ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์
อเมริกากลาง หรือ Central America นับเป็นอีกภูมิภาคที่มีความน่าสนใจ น่าศึกษาค้นคว้าทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เมื่อเอ่ยถึงอเมริกากลาง เรามักนึกถึง “เม็กซิโก” เป็นประเทศแรก รองลงมาอาจเป็นปานามา หรือนิการากัว
แต่ยังมีอีกประเทศที่น่าสนใจและควรกล่าวถึง คือ “คอสตาริกา” ดินแดนซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “สวิตเซอร์แลนด์แห่งอเมริกากลาง”
ภูมิหลังของคอสตาริกาคล้ายคลึงกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอเมริกากลาง กล่าวคือ เคยตกเป็นอาณานิคมสเปน ดังนั้น ภาษาสเปนจึงเป็นภาษาหลักที่ใช้สื่อสาร ขณะเดียวกัน ในอดีตระบบการเมืองการปกครองขาดเสถียรภาพ ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด หนำซ้ำสหรัฐอเมริกายังคอยแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเหล่านี้อยู่เสมอ
คอสตาริกามีพรมแดนติดกับประเทศนิคารากัว และปานามา… ร้อยละ 25 ของพื้นที่เต็มไปด้วยป่าเขา ทำให้คอสตาริกามีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก

ที่มาภาพ : https://i.pinimg.com/originals/99/d0/e7/99d0e7d38d4533be16ae55f86fb4b7e4.jpg
คอสตาริกามีประชากรราวๆ 5 ล้านคน อาศัยอยู่ในเมืองสำคัญ คือ ซานโฮเซ ซึ่งเป็นเมืองหลวง และอลาจูลา ซึ่งเป็นเมืองรอง
ซานโฮเซเป็นศูนย์กลางความเจริญของคอสตาริกา และถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่มีคุณภาพชีวิตสูงติดอันดับสี่ของเมืองใหญ่ในลาตินอเมริกา
จุดเด่นของคอสตาริกา คือ ระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพสูงถึงขนาดธนาคารโลกจัดอันดับให้คอสตาริกาเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมือง เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ระบบกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ มีความชัดเจน ทำให้นักลงทุนต่างชาติหอบเม็ดเงินมาลงทุนในคอสตาริกาจำนวนมาก

บรรษัทข้ามชาติสหรัฐอเมริกาเข้าไปลงทุนในคอสตาริกาหลายบริษัท โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ ขณะเดียวกันคอสตาริกาขึ้นชื่อเรื่องการผลิตสินค้าไฮเทคในแถบภูมิภาคละตินอเมริกา
คอสตาริกาจัดเป็น “ประเทศประชาธิปไตยที่ไร้กองทัพ” ด้วยเหตุนี้งบประมาณที่เคยสนับสนุนกองทัพในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จึงถูกนำมาผันลงในภาคการศึกษา สร้างโรงเรียน มหาวิทยาลัยหรือพัฒนางานวิจัยวิทยาศาสตร์ต่างๆ ทำให้ประชาชนชาวคอสตาริกามีอัตราการรู้หนังสือสูงถึงร้อยละ 95
กล่าวมาถึงตรงนี้แล้ว อาจสรุปง่ายๆ ว่าคอสตาริกาเป็นประเทศที่พัฒนาไปค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอเมริกากลางด้วยกัน
เมื่อหยิบดัชนีการจัดอันดับต่างๆ ของคอสตาริกามาพิจารณาจะพบว่า คอสตาริกาเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับด้านต่างๆ ค่อนข้างไปในทางที่ดี เช่น Corruption Perceptions Index ปีล่าสุด 2019 ที่คอสตาริกาได้ 56 จาก 100 คะแนน อันดับเรื่องภาพลักษณ์คอร์รัปชันในเวทีโลกอยู่ที่อันดับ 44 จาก 180 ประเทศ
…ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนถึงความเข้มแข็งในการกระบวนการปราบปรามคอร์รัปชันของคอสตาริกา คือ การจำคุกนาย Miguel Ángel Rodríguez Echeverría อดีตประธานาธิบดีคอสตาริกา (1998-2002) กรณีที่ถูกตัดสินว่าอยู่เบื้องหลังการรับสินบนหลายครั้งในระหว่างดำรงตำแหน่ง

