ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > “พรรณพิมล คำปัน” ตัวอย่างเกษตรพึ่งตนเอง “ปลอดหนี้ – ปลอดภัย”

“พรรณพิมล คำปัน” ตัวอย่างเกษตรพึ่งตนเอง “ปลอดหนี้ – ปลอดภัย”

8 ธันวาคม 2018


พรรณพิมล คำปัน ประธานกลุ่มศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืน ตำบลครีเมืองชุม จังหวัดเชียงราย

นับจาก “ปฏิวัติเขียว” (The Green Revolution) เป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษที่การเกษตรไทยผันแปรเข้าสู่ระบบเกษตรเชิงเดี่ยว เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ด้วยวิธีการเพาะปลูกที่จัดการง่าย สะดวก สามารถดูแลเป็นบริเวณกว้าง ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีเป็นตัวควบคุมการผลิต ทั้งเร่งการเจริญเติบโต กำจัดศัตรูพืช เพื่อให้ผลผลิตที่ได้ออกมานั้นสวยงามและได้ราคา แต่ก็ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงตาม

นอกจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูง ภาระทางสุขภาพเป็นอีกหนึ่งปัญหาทางอ้อมที่เกษตรกรต้องเผชิญ จากการใช้สารเคมี ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมา มีรายงานว่าผู้ป่วย “โรคเนื้อเยื่อเน่าตาย” ส่วนใหญ่ล้วนเป็นเกษตรกร โดยอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 10 หรือประมาณ 12 คนต่อปี ซึ่งสารเคมีฯ ส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นโรคดังกล่าวง่ายขึ้น ทำให้บาดแผลลุกลามจนเน่าถึงเนื้อ เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต ขณะเดียวกัน เป็นที่ทราบกันดีว่าสารเคมีที่ตกค้างนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้พาไปสัมผัสกับอีกหนึ่งความสำเร็จของเกษตรยั่งยืน ตามแนวทาง “ทฤษฎีใหม่” ที่ไม่ใช่เกษตรเชิงเดี่ยว ไม่พึ่งพาสารเคมีฯ มีก็สามารถสร้างรายได้จนปลดหนี้หลักล้านได้

ลดปัจจัยภายนอก ลดต้นทุน ลดหนี้

“พรรณพิมล คำปัน” ประธานกลุ่มศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืน ตำบลศรีเมืองชุม จังหวัดเชียงราย บอกเล่าถึงปัญหาที่เกษตรกรปัจจุบันต้องเผชิญนั้นมาจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวแบบ “ผู้จัดการแปลง” ด้วยการซื้อและจ้างเป็นหลัก

“ก่อนนั้นทำเกษตร แต่ทำแบบเป็นผู้จัดการแปลง ต้นทุนการผลิตเลยสูงจนรับไม่ไหว จึงผันตัวไปทำธุรกิจอื่น แต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้ธุรกิจที่ทำขาดทุนจนมีหนี้สินหลักล้าน ที่ดินที่เคยมีต้องถูกยึดขายทอดตลาด เป็นช่วงที่ไม่มีทั้งบ้าน ไม่มีทั้งเงิน แล้วเราก็ตระหนักได้ว่าสิ่งที่เราทำไม่ใช่จิตวิญญาณของเรา เราคือเกษตรกร คือคนสร้าง แต่วันหนึ่งเรากลายเป็นคนบริโภคอย่างเดียวมันไม่ใช่”

“พรรณพิมล”เล่าต่อว่า ในปี 2545 คนในชุมชนที่มีปัญหาหนี้สิน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นเกษตรกร จึงได้เริ่มรวมกลุ่มได้จำนวน 20 ครอบครัว มีหนี้สินรวมกันถึง 22 ล้านบาท โดยการรวมกลุ่มครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างความเข้าใจและหาทางออกให้กับปัญหาที่ตนเองและสมาชิกเผชิญอยู่

นอกจากเกษตรกรที่ต้องเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิต และราคาผลผลิตที่เดินหน้าสวนทางกัน สภาพแวดล้อม และผู้บริโภคก็ต้องเผชิญกับปัญหาจากสารเคมีเกษตร ที่ปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาที่นักวิชาการและนักสิ่งแวดล้อมออกมารณรงค์ให้ยกเลิกการใช้เนื่องจากพบว่าส่งผลอันตรายต่อสุขภาพสูง

โดยตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงได้เสนอให้มีการยกเลิกพาราควอตและคลอไพริฟอส ส่วนไกลโฟเสทให้มีมาตรการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด แต่ยังคงไม่เป็นผลเนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่เคยชินกับการใช้สารเคมีเหล่านี้ และยังคงไม่มั่นใจว่าจะมีสิ่งใดที่มาทดแทนได้

“พรรณพิมล” ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า การใช้สารชีวภาพทางการเกษตรนั้นสามารถทดแทนสารเคมีเกษตรได้ จากที่ได้พยายามศึกษาเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้าอบรม และเรียนรู้การทำเกษตรปลอดภัยจากปราชญ์ชาวบ้านในที่ต่างๆ แล้วนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ ผ่านการลองผิดลองถูกจนสามารถใช้ได้เห็นผลกับกลุ่มของตนเอง

“ที่ผ่านมาเกษตรกรต้องประสบปัญหาความยากจน สุขภาพ ความเป็นอยู่ รวมถึงสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวอย่างเข้มข้น เพราะเราต่างพึ่งปัจจัยภายนอกมากว่าพึ่งตนเอง แต่อาชีพเกษตรกรไม่ได้ทำให้จน ดูอย่างผู้ที่ทำการค้ากับภาคเกษตร หากเกษตรไม่ดี บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นคงไม่มั่นคง”

ที่มาภาพ : ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืนฯ

หลังจากที่เริ่มพัฒนากลุ่มเป็นรูปธรรม จึงเปิดเป็นโรงเรียนชาวนาในปี 2547 เพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริงในแปลงนา โดยฟื้นฟูภูมิปัญญาให้การทำเกษตรเป็นไปอย่างยั่งยืน เน้นการทำเกษตรแบบสมัยก่อนที่ไม่พึ่งพาสารเคมี รวมถึงเปิดหลักสูตรอบรมของศูนย์ฯ ระยะเวลา 20 วัน และระยะเวลา 6 เดือน ที่จะเรียนรู้การทำเกษตรแบบไม่พึ่งสารเคมี แปรรูปผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการผลิตสบู่ แชมพูใช้เอง ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวได้รับเสียงสะท้อนจากผู้เคยผ่านการอบรมว่าสามารถลดต้นทุนได้จริงมากกว่า 50%

“พรรณพิมล” ระบุว่า ไปที่ไหนใช้วัสดุที่มีในท้องที่เป็นหลัก “พืชไม่โกหก ได้รับธาตุอาหารไหนเกินหรือขาดก็จะสะท้อนออกมาให้เห็น เราให้ธาตุอาหารเขาตามสิ่งที่เขาแสดงออกมา ขาดอะไร หรือต้องการเพิ่มอะไรก็เสริมสิ่งนั้น”

พร้อมแนะนำว่าเกษตรกรสามารถการลดต้นทุนด้วยการฝึกปฏิบัติ โดยเริ่มตั้งแต่

  • การเปลี่ยนวิธีคิด วิเคราะห์สภาพปัญหา จากการศึกษาระบบนิเวศในพื้นที่ ตามด้วยการเตรียมดิน การปรับโครงสร้าง และบำรุงดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหารได้ด้วยไคโตซาน ผสมกับยาคู ซึ่งพรรณพิมลระบุว่า ใช้นมเปรี้ยวชนิดอื่นแทนไม่ได้ เพราะจากที่ทดลองมาหลายครั้งยาคูเป็นนมเปรี้ยวชนิดเดียวที่มีจุลินทรีย์สูงและเห็นผลชัดเจนที่สุด
  • กรณีของการทำนา การใช้แรงงานสัตว์ในการไถนาจะช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในแปลงนา
  • หากต้องการแก้ปัญหาวัชพืช ผสมสารอินทรีย์ระเบิด การสลายตอซังก่อนปลูก ซึ่งสามารถทดแทนยาฆ่าหญ้าได้ (สูตรดังกล่าวใช้เวลาคิดถึง 2 ปี)สำหรับการป้องกันและกําจัดวัชพืช โรคแมลง สามารถหาได้จากวัตถุดิบในท้องถิ่นที่มีสรรพคุณรบกวนแมลงตามแต่ละชนิด ตัวอย่างที่หลายคนรู้จักกันดีคือสะเดา ที่สามารถแก้ปัญหาเพลี้ยระบาดได้
  • หากต้องการบำรุงพืช ไม่ว่าจะลำต้น ใบ ดอก หรือผล ก็ใช้ปุ๋ยหมักจากจุลินทรีย์ ปุ๋ยนํ้าหมักฮอร์โมน ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ ฯลฯ ที่ทำขึ้นเพื่อทดแทนปุ๋ยเคมี

“เรามีถั่วฝักยาวที่ยาวถึง 1 เมตร เราเก็บผลผลิตได้ต่อเนื่องจากไหลสตรอเบอรี่ ขณะที่หลายคนตัดทิ้งแยกไปเพราะกลัวว่าจะส่งผลต่อผลผลิตของต้นหลัก เราทำให้ต้นข้าวตั้งตรงแข็งแรง เพิ่มน้ำหนักข้าวและแก้ปัญหาข้าวดีดได้ ทั้งหมดนี้ไม่ต้องพึ่งสารเคมี เพียงใช้สารชีวภาพทางการเกษตรที่ทุกคนก็สามารถทำได้”

ผลผลิตที่ใช้สารชีวภาพทางการเกษตรบำรุง ได้แก่ ถั่วฝักยาวที่ยาวถึง 1 เมตร, สตรอเบอรี่ที่ไม่ต้องตัดไหลแต่ยังคงได้ผลผลิตสูง, ข้าวลำต้นตรงไม่ล้ม และมีน้ำหนัก (ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ: ผลผลิตจากศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืนฯ
เสาวรสที่ทดลองปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี เปรียบเทียบการแปลงที่ใช้สารเคมีของบริษัทเอกชน ที่มาภาพ: ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืนฯ

“พรรณพิมล” เล่าถึงบทพิสูจน์ล่าสุด ที่แสดงให้เห็นว่าสารเคมีไม่จำเป็นเสมอไปในแปลงเกษตร โดยในปี 2560 ที่ผ่านมามีบริษัทเอกชนจากจีนเข้ามาในพื้นที่ เพื่อทำไร่กล้วยกว่า 800 ไร่ เธอตระหนักว่าเกษตรเชิงเดี่ยวแบบนี้ สิ่งที่ตามมาคือปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะด้วยเนื้อที่จำนวนมาก ต้องมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการเพาะปลูกแน่นอน จึงติดต่อไปยังบริษัทเพื่อเจรจาให้ทำเกษตรแบบปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมี บทพิสูจน์นี้ทำให้บริษัทดังกล่าวว่าต้องขอให้พรรณพิมลมาเป็นที่ปรึกษาด้านการเกษตร

“เขาให้พื้นที่ 10 ไร่ ทดลองปลูกเสาวรสโดยไม่ใช้สารเคมีเปรียบเทียบกับนักวิชาการของเขา เราทำโดยไม่เอาเงิน เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงดิน ทำปุ๋ยหมักสูตรกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ใช้ปุ๋ยเคมีผสมเป็นอาหารจานด่วน ประกอบกับฮอร์โมนบำรุงที่ทำเอง ระยะเวลา 28 วัน เสาวรสเราสูง 3 เมตร ขณะที่แปลงของเขาฝั่งตรงข้ามใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีเกษตร แต่ต้นโตเพียง 1/3 ของเรา และต้องประสบปัญหาจากโรคพืช นี่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เขาเห็น”

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งธาตุอาหารจากปุ๋ยเคมีก็ยังคงมีประโยชน์ เพียงแต่หากต้องการลดต้นทุนการผลิตก็ต้องใช้ให้น้อยลง และทำเองให้มากขึ้น ซึ่งพรรณพิมลระบุว่า ปุ๋ยเคมียังคงสามารถใช้เป็นอาหารจานด่วนให้กับพืชได้ แต่สิ่งที่ต้องเลิกพึ่งพาก็คือ เคมีภัณฑ์อันตรายอย่างสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

วันนี้พรรณพิมลและกลุ่มศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืน ตำบลครีเมืองชุม พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเกษตรกับสารเคมีฯ แยกจากกันได้ และการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดโรคและแมลงปัจจุบันอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการเกษตรในปัจจุบัน

อยู่อย่าง “พึ่งตนเอง”

“พรรณพิมล” เน้นย้ำอยู่ตลอดการสนทนาว่า ทำเกษตร “ต้องพึ่งตนเอง” เพราะสมัยก่อนคนไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกเหมือนปัจจุบันก็สามารถอยู่กันได้ ดั้งนั้นในปี 2549 เธอเริ่มกลับมามองตนเอง เริ่มบันทึกรายรับรายจ่าย ทำให้รู้รายละเอียดการใช้เงิน จึงเริ่มเห็นว่า ทุกสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันต้องซื้อทั้งสิ้น ตั้งแต่การอาบน้ำ ล้างจาน ซักผ้า ขณะที่ในอดีตไม่มีสิ่งเหล่านี้ เพียงใช้น้ำด่าง น้ำมะเฟือง ก็ล้างจาน ซักผ้า ล้างรถได้

ด้วยวิถีชีวิตแบบปลูกเพื่อกิน เหลือจึงแบ่งสัดส่วนสำหรับขาย และนำไปแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยกำลังการผลิตที่จำกัดกลุ่มศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านฯ และมีหลักการไม่เน้นการพึ่งพาเครื่องจักร ทำเท่าที่กำลังการผลิตมี จึงเลือกวิธีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายแทนรวมแล้วกว่า 100 ชนิด

ผลผลิต และผลิตภัณฑ์จากศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืนฯ ที่มาภาพ: ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืนฯ

โดยผลิตภัณฑ์ที่ถูกแปรรูปมาจากผลผลิตทางเกษตรแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สินค้าที่ใช้บำรุงร่างกาย เช่น ฮอร์โมนไข่ สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง แชมพูมะกรูด/อัญชัน สบู่ฟักข้าว ข้าวไรซ์เบอรี่ และสินค้าที่ทางการเกษตร ที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติปลอดสารเคมีในพื้นที่

“พรรณพิมล” ระบุว่า การปลูกผักตามฤดูกาลสามารถสร้างรายได้ 30,000-40,000 บาทต่อเดือน แต่จะยั่งยืนได้ต้องคิดต่อยอด และเปิดรับนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ร่วมด้วย ทำการตลาดในหลากหลายช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ นอกจากการเชื่อมโยงเครือข่ายกับกลุ่มคนรักสุขภาพในจังหวัด การนำผลผลิตมาแปรรูปจะช่วยแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาด และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ตัวอย่าง การผลิตข้าวไรซ์เบอรี่ ราคาที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์อยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม แต่เมื่อทำเป็นแพคราคาขยับขึ้นมาอยู่ที่ราว 80-100 บาทต่อกิโลกรัม

“สิ่งที่เราทำ เราก็ใช้เอง พึ่งพาตนเอง ช่วยลดรายจ่ายไปได้มาก เป็นเวลา 10 ปีในการปรับชีวิต จึงใช้หนี้หมดในปี 2557 และซื้อที่ดินได้เพิ่มอีก 10 ไร่ ขณะที่สมาชิกในกลุ่มก็ค่อยๆ ทยอยปลดหนี้กันไปได้ และเป็นการช่วยลดภาระรายจ่ายสำหรับคนที่ยังปลดหนี้ไม่หมด”

ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืนฯ แห่งนี้ เป็นการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ทำไร่นาสวนผสมอย่างครบวงจรตั้งแต่ขั้นต้น การจัดการพื้นที่ปลูกพืชหลากหลาย ขั้นกลางในการรวมกลุ่มจัดการการผลิต และการตลาด และขั้นก้าวหน้าในการประสานประโยชน์เชื่อมโยงกับภาคเอกชน โดยในปี 2550 ได้รับการคัดเลือกและยกระดับให้เป็นศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน และได้จดทะเบียนธุรกิจอย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังได้รับการสนับสนุนน้ำดื่ม อุปกรณ์ และปรับภูมิทัศน์จากบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ภายใต้โครงการ ‘สิงห์อาสา’ ในช่วงปลายปี 2557 ตลอดจนการให้นำสินค้าที่ผลิตในศูนย์เข้าจำหน่ายที่ร้านของที่ระลึกของสิงห์ปาร์ค

รายละเอียดหลักสูตรอบรมความรู้กับศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืนฯ เพิ่มเติม