10 ปี ปิดทองหลังพระฯ “พระราชดำริค้ำจุนสังคม” สู่ความยั่งยืนที่จับต้องได้ – บูรณาการรัฐ/เอกชน/ประชาชน พา 74% ของครัวเรือนที่ร่วมโครงการพ้นความยากจน – พร้อม “สืบสาน รักษา ต่อยอด” รับก้าวใหม่แห่งการพัฒนาในโลกหลังโควิดฯ ขจัด “ความจน” สร้างฐาน “ประชาธิปไตย”
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ภาคีพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริ ประกอบด้วย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้ร่วมกันจัดพิธีทางศาสนาถวายเป็นพระราชกุศลและการเสวนาเรื่อง “พระราชดำริค้ำจุนสังคม” ขึ้น เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคตวันที่ 13 ตุลาคม
“บูรณาการ” คือ คำยอดฮิตที่ถูกหยิบยกมาใช้ชูโรงเพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลให้เป็นผล เนื่องจากที่ผ่านมาใครๆ ก็ล้วนอ้างว่าที่การทำงานของภาครัฐประสบปัญหาไม่บรรลุผลเท่าที่ควรเพราะ“ขาดการบูรณาการ”แม้ช่วงหลังภาครัฐจะระบุว่ามีการทำงานอย่างบูรณาการแต่ก็มักถูกตั้งคำถามจากสังคมเนื่องจากขาดการสื่อสารผลลัพธ์ให้เห็นและเข้าใจได้ในเชิงประจักษ์
แต่ตลอดการทำงาน 1 ทศวรรษของปิดทองหลังพระฯ ผ่านการบูรณาการร่วมกับทั้ง 6 หน่วยงาน สู่โครงการและกิจกรรมที่มุ่ง “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ได้สร้างความยั่งยืนจากเรื่องพื้นฐานอย่างระบบนิเวศสู่ผลในบั้นปลาย คือ นอกจากเพิ่มพื้นที่ป่า ศักยภาพในการเก็บกักน้ำแล้ว ยังเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 4,631 ครัวเรือน ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการกับปิดทองหลังพระฯ ในพื้นที่ต้นแบบทั้ง 13 จังหวัด โดยครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการนั้นมีรายได้สูงกว่าครัวเรือนในพื้นที่ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านพ้นเส้นความยากจนแล้วร้อยละ 74 และผลที่ประจักษ์ชัดไปกว่าตัวเลขเชิงสถิติ คือ รอยยิ้มของประชาชนในพื้นที่
“พระราชดำริค้ำจุนสังคม” ก้าวใหม่แห่งการพัฒนาในโลกหลังโควิดฯ
หม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า วันนี้เรามารวมตัวกันอย่างสำคัญยิ่งยวด ไม่ใช่เพราะมีตำแหน่งแล้วมาอยู่ที่เดียวกัน แต่เพราะพวกเรามาแสดงความมุ่งมั่นในการสืบสานแนวพระราชดำริเพื่อให้ประเทศผ่านความท้าทายต่างๆ นานาที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน เราต่างทราบกันว่า ในเวลาสั้นๆ เพียงสองปีประเทศของเราถูกกระทบจากสงครามการค้า จากภัยแล้ง น้ำท่วม และจากโควิด-19 ซึ่ง ยังหาจุดลงตัวไม่เจอ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ประชาชนที่ด้อยโอกาสอยู่แล้วยิ่งลำบากกว่าเดิม คนไทยทุกคนได้รับผลกระทบอย่างไม่เคยมีมาก่อน
หลายท่านอาจจะทราบว่า ปิดทองหลังพระ ร่วมกับสถาบันวิชาการที่มีชื่อเสียงต่างๆ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นิด้า สถาบันเศรษฐกิจป๋วยอึ๊งภากรณ์ จัดทำโครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” เพื่อช่วยกันดูว่าประเทศไทยจะต้องเจอกับอะไรและควรต้องทำอะไร และในรายงานเบื้องต้นของนักเศรษฐศาสตร์นั้นก็ระบุว่า ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าดูคือ การที่เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนแรงงานคน และผลจากโควิดฯ กับเทคโนโลยีที่เข้ามาอย่างรวดเร็วจะกระทบกับแรงงานไทยไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคน ถ้าไม่สามารถปรับตามได้ทันท่วงที
ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จึงคาดได้ว่าจะส่งผลรุนแรงยาวนาน เมื่อเราไปในชนบท สิ่งที่เรามักพบสม่ำเสมอ คือ ประชาชนลำบากยากแค้นรอความช่วยเหลือ พวกเขาขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง จึงทิ้งชนบทเข้ามาทำงานในเมือง แต่ในขณะนี้โอกาสของการทำงานในเมืองก็กำลังลดลง ซึ่งจากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่ามีประชาชนไม่น้อยกว่า 3.6 ล้านคน อยู่ในสภาพตกงานและเสมือนตกงาน คือ มีงานทำแต่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ นอกจากนี้ ผู้ที่อพยพมาหางานทำในเมืองต้องกลับไปในชนบทไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านคน เหล่านี้กระตุ้นให้พวกเราเห็นชัดว่าเราต้องทำงานให้หนักเพื่อให้ประเทศไทยของเราผ่านโควิด และ technology disruption ไปได้ ให้ประเทศไทยดีว่าเดิม ไม่ใช่แค่กลับไปเหมือนเดิม
กิจกรรมในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ดังนั้นผมจึงขออัญเชิญพระราชดำรัสองค์หนึ่งที่สำคัญต่อสถานการณ์ในปัจจุบันมาเตือนความจำแก่พวกเราชาวไทยทุกคนนั่นคือ เมื่อมีผู้ทูลถามว่าทำไมต้องทรงงานอย่างหนัก ก็มีรับสั่งว่า
“ที่ต้องทำอย่างนี้ เพราะประชาชนยังยากจนอยู่ เมื่อเขายากจน เขาก็ขาดอิสรภาพ เสรีภาพ เมื่อเขาไม่มีอิสรภาพ เสรีภาพ เขาจึงเป็นประชาธิปไตยไม่ได้”
นั่นคือ เราอาจฝันถึงสังคมที่เสมอภาค เท่าเทียมกันแต่เราจะไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ตราบที่ยังมีประชาชนจำนวนมากที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ พระราชดำรัสองค์นี้มีความชัดเจนดังที่เราต่างรู้แก่ใจว่า เมื่อเกิดภาวะที่ประชาชนต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากคนอื่น ก็นำมาซึ่งระบบอุปถัมภ์ ระบบพวกพ้อง แล้วกติกาทางสังคมก็เสื่อมลงพัฒนาต่อได้ยาก องค์กรต่างๆ ที่มาร่วมในวันนี้ล้วนมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งไม่เพียงจะสนองพระราชดำริเท่านั้นแต่หมายถึงการช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถยืนบนขาของตัวเอง มีอิสรภาพในชีวิต และเป็นรากฐานให้แก่ประชาธิปไตยได้โดยแท้จริง
จับมือ 5 หน่วยงานสร้างความยั่งยืนที่จับต้องได้
แนวพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทั้ง เรื่องของความพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ การพัฒนาป่าต้นน้ำ ฯลฯ นั้นล้วนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ที่องค์กรสหประชาชาติกำหนด เป็นเสมือนแก่นนโยบายต่างๆ ที่ทุกหน่วยงานล้วนได้รับสนองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ มาใช้ปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนในแต่ละพื้นที่ของประเทศตามขอบความรับผิดชอบของตนมาตั้งแต่ก่อนที่องค์กรสหประชาชาติจะกำหนดเป้าหมายดังกล่าว
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่รับผิดชอบในการดูแลรักษาระบบนิเวศ ดิน น้ำ ป่า รวมทั้งทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดแผนการดำเนินงานเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 68 ล้านไร่ ในปี 2563-2570 โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ในพื้นที่เร่งด่วนที่ต้องปลูกป่าไม่ต่ำกว่า 1,010 ไร่ และทำฝายเพิ่มความชุ่มชื้นของระบบนิเวศพื้นที่ละไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง รวมจำนวนไม่ต่ำกว่า 70 แห่ง และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศอีกจังหวัดละ 100 ไร่ ซึ่ง ณ ปัจจุบันสามารถดำเนินการไปได้แล้วราว 15,000 ไร่ ระยะที่ 2 ปี 2563-2665 จะฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่า รวม 7.9 แสนไร่ ระยะที่ 3 ปี 2565-2570 กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน 11,327 แห่ง ๆ ละ 50 ไร่ เพิ่มความสมบูรณ์ของป่าชายเลน 1.53 แสนไร่ ป่าพรุ 20,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ จังหวัดละ 500 ไร่
