง และผู้จัดการกลุ่มออมทรัพย์อัลอามานะห์ บ้านบางโรง

เสบ เกิดทรัพย์ หรือ บังเสบ ประธานการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง และผู้จัดการกลุ่มออมทรัพย์อัลอามานะห์ บ้านบางโรง บอกเล่าเท้าความถึงวิกฤติในวันวานของลำน้ำคลองบางโรงที่เป็นเส้นเลือดหลักของคนบางโรง ที่แห่งนี้มีพื้นที่ป่าชายเลนกว่า 2,900 ไร่ แต่พื้นที่ป่าเคยถูกทำลายจนเหลือเพียง 10% เนื่องจากในอดีตพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมดนี้อยู่ในความดูแลของรัฐ และได้ถูกทำลายลงตั้งแต่ปี 2513 จากสัมปทานเผาถ่าน ที่ทำให้เกิดการแพ้วถางป่าโกงกาง อีกทั้งยังมีการลักลอบออกโฉนดในพื้นที่ป่าให้กับนายทุนเอกชน จนเกิดการจับจองพื้นที่รุกป่าโกงกางเพื่อทำนากุ้งอีกจำนวนมาก ในขณะที่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปใช้สอยประโยชน์ทำกิน ตามวิถีประมงใดๆ ได้เลย

“ในอดีตชาวบ้านเข้าไปเล็กน้อยก็ถูกจับ แต่กลับมีการออกโฉนดในพื้นที่ป่าชายเลนให้กับนายทุนได้ มีการสัมปานเผาถ่าน ป่า (โกงกาง) หลายไปเยอะมาก” บังเสบกล่าว

สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม จากป่าชายเลน 2,900 ไร่ เหลือเพียง 10% เมื่อป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำหายไปก็ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลง และยังส่งผลให้เกิดทั้งปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน ซึ่งตนและชาวบ้านพยายามเรียกร้องให้มีการยกเลิกสัมปทานดังกล่าว จนต่อมารัฐได้ปิดป่าในปี 2539 แต่การปิดป่าก็ไม่ได้ช่วยให้ทรัพยากรกลับมา การอนุรักษ์ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการ อย่างไรก็ตามทรัพยากรป่าชายเลนที่ถูกทำลายมานานนับสิบปีใช่ว่าจะฟื้นคืนมาในเวลาอันสั้น แต่ต้องใช้เวลานานนับสิบปีเช่นเดียวกันกว่าพื้นที่แห่งนี้จะเป็นป่าสมบูรณ์ทั้ง 2,900 ไร่ดังเดิม

ป่าชายเลนที่กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

“ชาวบ้านตั้งคำถามว่าทำไมรัฐไม่อนุรักษ์ พร้อมคำถามย้อนกลับว่าแล้วเราจะรอแต่รัฐบาลหรือ เราจึงเริ่มทำการวิจัยและสำรวจพื้นที่ในปี 2545 เราใช้งบประมาณส่วนตัวในการพัฒนาพื้นที่ ไปดูงานที่อ่าวคุ้งกระเบน ที่ระนอง แล้วกลับมาฟื้นฟูพื้นที่ได้คืนมา 500-600 ไร่ จนสามารถฟื้นฟูคืนได้เต็มพื้นที่เมื่อประมาณปี 2557”

“หลักการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 บอก ก็อยู่ในหลักศาสนาอิสลาม ทำลายเราก็กระทบกันเองไม่ได้กระทบใครหรอก”

บังเสบกล่าวต่อไปว่า ชุมชนบางโรงได้เริ่มจากการใช้คุตบะห์ประจำวันศุกร์ (การเทศนาประจำวันศุกร์) ในการสร้างจิตสำนึกสร้างความหวงแหนในทรัพยากรบ้านเกิดของตนเอง รวมถึงจัดการประชุมหาแนวทาง แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยใช้วิธีศึกษา วิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรของชุมชนด้วยเหตุผล ความรู้ความเข้าใจ

