ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์ปรับจีดีพีปีนี้ดีขึ้นติดลบ 6% ชี้ปีหน้าพึ่งเศรษฐกิจในประเทศ

สภาพัฒน์ปรับจีดีพีปีนี้ดีขึ้นติดลบ 6% ชี้ปีหน้าพึ่งเศรษฐกิจในประเทศ

16 พฤศจิกายน 2020


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.

สภาพัฒน์ชี้เศรษฐกิจไตรมาส 3 ปรับตัวดีเกินคาดติดลบ 6.4% ผลคลายล็อคดาวน์หนุนเศรษฐกิจกลับมา ส่งออกหดตัวน้อยตามเศรษฐกิจโลก ห่วงปัญหาว่างงาน – หนี้ครัวเรือน-หนี้ SM ปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้หดตัวเหลือ 6% ระบุภาครัฐเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่องถึงปี’64

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ในไตรมาส 3 ของปี 2563 และปรับคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีทั้งปี 2563 และปี 2564 โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 3 ปรับตัวติดลบ 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งถือว่าปรับตัวดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ติดลบ 8.6% ทำให้ตัวเลขจีดีพีใน 9 เดือนปีนี้ติดลบ 6.7% ซึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเกือบ 100% ยกเว้นการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบ

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายด้านปรับตัว “ดีขึ้น” ในไตรมาส 3 ได้แก่

1.ภาคส่งออกหดตัว -8.2% สอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมีตลาดส่งออกไปสหรัฐเป็นบวก แต่ตลาดส่งออกอื่น ๆ ยังติดลบแต่อยู่ระดับลดลงกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไตรมาส 3 การนำเข้ามีการหดตัวสูง 17.8% จึงทำให้ดุลการค้าเกินดุลสูง 12,695 ล้านดอลลาร์ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูง 12,695 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 5.1% ต่อ GDP

2. ด้านการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัว “ดีขึ้น” โดยติดลบ 0.6% จากไตรมาส 2 ที่ติดลบถึง 6.8% ด้านการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัว 3.4% การบริโภคที่ดีขึ้นเป็นผลจากการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทาง และมาตรการเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ ซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยการบริโภคที่ดีขึ้น ส่งผลให้ที่พัก โรงแรม และร้านอาหารติดลบน้อยลง

“ในด้านการท่องเที่ยว มีแต่รายรับรวมจากนักท่องเที่ยวไทยทั้งหมด ราว 1.16 แสนล้านบาทลดลง 84.3% เพราะยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเนื่องจากสถานการณ์โควิดยังมีการระบาดทุกภูมิภาคของโลก” นายดนุชากล่าว

3. การลงทุนโดยรวมลดลง 2.4% โดยการลงทุนภาคเอกชนติดลบ 10.7% ถือว่าดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ติดลบสูง 15% ซึ่งเป็นผลจากภาคการก่อสร้างที่กลับมา และการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวสูง 18.5% จากไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ 30.8%

นายดนุชากล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ สศช.ได้ปรับเพิ่มประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ติดลบ 6% ดีขึ้นจากคาดการณ์เดิมติดลบ 7.5% ภายใต้การปรับสมมติฐานเศรษฐกิจโลกปีนี้ -4.5% ถึง -3.5% เนื่องจากเศรษฐกิจหลัก ไม่ว่ายุโรป สหรัฐ อังกฤษ มีการปรับตัวดีขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก และแถบประเทศในอาเซียน ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก รวมไปถึงไต้หวัน จีน และเวียดนามด้วย

สำหรับในปี 2564 ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% โดยคาดว่าจะเห็นมูลค่าการส่งออกขยายตัว 4.2% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนขยายตัว 2.4% และ 6.6% ตามลำดับ โดยมีแรงสนับสนุนจากด้านอุปสงค์ภายในประเทศ การขับเคลื่อนจากภาครัฐในการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการทางเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท นอกจากนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปีนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดและการผลิตวัคซีนต้านโควิด ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ประมาณการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง

“ในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า ยังต้องระวังและป้องกันการกลับมาระบาดรอบ 2 ของโควิด ขณะที่เรายังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฯให้ไม่น้อยกว่า 94% และยังมีงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทภายใต้พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมมือกันทุกด้าน” นายดนุชากล่าว

สศช. ยังได้ระบุถึงข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงในปีหน้าที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้

  • ปัญหาว่างงาน ซึ่งต้องเข้าไปช่วยเหลือและดูแลแรงงาน หลังจากในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา อัตราการว่างงานที่อยู่ 1.9% ซึ่งยังอยู่ในระดับที่สูง และชั่วโมงการทำงานที่ลดลง สะท้อนถึงตลาดแรงงานยังเปราะบางอยู่
  • ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันสูงระดับ 83% ต่อจีดีพี หรือประมาณ 13.6 ล้านล้านบาท
  • ปัญหาหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (SM)ที่สูง 7.3% ของสินเชื่อรวม
  • ปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าปีนี้ดูเหมือนมีฝนตกมาก แต่น้ำในเขื่อนยังอยู่ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกันย้อนหลัง 10 ปี ซึ่งต้องจับตาใกล้ชิดต่อผลกระทบภาคเกษตร
  • ความไม่แน่นอนเรื่องการระบาดโควิดและวัคซีนที่ยังมีความเสี่ยงด้านประสิทธิภาพและขนส่ง
  • ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ “โจ ไบเดน” ซึ่งจะต้องติดตามนโยบายทางการค้า ที่อาจมีการนำปัจจัยต่างๆเข้ามา เช่น สิทธิมนุษยชน แรงงานต้องติดตามใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีปัญหา Brexit ของอังกฤษ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้

อ่านเพิ่มเติมGDP ไทยไตรมาส 3/2020 หดตัวน้อยกว่าที่คาด จากการฟื้นตัวเร็วกว่าคาดของการบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐเป็นสำคัญ