ThaiPublica > คอลัมน์ > ระวังเขียนชื่อคนญี่ปุ่นให้ถูก

ระวังเขียนชื่อคนญี่ปุ่นให้ถูก

8 กุมภาพันธ์ 2020


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/5/5d/Gion_Matsuri_2017-5.jpg/1024px-Gion_Matsuri_2017-5.jpg

เมื่อต้นปีนี้ทางการญี่ปุ่นออกกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำกันมาประมาณ 150 ปีแล้วตามกระแสชาตินิยมใหม่นั่นก็คือต่อไปนี้ในเอกสารทางการของญี่ปุ่นจะเขียนชื่อคนญี่ปุ่นในตัวอักษรจากภาษาละตินโดยเริ่มจากชื่อนามสกุลก่อนและตามด้วยชื่อตัวซึ่งต่างจากที่กระทำกันมาตั้งแต่การปฏิรูปสมัยเมจิในทศวรรษ 1870 ที่เขียนตามสไตล์ฝรั่งคือชื่อตัวก่อน และตามด้วยนามสกุล

การออกกฎหมายครั้งนี้ไม่กระทบการเขียนในภาษาญี่ปุ่นเพราะเรียงลำดับนามสกุลก่อนชื่อตัวมานมนาน เช่นเดียวกับจีนและเกาหลีซึ่งเป็นวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกด้วยกัน

คนญี่ปุ่นมีเพียงสองชื่อคือชื่อสกุลกับชื่อตัว ไม่มีชื่อกลางเหมือนวัฒนธรรมตะวันตก จีนและเกาหลี คนญี่ปุ่นมักเขียนชื่อด้วยอักษร Kanji ซึ่งมีที่มาจากอักษรจีน อย่างไรก็ดีสามารถออกเสียงเป็นภาษาญี่ปุ่นได้หลายอย่างจึงมีหลายความหมาย ดังนั้นพ่อแม่จึงมักใช้อักษร Hiragana หรือ Katakana ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการออกเสียงสะกดชื่อตัวลูก ส่วนชื่อสกุลของคนญี่ปุ่นซึ่งมีมากกว่า 100,000 ชื่อในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันมักเป็นอักษร Kanji

แผนที่ของภาษาญี่ปุ่นและภาษาญี่ปุ่น ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_language#/media/File:Japanese_dialects-en.png

สามชื่อที่พบมากที่สุดคือ Sato / Suzuki และ Takahashi (สำหรับเกาหลีใต้ครึ่งหนึ่งของประชากรมีนามสกุล Kim / Lee / Park หรือ Choi) แต่ละท้องถิ่นก็มีความนิยมของชื่อที่แตกต่างกันไป ดังเช่น Higa/ Chinen และ Shimabukuro เป็นชื่อที่พบทั่วไปในเกาะโอกินาวา(หรือชื่อเก่าคือเกาะริวกิว) แต่ไม่พบในส่วนอื่นของญี่ปุ่น

ในอดีตญี่ปุ่นปิดประเทศอย่างโดดเดี่ยวมายาวนานนับร้อย ๆ ปี จนกระทั่งถึงยุคปฏิรูปสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ยอมรับแนวคิดปรัชญา ระบบกฎหมาย เทคโนโลยี ฯลฯ จากตะวันตกจนมีผลกระทบต่อโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การเกษตร ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ อย่างไม่เคยมีมาก่อน

ยุคปฏิรูประบบต่างๆนี้เกิดขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิเมจิ (ครองราชย์ ค.ศ. 1868-1912 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ค.ศ. 1868-1910) ซึ่งต้องการความทันสมัยอย่างสอดคล้องกับวัฒนธรรมตะวันตก จึงเกิดธรรมเนียมการเขียนชื่อของตนก่อนแล้วตามด้วยนามสกุลในการเขียนตัวอักษรจากภาษาละติน

ธรรมเนียมการเขียนเรียงแบบนี้ถึงแม้จะสะดวกแก่คนต่างชาติแต่ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาทางวัฒนธรรมได้ กล่าวคือคนญี่ปุ่นนั้นเฉพาะคนที่สนิทชิดชอบกันจริง ๆ จึงจะเรียกชื่อตัว แต่เมื่อเขียนเรียงแบบฝรั่ง คนต่างชาติจึงอาจเผลอเรียกชื่อต้นได้ และบางครั้งสับสนไม่รู้ว่าชื่อใดเป็นชื่อตัว หรือนามสกุล ยกตัวอย่างง่าย ๆ ชื่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบัน Shinzo Abe ทั้งชื่อและนามสกุล คนต่างชาติไม่ค่อยคุ้น ดังนั้นจึงเรียก Mr.Abe บ้าง Mr.Shinzo บ้าง ที่ถูกต้องคือต้องเรียก Mr.Abe (อา-บะ) ต่อไปนี้ต้องเขียนกันในภาษาอังกฤษว่า Abe Shinzo ไม่ใช่ Shinzo Abe อีกต่อไป

ความคิดในการให้เขียนเรียงลำดับชื่อตามภาษาญี่ปุ่นนั้นเกิดมาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งมีการออกเป็นกฎหมายซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 คนญี่ปุ่นหัวอนุรักษ์นิยมและคนที่ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมตั้งคำถามว่าทำไมจึงต้องตามใจคนชาติอื่นที่มีตรรกะในการเขียนและเรียกชื่อต่างจากตน ทั้ง ๆ ที่ในภาษาญี่ปุ่นและวัฒนธรรมแถบนั้นก็ใช้กันมานับพันปีแล้ว

มีการสำรวจคนญี่ปุ่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ และพบว่าร้อยละ 59% เห็นชอบการเขียนเรียงชื่อสกุลไว้ข้างหน้าเหมือนที่เขียนกันในภาษาญี่ปุ่น ต้องการให้เป็นเช่นเดียวกับจีนและเกาหลีที่เขียนแบบดั้งเดิมมาตลอด ในปัจจุบันแนวคิดของขงจื่อกำลังกลับเข้ามามีอิทธิพลต่อจีนและญี่ปุ่นโดยเฉพาะในแง่ของการให้ความสำคัญแก่ครอบครัวและสกุลมากกว่าตัวบุคคล การเขียนชื่อสกุลไว้ข้างหน้าเป็นการสื่อในเชิงสัญลักษณ์ของแนวคิดนี้แก่คนต่างชาติ

การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้ตรงข้ามกับสมัยเมจิที่พยายามละทิ้งความคิดของขงจื่อที่ครอบงำสังคมญี่ปุ่นมายาวนาน คนสมัยนั้นคิดว่าญี่ปุ่นจะเป็นอิสระก็ต่อเมื่อละทิ้งคำสอนของขงจื่อซึ่ง “นำเข้า” มาจากจีน และต้องรีบรับความคิดฝรั่งมาพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว การเขียนชื่อในลักษณะตะวันตกคือส่วนหนึ่งของความเป็นสมัยใหม่เพื่อไม่ให้ฝรั่งดูถูกและอ้างเอามาเป็นเมืองขึ้นเพื่อ “พัฒนา” ไม่ให้ป่าเถื่อน

เข้าใจว่าสังคมไทยเองก็ใช้ตรรกะคล้ายกันในการเริ่มมีนามสกุลใช้ใน พ.ศ. 2456 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยมีชื่อตนไว้ข้างหน้าตามด้วยนามสกุลเหมือนฝรั่ง ที่ต่างกันก็คือให้ใช้นามสกุลตามสายเลือดผูกพัน ไม่ให้มีนามสกุลซ้ำกัน คนไทยมีนามสกุลใช้หลังญี่ปุ่นประมาณ 40 กว่าปี โดยในรัชสมัยเมจิคนญี่ปุ่นเริ่มมีการใช้ชื่อสกุลโดยเลือกใช้กันอย่างเสรี

“นามนั้นสำคัญไฉน” และ “ลำดับชื่อนั้นสำคัญไฉน” ก็เป็นความจริง แต่การประกาศเป็นทางการหลังจากใช้มากว่า 150 ปี ในการเรียงลำดับชื่อดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดา มันสื่อการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนญี่ปุ่นในการต้องการเป็นอิสระ ไม่จำเป็น ต้องเอาใจฝรั่ง และต้องการความสอดคล้องกับวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกอันทรงพลังยิ่งในอนาคต

นามสกุลญี่ปุ่นที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษนั้น หากออกเสียงโดยเน้นคำต่างกันก็เป็นคนละนามสกุล ยิ่งกว่านั้นการเขียน การออกเสียงและการตีความหมายของชื่อญี่ปุ่นนั้นซับซ้อนเพราะมีการเขียนปะปนด้วยอักษรญี่ปุ่นถึง 3 แบบ แต่ก็สามารถสื่อสารกันได้เป็นอย่างดีด้วยวัฒนธรรมของการเรียนรู้ที่สืบทอดกันมายาวนาน

สิ่งที่ญี่ปุ่นอาจสร้างความปวดหัวให้แก่คนต่างชาติได้มากกว่าการเรียงชื่อก็คือการนับปีศักราช ทางการญี่ปุ่นใช้การนับศักราชตามปีที่ครองราชย์ของจักรพรรดิแต่ละองค์ จักรพรรดิองค์ปัจจุบันมีชื่อยุคสมัยว่า Reiwa ซึ่งเริ่มวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 จึงนับเป็นปีที่หนึ่งของยุค Reiwa

การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ได้กระทำต่อเนื่องมายาวนานและได้รับการยอมรับโดยคนต่างชาติย่อมต้องมีการใคร่ครวญอย่างรอบคอบ และ “โยนก้อนหินถามทาง” กันพอควร การเปลี่ยนการเขียนลำดับชื่อได้มีการออกข่าวและกล่าวถึงกันมานานในสื่อก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นทางการอย่างสอดคล้องกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคมของปี 2020 ซึ่งคาดว่าจะมีนักกีฬาญี่ปุ่นเข้าร่วมและถูกเรียกชื่อตอนได้รับเหรียญทองเป็นจำนวนมาก

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคาร 4 ก.พ. 2563