นอกจากนี้ ยังได้นำวิธีการดังกล่าวไปใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนทุกๆ 4 ปีอย่างรอบคอบ ให้ “คน” เป็นจุดศูนย์กลางในการขับเคลื่อนและจัดทำการพัฒนาให้เป็นระบบ โดยยึดหลัก 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การสร้างชุมชนเป็นองค์กรองค์ความรู้ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ และการสร้างสังคมอยู่ดีมีสุข ทำให้ชุมชนมีภูมิคุ้มกันทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

“ให้ชุมชนหาคำตอบแล้วแก้ปัญหา เรามีพื้นที่ป่า (ชายเลน) ใช้เท่าไรก็ต้องปลูกคืนด้วย หาพันธุ์ไม้มาปลูกให้เหมาะกับพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องเกณฑ์คนมา เราให้ความรู้ว่าหากไปเจอฝักโกงกางก็ปักไป และจะต้องลงไปสำรวจป่าชายเลนอยู่สม่ำเสมอ เพื่อบันทึกทรัพยการสัตว์น้ำในป่าชายเลนแห่งนี้ว่ามีเพิ่มกี่มากน้อยอย่างไร”

นอกจากนี้การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ยังเป็นหลักการพัฒนาที่สอดคล้องกับหลักคำสอนและแนวปฏิบัติทางศาสนา ซึ่งที่นี่ใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อที่จะสร้างแนวทางป้องกันและแก้ไข โดยกิจกรรมเหล่านี้ล้วนเกิดจากการตกผลึกของผู้คนภายในชุมชนเอง นำหลักการเอื้ออาทร การแบ่งปัน ช่วยเหลือกันมาใช้ผ่านกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยการจัดสวัสดิการให้แก่ชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้เข้าถึงผู้คนทุกคนภายในชุมชนจนนำไปสู่การตั้งกลุ่มออมทรัพย์ที่เข้มแข็งมีเงินออมหมุนเวียนอยู่ถึง 100 ล้านบาท

เมื่อคนหวนคืนถิ่น “ทะเลยังให้อาหารเราเสมอ”

ปูไข่นอกกระดองที่พร้อมเขี่ยไข่

แม้ภูเก็ตจะเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่คนที่นี่มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม คือ การทำประมงและเกษตรกรรม หลังจากมีการฟื้นฟูป่าชายเลนให้กลับคืนเต็มพื้นที่ คนที่นี่ก็อยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าชายเลนและท้องทะเล ขณะที่การท่องเที่ยวในเมืองเจริญเติบโต ชุมชนบ้านบางโรงก็ค่อยๆ เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเมื่อภูเก็ตเจอคลื่นมรสุมใหญ่จากพิษโควิดฯ ที่แห่งนี้ก็ยังทำหน้าที่เป็นบ้านและแหล่งรายได้ให้กับคนที่ต้องหวนคืนถิ่น

บังเสบยอมรับว่า หลังโควิดฯ รายได้กลุ่มลดลง เนื่องจากส่วนหนึ่งบ้านบางโรงก็มีรายได้จากการท่องเที่ยวเช่นกัน แต่เรากระทบไม่มากเพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่เข้ามาศึกษาดูงาน ซึ่งหากสถานการณ์ปกติจะมีผู้มาศึกษาดูงานราว 10,000 คนต่อเดือน แต่พอมีโควิดฯ จึงต้องปรับแผนใหม่ สำรวจชุมชนใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้วทุกๆ 4 ปี และการที่มีคนกลับมาทำประมงเพิ่มขึ้นทิศทางการอนุรักษ์ก็เป็นสิ่งที่ต้องปรับตัว

“รายได้เราลดลง แต่เราก็ไม่เคยอด ทะเลยังให้อาหารเราเสมอ สิ่งสำคัญคือ อย่ารอแต่เงินช่วยเหลือเพราะต่อไปจะทำงานไม่เป็น ถ้าเรามีป่าชายเลน หญ้าทะเล มันเป็นการพอเพียง ชาวบ้านตกปู หาปลาได้ มุสลิมต้องเชื่อในหลักของธรรมชาติ ธรรมชาติให้สมดุล เป็นมนุษย์ต้องสร้างความสมดุล ยึดหลักศาสนา ซึ่งเป็นแนวเศรษฐกิจพอเพียงตรงกัน ตอนนี้เราปิดไปก่อนเราต้องปรับปรุง สำรวจทรัพยากร ความต้องการของคนในชุมชนใหม่ก่อนจะเปิดให้บริการอีกครั้งในปีหน้า”

เรือท่องเที่ยวจอดนิ่งเนื่องจากพิษโควิดฯ ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง

บังเสบระบุว่า ที่นี่มีประชากรมีประมาณ 10,000 คน เดิมมี 20% ที่ใช้พื้นที่ป่าชายเลน และมีประมาณ 2,000 คน หรือ 2-3% เท่านั้นที่ยึดอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นวิถีชีวิต ส่วนคนอื่นๆ ทำประมงแบบสมัครเล่น แบบหากินมื้อต่อมื้อ เป็นความพอเพียง ซึ่งสร้างรายได้วันละ 2,000 บาท ไปจนถึง 10,000 ต่อคืนก็มี และชาวบ้านที่ทำทัวร์ตอนนี้กลับมาทอดแห พึ่งพาธรรมชาติ

ขณะเดียวกันชุมชนแห่งนี้ก็ยังทำธนาคารปูม้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่กระตุ้นจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรที่คนในชุมชนจับต้องได้อย่างแท้จริง โดยมีนายสมชาย เชื้อสง่า หรือ พี่สมชาย เป็นประธานกลุ่มธนาคารปูม้ากลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านบางโรง

“เมื่อก่อนสมาชิกกลุ่ม เป็นส่วนหนึ่งที่ประมงพื้นบ้าน โดยใช้เครื่องมืออวนปู มีรายได้จากการจับปูเป็นหลัก หากจับแบบไม่ฟื้นฟูก็หมด ปูม้าในภูเก็ตลดลงทุกวัน รายได้ก็ลดลง ชุมชนจึงคิดหาแนวทางฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ปี 2558 เข้าร่วมเครือข่ายอนุรักษ์ทะเลชายฝั่งโดยการจัดทำธนาคารปูม้า เพื่อเป็นแหล่งขยายพันธุ์ลูกปูม้าสู่ธรรมชาติ เพื่อการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน และเป็นศูนย์การเรียนรู้ ให้กับชุมชนและชุมชนใกล้เคียง เปลี่ยนจากผู้ล่าเป็นผู้อนุรักษ์ ทำประมงไม่ใช่แค่ใช้ทรัพยากรแต่ต้องฟื้นฟูควบคู่ไปด้วย”

“สมชาย” กล่าวต่อไปว่า การทำธนาคารปูม้ามาเพิ่มปริมาณปูได้อย่างเห็นชัด คือ ลดเวลาและระยะทางในการออกเรือ จากแต่ก่อนต้องออกเรือไปไกลกว่า 10 กิโลเมตร ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง แต่ไม่ถึงปีก็เห็นผล ออกเรือไปแค่ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาแค่ 4-5 นาที ก็สามารถจับปูได้ เราต้องช่วยธรรมชาติฟื้นฟู ปูที่ปล่อยไปมีโอกาสรอด 15% 3 ปีที่ผ่านมาปล่อยไปแล้ว 5,000 ตัว เท่ากับไข่ 3,500 ล้านฟอง คิดตามโอกาสรอด จะเหลือประมาณ 525 ล้านตัว

พร้อมเล่าต่อว่าตอนนี้ธนาคารปูม้าบ้านบางโรงกำลังต่อเติมพื้นที่ จัดการระบบให้คนในชุมชนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ที่ไม่ใช่เพียงสมาชิกกลุ่มสามารถเข้ามามีส่วนช่วยธนาคารปูได้ด้วยการเข้ามาปล่อยลูกปู เพราะลำพังสมาชิกกลุ่มเองต่างมีภาระหน้าที่ในการต้องออกเรือหาเลี้ยงครอบครัว ทำให้อาจไม่สามารถเข้ามาปล่อยลูกปูตามกำหนดได้ และเมื่อทุกคนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ เด็กๆ หลังเลิกเรียนก็มาปล่อยปูได้ ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงเท่ากับเป็นการส่งต่อจิตสำนึก แม้จะมีจำนวนประมงพื้นบ้านเพิ่มก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลว่าทรัพยากรจะหลายไปเหมือนในอดีต

“สมชาย” เล่าว่า วิกฤติโควิดฯ ที่ผ่านมามีผลกระทบชาวประมงแค่ 10% คือทำให้ขายไม่ดี แต่ก็มีอาหารกิน ไม่ต้องซื้อกับข้าว และมีคนว่างงานที่กลับมาบ้านมาลงทุนลงทะเลเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเรามีทรัพยากรที่มั่นคงเราก็ไม่กังวลอะไร ทรัพยากรเป็นของทุกคนที่สามารถร่วมมันใช้ ร่วมกันอนุรักษ์”

“ชาวประมงเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากเดิมบริเวณนี้มีเรือ 20 ลำ ตอนนี้เพิ่มเป็น 50 ลำ เขาขายรถตู้ทิ้งแล้วมาซื้อเรือกันเยอะ เพราะอย่างน้อยก็ได้วันละ 400-500 บาท ก็อยู่ได้”

เรือประมงใหม่จอดเป็นทิวแถว โดยชาวบ้านขายรถตู้สำหรับรับส่งนักท่องเที่ยวมาลงทุนต่อเรือเลี้ยงชีพ

ภูเก็ตในวันที่เงียบสงบ บ้านบางโรงในวันที่ต้องปรับตัวอีกครั้ง แต่ครั้งนี้คงไม่ใช้ระยะเวลานานนับสิบปีอีกต่อไป ที่แห่งนี้ทำให้เราได้เห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการอนุรักษ์มี 2 สิ่ง ก็คือ “คน” และ “ระบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ดี” ที่จะมาสานต่อให้ความเข้มแข็งคงอยู่ แม้ในวันข้างหน้าจะไม่มีบังเสบหรือ”สมชาย” แต่บ้านบางโรงก็ยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมั่นคง ดังเช่นแนวพระราชดำรัสต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เมื่อคนสามารถเข้าใจ เข้าถึง ก็สามารถสืบสานเป็นความยั่งยืนที่จับต้องได้ต่อไปไม่สิ้นสุด

“…จุดมุ่งหมายสําคัญของการรักษาความมั่นคงของบ้านเมืองนั้น อยู่ที่การทําให้ประชาชนสามารถปกครองรักษาถิ่นฐานของตนเองได้ โดยมีสวัสดิภาพและอิสรภาพเต็มที่ ในการนี้ ทางราชการมีหน้าที่อันจําเป็นที่สุด ที่จะต้องพิทักษ์คุ้มครองให้มี ความสงบ และปลอดภัย ทั้งจะต้องช่วยเหลือสนับสนุนโดยทางวิชาการทั้งด้านเทคนิค และด้านเศรษฐกิจสังคม เพื่อให้เขาช่วยตัวเอง และพัฒนาตัวเองได้ ในการอาชีพ การครองชีพ และการอยู่ร่วมกันโดยสามัคคี… เมื่อประชาชนสามารถพัฒนาตนเอง พัฒนาท้องถิ่นที่อยู่ให้เจริญขึ้นได้แล้ว บ้านของเราก็จะมีความมั่นคง และปลอดภัยอย่างแท้จริง…”

พระราชดํารัสเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2515