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ให้ความสำคัญกับป่าต้นน้ำ เพราะป่าคือหัวใจถือเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ถ้าป่าดี น้ำดี ดินดี ทุกอย่างก็จะตามมาสู่เรื่องของเศรษฐกิจ และไปถึงการอยู่อย่างยั่งยืนบนความพอเพียง” นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีโครงการที่ยึดใช้แนวพระราชดำริในการส่งเสริมการพัฒนาคนและทรัพยากรเพื่อการเกษตรให้มีความคุ้มกัน เกิดความเข็มแข็ง ในโครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ เริ่มจากการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่เกษตรกรแต่ละราย รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่ดำเนินการภายใต้แนวทาง “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมและรับประโยชน์ทางตรงไม่น้อยกว่า 57 ล้านคน มีการจัดตั้งและบริหารกลุ่มผู้ใช้น้ำ 54,364 กลุ่ม และอาจจัดแบ่งตัวชี้วัดออกเป็น การดำเนินงานด้านน้ำ อาทิ พื้นที่ฝนหลวง 230 ล้านไร่ และพื้นที่พัฒนาต้นทุนน้ำและน้ำชุมชน 6.62 ล้านไร่ เป็นต้น และในด้านการเกษตรและพัฒนาดิน ได้มีการ ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก 1.04 ล้านไร่ การปรับปรุงดิน 1.9 ล้านไร่ และการสร้างพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 3.23 ล้านไร่
“ปัจจุบันมีแต่ภาคการเกษตรเท่านั้นที่จะขับเคลื่อนประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ฉะนั้นสิ่งที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้ในหลายสิบปีได้บังเกิดผลให้เห็นชัดแล้วในเวลานี้ ซึ่งประเทศไทยมีลักษณะได้เปรียบเด่นชัดในสภาพภูมิศาสตร์ ประกอบกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดี ทำให้สามารถเป็นแหล่งผลิตผลทางการเกษตรในอันดับต้นๆ ของโลก แต่ภาคเกษตรก็ยังมีจุดอ่อนอยู่คือ ตัวเกษตรกรที่มักมีฐานะยากจน หรือแม้มีการรวมกลุ่มแต่ยังไม่เข้มแข็ง ซึ่งในส่วนนี้เป็นโจทย์ให้กระทรวงเกษตรฯ ต้องเข้าไปจับกับเกษตรกรแต่ละรายเพื่อแก้ปัญหา”
“สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะทำอย่างไรให้เกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมนั้นมีความภาคภูมิใจในอาชีพของตน ไม่ใช่อาชีพที่คอยแต่รับความช่วยเหลือแต่เพียงด้านเดียว จึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาผ่านโครงการที่ยึดการใช้แนวพระราชดำริต่างๆ” นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
- กระทรวงมหาดไทย มีส่วนกลางที่มีหน่วยงานรองรับแนวพระราชดำริต่างๆ รวมถึงการทำงากับปิดทองหลังพระฯ ก่อนส่งสู่ระดับพื้นที่ คือ ภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งในระหว่างปี 2561-2562 ได้มีโครงการด้านการแก้ปัญหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและโครงการส่งเสริมอาชีพและรายได้ทำให้ประชาชนที่ได้รับความยากลำบากได้ประโยชน์ 76,113 คน รวมถึงจัดตั้งศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 878 อำเภอทั่วประเทศ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง 24 จังหวัด ครอบคลุมเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ อาชีพ และคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี และคนชรา
- สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีการดำเนินงานโครงการเศรษฐกิจพอเพียงระดับชุมชน ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อเสริมความสามารถในการพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นผู้นำช่วยงานไปยังชุมชนอื่นๆ ในอนาคต โดยมีการดำเนินงานในทุกจังหวัดเป็นต้นแบบเพื่อการขยายผลครอบคลุมพระราชดำริด้านต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม มีกลุ่มเป้าหมายทั้งประชาชนในชนบท นักเรียนนักศึกษา และผู้นำชุมชน และในปี 2562 ยังดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในด้านการส่งเสริมอาชีพเกษตร การบริหารจัดการน้ำ โดยมีผู้รับประโยชน์ 1,762 คน ได้รับการอบรม 7,600 คน และสนับสนุนการดำเนินงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงใน 1,201 โรงเรียน
ด้านนายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวม 4,877 โครงการ ครอบ คลุมการพัฒนาทุกด้าน ที่สำคัญ คือ การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง และศูนย์สาขาฯ 19 แห่ง ทำให้เกิดงานศึกษา ทดลอง วิจัย รวม 1,323 เรื่อง มีการขยายผลสู่หมู่บ้านรอบศูนย์ 148 หมู่บ้าน เกษตรกรรับประโยชน์ 31,786 ครัวเรือน 104,368 คน มีการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ให้กับผู้สนใจรวม 12,250 คน และมีผู้เข้าศึกษาดูงานเพื่อรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ เฉพาะในปี 2563 รวม 629,097 คน
งานขยายผลของศูนย์ศึกษาฯทั้ง 6 แห่ง ช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้กับเกษตรกรที่สามารถนำมาประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยผลสำรวจพบว่า เกษตรกรร้อยละ 43.3 มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก เกษตรกรร้อยละ 50.5 มีความเป็นอยู่ดีขึ้นพอสมควร รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปี เป็นเงิน 216,821.98 บาท รายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปี เป็นเงิน 146.306.98 บาท ส่วนใหญ่มีรายได้พอเพียงกับรายจ่ายคิดเป็นร้อยละ 37.80 มีการออมเงินในครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 72.30
ทั้งนี้ ตลอดช่วงเวลาการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ยังคงมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการการสืบสานโครงการฯ ที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำนวน 88 โครงการ และโครงการที่เกิดจากราษฎรขอพระราชทานความช่วยเหลือ (ฎีกา) ซึ่งทรงรับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว 62 โครงการ และดำเนินโครงการคลังเมล็ดพันธุ์แนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดฯ คลังเมล็ดพันธุ์นี้มีส่วนอย่างมากในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้สามารถดำรงชีพต่อไปได้
10 ปี ปิดทองหลังพระฯ ครัวเรือนในโครงการ 74% พ้นเส้นความยากจน
แม้ทุกหน่วยงานจะน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นแก่นในการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน หากแต่ที่ผ่านมาการดำเนินงานของภาครัฐที่แยกส่วนอาจทำให้เรามองผลลัพธ์ของความยั่งยืนที่เกิดขึ้นกับประชาชนได้ยาก
ดร.โชติชัย เจริญงาม ผู้ที่ทำงานเบื้องหลังพัฒนาระบบประเมินผลให้สำนักงบประมาณและหลายหน่วยงาน เป็นผู้แทนคณะวิจัยจากสถาบันการศึกษา 3 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประเมินผลประเมินผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ทั้งระดับครัวเรือนและระดับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ของปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยได้ตั้งโจทย์ในการประเมินว่า กระบวนการพัฒนาของปิดทองหลังพระฯ นำไป สู่ความยั่งยืนหรือไม่ จะวัดผลสำเร็จของการพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างไร และการพัฒนานั้นได้สร้างความเข้มแข็งให้กับคนและชุมชนหรือไม่ เพื่อหาคำตอบของคำถามที่สำคัญ คือ การดำเนินการบรรลุพันธกิจในการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริหรือไม่ มีความคุ้มค่าเชิงงบประมาณหรือไม่ และบทเรียนสำคัญจากการดำเนินงานที่ผ่านมาคืออะไร ผ่านการประเมินตามหลักการประเมินผลขององค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (The Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD)
