ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > โรดแมปการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยหลังวิกฤติโควิด (1): ความเข้าใจผิดในการใช้พลาสติกป้องกันเชื้อโควิด

โรดแมปการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยหลังวิกฤติโควิด (1): ความเข้าใจผิดในการใช้พลาสติกป้องกันเชื้อโควิด

18 พฤศจิกายน 2020


ดร.เพชร มโนปวิตร

การจัดการขยะครัวเรือนที่ หนองแขม

ปัญหาขยะพลาสติกนับเป็นวิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อมระดับโลกที่ทุกฝ่ายหันมาให้ความสนใจอย่างมากในระยะหลัง เพราะการจะแก้ปัญหานี้ได้ เราต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการบริโภคและวิถีการผลิตครั้งใหญ่ รวมไปถึงการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนรูปแบบใหม่ที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นหลัก

ประเทศไทยนับว่ามีบทบาทสำคัญในระดับโลก เพราะได้ชื่อว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีการสร้างขยะจำนวนมากและยังไม่มีการจัดการที่ดีพอ ทำให้ขยะมีโอกาสหลุดรอดออกสู่ทะเลในแต่ละปีมากมายมหาศาล ซึ่งกลายเป็นปัญหาคุกคามระบบนิเวศมหาสมุทรของโลก

ข้อมูลล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2562 พบว่ามีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 28.7 ล้านตัน โดยเฉลี่ยเป็นขยะพลาสติกร้อยละ 12 หรือประมาณ 2-3 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้มีการนำกลับมารีไซเคิลราว 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลืออีก 1.5-2.5 ล้านตันซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) บางส่วนถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบหรือเตาเผา บางส่วนตกค้างสะสมในสิ่งแวดล้อม

มาตรการสำคัญอันดับหนึ่งของการแก้ปัญหาขยะพลาสติกจึงยังคงเป็นเรื่องของการลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งที่ไม่จำเป็น และส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาใช้รูปแบบภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำได้ทดแทน หรือสนับสนุนวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การใช้พลาสติกเพิ่มขึ้นจากวิกฤติโควิด-19

ปัญหาใหญ่ของ new normal หลังวิกฤติโควิด นอกจากการบริการส่งอาหารเดลิเวอรีที่มีขยะจากบรรจุภัณฑ์มากมายแล้ว ก็คือการที่ร้านอาหารกลับมาใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งกันอย่างแพร่หลาย ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด ตั้งแต่การบรรจุช้อนส้อม ตะเกียบ ไว้ในซองพลาสติก ใช้พลาสติกคลุมจาน มีแม้กระทั่งการนำซองพลาสติกมาใส่กระดาษจดและปากกาในงานประชุมตามโรงแรมซึ่งเป็นการสร้างขยะที่ไม่จำเป็นมากๆ หรือบางร้านก็เปลี่ยนเป็นให้บริการโดยใช้ช้อนส้อมพลาสติกเลย ทั้งๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพยืนยันว่าการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งไม่ได้ปลอดภัยกว่าการใช้อุปกรณ์ใช้ซ้ำตามปกติ

เราถูกทำให้เชื่อว่าอุปกรณ์แบบใช้แล้วทิ้ง หรือการห่อหุ้มอุปกรณ์ด้วยพลาสติกนั้นสะอาดกว่าภาชนะหรืออุปกรณ์ปกติ แต่พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งนอกจากจะไม่ได้ปลอดภัยกว่า ยังสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากมายภายหลังการใช้

ปัจจุบันคนไทยสร้างขยะราว 1.13 กิโลกรัม/คน/วัน หรือคนละเกือบครึ่งตันต่อปี ถ้าวิถี new normal คือการโหมใช้พลาสติกกันอย่างฟุ่มเฟือยแบบนี้ เชื่อว่าสถานการณ์คงจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

ความจริงผลการศึกษาวิจัยพบว่าไวรัสโคโรนามีชีวิตอยู่บนพื้นผิวพลาสติกได้นาน 3-6 วันนานกว่าวัสดุแบบอื่น แต่กระนั้นร้านอาหาร โรงแรม ต่างพากันเลื่อนหรือยกเลิกการแบนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเป็นการชั่วคราว ตัวอย่างที่ชัดเจนคือร้านกาแฟสตาร์บัคส์ทั่วโลกมีนโยบายไม่รับแก้วส่วนตัวชั่วคราวตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้จะไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่าการใช้อุปกรณ์ส่วนตัวเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

