ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Breaking the Planetary Boundaries: ถึงเวลาของวิทยาศาสตร์เพื่อการกู้โลก

Breaking the Planetary Boundaries: ถึงเวลาของวิทยาศาสตร์เพื่อการกู้โลก

21 มิถุนายน 2021


ดร.เพชร มโนปวิตร

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ(ซ้าย)และเซอร์เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ สื่อมวลชนด้านธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ(ขวา)

ข่าวใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมหลังการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 ที่เมืองคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายนที่ผ่านมา คือ เป็นครั้งแรกที่ผู้นำของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทั้ง 7 ประกาศว่าจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศา นอกจากนี้ยังจะต้องปกป้องระบบนิเวศธรรมชาติทั้งทางบกและทางทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในทศวรรษข้างหน้า

นับเป็นสัญญาณชัดเจนว่าวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่างกำลังส่งผลกระทบต่อนโยบายการพัฒนาในระดับสูงสุด ความมั่นคงของระบบนิเวศเริ่มจะเป็นเรื่องเดียวกันกับความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจและความปลอดภัยในการดำรงอยู่ของสังคมมนุษย์ในระยะยาว อย่างที่นักวิทยาศาสตร์สายอนุรักษ์ได้พยายามส่งเสียงเตือนตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

“เรามุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยคาร์บอนโดยรวมลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปี 2010 โดยจะหยุดสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการพลังงานถ่านหิน รวมไปถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ ภายในปี 2025 พร้อมกับตั้งกองทุน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้เลิกใช้พลังงานจากถ่านหิน นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกองทุน Blue Planet ด้วยเงินทุนเริ่มต้น 500 ล้านเหรียญ เพื่อสนับสนุนการปกป้องระบบนิเวศทางทะเล แก้ปัญหาประมงที่ไม่ยั่งยืนและมลภาวะจากขยะพลาสติก” แถลงการณ์ร่วมของประเทศ G7 ระบ

ในช่วงเริ่มต้นที่ประชุมสุดยอดผู้นำครั้งนี้ได้มีการนำวิดีโอคำกล่าวของเซอร์เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ สื่อมวลชนด้านธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษระดับตำนาน มาเปิดเตือนสติผู้นำกลุ่มประเทศ G7 อีกด้วย

“ทุกวันนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าโลกธรรมชาติกำลังหายไปอย่างน่าตกใจ สภาพภูมิอากาศก็ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว สังคมและประเทศชาติเต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียม น่าเสียใจที่เราปล่อยให้สิ่งต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา แต่คำถามที่วิทยาศาสตร์บังคับให้เราต้องตอบโดยเฉพาะในปี 2021 นี้ก็คือ มนุษย์กำลังทำให้โลกทั้งโลกเสียสมดุลไปสู่จุดที่เกินเยียวยาแล้วหรือเปล่า สิ่งที่ผู้นำประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกที่นั่งอยู่ในห้องนี้ต้องตัดสินใจ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็ว่าได้”…เดวิดกล่าว

เดวิดในวัย 95 ปีโรยราลงไปมากแต่แววตาและน้ำเสียงยังคงมุ่งมั่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับธรรมชาติที่กำลังเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ภาพยนตร์สารคดีที่เขาเป็นผู้ดำเนินเรื่องเรื่องล่าสุด “Breaking the Boundaries: The Science of Our Planet” เพิ่งจะเปิดตัวพร้อมกันทั่วโลกทาง Netflix ในวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ก่อนวันสิ่งแวดล้อมโลก และก่อนหน้าการประชุม G7 เพียงสัปดาห์เดียว

สารคดี Breaking the Boundaries พยายามอธิบายถึงแนวคิด Planetary Boundaries หรือขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก ซึ่งมีการนำเสนอในแวดวงวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2009

ขีดจำกัดดังกล่าวคือกลไกด้านต่างๆในการควบคุมสมดุลของดิน น้ำ ลม ฟ้าอากาศ และระบบนิเวศโดยรวมทั้งหมด ที่ทำให้โลกเป็นดินแดนที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่านี่คือขอบเขตที่ปลอดภัยสำหรับการดำรงไว้ซึ่งอารยธรรมของมวลมนุษย์ หากเราก้าวข้ามพรมแดนนี้ไปจะมีโอกาสเกิดความปั่นป่วนจนเข้าขั้นวิกฤติ โลกทั้งโลกอาจจะกลายเป็นดินแดนที่เราไม่รู้จักอีกต่อไป… เดวิด กล่าวเปิดตอนต้นเรื่องว่า สำหรับเขานี่คือแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งยุคสมัย

ภาพยนตร์สารคดีที่เซอร์เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ เป็นผู้ดำเนินเรื่องเรื่องล่าสุด

สารคดี Breaking the Boundaries นำเสนอผ่านบทบรรยายของ ดร.โยฮัน ร็อกสตรอม อดีตผู้อำนวยการ Stockholm Resilience Centre แห่งมหาวิทยาลัยสต็อกโฮล์ม นักวิจัยหลักผู้นำเสนอผลงานศึกษา Planetary Boundaries มาตั้งแต่ปี 2009 โยฮันและคณะได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นสำคัญในวารสาร Nature และ Ecology and Society ในชื่อ ขอบเขตที่ปลอดภัยสำหรับมนุษยชาติ (A Safe operating space for humanity) ในปีเดียวกัน

โยฮัน อธิบายที่มาของแนวคิด Planetary Boundaries ว่าถูกพัฒนาขึ้นมาจากการแสวงหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์สามด้านหลักๆ คือ

    1) เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ที่พยายามเข้าใจว่า สิ่งแวดล้อมมีความสำคัญอย่างไรต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
    2) กระบวนการที่ค้ำจุนการทำงานของโลกและผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ อันเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ด้านความยั่งยืนในปัจจุบัน
    3) กรอบคิดเรื่อง Resilience หรือความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว ซึ่งเน้นว่าระบบนิเวศมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบเส้นตรงหรือค่อยเป็นค่อยไป แต่มักจะมีขีดจำกัด (threshold)

    เมื่อพ้นจากขีดจำกัดที่ปลอดภัยเมื่อไหร่ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่คาดการณ์ได้ยากและมักจะไม่หวนกลับมาสู่สภาพเดิมได้อีก สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการรู้ก็คือ เราได้ก้าวข้ามขีดจำกัดที่ปลอดภัยของโลกนี้ไปหรือยัง

ความจริงความพยายามแสวงหา “ขีดจำกัด” ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ โยฮันยอมรับว่าแนวคิด Planetary Boundaries เป็นผลงานที่ต่อยอดจากรายงานความยั่งยืนฉบับแรกๆของโลก นั่นก็คือ “ขีดจำกัดของการเติบโต” หรือ The Limit to Growth โดย The Club of Rome กลุ่มนักวิชาการนักคิดสายความยั่งยืนที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1972 สมัยที่โลกยังไม่รู้จักกับคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยซ้ำ

ดร.โยฮัน ร็อกสตรอม อดีตผู้อำนวยการ Stockholm Resilience Centre แห่งมหาวิทยาลัยสต็อกโฮล์ม

รายงานฉบับสำคัญฉบับนั้นตั้งคำถามถึงความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนา โดยใช้โมเดลคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้นของมหาวิทยาลัยเอ็มไอที ทำแบบจำลองหลายชุด โดยใช้ข้อมูลการเติบโตของประชากรหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อัตราการเกิด อัตราการตาย สถานภาพของทรัพยากรธรรมชาติ อัตราการบริโภค ผลผลิตทางอุตสาหกรรม

ผลปรากฏว่า ข้อสรุปของแบบจำลองหลายชุดได้ผลตรงกันว่า ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจโลกจะเติบโตต่อเนื่องอย่างไร้การควบคุมจนเกิดขีดจำกัดของต้นทุนทางธรรมชาติ และโลกจะเริ่มเข้าสู่ภาวะล่มสลายของภาคการผลิตและประชากรทั่วโลกระหว่างปี 2050-2070

ผลการศึกษาในรายงาน “ขีดจำกัดของการเติบโต” อายุเกือบ 50 ปี สอดคล้องกับผลการศึกษาล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) อย่างน่าทึ่ง แม้แต่ช่วงเวลาที่คาดว่าจะเกิดการล่มสลายของเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมก็สอดคล้องกันคือเป็นช่วงหลังปี 2050

ข้อสรุปอีกอย่างที่ตรงกันก็คือ หากทุกประเทศเปลี่ยนแปลงการเติบโตเศรษฐกิจรูปแบบเดิมๆ ได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะมีโอกาสหลีกเลี่ยงหายนะได้มากขึ้นเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เราต้องเร่งปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตแบบเดิมโดยเร็วที่สุด ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

สิ่งที่โยฮันและกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ร่วมกันพัฒนาขึ้นมาใหม่สำหรับ Planetary Boundaries คือความพยายามในการบ่งชี้ขีดจำกัดความปลอดภัยด้านต่างๆของโลก รวมทั้งหาตัวชี้วัดในเชิงปริมาณว่า “เท่าไหร่” จึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดที่ไม่สามารถย้อนกลับมาได้อีก

จากการรวบรวมหลักฐานและงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก โยฮันและคณะได้บ่งชี้ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกออกมา 9 ด้าน เรียงลำดับตามความรุนแรง ตั้งแต่สีแดง: วิกฤติรุนแรง สีเหลือง: น่าเป็นห่วง สีเขียว: ปลอดภัย และสีเทา: ยังไม่สามารถระบุได้ ได้แก่

1.การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ(Biodiversity loss) (วิกฤติรุนแรง): อธิบายให้ง่ายที่สุดก็คือการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติอันเนื่องมาจากการทำลายธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและการใช้ประโยชน์ทางตรงของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าอัตราการสูญพันธุ์ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าอัตราการสูญพันธุ์ตามธรรมชาติจากหลักฐานฟอสซิล ถึง 100-1,000 เท่า และเชื่อว่ามนุษย์เป็นตัวการสำคัญที่กำลังทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 การประเมินล่าสุดเมื่อปี 2019 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศบริการ (IPBES) ระบุว่ามีพืชและสัตว์มากถึง 1 ล้านชนิดจากจำนวนทั้งหมดราว 8 ล้านชนิดอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

2.วัฎจักรไนโตรเจน-ฟอสฟอรัส (N-P cycle) (วิกฤติรุนแรง): มลภาวะที่เกิดจากธาตุอาหารพืชโดยเฉพาะไนโตรเจนและฟอสฟอรัสที่มากเกินไปอันเนื่องมาสาเหตุหลักคือการใช้ปุ๋ยในการผลิตอาหารของมนุษย์ เราดึงไนโตรเจนจากอากาศ และฟอสฟอรัสจากดินมาทำปุ๋ย ซึ่งธาตุอาหารส่วนเกินจำนวนมากถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ

ทำให้เกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่น (eutrophication) หรือการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอนพืช พืชน้ำและสำหร่ายขนาดใหญ่ จนทำให้แหล่งน้ำขาดอ็อกซิเจน เกิดเป็นเขตมรณะ หรือ Dead Zones ที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบเขตมรณะกว่า 400 แห่งทั่วโลก และกำลังขยายตัวอย่างน่ากลัว

นักวิทยาศาสตร์เสนอว่าปริมาณการใช้ไนโตรเจนสำหรับพื้นที่เกษตรทั่วโลกไม่เกิน 62 ล้านตันต่อปี ส่วนฟอสฟอรัสไม่เกิน 11 ล้านตันต่อปี แต่จากข้อมูลล่าสุดพบว่า มีไนโตรเจนรั่วไหลลงสู่ทะเลปีละ 80-100 ล้านตัน ลงสู่แหล่งน้ำจืดอีก 50-70 ล้านตัน ในขณะที่ใช้ฟอสฟอรัสกว่า 14.2 ล้านตันต่อปี และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3.การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางบกโดยเฉพาะการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ (land-system change) (น่าเป็นห่วง): เดิมทีการประเมินเมื่อปี 2009 ระบุว่าการตัดไม้ทำลายป่าและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย แต่การค้นพบว่าระบบนิเวศป่าไม้ขนาดใหญ่ เช่น แอมะซอนซึ่งเปรียบเหมือนกับปอดของโลกยังคงถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนสภาพไปเป็นทุ่งหญ้าได้อย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิด นั่นเท่ากับเป็นการสูญเสียแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาภาวะโลกร้อนให้วิกฤติขึ้นไปอีก การจัดระดับใหม่จึงอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง และมีแนวโน้มเข้าขั้นวิกฤติในอนาคตอันใกล้ หากยังไม่สามารถหยุดยั้งการทำลายป่าไม้ได้

4.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) (น่าเป็นห่วง): เราได้ผ่านระดับคาร์บอนในชั้นบรรยากาศที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปลอดภัยคือ 350 ppm มาไกลแล้ว ตอนนี้ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกใกล้แตะ 420 ppmเข้าไปทุกที (419 ppm พฤษภาคม 2021)

ซึ่งขีดจำกัดที่เราไม่ควรจะก้าวข้ามอย่างเด็ดขาดคือ 450 ppm สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือการละลายของน้ำแข็งทั่วโลก ซึ่งแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดการละลายอย่างรวดเร็วคือ กรีนแลนด์และแอนตาร์กติกา ตอนนี้กรีนแลนด์เกิดการละลายอย่างต่อเนื่องที่ดูเหมือนจะเลยขีดจำกัด (threshold) ที่ปลอดภัยมาแล้ว

หากแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายลงทั้งหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 7.2 เมตร ส่วนแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาก็เริ่มส่งสัญญานอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นถึง 3 องศา จะทำให้เกิดกระบวนการละลายแบบไม่ย้อนกลับ ซึ่งหากแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายลงทั้งหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 57 เมตร ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าการตั้งถิ่นฐานชายฝั่งของโลกปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

5.ภาวะทะเลเป็นกรด (Ocean acidification) (ต้องเฝ้าระวัง) : มหาสมุทรดูดซับคาร์บอนที่เราปล่อยออกมาไว้ถึงหนึ่งในสาม เมื่อคาร์บอนถูกดูดซับลงสู่น้ำทะเลจะกลายเป็นกรดคาร์บอนิก (Carbonic acid) ทำให้ทะเลมีภาวะเป็นกรดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พบว่ามหาสมุทรมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้นแล้วถึง 30% และเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าช่วงอื่นๆในประวัติศาสตร์โลกถึง 100 เท่า ส่งผลให้คาร์บอนเนตไอออนในมหาสมุทรมีปริมาณลดลงอย่างน่าเป็นห่วง คาร์บอนเนตไอออนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเปลือกและโครงสร้างแข็ง (Calcium carbonate) ของสิ่งมีชีวิตในทะเล ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ไปจนถึงปะการัง

ตามหลักฐานฟอสซิล ภาวะทะเลเป็นกรดถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตในอดีต เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางองค์ประกอบเคมีที่ส่งผลกระทบในวงกว้างมากๆ

6.การใช้น้ำจืด (Freshwater use) (ปลอดภัย): มนุษย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฎจักรน้ำจืดทั่วโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มีการกักเก็บน้ำ การเปลี่ยนแปลงทางน้ำที่รบกวนการไหลตามธรรมชาติ

มีการประเมินว่าในปัจจุบันแม่น้ำราว 1 ใน 4 ของโลกไหลไปไม่ถึงมหาสมุทรอีกแล้วเพราะมีการนำน้ำจืดในลุ่มน้ำมาใช้ประโยชน์อย่างมหาศาลในรูปแบบต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความสามารถในการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ไปจนถึงการควบคุมสภาพภูมิอากาศ

แม้การประเมินเบื้องต้นจะระบุว่าการใช้น้ำจืดยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย แต่นักวิชาการบางส่วนเห็นว่าเป็นการประเมินการใช้น้ำที่ต่ำเกินไปมาก และความจริงเราได้ก้าวข้ามขีดระดับที่ปลอดภัยมาแล้ว

7.การสูญเสียโอโซนในชั้นบรรยากาศ(Stratospheric ozone depletion) (ปลอดภัย): โอโซนช่วยกรองแสงอุลตร้าไวโอเลตที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ การค้นพบรูรั่วของโอโซนบริเวณแอนตาร์กติกอันเนื่องมาจากสารเคมีเช่น คลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ CFC เป็นตัวอย่างของการนำเอาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากำหนดเป็นนโยบายระดับโลก ในกรณีนี้คือการทำพิธีสารมอนทรีออล ซึ่งเป็นสนธิสัญญาสากลที่กำหนดขึ้นเพื่อควบคุม ยับยั้งการผลิตและการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศ ตั้งแต่ปี 1987 และสถานการณ์ก็ดีขึ้นตามลำดับ พิธีสารมอนทรีออลได้รับการยกย่องให้เป็นตัวอย่างการร่วมมือกันระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาในระดับนานาชาติ

8.ปริมาณสารแขวนลอยและมลพิษในอากาศ (Atmosphere aerosol loading) (ยังไม่สามารถระบุได้): อธิบายให้ง่ายที่สุดก็คือบรรดาฝุ่นจิ๋ว PM10 PM2.5 ที่กลายเป็นสิ่งคุ้นเคยสำหรับคนไทยไปแล้ว ฝุ่นจิ๋วเหล่านี้สามารถจับตัวกับไอน้ำและส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลต่อการเกิดลมมรสุม การเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ การทำให้อุณหภูมิลดต่ำลง (global dimming)

นอกจากนี้ก็ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์อย่างรุนแรง มีการประเมินว่ามลพิษเหล่านี้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนทั่วโลกกว่า 7 ล้านคนในแต่ละปีโดยเฉพาะในเอเชีย นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุระดับที่ปลอดภัยได้อย่างแน่ชัดเพราะกลไกและความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อน แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงมากว่า เราน่าจะสร้างมลพิษในอากาศเกินระดับที่ปลอดภัยมานานมากแล้ว

9.มลภาวะจากสารเคมี (Chemical pollution) (ยังไม่สามารถระบุได้): มนุษย์สังเคราะห์และปลดปล่อยสารเคมีจำนวนมากออกสู่สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ โลหะหนัก สารกัมมันตรังสี สารมลพิษตกค้างยาวนาน (POPs) เช่น ยาฆ่าแมลงและยากำจัดศัตรูพืช รวมไปถึงสารเคมีทางอุตสาหกรรม และไมโครพลาสติก สารประกอบเหล่านี้มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนเช่นกันว่าขีดจำกัดที่ปลอดภัยควรจะอยู่ระดับไหน

แต่หากพิจารณาถึงปริมาณขยะพลาสติกที่หลุดรอดออกสู่มหาสมุทรปีละ 8-12 ล้านตัน และหลักฐานเชิงประจักษ์ของขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหารุนแรงไปทั่วโลก ก็น่าเชื่อได้ว่าเราได้ก้าวข้ามผ่านระดับที่ปลอดภัยไปแล้วเช่นกัน

มาถึงยุคนี้ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก (Planetary Boundaries) ทั้ง 9 ด้านอาจไม่ใช่เรื่องใหม่อีกแล้ว แต่นับเป็นหลักฐานสำคัญว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่นักวิทยาศาสตร์ขนานนามว่า Anthropocene หรือยุคมนุษย์ครองโลก หมายความว่ากิจกรรมของมนุษย์ได้ส่งผลกระทบต่อโลกโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาและธรณีวิทยาในระดับสุดขั้ว ไม่ว่าจะการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน การสูญพันธุ์อย่างรวดเร็วครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ของสิ่งมีชีวิต ความเสื่อมโทรมอย่างหนักของระบบนิเวศป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน

สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก เพราะนโยบายและทิศทางการพัฒนาในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นตัวกำหนดอนาคตและความอยู่รอดของมนุษย์ในระยะยาว ซึ่งหากมองขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกเป็นมาตรวัด แล้วถอดออกมาเป็นแผนที่นำทางในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบมีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อให้โลกกลับสู่ขอบเขตที่ปลอดภัย ก็อาจนับได้ว่า Planetary Boundaries คือวิทยาศาสตร์เพื่อการกู้โลกอย่างแท้จริง

ชวนชมตัวอย่างสารคดี “Breaking the Boundaries: The Science of Our Planet” ความยาว 10 นาทีได้ที่นี่

อ้างอิง
เพชร มโนปวิตร 2561. ทำไมต้อง Circular Economy ทางรอดของมนุษย์ในยุค Anthropocene. นิตยสารคิด TCDC
Biermann & Kim. 2020. The Boundaries of the Planetary Boundary Framework: A Critical Appraisal of Approaches to Define a “Safe Operating Space” for Humanity. Annual Review of Environment and Resources. Vol. 45:497-521 (Volume publication date October 2020)
Meadows, D. H., D. L. Meadows, J. Randers, and W. W. Behrens. 1972. The limits to growth. Universe Books, New York, New York, USA.
Rockstrom et al. 2009a. Planetary Boundaries: Exploring the Safe Operating Space for Humanity. Ecology and Society 14(2): 32.
Rockstrom et al. 2009b. A safe operating space for humanity. Nature volume 461, pages472–475
Steffen et al. 2015. Planetary boundaries: Guiding human development on a changing planet.Science 13 Feb 2015: Vol. 347, Issue 6223, 1259855