3 กุมภาพันธ์ 2565 สาขาวิชาการบริหารกิจการทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เปิดโครงการประเมินระบบนิเวศระดับนานาชาติ ประเทศไทย (National Ecosystem Assessment: Thailand) หรือ NEA Thailand ภายใต้ความร่วมมือของ UNEP-WCMC, UNDP และ UNESCO เชิญนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศร่วมประชุมหาทางออกให้ทรัพยากรทางทะเล นำโดย ดร.เพชร มโนปวิตร ผู้จัดการโครงการ
‘นโยบายชาติทางทะเล’ โจทย์ผลักดันระบบนิเวศ
ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งว่า ธรรมชาติของระบบนิเวศทางทะเลในประเทศไทยจะอยู่ในพื้นที่บนบกกว่า 530,000 ตารางกิโลเมตร และมีพื้นที่ทางทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยกว่า 320,000 ตารางกิโลเมตร โดยระบบนิเวศทั้งหมดแสดงถึงต้นทุนชาติทั้งในรูปแบบตัวเงินและกิจกรรมต่าง ๆ
ประเทศไทยพยายามสร้างประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างปะการังเทียม การส่งเสริมด้านประมง การพัฒนาชายฝั่ง การดูแลพื้นที่อุทยานและความมั่นคง ฯลฯ แต่ทั้งนี้การพัฒนาส่วนใหญ่มักไม่เห็นสภาพความเป็นจริง โดยเฉพาะความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ทำให้เห็นปัญหาการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ และจากประสบการณ์การทำงานทำให้เห็นว่า ระบบนิเวศทางทะเลของประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานะ ‘ติดลบ’ จนบางครั้งไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
“ประเด็นคือการแยกระหว่างกิจกรรมการใช้ประโยชน์ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทิศทาง ขณะที่เรามองข้ามต้นทุนทั้งทรัพยากรธรรมชาติและต้นทุนส่วนอื่น ๆ คำถามคือเราจะทำให้เกิดภาพเชื่อมโยงได้อย่างไร” ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าว
ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า หัวใจของการสร้างความยั่งยืนของระบบนิเวศทางทะเลยังไม่ได้รับการให้น้ำหนักเท่าที่ควร แม้ประเทศไทยจะพยายามแก้ไขปัญหาผ่านนโยบายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท 23 แผน แผนปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน แผนความมั่นคงของชาติ และในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12
“บ้านเรามีหลายหน่วยงาน คำถามคือทำอย่างไรให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมุ่งไปทิศทางเดียวกันได้เหมาะสมและเกิดนัยยะสำคัญในการแก้ปัญหา”
ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ที่ 5 ของประเทศไทยคือการสร้างการเติบโตของคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนย่อยที่กำหนดการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในเศรษฐกิจทางทะเล แต่การเขียนการแก้ปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ยังไม่เป็นเอกภาพ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือประเทศไทยจำเป็นต้องมี ‘นโยบายชาติทางทะเล’ เพื่อให้ระบบนิเวศทางทะเลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
สร้างตัวชี้วัดเพื่อมาตรฐานสิ่งแวดล้อมทางทะเล
รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวในประเด็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลว่า ประเทศไทยต้องมองทั้งโครงสร้างของระบบนิเวศ หน้าที่ของระบบนิเวศ และกระบวนการทางนิเวศวิทยา เมื่อนำประเด็นดังกล่าวมาจำแนกจะเห็นว่าสามารถแบ่งแยกย่อยได้ทุกมิติตั้งแต่ผิวน้ำ สายใยอาหาร หรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับธรณีวิทยาและวิวัฒนาการ
รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ มองว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างตัวชี้วัดให้ครอบคลุมกับระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงการประเมินความหลากหลายและการให้บริการทางระบบนิเวศ นอกจากนี้ยังมีกระบวนการติดตามและตรวจสอบระบบนิเวศ เพื่อประเมินความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติผ่านตัวชี้วัด โดยตัวชี้วัดและกระบวนการต่างๆ ต้องมองในเชิงบูรณาการ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ทั้งการสร้างและส่งเสริมระบบสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมไปถึงเศรษฐกิจและสังคม
ระบบนิเวศระดับชาติมิติเศรษฐศาสตร์
รศ ดร อรพรรณ. ณ บางช้าง-ศรีเสาวลักษณ์ กล่าวถึงองค์ประกอบของรายงาน NEA-TH ในส่วนของมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์ ว่าการศึกษาจะประกอบด้วยหัวข้อหลัก ๆ 5 ส่วนด้วยกัน
ส่วนแรก คือแนวคิดเกี่ยวกับมูลค่าเศรษฐกิจของทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและประโยชน์ของระบบนิเวศทะเลและชายฝั่งในยุคทางธรณีวิทยา (geological epoch) ที่เรียกว่า Anthopocene ซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์สร้างผลกระทบต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เป้าหมายของการศึกษาในส่วนนี้คือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริการนิเวศ (ecosystems services) ที่ได้จากทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ซึ่งงานในส่วนนี้จะเน้นองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เมื่อองค์ความรู้ในส่วนนี้ชัดเจนในระดับหนึ่ง งานทางด้านเศรษฐศาสตร์ในการคำนวณมูลค่าเศรษฐกิจของระบบนิเวศทะเลและชายฝั่งจึงจะสามารถดำเนินการได้ การประเมินมูลค่าเศรษฐกิจของทรัพยากรทะเลและชายฝั่งนั้น จะเป็นองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้ในการสร้างกลไกทางการเงินที่จะระดมทุนมาใช้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากร
ส่วนที่สองของการศึกษา คือ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าทางเศรษฐกิจของทรัพยากรทะเลและชายฝั่งโดยจะครอบคลุมเนื้อหา 3 หัวข้อด้วยกันคือ i) การทบทวนองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับมูลค่าเศรษฐกิจของทรัพยากรทะเลและชายฝั่งในต่างประเทศ ii) การทบทวนองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับมูลค่าเศรษฐกิจของทรัพยากรทะเลและชายฝั่งในประเทศไทยที่ประกอบด้วยมูลค่าของสต็อกของทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง (value of stock) และกระแสของรายได้จากบริการนิเวศในแต่ละปี(value of flows of services) iii) การวิเคราะห์ ช่องว่างขององค์ความรู้และวิธีทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในการที่จะเติมเต็มช่องว่างนี้ซึ่งหมายถึงการที่จะต้อง
- การกำหนดลำดับความสำคัญก่อนหลัง(prioritize) ว่าองค์ความรู้ด้านไหนที่ยังขาดอยู่และควรจะต้องเติมก่อน
- การตัดสินใจว่ามูลค่าที่ได้เคยประเมินไว้แล้วในส่วนไหนที่สามารถนำมาใช้เป็นตัวแทนของมูลค่า (proxy value) ของทรัพยากรทะเลและชายฝั่งได้ ในช่วงที่ยังไม่มีการศึกษาเฉพาะพื้นที่หรือเฉพาะทรัพยากรสำหรับประเทศไทย