โดยมีเกณฑ์การวัดผล 3 ระดับ คือ อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน โดยวัดผลทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน ใน 6 เรื่อง คือ 1. การบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการประกอบอาชีพ 2. เกษตรมีปริมาณผลผลิตพอกินตลอดปี 3. อาชีพ 4. รายได้ครัวเรือน 5. สัดส่วนหนี้สินครัวเรือน 6. รายได้ต่อปีพ้นเส้นความยากจน
ในกระบวนการประเมินผลของการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ มีการประเมินทั้ง 3 ด้าน คือ ประเมิน ผลความคุ้มค่าเชิงงบประมาณ (Fiscal Report) ประเมินผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ (Wisdom Report) และประเมินผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน (Project Financing Report)
“ผมบอกคุณชาย (หม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดา ดิศกุล) ถ้าให้ผมทำประเมินผมไม่ผักชีนะ และผมได้ปฏิเสธที่จะลงพื้นที่ร่วมกับทางปิดทองหลังพระฯ เพื่อรักษาความเป็นกลางทางความคิด โดยคณะผู้วิจัยเราแยกกันลงประเมินผลใน 13 พื้นที่ของปิดทองหลังพระฯ กันต่างหาก ซึ่งเราตั้งโจทย์ และจัดทำตัวชี้วัดกว่า 2 เดือน ซึ่งทำให้เข้าใจการทำงานของปิดทองหลังพระฯ ที่เข้าไปจับกับแต่ละพื้นที่ตามแต่สภาพปัญหาเป็นพื้นที่ต้นแบบ และใช้ระบบสมัครใจในการเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ ดังนั้นการประเมินของเราจึงต้องมีการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานตามความแตกต่างระหว่างคนพื้นที่ที่ร่วมคนการ คนในพื้นที่ที่ไม่ร่วมคนการ และคนนอกพื้นที่”
การดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปรากฎว่า สามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำชุมชนได้ 275,714 ไร่ จากการร่วมกับชุมชนและราชการ พัฒนาแหล่งน้ำและสร้างฝาย 6,259 แห่ง ผู้ได้รับประโยชน์ในพื้นที่ต้นแบบและพื้นที่ขยายผล 80,247 ครัวเรือน เกิดพื้นที่ป่าและป่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นรวม 106,580 ไร่ ในจังหวัดน่าน การพัฒนาอาชีพทางเลือก ทำให้เกิดกลุ่มกองทุนที่บริหารจัดการโดยชุมชน 67 กลุ่ม มีสมาชิก 2,152 ครัวเรือน มีเงินในกองทุนหมุนเวียน 12 ล้านบาท
ที่สำคัญ การดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ยังช่วยให้รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 109 ล้านบาท (ปี 2552) เป็น 2,676 ล้านบาท (ปี 2562) และรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ สูงกว่าครัวเรือนในพื้นที่ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญ คือ 124,890 บาท (คิดเป็นร้อยละ 62) และผ่านพ้นเส้นความยากจนแล้วร้อยละ 74
“ถ้าได้ไปดูโครงการของปิดทองหลังพระฯ ก็จะเห็นครบทุกมิติ แต่ที่สำคัญและเป็นเงื่อนไขสำคัญคือ ปิดทองหลังพระฯ นั้นเป็นเสมือนตัวกลางที่เข้าไปจับกับแต่ละหน่วยงานประสานการทำงานให้เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่ การบูรณาการตลอดกระบวนการทำงานที่ช่วยเติมช่องว่างที่ราชการอาจไปไม่ถึง สิ่งนี้ถ้ามีการนำไปปรับใช้เป็นเกณฑ์การทำงานมาตรฐาน ผมเชื่อว่าชนบทจะพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว” ดร.โชติชัย กล่าว