ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์แจงไทยไม่ใช่อันดับ 1 ความเหลื่อมล้ำ เผยเก็บข้อมูลอิงมาตรฐานธนาคารโลก อยู่อันดับที่ 40 แนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

สภาพัฒน์แจงไทยไม่ใช่อันดับ 1 ความเหลื่อมล้ำ เผยเก็บข้อมูลอิงมาตรฐานธนาคารโลก อยู่อันดับที่ 40 แนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

8 ธันวาคม 2018


เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช. แถลงข่าวชี้แจงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำประเทศไทย

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะโฆษก สศช. แถลงข่าวชี้แจงกรณี The Credit Suisse Global Wealth Report 2018 จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากสุดในโลกว่า ไทยไม่ได้เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก แต่สาเหตุที่รายงานมีข้อสรุปเช่นนั้นเป็นเพราะวัดจากการกระจายความมั่งคั่ง (wealth distribution) โดยใช้ข้อมูลการถือครองความมั่งคั่ง ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 35 ประเทศ จาก 133 ประเทศ ที่มีข้อมูลสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน สวีเดน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ แต่ไทยยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว

  • ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำ
  • ทั้งนี้ ผู้จัดทำรายงานได้ใช้ข้อมูลการกระจายรายได้ของไทย ซึ่งเป็นข้อมูลตั้งแต่ปี 2549 มาคำนวณการถือครองความมั่งคั่ง และใช้การประมาณการทางเศรษฐมิติคำนวณออกมาบนสมมติฐานการกระจายความมั่งคั่งสัมพันธ์กับการกระจายรายได้  ทำให้เป็นการประมาณการอย่างหยาบ ซึ่งในรายงานก็ระบุข้อนี้ไว้ชัดเจน จึงไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยได้ทั้งหมด

    อย่างไรก็ตาม สศช. ได้ติดตามสถานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยมาตั้งแต่ปี 2531 โดยเก็บข้อมูลการวัดตามมาตรฐานธนาคารโลกผ่านดัชนีค่าสัมประสิทธิ์ความเหลื่อมล้ำ หรือ GINI coefficient index ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลใช้วัดกับ 110 ประเทศทั่วโลก วัดทั้งด้านรายได้และรายจ่าย มีค่าระหว่าง 0-1  ยิ่งมีค่าระดับต่ำมากจะแสดงถึงความเหลื่อมล้ำที่ลดลง

    โดยข้อมูลล่าสุดปี 2558 พบว่า ไทยมีค่า GINI อยู่ที่ 0.36 อยู่อันดับที่ 40 จาก 67 ประเทศ ปรับตัวดีขึ้นจากอันดับ 46 จาก 73 ประเทศทั่วโลกในปี 2556  แต่ทั้งนี้ จำนวนประเทศในแต่ละปีจะไม่เท่ากันจากข้อจำกัดด้านข้อมูลประเทศต่างๆ อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ ที่มีค่า GINI อยู่ที่ 0.33 หรือสหรัฐอเมริกา ที่มีค่า GINI อยู่ที่ 0.41  ก็ไม่แตกต่างกันมากกับไทย

    “ตัวเลขของเราไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่นมากนัก เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดอย่างที่เป็นข่าว” นายดนุชากล่าว

    นายดนุชายังระบุว่า การคำนวณดัชนี GINI ของไทย ใช้ฐานข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ จำนวน 52,010 ครัวเรือน โดยสำรวจด้านรายได้ทุก 2 ปี และด้านรายจ่ายสำรวจทุกปี  พบว่า 10 ปีที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดปี 2560 พบว่าค่า GINI ของไทยด้านรายได้อยู่ที่ 0.453 ลดลงจาก 0.499 ในปี 2550 ส่วนด้านรายจ่ายอยู่ที่ 0.364 ลดลงจาก 0.398 ในปี 2550

    นอกจากนี้ ในส่วนสถานการณ์ความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงสุดและกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด มีแนวโน้มแคบลงต่อเนื่อง โดยลดลงจาก 25.10 เท่า ในปี 2550 เป็น 19.29 เท่า ในปี 2560 เช่นเดียวกับความแตกต่างของรายจ่ายระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายสูงที่สุดและกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายน้อยที่สุด มีแนวโน้มลดลง โดยลดลงจาก 11.70 เท่า ในปี 2551 เป็น 9.32 เท่า ในปี 2560

    นายดนุชากล่าวย้ำว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยจากการสำรวจข้อมูลจริงและใช้วิธีวัดที่เป็นมาตรฐานจากธนาคารโลก ทำให้ประเทศไทยไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุด ในทางกลับกัน ความเหลื่อมล้ำทั้งด้านรายได้และรายจ่ายของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ

    ขณะเดียวกัน การแก้ไขลดความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากการดำเนินงานผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชากรในกลุ่มที่มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น และกระจายรายได้ไปสู่ประชากรกลุ่มต่างๆ อย่างเป็นธรรม เพื่อทำให้ลดความเหลื่อมล้ำลงได้

    มากไปกว่านั้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเทศไทยมีเป้าหมายลดช่องว่างทางรายได้ของประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดกับประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุดไม่เกิน 15 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 19 เท่า หรือมีค่า  GINI ด้านรายได้ในระดับ 0.36 ภายในปี 2580

    “เพราะฉะนั้น สถานการณ์ขณะนี้ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำของไทยปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มมีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม” นายดนุชากล่าว