- การกำหนดแนวทางและขั้นตอนของการพัฒนาบุคลากร ที่จะสามารถใช้กรอบวิเคราะห์และการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพื่อประเมินมูลค่าเศรษฐกิจของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ โดยให้เน้นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรภายในกรมกองต่างๆที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการดูแลทรัพยากร
- การประเมินว่าทรัพยากรหรืองบประมาณที่จะใช้ในการที่จะสร้างองค์ความรู้ที่ขาดไปนั้น มีมากน้อยเพียงใด
การศึกษาในส่วนที่ 3 คือการทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับ nature-based solution ซึ่งมีการพูดถึงกันในการประชุม COP 26 ที่ผ่านมา รายละเอียดในหัวข้อนี้จะประกอบด้วยสองส่วนหลัก ๆ ส่วนแรกคือการทบทวนแนวคิดประสบการณ์และบทเรียนที่ได้จากการนำเอากลไกทางการเงินที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเช่น Conservation Trust Funds, Payment for Ecosystems Services, Mitigation Banks, Blue Carbon, Biodiversity offsets, Nutrient trading และBlue Bonds. ส่วนที่สองคือการวิเคราะห์ว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับมูลค่าเศรษฐกิจของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถที่จะนำมาใช้สร้างกลไกทางการเงินข้างต้นได้มากน้อยเพียงใด
หัวข้อที่สี่ของการศึกษาในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์คือการประเมินความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่จะนำเอากลไกทางการเงินต่าง ๆ ที่ได้ศึกษาไว้ในหัวข้อที่ 3 มาใช้
สุดท้ายคือการวิเคราะห์ต้นทุนของการไม่ดำเนินการอะไรเลย (cost of inaction) นอกเหนือจากงานปกติที่กรมกองต่าง ๆ ดำเนินการอยู่คืออะไร ส่วนนี้ รศ. ดร. อรพรรณ อ้างถึงงานของ Professor Partha Dasgupta เรื่อง the Economics of Biodiversity: The Dasgupta Review ซึ่งเป็นงานที่รัฐบาลอังกฤษได้มอบหมายให้ดำเนินการถึงประเด็นสำคัญของการศึกษานี้คือการชี้ให้เห็นชัดเจนว่าต้นทุนของการดำเนินการเพื่ออนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่าและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านั้นต่ำกว่าต้นทุนของผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดโควิด-19 ในปี 2563 ข้อสรุปนี้เป็นการยืนยันว่าการลงทุนเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาตินั้น มีความคุ้มทุน และมีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์สนับสนุนอย่างชัดเจน
รศ. ดร. อรพรรณ จบการบรรยาย โดยการตั้งข้อสังเกตว่าการไม่ดำเนินการอะไรเลย ไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่เราสามารถที่จะพิจารณาเลยด้วยซ้ำ
กฎหมายและเศรษฐกิจภาคทะเล
ศ.ดร.สุวลักษณ์ สาธุมนัสพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรณี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นโยบายหลักของประเทศไทยจะต้องเชื่อมโยงกับประมงพื้นบ้านและวิถีชีวิต ขณะเดียวกันแผนระดับสากลที่ประเทศไทยนำมาใช้คือหลักการว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่อมาในปี 2558 เกิดแนวคิด Blue Economy กล่าวคือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจภาคทะเลเติบโตอย่างยั่งยืน
