นายกฯนำ ครม.เยี่ยมชม “สถานีกลางบางซื่อ”-นั่งทดสอบรถไฟสายสีแดง-รฟท.แจงความคืบหน้ากว่า 89% เตรียมเปิดให้ประชาชนลองใช้บริการ ก.ค.64
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เยี่ยมชมสถานีกลางบางซื่อ และโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และได้นำนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง จากสถานีกลางบางซื่อ – สถานีรังสิต – สถานีกลางบางซื่อ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบคมนาคมขนส่งทางราง ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงได้ส่งเสริม ติดตาม และมุ่งมั่นผลักดันเพื่อให้ระบบคมนาคมขนส่งทางรางเป็นรูปแบบการเดินทางหลักของประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งพัฒนาระบบคมนาคมทางรางอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร โครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ รวมถึงพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อเชื่อมต่อภูมิภาคของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
สำหรับสถานีกลางบางซื่อ นอกจากจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางแล้ว ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจตลอดแนวเส้นทาง ในระยะยาวจะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคม และการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่กันไปอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่วางไว้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามที่ทางรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่มีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาด้านการจราจร โดยการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งให้มีความต่อเนื่องกันทั้งระบ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีศูนย์กลางการคมนาคมที่จะเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพมหานครสู่ปริมณฑล รวมถึงเชื่อมโยงต่อไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคม และการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศมีมาตรฐานเทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก การออกแบบสถานีกลางบางซื่อ ได้จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามหลักอารยสถาปัตย์ ผู้ใช้บริการสามารถเปลี่ยนการเดินทางจากระบบราง ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน เชื่อมต่อการเดินทางไปยังรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมือง และระบบขนส่งรูปแบบอื่น ๆ อาทิ รถสาธารณะ รถโดยสารประจำทาง รถรับจ้างสาธารณะ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบราง ให้เป็นศูนย์กลางการเดินทางและธุรกิจแห่งภูมิภาคอาเซียน สร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาเมืองในรูปแบบใหม่ ให้เกิดการกระตุ้นและขยายธุรกิจและเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่งเสริมให้เกิดการกระจายโอกาสในด้านต่าง ๆ สู่ประชาชน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการและมุ่งพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟชานเมือง และงานก่อสร้างสถานีรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 13 สถานี และงานก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ คงเหลืองานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมถึงจัดหาตู้รถไฟฟ้าสำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน งานระบบราง ระบบควบคุมการเดินรถ และระบบอาณัติสัญญาณ ระบบโทรคมนาคม ระบบจำหน่ายตั๋วโดยสาร อุปกรณ์สำหรับศูนย์ซ่อมบำรุง ระบบรักษาความปลอดภัย สถานีไฟฟ้าย่อยและหม้อแปลงไฟฟ้า ระบบขับเคลื่อนรถไฟฟ้า รวมถึงการจัดเตรียมอบรมบุคลากรในการบริหารและซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้า ซึ่งมีความก้าวหน้าร้อยละ 89.10 คาดว่าจะทดสอบการเดินรถเสมือนจริงแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2564 จากนั้นเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการในเดือนกรกฎาคม 2564 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2564
อนึ่ง สถานีกลางบางซื่อ ประกอบด้วยอาคารทั้งหมด 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร และจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรางในกรุงเทพ ฯ ชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นชั้นชานชาลา ประกอบด้วย รถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา และชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน และชานชาลารถไฟความเร็วสูง โดยแบ่งเป็นชานชาลาสำหรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ จำนวน 4 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 12 ชานชาลา ชั้นใต้ดินเป็นพื้นที่จอดรถ สามารถจอดรถได้ถึง 1,624 คัน มีถนนทางเข้าออกสถานีได้หลายทิศทางเชื่อมต่อกับทางด่วนพิเศษที่มีพื้นที่รองรับรถโดยสารประจำทางและรถรับจ้างสาธารณะ มีพื้นที่สวนสาธารณะพร้อมบึงน้ำขนาดใหญ่ โดยในส่วนของการบริหารสถานีในระยะแรก รฟท.จะเป็นผู้บริหารสถานีกลางบางซื่อเอง และมอบหมายให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ รฟท. เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถไฟสายสีแดง รวมถึงการบริหารสถานีรถไฟสายสีแดง จำนวน 12 สถานี เมื่อโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เปิดให้บริการ คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 86,000 คน-เที่ยว/วัน ซึ่งจะส่งผลให้สถานีกลางบางซื่อกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้