ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (3): ถามดังๆ เมื่อ AOT สวม 2 หมวก เลือกปฏิบัติได้ตามพอใจหรือไม่!!

AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (3): ถามดังๆ เมื่อ AOT สวม 2 หมวก เลือกปฏิบัติได้ตามพอใจหรือไม่!!

18 ธันวาคม 2020


ที่มาภาพ : www.airportthai.co.th/

AOT อ้างกฎระเบียบ ทอท. ออกมาตรการเยียวยา แก้สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี–บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ “ไม่ได้กำหนดให้ขออนุมัติ ครม.–ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ”

จากตอนที่แล้ว หลังจากสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าว กรณีนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหนังสือถึงนายปรีดี ดาวฉาย ก่อนลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถามถึงเรื่องที่บอร์ดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีมติเยียวยาผู้ประกอบการในสนามบิน จนนำไปสู่การแก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี-บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ จนทำให้รายได้ของ ทอท. ลดลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงเงินปันผลที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง การดำเนินการดังกล่าว อยู่ในข่ายต้องขออนุมัติ ครม. ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 หรือไม่

  • AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (2): จากเหตุการณ์ปิดสนามบินถึงโควิด-19 ขออนุมัติ ครม.หรือไม่
  • ปรากฏว่าสำนักข่าวอิศรานำประเด็นนี้ไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดที่ คค (ปคร) 0202/401 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยกรมการขนส่งทางรางได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมให้ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ใช้ประกอบการพิจารณาต่อขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เห็นควรให้ปฏิบัติตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 หน้าที่ 2 ของหนังสือด่วนที่สุดที่ คค (ปคร) 0202/401 ระบุว่า “…การดำเนินการก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ หรือของหน่วยงานของรัฐ ให้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับเสนอในการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีด้วย … ในการพิจารณาอนุมัติกิจกรรม มาตรการ หรือ โครงการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วน ประโยชน์ที่ได้รับ และภาระทางการคลัง หรือการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย…”

    อ่านหนังสือด่วนที่สุดที่ คค (ปคร) 0202/401 เพิ่มเติม

    จึงมีคำถามตามมาว่า แล้วการแก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัญญาสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ของของ ทอท. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้ในการกำกับดูแลของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เช่นเดียวกับการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือไม่ อย่างไร

    ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ทำหนังสือชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ข้อแรกอ้างถึงกฎระเบียบของ ทอท. ว่า “การดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. ไม่มีกฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์กำหนดให้ต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐนตรี (ครม.) อันที่จะส่งผลกระทบ หรือก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ ดังนั้น กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และ/หรือการประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. จึงมิใช่การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคต และ/หรือการดำเนินการก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น การประกอบกิจการดังกล่าวจึงไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561”

    พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

  • บอร์ด PPP มีมติธุรกิจ “ดิวตี้ฟรี” ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ชี้ไม่ใช่กิจการจำเป็นที่ขาดไม่ได้ – ด้าน “นิตินัย” เปิดรายชื่อผู้ซื้อซองประมูล 9 ราย
  • คำถาม ทอท. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีด้วยหรือไม่ เช่น ถ้าไม่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ตามที่ประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่เคยวินิจฉัยว่า กิจการร้านค้าปลอดอากร (duty free) และกิจการร้านค้าบริการ (retails and services) ภายในท่าอากาศยาน “เป็นกิจการเชิงพาณิชย์ แต่ไม่ใช่กิจการจำเป็นที่ขาดไม่ได้” ตามตามมาตรา 7 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ กรณีนี้ก็ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ตามที่ระบุในหนังสือชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ข้อ 2 อันนี้มีเหตุผล พอฟังขึ้น

    แต่อย่างไรก็ตาม มีประเด็นคำถามตามมาว่า การที่ ทอท. สวมหมวก 2 ใบ คือทั้งในฐานะบริษัทมหาชน เพราะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่และอยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคม สถานภาพอันหลังนี้ควรต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งรวมไปถึง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และระเบียบข้อบังคับอื่นๆ ของทางราชการด้วยหรือไม่

    ใช่ หรือ ไม่ใช่ เป็นประเด็นคำถามที่ฝากไปถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้รักษาการตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จะพิจารณาดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร