ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ สั่งตำรวจทบทวนคำสั่งแบนสื่อ – มติ ครม. เวนคืนที่ดิน 350 ไร่ สร้างถนนเชื่อมนครอินทร์-ศาลายา

นายกฯ สั่งตำรวจทบทวนคำสั่งแบนสื่อ – มติ ครม. เวนคืนที่ดิน 350 ไร่ สร้างถนนเชื่อมนครอินทร์-ศาลายา

21 ตุลาคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายก ฯสั่งตำรวจทบทวนคำสั่งแบนสื่อ เว้นเผยแพร่ข้อมูลเท็จ-ยุยงปลุกปั่น “อาคม” โยนบอร์ดแบงก์รัฐ พิจารณาขยายเวลาพักหนี้ – มติ ครม.เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ยังไม่เคาะวัน – เห็นชอบเวนคืนที่ดิน 350 ไร่ สร้างถนน 6 เลน เชื่อมนครอินทร์-ศาลายา วงเงิน 8,722 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งการประชุมในวันนี้ใช้เวลายาวนานกว่าปกติ และนายกรัฐมนตรียังคงไม่ตอบคำถามที่สื่อมวลชน โดยได้กล่าวถึงเพลง “อยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภัคดี” ที่เปิดก่อนการแถลงข่าวว่า “ฟังเพลงเรารู้สึกอะไรขึ้นมาบ้างไหม เราลูกหลานไทยคนไทยอยู่อย่างจงรักตายอย่างภักดี หน้าที่ของคนไทยทุกคนหน้าที่ของรัฐบาล ผมบังคับใครไม่ได้แต่มันต้องมาจากจิตใจของพวกเราทุกคน”

สั่งตำรวจทบทวนคำสั่งแบนสื่อ ยกเว้นเผยแพร่ข้อมูลเท็จ-ยุยงปลุกปั่น

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวชี้แจงถึงประเด็นการออกคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 4 เรื่องให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั่วราชอาณาจักร และมีคำสั่งให้ตรวจสอบเนื้อหารายการของสื่อมวลชนรวม 5 สำนัก ว่า

“สำหรับวันนี้ ผมมีประเด็นสำคัญที่จะต้องพูดกับสื่อมวลชนทุกท่านโดยตรง พูดผ่านสื่อมวลชนทุกคนที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ โดยส่งผ่านไปยังสื่อออนไลน์ต่างๆ สื่อทุกประเภท เรื่องสำคัญก็คือ เรื่องที่มีเอกสารคำสั่งจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเรื่องการตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการของสื่อ สื่อออนไลน์ ที่มีเนื้อหาสาระกระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประเทศเมื่อวันก่อน

ผมขอพูดอีกครั้งหนึ่งว่าสื่อมวลชนนั้นเป็นภาคส่วนสำคัญสำหรับสังคมไทย สื่อคือพลังสำคัญที่จะสร้างความชอบธรรม สร้างสรรค์ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับประเทศได้ บทบาทของสื่อที่ทำหน้าที่อย่างมีสิทธิเสรีภาพมีความเป็นกลาง ได้สร้างคุณประโยชน์มากมายให้กับประเทศของเรามาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนประเทศชาติ ด้วยการเฝ้าระวังตรวจสอบสิ่งต่างๆ ในสังคมการตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจ

วันนี้ผมได้สั่งการเพื่อมอบแนวทางให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตัดสินใจออกคำสั่งเพื่อดำเนินการดังกล่าว โดยขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทบทวนคำสั่งระงับการออกอากาศต่างๆ โดยขอให้พิจารณาคำนึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นสำคัญ

ยกเว้นแต่บางกรณีที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จบิดเบือนยุยงปลุกปั่นมาตลอดเวลา ที่มีความชัดเจนมีเฟกนิวส์อันนี้ก็จำเป็น มีการเสนอข่าวที่จงใจบิดเบือนล้ำเส้นก้าวล่วงละเมิดสิทธิตามกฎหมายของผู้อื่น ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดหลักการทางกฎหมายและการดำเนินการโดยเฉพาะเป็นเรื่องๆ ไป โดยขอให้ครั้งนี้เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจส่วนบางอันที่จำเป็นต้องปิดตามคำสั่งก็ต้องปิด เพราะได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องผมไม่ได้ไปละเมิดใครทั้งสิ้น

หน้าที่ของผมและพวกเราทุกคนก็คือช่วยกันป้องกันกำจัดการกระทำที่มีเจตนาร้ายต่อประเทศ พยายามที่จะยุยงปลุกปั่นสร้างความวุ่นวายความแตกแยกสับสนอลหม่านในประเทศ นั่นคือสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องไม่ยอมรับให้เกิดขึ้น ก็ขอความร่วมมือจากพวกเราทุกคนจากประชาชนด้วย ผมไม่ต้องการที่จะไปละเมิดสิทธิของใคร แต่ท่านจะต้องระมัดระวังการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ขอบคุณครับ”

นอกจากนี้ เพจประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ยังได้เผยแพร่ข้อความดังกล่าวด้วย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“อาคม” โยนบอร์ดแบงก์รัฐ พิจารณาขยายเวลาพักหนี้

จากนั้นได้มอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยนายอาคมกล่าวว่า ในส่วนของพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน) ซึ่งเป็นมาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีความชัดเจนแล้วว่าจะไม่ต่ออายุของ พ.ร.ก. ดังกล่าว ซึ่งวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ก็จะเป็นการสิ้นสุดมาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่ได้นิ่งเฉย ได้มีการประสานกับธนาคารพาณิชย์ในเรื่องของมาตรการต่อเนื่องคือการจัดกลุ่มลูกค้าให้ดูเป็นกลุ่มๆ ไป ซึ่งกลุ่มที่ได้มีการจำแนกคือในเรื่องของลูกหนี้ที่ 1. กลับมาดำเนินการธุรกิจตามปกติ นั่นคือกลุ่มที่เป็นกลุ่มสีเขียวหรือสีเขียวอ่อน 60% 2. กลุ่มลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัวดีมีอยู่ประมาณ 30-40% 3. คือกลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ กลุ่มนี้คือกลุ่มที่เราจะต้องเข้าไปช่วย 4% 4. คือกลุ่มลูกหนี้ที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงินในระบบ มีอยู่ประมาณ 6%

“ธปท. ได้ประสานกับทางธนาคารพาณิชย์ในการดูแลกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ โดยเราจะขยายเวลาให้ทุกกลุ่ม กลุ่มที่ 3 และ 4 ที่มีวงเงินรวมอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท เป็นกลุ่มที่จะต้องดึงขึ้นมา เราก็ต้องพยายามให้เวลาเขาสักหน่อยในการที่จะเข้ามาตรงนี้ในการที่จะเข้ามาร่วมมาตรการ ซึ่งกลุ่มที่ 4 ที่ยังไม่มีการติดต่อเข้ามานั้นยังไม่ทราบว่าจะเป็นเอ็นพีแอลหรือไม่ ส่วนกลุ่มที่ 1 ที่พร้อมชำระหนี้แล้วจะมีรางวัลอะไรให้หรือไม่ อันนี้ก็ให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งไปคิด”

ทั้งนี้ ในส่วนของระบบของสถาบันการเงินที่อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง คือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ก็มีมาตรการเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันมีลูกหนี้อยู่ในระบบประมาณ 4 ล้านรายจากทั้งหมด 12 ล้านราย โดยสินเชื่อที่แบงก์รัฐเข้าไปช่วยเหลือนั้นอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท (30%) จากวงเงินสินเชื่อ 5.5 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ แบงก์รัฐยังได้ปล่อยสินเชื่อจากมาตรการซอฟต์โลนให้กับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือน็อนแบงก์ เช่น ลีสซิง ด้วย

นอกจากจะดำเนินการตามมาตรการซอฟต์โลน ของ ธปท. แล้ว สถาบันการเงินแต่ละแห่งก็มีมาตรการเฉพาะของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลามาตรการการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะยังดำเนินการต่อเนื่องในการเข้าไปดูแลลูกค้า แม้มาตรการซอฟต์โลนจะสิ้นสุดในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ สำหรับแบงก์รัฐนั้นจะขยายมาตรการพักชำระหนี้ต่อไป ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) ของธนาคารแต่ละแห่งจะเป็นผู้พิจารณา

โดย ธ.ก.ส. นั้นก็ยืดเวลาไปถึงเดือนมีนาคม 2564 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนธนาคารออมสิน และ ธอส. (ธนาคารอาคารสงเคราะห์) นั้นยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของบอร์ด ซึ่งแต่ละแห่งจะมีการขยายเวลาไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับจำนวนลูกหนี้และยอดสินเชื่อที่แต่ละแห่งมี แล้วแต่พิจารณา 3 เดือนหรือ 6 เดือน แต่ไม่ว่าอย่างไร ธปท. ก็จะเข้าไปกำกับดูแลเพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้

“สำหรับมาตรการการพักชำระหนี้ หรือการชะลอการชำระหนี้นั้น ทางกระทรวงการคลังก็ยังดูแลต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขอบเขตของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจสามารถที่จะเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงการคลังก็อยู่ในระหว่างการประสานงานกับธนาคารทั้งหมด และคาดว่าจะมีความชัดเจนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า”

นายอาคมได้กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ว่า คงต้องดูว่าสถานการณ์จะบานปลายไปมากน้อยแต่ไหน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจขณะนี้ยังอยู่ในวงจำกัด กระทบเพียงบางส่วน แต่ถ้าขยายวงกว้างก็คงมีผลกระทบยาวหน่อย นอกจากนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รายงานต่อ ครม. ในเรื่องการประมาณการเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้มีการปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของประเทศไทย จากเดิมที่คาดว่าในปี 2563 จะติดลบอยู่ที่ 7.7 เป็นติดลบ 7.1 ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น จากที่ดัชนีความเชื่อมั่นหลายตัวมีแนวโน้มของการปรับตัวที่ดีขึ้นในช่วงของไตรมาสที่ 3 และคาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 4 ด้วย

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนเข้าสู่การพิจารณาวาระประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงผลการหารือกับนายหวัง อี้ (H.E. Mr. Wang Yi) มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการหารือกันหลายเรื่อง อาทิ เรื่องความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน, เรื่องของหุ้นส่วนความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ต่างๆ, เรื่องความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิตวัคซีนโควิด-19, แชร์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับน้ำในแม่น้ำโขง, เรื่องที่จะดำเนินการในอนาคต เช่น เรื่องฟาสต์เลนเพื่อเตรียมตัวเปิดประเทศไปมาหาสู่กันเป็นกรณีพิเศษในช่วงโควิด-19 เรื่องของกรีนเลนในการอำนวยความสะดวกเส้นทางขนส่งสินค้าตลอดเส้นทาง, เรื่องของการลงทุนในโครงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC, โครงการท่าเรือน้ำลึก, โครงการสะพานไทย, โครงการแลนด์บริดจ์ตามที่เคยแถลงก่อนหน้านี้

จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งที่ประชุม ครม. ถึงเรื่องการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อรับฟังรายงานสถานการณ์ ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 9 อำเภอ ยังได้รับผลกระทบ จึงมอบนโยบายให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไข จากนั้นเดินทาง จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปที่เทศบาลเมือง เมืองปัก เพื่อพบปะประชาชน และมอบอาหาร น้ำดื่ม สิ่งของจำเป็นให้กับประชาชนด้วย

ส่วนในช่วงเช้าก่อนการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมนิทรรศการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จัดขึ้น ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเตรียมจัด “งานสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทงปี 2563” ซึ่งจะมีการจัดงานลอยกระทงในหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, สุโขทัย และจังหวัดอื่นๆ

เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ยังไม่เคาะวัน

ส่วนผลการประชุม ครม. วันนี้ นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ส่วนในรายละเอียดนั้นยังไม่ได้มีการกำหนดวันที่เปิดประชุมแต่อย่างใด ตามขั้นตอนจะต้องมีการหารือกับประธานสภาผู้แทนราษฎรก่อน จากนั้นก็จะมีการทูลเกล้าฯ วันนี้ขอเรียนให้พี่น้องประชาชนรับทราบมติที่ประชุม ครม. ผ่านความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญก่อน หลังจากมีความคืบหน้าแล้วจะรายงานให้ทราบอีกครั้ง

เคาะ 5 แผนนโยบายพลังงานไทย

นายอนุชากล่าวว่า เรื่องถัดมา ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนงานเชิงนโยบายพลังงาน 5 แผนงาน และรับทราบ 5 แนวทาง ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดย แผนเชิงนโยบายด้านพลังงาน 5 แผนงาน ได้แก่

    1) ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561–2580 (Alternative Energy Development Plan 2018 : AEDP2018)
    2) ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (Power Development Plan : PDP2018 Rev.1)
    3) ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561–2580 (Energy Efficiency Plan : EEP2018)
    4) ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561–2580 (Gas Plan 2018)
    5) แผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563–2567

และรับทราบ 5 แนวทางบริหารจัดการกิจการพลังงาน ได้แก่

    1) แนวทางการส่งเสริมพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station Mapping)
    2) การศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า
    3) โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox)
    4) การกำหนดอัตราส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
    5) ขอปรับปรุงหลักการและรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

“ทั้งหมดนี้เป็นกรอบแผนปฏิบัติการด้านพลังงานของประเทศไทยในระยะยาว เพื่อให้หน่วยงานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านพลังงานของประเทศ เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก, แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561–2580, แผนการส่งเสริมการใช้ก๊าชธรรมชาติในภาคเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศ การสำรวจ และแผนการจัดหาก๊าชธรรมชาติให้มีความสมดุลและเพียงพอ รวมทั้งแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยการเดินหน้าตามแผนงานนโยบายพลังงานดังกล่าว จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รองรับเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโลกในอนาคต ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย” นายอนุชากล่าว

เห็นชอบแผนพัฒนาคน 7 สาขาอาชีพ ป้อนอุตฯสมัยใหม่

นายอนุชากล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ พ.ศ. 2562–2565 โดยกรอบคุณวุฒิแห่งชาตินี้ ซึ่งเป็นกลไกยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างกำลังคนคุณภาพเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องสอดคล้องยึดโยงกับกรอบมาตรฐานอาชีพ เพื่อให้เกิดระบบการพัฒนากำลังคนระดับชาติที่เป็นเอกภาพ สร้างกำลังคนคุณภาพที่มีความรู้ ทักษะและสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้ 5 กลยุทธ์ขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติได้แก่
กลยุทธ์ที่ 1 เร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญและประโยชน์ของการนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ
กลยุทธ์ที่ 2 จัดทำต้นแบบการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยจัดทำแผนขับเคลื่อนกำลังคนใน 7 สาขาอาชีพที่จำเป็นต่อประเทศ ประกอบด้วย 1) โลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน 2) โลจิสติกส์และซัพพลายเชน 3) หุ่นยนต์แลระบบอัตโนมัติ 4) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ 5) อาหารและเกษตร 6) ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงาน และพลังงานทดแทน และ 7) แม่พิมพ์
กลยุทธ์ที่ 3 เสริมสร้างความร่วมมือและความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
กลยุทธ์ที่ 4 เชื่อมโยงคุณวุฒิในสาขาอาชีพที่จำเป็นสำหรับการพัฒนากำลังคนของประเทศไทยกับประเทศอาเซียนและระดับสากล และ
กลยุทธ์ที่ 5 จัดทำ ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ

ทั้งนี้ จะได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลภายใต้คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยมีผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย

ตั้ง กก. 6 คณะ 80 คน ทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ

นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนกันยายน 2563 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ได้รายงานความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เช่น จัดประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2563 ซึ่งเห็นชอบโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ 2565 การจัดการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการเมืองและภาคสื่อ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564–2565 เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง หรือ ความจำเป็นของประเทศ การเสนอรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนมกราคม–มีนาคม 2563) ต่อสภาผู้แทนราษฎรและต่อวุฒิสภา รวมถึงการสร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ เพื่อเป็นแรงในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นท้าทายที่มีความเสี่ยงสูง แม้รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงาม และแพทย์แผนไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังคงต้องเน้นพัฒนาศักยภาพของประเทศให้สามารถ “ล้มแล้วลุกไว” เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต่อไป ส่วนเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมด 6 คณะจำนวน 80 คน

เวนคืนที่ดิน 350 ไร่ สร้างถนน 6 เลน เชื่อมนครอินทร์-ศาลายา

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในตำบลบางใหญ่ ตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่, ตำบลบางคูเวียง ตำบลปลายบาง ตำบลศาลากลาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งครอบคลุมที่ดินที่จะเวนคืนประมาณ 350 ไร่ และมีอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน ประมาณ 87 รายการ เพื่อการก่อสร้างถนนใหม่ 6 ช่องจราจร เชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท นฐ.5035 กับทางหลวงชนบท นบ.1020 หรือถนนนครอินทร์ แก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนกาญจนาภิเษกและถนนบรมราชชนนี และรองรับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดนครปฐม โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณ 8,722 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 29 ล้านบาท ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ 4,392 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 4,301 ล้านบาท ทั้งนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีผู้เห็นด้วยร้อยละ 83.8

ผศ. ดร.รัชดากล่าวว่า ในลำดับต่อไปจะส่งร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ กรมทางหลวงชนบทจะเริ่มการสำรวจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 จ่ายเงินทดแทนอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปี 2565–2566 และดำเนินการก่อสร้างในปี 2567–2569

เห็นชอบก่อหนี้ผูกพันปี 64-65 วงเงิน 2.6 แสนล้าน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ สำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 สาระสำคัญของ พ.ร.บ. คือให้หน่วยรับงบประมาณก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 1,323 รายการ วงเงินรวม 2.23 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณรายจ่ายที่จัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 4.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดให้การก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีจะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งการก่อหนี้รายการใหม่ของงบประมาณประจำปี 2564 นี้ คิดเป็นร้อยละ 6.67 หรือ 2.19 แสนล้านบาท (ไม่รวมเงินนอกงบประมาณ) จากงบประมาณทั้งสิ้น 3.28 ล้านล้านบาท

อนุมัติท่าทีไทยประชุมการค้าไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 4

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติท่าทีไทยสำหรับการประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 4 เสนอโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะมีการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 โดยสาระสำคัญของการประชุมคือ

    1) ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและรัสเซีย มุ่งขยายความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันโดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19
    2) การส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าการลงทุนและความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพ เช่น การเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตร เศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน
    3)การขยายความร่วมมือในระดับพหุภาคีและภูมิภาค โดยเพิ่มความร่วมมือและผลักดันการดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น ASEAN APEC ซึ่งมีสมาชิก 21 ประเทศ เป็นต้น พร้อมทั้งจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) ซึ่งมีสมาชิก 5 ประเทศ คือรัสเซีย เบลารุส อาร์เมเนีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน
    4) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน เน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมถึงจัดกิจกรรมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงแก้ไข MOU ว่าด้วยการขยายความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยและกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซีย โดยเพิ่มความหลากหลายของสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีและสินค้าเกษตร เพื่อเจาะตลาดใหม่ สร้างสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ส่งออกและนำเข้า และอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเศรษฐกิจ เช่น กฎหมาย มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ โอกาสการทำวิจัยและพัฒนาร่วมกัน เป็นต้น

ปรับ EIA ย้ายสถานีขึ้น-ลงรถไฟฟ้าสายสีชมพู

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการขอ “เปลี่ยนแปลงรายละเอียด” โครงการในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี โดยขอเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) และสถานีนพรัตนราชธานี (PK26)

สำหรับสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ขยับจากตำแหน่งเดิมไปทางขวา (ทิศตะวันออก) ประมาณ 337 เมตร มาอยู่บริเวณด้านหน้าซอยรัตนาธิเบศร์ 4 เพื่อให้ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่อุทยานมกุฏรมยสราญ และไม่บดบังด้านหน้าอุทยานมกุฏรมยสราญ ทั้งนี้จะมีการก่อสร้างทางเดินยกระดับ (skywalk) พร้อมติดตั้งระบบทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (walkalator) บนทางเดินยกระดับ ทั้งขาไปและขากลับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร

ส่วนสถานีนพรัตนราชธานี (PK26) ขยับตำแหน่งจากตำแหน่งเดิมไปทางซ้าย (ทิศตะวันตก) ของแนวทางโครงการประมาณ 313 เมตร มาอยู่บริเวณด้านหน้าสนามกีฬาไนติงเกล เนื่องจากกรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกบริเวณหน้าโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี (ทางแยกจุดตัดถนนรามอินทรา) ซึ่งเป็นตำแหน่งของสถานี PK26 เดิม ทำให้ตำแหน่งที่ตั้งของสถานี PK26 มีระยะห่างในแนวดิ่ง จากผิวถนนถึงโครงสร้างใต้สถานีไม่เพียงพอตามมาตรฐานของกรมทางหลวงที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 5.5 เมตร

เปิดโควตานำเข้ากากถั่วเหลือง 3 ปี 2.3 แสนตัน

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบการเปิดตลาดและบริหารการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลือง โดยไม่รวมกากถั่วเหลืองที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564–2566 ตามกรอบความตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ปริมาณตามที่ผูกพัน 230,559 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 10 นอกโควตาร้อยละ 133 โดยกำหนดให้ผู้ที่นำเข้าต้องเป็นนิติบุคคลที่ใช้กากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบในการผลิตในกิจการของตนเอง และให้นำเข้าเฉพาะด่านศุลกากรที่มีด่านพืชและด่านอาหารและยา และผู้นำเข้าต้องแสดงใบรับรอง non-GMO (ไม่มีการดัดแปลงพันธุกรรมจากประเทศผู้ผลิตต้นทาง)

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า ครม. ชอบมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure) หรือ SSG ภายใต้ความตกลงของ WTO และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) สำหรับสินค้ามะพร้าว ซึ่งได้กำหนดช่วงเวลานำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบ WTO ในช่วงเดือน ม.ค.–ก.พ. และเดือน ก.ย.–ธ.ค. รวม 6 เดือน ส่วนการนำเข้าภายใต้กรอบAFTA กำหนดช่วงเวลาในเดือน ก.ย.–ธ.ค. 2563 รวมเวลา 4 เดือน โดยจัดสรรปริมาณนำเข้าในอัตรา 1:2.5 นำเข้า 1 ส่วน ต่อการรับซื้อมะพร้าวผลในประเทศ 2.5 ส่วน โดยมาตรการ SSG ภายใต้ความตกลง WTO และ AFTA สำหรับสินค้ามะพร้าวปี 2563 โดยมะพร้าวทั้งกะลา มะพร้าวอ่อน และมะพร้าวอื่นๆ ที่นำเข้ามาในประเทศไทยรวมกันเกินกว่าปริมาณ trigger volume ซึ่งปี 2563 กำหนดไว้ที่ 335,926 ตัน ให้กรมศุลกากรจัดเก็บอากรในอัตราร้อยละ 72

ตั้ง “อารักษ์” เลขา ฯ รมว.คลัง-“ธนวัชร” กุนซื้อ รมว.ยุติธรรม

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. ยังมีมติแต่งตั้งข้าราชการ ดังนี้

    1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางอัญชลี ศรีอำไพ ผู้อำนวยการกองบัญชีภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบบัญชี (นักบัญชีทรงคุณวุฒิ) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563
    2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นายประมณฑ์ สถาพรนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและออกแบบ) (วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ) กรมทางหลวง ให้ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและออกแบบ) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563
    3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการ 2 ราย ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง คือ นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และ นายชัยณรงค์ กีรติยุตวงศ์ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
    4) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอแต่งตั้งข้าราชการ 4 ราย ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูง ดังนี้ นางสาวอังคณา ใจกิจสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหาร) กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ นางจินตนา จันทร์บำรุง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหาร) กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
    5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงยุติธรรม 4 รายดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ดังนี้ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง, พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง, นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง และ นางจิรภา สินธุนาวา ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    6) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงแรงงาน 2 ราย ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ดังนี้ นายนิยม สองแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง และ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    7) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอการแต่งตั้ง นายอารักษ์ โพธิทัต เป็นตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2563
    8) กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จำนวน 12 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมจะดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปีในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ดังนี้ พลตำรวจตรี รัฐวิทย์ แสนทวีสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคเอกชน), นายจักกพงศ์ ณ บางช้าง ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคเอกชน), นายเทียนชัย ปิ่นวิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคเอกชน), นายศุทธา ปริยวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคเอกชน), นายสมศักดิ์ พณิชยกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคเอกชน), นางภานุมาศ สิทธิเวคิน ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคราชการ) , นางสาวอรพรรณ พนัสพัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคราชการ), นายพิเศษ จียาศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคเอกชน), นายชัยปิติ ม่วงกูล ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคเอกชน), นายวัชระ เปียแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคเอกชน), นายชัยณรงค์ โชไชย ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคเอกชน), นายพินัย ณ นคร ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคราชการ) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563
    9) กระทรวงยุติธรรมเสนอการแต่งตั้ง นายธนวัชร นิติกาญจนา ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2563

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 20 ตุลาคม 2563 เพิ่มเติม