ในด้านกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเลในประเทศไทย จุดเปลี่ยนในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่มีการออกกฎหมายพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาชายฝั่ง และ พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ช่วยจัดการทรัพยากรชายฝั่งและประมง ต่อจากปี 2558 ถึง 2566 มีพ.ร.บ.ใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคือพ.ร.บ.อุทยานทางทะเล และพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ซึ่งมาจากการปรับปรุงเพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติทางทะเล กฎหมายส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะเป็นในลักษณะการสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเป็นหลัก
“ที่สำคัญมากคือตั้งแต่ปี 2535 กฎหมายสิ่งแวดล้อมเติบโตมากในเรื่องการมีส่วนร่วม มีทั้งดีและด้อย มีปัจจัยเอื้อแต่ละบริบทที่แตกต่างกัน และเรามี International Commitment นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยวางแผนว่าจะเดินไป”
ศ.ดร.สุวลักษณ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยยังยึดแนวคิดหลัก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) การเปิดรับความเสี่ยง (2) ผลกระทบที่เกิดจากความเสี่ยง และ (3) การปรับตัว จากนั้นนำไปสู่แผนปฏิบัติ ถัดมาเป็นแนวคิดตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีพ.ร.บ.รักษาสิ่งแวดล้อม คือการคิดเชื่อมโยงเชิงพื้นที่ และการใช้ประโยชน์ระหว่างพื้นที่
ปัญหาและทางออกระบบนิเวศทะเลและชายฝั่ง
นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวในประเด็นปัจจัยคุกคามทางชีวภาพในระบบนิเวศทางทะเล โดยเริ่มจากวิเคราะห์สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของทะเลไทยภายใต้กรอบ DPSIR โดยแบ่งดังนี้
- D – Driver ปัจจัยขับเคลื่อน ได้แก่ สภาพเศรษฐกิจและสังคม, ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม, การลงทุนด้านอุตสาหกรรม, การขยายตัวของภาคการเกษตรและขนส่ง, การท่องเที่ยว, นโยบายและยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)
- P – Pressure แรงกดดัน ได้แก่ การขนส่งและพาณิชย์นาวี, ประมง (การจับและเพาะเลี้ยง), นาเกลือ, การท่องเที่ยว, ชุมชนชายฝั่งทะเล, การใช้ประโยชน์จากที่ดิน, อุตสาหกรรมชายฝั่ง และเขตเศรษฐกิจพิเศษ
- S – State สภาวะ ได้แก่ S1 สถานภาพของแนวปะการัง, S2 สถานภาพของหญ้าทะเล, S3 สัตว์ทะเลหายาก, S4 ขยะในทะเล, S5 น้ำทะเลชายฝั่ง, S6 ป่าชายเลน ป่าชายหาดและพรุ และ S7 ชายฝั่งถูกกัดเซาะ
- I – Impact ผลกระทบ
- R – Response การตอบสนอง
นอกจากนี้ยังมีสูตรการวิเคราะห์สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงความหลากหลายเชิงชีวภาพระดับพื้นที่ภายใต้กรอบ TSD ดังนี้
- T – Threat ภัยคุกคาม คือสิ่งที่ส่งผลให้ชนิดพันธุ์หรือความหลากหลายทางชีวภาพลดลงหรือเสื่อมโทรมโดยตรง เช่น ตะกอนทับแนวปะการัง การทิ้งสมอเรือ นักท่องเที่ยวเหยียบปะการัง และน้ำทิ้ง-น้ำเสีย
- S – State สถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศต่างๆ โดยจำแนกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ S1 สถานภาพของแนวปะการัง, S2 สถานภาพของหญ้าทะเล, S3 สัตว์ทะเลหายาก, S4 ป่าชายเลน ชายหาด และพรุ, S5 คือ Soft Bottom Ecosystem หรือระบบนิเวศใต้ทะเล และ S6 คือ Rocy Shore Ecosystem หรือระบบนิเวศหาดหิน
- R – Responses การตอบสนองและการจัดการ
เมื่อนำแนวคิดข้างต้นมาประยุกต์ใช้กับระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ทำให้พบสาเหตุปัญหาหลัก (Threat) และแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้น ดังนี้