การใช้พลาสติกเพิ่มขึ้นจากวิกฤติโควิด-19

เพื่อป้องกันความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการใช้พลาสติกในการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข 125 คนจาก 18 ประเทศได้ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อให้ความมั่นใจว่าการใช้อุปกรณ์ส่วนตัวแบบใช้ซ้ำได้นั้นมีความปลอดภัย

“กลุ่มผู้เชี่ยวชาญซึ่งประกอบไปด้วยนักไวรัสวิทยา นักระบาดวิทยา แพทย์ห้องฉุกเฉิน ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ต่างเห็นตรงกันว่า อุปกรณ์ส่วนตัวที่ใช้ซ้ำได้ไม่ว่าจะเป็นถุงฟ้า ช้อนส้อม จานชาม ถ้วยแก้ว สามารถใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัยในสถานการณ์โรคระบาด เพียงแต่ทุกคนต้องรับผิดชอบสุขลักษณะของตัวเอง และสถานประกอบการต้องจัดให้มีระบบเติมที่ปราศจากการสัมผัส (contact free)”

รัฐบาลและภาคธุรกิจที่เปิดดำเนินการตามปกติแล้วจึงควรมีแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับคำแนะนำดังกล่าว

เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว หวังว่าทางร้านอาหาร สถานบริการต่างๆ จะปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสม รักษาสุขลักษณะและไม่สร้างขยะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งอย่างพร่ำเพรื่อกันอีกแล้ว

ใครที่ยังมีข้อสงสัยลองอ่านคำชี้แจงของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเกี่ยวกับการจัดการความปลอดภัยของการนำกลับมาใช้ใหม่ และโควิด-19 (Health Expert Statement Addressing Safety of Reusable and COVID-19)

ระบบการนำกลับมาใช้ใหม่ (reusable) และเติม (refill) เป็นส่วนสำคัญในการรับมือกับวิกฤติมลพิษจากพลาสติก และการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ระบบนี้สามารถสร้างงานและช่วยสร้างเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น การระบาดใหญ่ระดับโลกของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้เกิดการถกเถียงถึงความปลอดภัยของระบบการใช้ซ้ำในภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข แต่จากผลการศึกษาและคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เป็นที่ชัดเจนได้ว่าการนำกลับมาใช้ซ้ำสามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างปลอดภัยโดยต้องคำนึงถึงหลักสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน ภายใต้ข้อเท็จจริงที่สำคัญที่ควรทราบดังนี้

  • หลักฐานที่มีอยู่บ่งชี้ได้ว่า การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส โดยส่วนใหญ่จะมาจากการสูดดมละออง (droplet) มากกว่าการสัมผัสบนพื้นผิว จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า ส่วนใหญ่ไวรัสแพร่กระจายจากคนสู่คน โดยระหว่างคนที่อยู่ใกล้ชิดกัน ผ่านระบบทางเดินหายใจ ของละอองฝอยเมื่อผู้ที่ติดเชื้อมีการไอ จาม และการพูดคุย ในขณะที่อาจจะเป็นไปได้ที่คนคนหนึ่งสามารถติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้โดยการสัมผัสพื้นผิวหรือวัตถุที่มีไวรัสอยู่หลังจากนสัมผัสปาก จมูก หรือตาของตนเอง ละอองลอยเป็นวิธีเดียวที่แพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19
  • ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้งเป็นปัญหาเช่นเดียวกันกับระบบการใช้ซ้ำ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ การศึกษาแสดงให้เห็นว่าโควิด-19 สามารถแพร่กระจายเชื้อบนพื้นผิวได้ในเวลาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัสดุ การศึกษาหนึ่งแสดงให้เห็นว่าไวรัสติดเชื้อได้นานถึง 24 ชั่วโมงบนกระดาษและกระดาษแข็ง และมีชีวิตอยู่ได้ระหว่าง 2-3 วันสำหรับพลาสติกและสแตนเลส ในการศึกษาอีกชิ้นไม่พบการแพร่เชื้อไวรัสบนกระดาษที่ถูกพิมพ์ หรือกระดาษทิชชูหลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง ในขณะที่มีเชื้อติดอยู่บนผ้าได้ถึง 1 วัน, บนกระจกสูงสุด 3 วัน และบนพลาสติกและสแตนเลส 6 วัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อผ่านวัตถุและพื้นผิวเราสามารถสันนิษฐานได้ว่าวัตถุหรือพื้นผิวใดๆ ที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะที่ถูกสัมผัสซ้ำๆ อาจจะปนเปื้อนหรือมีเชื้อไวรัสติดอยู่ได้ทั้งสิ้น
  • ผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ ทำความสะอาดได้ง่าย น้ำยาฆ่าเชื้อในครัวเรือนที่ใช้กันทั่วไปมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อบนพื้นผิวแข็ง รวมไปถึงสิ่งของที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ ด้วยการทำความสะอาดพื้นผิวดังกล่าวให้สะอาดโดยใช้ผงซักฟอกหรือสบู่ และน้ำร้อนก่อนที่จะฆ่าเชื้อโรค คำแนะนำในกรณีการซักรีด โดยใช้การตั้งค่าน้ำอุ่นที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการอบผ้าให้แห้งสนิท อย่างเดียวกัน การล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือการล้างมือด้วยน้ำยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสตาปากหรือจมูกเป็นวิธีที่ได้ผลในการป้องกันตัวเอง

แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ในพื้นที่ศูนย์การค้า

1. ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยด้านอาหาร และสุขภาพ ภายในร้านค้าและการบริการจาน ช้อน ส้อม ถ้วย และผ้าเช็ดปาก ทำความสะอาดด้วยการควบคุมตามขั้นตอนด้านความปลอดภัยที่ระบุไว้ในมาตรการของรัฐอย่างเข้มงวด ทำความสะอาดด้วยอุณหภูมิสูง กับขั้นตอนการฆ่าเชื้อเพิ่มเติมเป็นมาตรฐานในอุตสาหกรรม และเพิ่มการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสให้มากขึ้น

2. ใช้หลักปฏิบัติด้านสุขอนามัยเพิ่มเติมสำหรับการป้องกับการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 สิ่งสำคัญที่สุด คือ สิ่งของที่นำกลับมาใช้ซ้ำนั้นปลอดภัย เมื่อทำความสะอาดด้วยสบู่และน้ำ ศูนย์การค้าอาหารควรติดตามคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติในการค้าปลีก

3. จัดให้มีบริการที่ปราศจากการสัมผัส (contact free) สำหรับกระเป๋าและถ้วยส่วนตัวของลูกค้า เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตัวอย่างเช่นการบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของแคลิฟอร์เนียแนะนำว่า เมื่อลูกค้านำกระเป๋าหรือถ้วยส่วนตัวมาเองพนักงานควรได้รับคำสั่งให้

    – ไม่สัมผัสหรือใส่อาหารในกระเป๋าของลูกค้า
    – ขอให้ลูกค้าใส่กระเป๋าของตัวเองไว้ในตะกร้าสินค้า
    – ขอให้ลูกค้าแพ็คอาหารด้วยตัวเอง

4. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานได้รับการคุ้มครอง นอกเหนือจากการลงทุนในระบบนำกลับมาใช้ใหม่ที่ปลอดภัยและสามารถเข้าถึงได้แล้ว ขั้นตอนอื่นๆ ที่ผู้ค้าปลีกสามารถดำเนินการเพื่อปกป้องคนงาน ได้แก่ การจัดหา PPE การลาป่วยที่ได้รับค่าจ้างลดการเข้าพักในร้านค้าและกำหนดให้ลูกค้าต้องสวมหน้ากากอนามัย และการปฏิบัติการเว้นระยะห่างทางสังคม ลูกค้าควรจัดการกับสิ่งของที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เองเมื่อไปที่ห้างและร้านค้า

new normal หลังวิกฤติโควิด ควรเป็นวิถีที่ต้องเน้นความยั่งยืนและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยกันหลีกเลี่ยงการสร้าง “ขยะ” ที่เกิดจากความเข้าใจผิดในการใช้พลาสติกป้องกันการติดเชื้อโควิด

อ้างอิง: Health Expert Statement Addressing Safety of Reusables and COVID-19