ความโปร่งใสของรัฐบาลในการบริหารประเทศคอสตาริกายังแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐอีกด้วย อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ช่วงวิกฤติ COVID-19 คอสตาริกา ได้รับการชื่นชมจาก World Economic Forum ว่ารับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาด้วยกัน
ปัจจัยที่ทำให้คอสตาริกาได้รับคำชื่นชมหลายด้านนี้ คงต้องยกเครดิตให้กับภาคการเมืองที่มีเสถียรภาพและได้รับการยกย่องว่าเป็น full democracy หรือประชาธิปไตยเต็มใบอย่างแท้จริง
…น่าสนใจอีกเช่นกันว่า รัฐธรรมนูญคอสตาริกาประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 1949 แต่ยังไม่เคยถูกฉีกหรือยกเลิก ขณะเดียวกันมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว 17 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด เมื่อปี ค.ศ. 2015
ความขลังของรัฐธรรมนูญคอสตาริกา นอกจากจะไม่ถูกฉีกพร่ำเพรื่อแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 1994 ยังได้บัญญัติเรื่องสิทธิของประชาชนที่จะมีสุขภาพดีภายใต้ระบบนิเวศน์ที่สมดุลกับสิ่งแวดล้อม (Right to a healthy and ecologically balanced environment)

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญคอสตาริกาครั้งนั้นสอดคล้องกับกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ Sustainable Development ที่หันกลับมาให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาที่ต้องคำนึงต่อสิ่งแวดล้อม
ด้วยเหตุนี้ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา รัฐบาลคอสตาริกาจึงเริ่มสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือ ecotourism โดยเริ่มจากกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ ที่สนใจตั้งแต่เดินป่า ดูนก ศึกษาพรรณไม้ หรือ ที่รู้จักในกลุ่ม ecotourist

ข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของคอสตาริกา ทำให้การ ecotourism เติบโตอย่างรวดเร็วจนเปรียบเสมือนเป็น “เมกะของเหล่า ecotourist” ด้วยความที่คอสตาริกามีป่าไม้ที่ยังสมบูรณ์ทำให้รัฐบาลประกาศพื้นที่เหล่านี้ให้เป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจนมีคำสั่งเด็ดขาดห้ามล่าสัตว์ป่า ทุกชนิด
อุทยานแห่งชาติสำคัญๆ เช่น Monteverde Cloud Forest Reserve ตั้งอยู่ระหว่างเขตเมือง Puntarenas และ Alajuela อุทยานแห่งชาติ Manuel Antonio National Park เป็นหมู่เกาะเล็กๆ กลางมหาสมุทรแปซิฟิก เคยได้รับการจัดอันดับจาก Forbes ว่าจัดเป็นอุทยานแห่งชาติประเภทเกาะที่สวยติดอันดับ 1 ใน 12 ของโลก
ecotourism ของคอสตาริกา ทำให้เศรษฐกิจคอสตาริกาเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ประกอบกับรัฐบาลจัดการกับปัญหาอาชญากรรมได้ดี ทำให้คอสตาริกาเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวสาย eco ที่ตั้งใจเดินทางมาสัมผัสกับธรรมชาติอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ecotourism ยังกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานภายในท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านแถบอุทยาน ป่าไม้ เกาะแก่งต่างๆ พลอยได้ประโยชน์จาก ecotourism ไปด้วย
แน่นอนว่ารัฐบาลคอสตาริกาให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จนนำไปสู่การสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน หรือ sustainable tourism ที่เน้นการท่องเที่ยวเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ดีๆ จากสถานที่ รักษาสภาพแวดล้อม เคารพวิถีชีวิตคนพื้นเมือง
จากการจัดอันดับล่าสุดเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs Index 2020 พบว่า คอสตาริกาได้คะแนน SDG Index สูงถึง 75.08 จากคะแนนเต็ม 100 อยู่อันดับที่ 35 จาก 193 ประเทศ (อยู่อันดับที่ 2 ของภูมิภาคลาตินรองจากชิลีที่ได้ 77.42 คะแนน)
…คอสตาริกา ประเทศที่ประชาธิปไตยเต็มใบที่ไร้กองทัพ มุ่งพัฒนาตัวเองให้เป็น ecotourism อย่างสมบูรณ์เพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”