แนวปะการัง มีสาเหตุปัญหาหลักคือ (1) ขยะทะเล (2) การทำประมงใกล้ชายฝั่งหรือแนวปะการัง และ (3) การทิ้งสมอในแนวปะการัง แนวทางแก้ไขปัญหาคือ (1) เก็บขยะจากทะเลเพื่อลดขยะให้ได้มากที่สุด (2) ลาดตระเวนเรือประมงผิดกฎหมายและเขตหวงห้าม และ (3) ติดตั้งทุ่นผูกเรือ ที่สำคัญคือการสร้างการมีส่วนร่วมโดยจัดการน้ำทิ้งและขยะในระดับครัวเรือน ร้านอาหาร โรงแรมและชุมชน
หญ้าทะเล มีสาเหตุปัญหาหลักคือ (1) คลื่นลม อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง และปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงทะเล (2) ตะกอนไหลลงทะเลจากชุมชน การเกษตร การก่อสร้างบริเวณชายฝั่ง การท่องเที่ยว การขุดลอกร่องน้ำ และ (3) การทำประมงและทิ้งสมอใเรือ แนวทางแก้ไขปัญหาคือ (1) กำหนดมาตรการลดผลกระทบจากการพัฒนาชายฝั่ง (2) ลติดตั้งทุ่นแนวเขตหญ้าทะเล และ (3) ตรวจตราและควบคุมการทำประมงในแหล่งหญ้าทะเล
สัตว์ทะเลหายาก มีสาเหตุปัญหาหลักคือ (1) แหล่งหากินทับซ้อนกับแหล่งการทำประมง ส่งผลให้สัตว์ทะเลติดเครื่องมือจำพวกแห อวน เบ็ด และ (2) ขยะทะเล แนวทางแก้ไขปัญหาคือ (1) ตรวจตรา ลาดตระเวน ป้องกันเครื่องมือประมงที่เป็นภัยต่อสัตว์ และ (2) ลดปริมาณขยะทะเล และการจัดเก็บขยะในระบบนิเวศ การติดตั้งทุ่นกักขยะ
ป่าชายเลน ป่าชายฝั่ง มีสาเหตุปัญหาหลักคือ (1) พื้นที่ถูกเปลี่ยนเป็นชุมชน ร้านอาหาร โฮมสเตย์ การถือครองที่ดินผิดกฎหมาย และ (2) การน้ำเสียกับขยะจากชุมชนชายฝั่งและจากต้นน้ำ แนวทางแก้ไขปัญหาคือ (1) ตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ พิสูจน์สิทธิ์ ทวงคืนผืนป่า (2) จัดที่ดินทำกินเพื่อการอยู่อาศัยตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และ (3) ติดตั้งทุ่นดักขยะและเก็บขยะในป่าชายเลนและชายฝั่ง
ทั้งนี้ นายศักดิ์อนันต์ ย้ำว่าทุกกระบวนการจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในระดับครัวเรือน ร้านอาหาร โรงแรมและชุมชน
สร้างศักยภาพร่วมผ่านการเรียนรู้จากภูมิปัญญาพื้นบ้าน
รศ.ดร.นฤมล อรุโณทัย จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทำความเข้าใจสถานภาพของระบบนิเวศจากมุมมองของความรู้หรือภูมิปัญญาพื้นบ้านนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยหลักการประเมินสถานภาพของระบบนิเวศจะต้องใช้องค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ มีการสื่อสารถึงผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ และใช้ความรู้ทั้งทางวิชาการและภูมิปัญญาพื้นบ้านในการวิเคราะห์ข้อมูล
รศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า ทรัพยากรทางทะเลสำคัญต่อชาวประมงพื้นบ้าน เพราะเมื่อทรัพยากรลดลง ชาวบ้านจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ตัวอย่างเช่น เดิมทีชาวเลใช้เรือขนาดเล็กและใช้ไม้ในป่าสร้างเรือเอง ต่อมา เมื่อมีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลเพิ่มขึ้น ชาวเลต้องปรับตัวซื้อหาเรือขนาดใหญ่กว่าเดิมมาใช้ ต้องใช้เครื่องเรือ ใช้น้ำมัน ใช้เครี่องมือประมงที่มีสมรรถนะมาขึ้น ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นการลดทอนความรู้พื้นบ้าน โดยเฉพาะการสังเกตและรับรู้ต่อสภาพธรรมชาติ นอกจากนั้น เรือขนาดเล็กไม่สามารถต้านทานคลื่นและพายุ ซึ่งเกิดบ่อยครั้งขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ตัวอย่างแผนที่จากเกาะหลีเป๊ะ จะเห็นได้ว่าระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากเกาะที่มีพื้นที่ธรรมชาติ บางแห่งเป็นป่าชายหาด บางแห่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีน้ำขังในฤดูฝนมีพืชน้ำสัตว์น้ำจืด บางแห่งเป็นพื้นที่ป่าบนเนิน ซึ่งชาวเลเคยใช้พื้นที่นี้ปลูกข้าวไร่ ปัจจุบันมีสิ่งก่อสร้างสำหรับบริการนักท่องเที่ยวในพื้นที่เหล่านี้ จนไม่เหลือเค้าของสภาพเดิมเลย
รศ.ดร.นฤมล กล่าวเสริมว่า หัวใจของการประเมินสถานภาพของระบบนิเวศที่ดีคือการเชื่อมโยงระบบความรู้ทางกายภาพ-ชีวภาพ กับระบบความรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม ระหว่างนักวิชาการและกลุ่มอื่นๆ ที่มีวิถีที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศนั้นๆ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องสร้าง ‘ความรู้เพื่อสร้างศักยภาพร่วม’ (Collective Capacity) ในการรับมือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนเปิดโจทย์เรื่องความยั่งยืน และทำให้การประเมินสถานภาพของระบบนิเวศเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ในการร่วมกันคิด-สร้างสรรค์ โดยให้ความสนใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่กว้างกว่าเดิม
การเชื่อมโยงความรู้กับนโยบาย (Science-Policy Interface) ก็มีความสำคัญมาก เพราะความรู้ที่อยู่ในรายงานวิจัยจะไม่ส่งผลทำให้เกิดการปรับปรุงนโยบาย ดังนั้น จะต้องมีการสื่อสารระหว่างภาควิชาการและภาคนโยบาย ซึ่งจะช่วยให้ก้าวข้ามออกจากภาวะความไม่ยั่งยืนในระดับประเทศและภูมิภาค และเรียนรู้บทเรียนจากประเทศอื่นๆ
“เราได้เรียนรู้บทเรียนจากต่างประเทศ หลายประเทศเริ่มเขียนรายงานการกำหนดขอบเขตการประเมินสถานภาพของระบบนิเวศไปแล้ว อย่างประเทศเกรเนดา (Grenada) ซึ่งทำขั้นตอน Scoping Methodology ไปแล้ว เราจะเห็นว่าเขามีขั้นตอนการกำหนดกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง วางแผนและวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มเหล่านี้ หลังจากนั้นก็จัดประชุมปรึกษาหารือหลายๆ พื้นที่ หลายกลุ่มอายุ และก็แยกตามกลุ่มผู้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งในประเทศไทยนั้น ชาวบ้านอาจจะเบื่อการประชุมปรึกษาหารือแล้ว ก็ต้องค้นหารูปแบบการปรึกษาหารือที่ใหม่ๆ และสร้างสรรค์”
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.นฤมล ย้ำว่า การพิจารณาประเด็นระบบนิเวศจะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น สถานภาพ อดีต ปัจจุบัน อนาคตของผู้คนในชุมชน และสภาพความหลากหลายทางชีวภาพ บริการทางนิเวศ การเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ตลอดจนผลกระทบจากโควิด-19 โดยข้อมูลที่จะเกี่ยวข้องกับการประเมินสถานภาพทางระบบนิเวศมีดังนี้
- วิถีการดำรงชีพชายฝั่งและทะเล ความรู้พื้นบ้านและการรวมกลุ่มในการจัดการทรัพยากร
- การประเมิน ประมวล และวิเคราะห์สถานภาพทางระบบนิเวศจากความรู้พื้นบ้านหรือประสบการณ์ท้องถิ่น
- การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์และของชุมชน
- การปรับตัวของชุมชนชายฝั่งทะเลต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ท้ายที่สุด รศ.ดร.นฤมล มองว่าการทำความเข้าใจสถานภาพทางระบบนิเวศโดยใช้มุมมองของความรู้พื้นบ้านนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคประชาสังคม และขั้นต่อมาคือการจัดประชุมปรึกษาหารือ ระดมความคิดเห็นโดยใช้มุมมองความรู้พื้นบ้านและประสบการณ์ท้องถิ่นเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง