ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > 10 ปี ปิดทองหลังพระ “ไม่ท้อ ไม่ถอย” เพิ่มพื้นที่ป่า 2 แสนไร่ สร้างรายได้ 2.9 พันล้าน

10 ปี ปิดทองหลังพระ “ไม่ท้อ ไม่ถอย” เพิ่มพื้นที่ป่า 2 แสนไร่ สร้างรายได้ 2.9 พันล้าน

7 มีนาคม 2020


หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ แถลงผลการดำเนินงาน 10 ปี และทิศทางการดำเนินงานในอนาคต ภายใต้แนวคิด “ไม่ท้อ ไม่ถอย” โดย หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ โดยในปีนี้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปิดทองหลังพระฯ จึงเลือกที่จะแถลงผลการดำเนินงานออนไลน์

“…บางเรื่องมันน่าท้อถอย… แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้น คือบ้าน คือเมือง …คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 5 ธันวาคม 2532

10 ปี ปิดทองหลังพระ เพิ่มพื้นที่ป่า 2 แสนไร่ สร้างรายได้ 2.9 พันล้าน

ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ปิดทองฯ ได้ทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานราชการในการพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างฝายทั้งสิ้น 6,259 แห่ง ส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนทำให้เกิดรายได้จากการเกษตรในพื้นที่ต้นแบบและพื้นที่ขยายผลรวม 2,956 ล้านบาท มีประชาชนเข้าร่วมพัฒนาตามแผนพัฒนาราชดำริในพื้นที่ต้นแบบและขยายผล 75,841  ครอบครัว สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ได้รวม 209,000 ไร่

“ประชาชนบางพื้นที่สามารถอยู่รอดและเริ่มเข้าสู่ระดับความพอเพียง มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพบริหารจัดการเองรวม 67 กลุ่ม มีเงินทุน 12 ล้านบาท เกิดการรวมตัวกันเพื่อบริหารทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น 55 กลุ่ม มีการฝึกอบรมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริให้แก่หน่วยงานต่างๆ ได้จำนวน 11,347 คน เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ในพื้นที่อื่น จะเห็นได้ว่างานที่ทำมีความครอบคลุมทั้งด้านรายได้ ตลอดจนกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนทั้งด้านสังคมและการพัฒนาคน และด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม” ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว

สำหรับก้าวต่อไปของปิดทองฯ จากการหารือร่วมกับคณะกรรมการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี สามารถแบ่งงานออกได้ 2 ส่วน คือ

  1. ยึดแนวพระราชดำริส่งเสริมชุมชนให้อยู่รอด ไปสู่ความพอเพียง และไปสู่ความยั่งยืน สำหรับพื้นที่เดิม 6 จังหวัด โดยจะประเมินพื้นที่ว่าจุดใดที่เกิดความยั่งยืนแล้ว ปิดทองฯ จะถอนตัวออก เพื่อให้สามารถมีกำลังและเวลาไปพัฒนาพื้นที่อื่นต่อไป
  2. เร่งรัดการดำเนินงานในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ โดยแผนพัฒนาในปี 2564-2568 ประกอบด้วยตัวชี้วัด ดังนี้
    • ในพื้นที่ต้นแบบเดิมส่งเสริมชุมชนให้ผ่านการอยู่รอดอย่างพอเพียงตามแนวพระราชดำริ คาดว่าเมื่อสิ้นแผนจะมีครัวเรือนทฤษฎีใหม่ตามแผน 6,433 ครัวเรือน สร้างรายได้ด้านการเกษตร 3,088 ล้านบาท
    • ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เป็นคาดว่าจะมีครูภูมิปัญญาเกษตรเกิดขึ้น 200 คน สร้างรายได้ 1,800 ล้านบาท
    • ส่วนพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ 4 จังหวัด จะมีการจัดทำแผนและร่วมพัฒนาท้องถิ่นจำรวน 280 หมู่บ้าน

ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวต่อว่า ปิดทองฯ ได้เริ่มโครงการแรกในจังหวัดน่านเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก่อนจะขยายงานสร้างต้นแบบไปยังพื้นที่อื่นๆ ประกอบด้วย อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุทัยธานี เพชรบุรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 จังหวัดชายแดนเหนือ รวม 8 พื้นที่ 13 จังหวัด โดยในแต่ละพื้นที่จะมีโจทย์ที่แตกต่างกันไปตามภูมิศาสตร์สังคมซึ่งแบ่งได้ 3 กลุ่มหลักใหญ่ๆ

  • กลุ่มแรก คือ การบริหารการจัดการน้ำเพื่อการพัฒนาเพื่อพัฒนาอาชีพ ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น และกาฬสินธุ์

เนื่องจาก พื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ ในขณะที่ยังมีแหล่งน้ำที่ไม่ถูกใช้งานเต็มที่ บางแห่งชำรุดทรุดโทรม สิ่งที่ปิดทองฯ เข้าไปดำเนินการผ่านการบูรณาการให้หน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและเอกชนสถาบันการศึกษาเข้ามาช่วยกันเป็นครั้งคราวรวม 56 องค์กร ในการร่วมกัน การปรับปรุง ซ่อมแซมแหล่งน้ำเก่าให้ดี ขณะเดียวกันก็เข้าไปส่งเสริมอาชีพใหม่ๆ ส่งผลให้ครัวเรือนในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 1,758 ครัวเรือน มีรายได้ทางการ เกษตรสะสม 493 ล้านบาท และได้พัฒนามาเป็นกลุ่มอาชีพผลิตสินค้า 16 กลุ่ม

  • กลุ่มที่สอง คือ การดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้และสร้างอาชีพ ได้แก่ น่าน-ในพื้นที่เขาหัวโล้น อุทัยธานี-พื้นที่ห้วยขาแข้ง และเพชรบุรี-พื้นที่แก่งกระจานเพื่อยุติการบุกรุกป่าทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี

พื้นที่ดังกล่าวทั้งเป้าหมายหลักเป้าหมายหลักเป้าหมายรอง ร่วมงานกับ 2,234 ครัวเรือน สามารถสร้างรายได้ 1,223 ล้านบาทโดยปิดทองฯ ทำงานบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ 63 หน่วยงาน โดยพื้นที่จังหวัดน่านได้เข้าไปดำเนินโครงการร่วมกันปลูกป่าสามอย่าง ในพื้นที่ 2.09 แสนไร่ เกิดการร่วมกลุ่ม 19 วิสาหกิจ สร้างรายได้ให้กับพื้นที่ 983.7 ล้านบาท ส่วนจังหวัดอุทัยธานีสามารถคืนพื้นที่ป่าจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวได้ 6,000 ไร่ สร้างรายได้ให้พื้นที่ 130.1 ล้านบาท และจังหวัดเพชรบุรีไม่มีการบุกรุกป่าเพิ่มเติมนับตั้งแต่โครงการเข้าไปดำเนินการ สร้างรายได้ให้พื้นที่ 119.3 ล้านบาท

  • กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ได้แก่ 3 จังหวัดภาคใต้ที่เป็นพื้นที่ที่ยากจนเรื้อรัง มีความเหลื่อมล้ำรุนแรงมายาวนาน และกลุ่มที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือที่มีปัญหาและคุณภาพชีวิตของคน ส่งผลให้ยาเสพติดเข้ามาในประเทศไทยได้ง่าย

เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มีปัญหาแตกต่างกับพื้นที่อื่น มีความรุนแรงที่หากปล่อยไว้ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อคนทั้งประเทศ ซึ่งปิดทองฯ หวังจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากความเหลื่อมล้ำและรุนแรงที่ยาวนานในพื้นที่ชายแดนใต้ และหวังจะสร้างอาชีพที่มั่นคงเพื่อลดปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ

ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคใต้มีประชากรเข้าร่วมโครงการจำนวน 607 ครัวเรือน สร้างรายได้สะสมได้ 86 ล้านบาทในปี 2562 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือได้มีการฝึกอบรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตนเอง ปัจจุบันได้ดำเนินการอบรมไปแล้ว 119 ตำบล

“ในการทำงานทุกกลุ่มล้วนแต่เริ่มจากการศึกษาปัญหาความต้องการของชาวบ้านไม่ใช่เราคิดอะไรแล้วเราก็ไปบังคับเขาทำ ต้องมีการไปศึกษาปัญหาและความต้องการของบ้านก่อน และหาแนวทางแก้ไขให้กับชุมชน โดยดึงเอาความร่วมมือจากชุมชนข้าราชการและเอกชนมาบูรณาการกัน”

และการดำเนินงานต่อไปของปิดทองฯ คือ การขยายแนวพระราชดำริไปยังนอกพื้นที่ต้นแบบ ได้แก่ จังหวัดน่านและอุดรธานี โดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการพัฒนาแหล่งน้ำทั้ง 2 จังหวัด มีผู้ได้รับประโยชน์จำนวน 71,215 ครัวเรือน จากการที่สามารถทำการเกษตรนอกฤดูกาลได้ สามารถสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพ 1,144 ล้าน

นำร่อง “อุดร” พื้นที่ต้นแบบแก้ภัยแล้ง

โครงการปลูกผักโรงเรือน

ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวถึงแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน โดยจะดำเนินการในพื้นที่ต้นแบบ นำร่องที่จังหวัดอุดรธานี ผ่านการดำเนินงานที่ครบวงจนในการสร้างเครือข่ายประกอบด้วย ภาคเอกชนที่จะมีส่วนในการช่วยวางแผนการตลาดเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และจังหวัดที่กับหน่วยงานราชการอื่นๆ เพื่อเรียนรู้โครงการสำหรับนำไปขยายผลในการพัฒนาอาชีพเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้น้ำน้อย ก่อนจะประเมินผลเพื่อนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

โดยปิดทองฯ จะช่วยเหลือเงินทุนด้านโรงเรือนและระบบน้ำหยด จากนั้นให้เกษตรกรค่อยทยอยจ่ายคืนภายหลังโดยที่ไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งการดำเนินการจะเป็นไปตามแนวทฤษฎีใหม่อย่างประณีตและแม่นยำ มีการจดบันทึกอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้การทำเกษตรให้ได้มาตรฐานและความต้องการของตลาดซึ่งจะทำให้ได้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ ที่ต้องได้มาตรฐานและอยู่ในระดับพรีเมียม

“เราจะเลือกครัวเรือนที่มีความซื่อสัตย์และขยัน ซึ่งที่ผ่านมาทำให้เขาอยู่รอดอย่างพอเพียงได้ แต่คราวนี้จะยกระดับไปสู่ความยั่งยืน ชาวบ้านยินดีและพร้อมที่จะร่วมมือโดยมีระบบสนับสนุน ทรัพยากรก็มาจากปิดทองหลังพระฯ ส่วนองค์ความรู้นั้นมาจากหลายด้าน จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ เบทาโกร และเทสโก้ โลตัส นี่คือภาคเอกชน และร่วมกับหน่วยงานของรัฐคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้นองค์ความรู้ไม่ใช่ต้องเอาแต่ราชการต้องเอาจากภาคเอกชนด้วยแล้วให้เขานั้นมาถกเถียงกันต่อหน้าเรา และต่อหน้าชาวบ้าน ที่สุดแล้วชาวบ้านเป็นคนเลือกว่าเขาต้องการวิธีไหน” ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าโครงการนี้จะสามารถคืนทุนได้ภายใน 3 ปี เมื่อถึงเวลานั้นเกษตรกรก็จะเป็นเจ้าของโรงเรือนและระบบน้ำ มีความรู้ในการผลิตผักที่มีมาตรฐานสูงและมีตลาดรองรับอย่างสม่ำเสมอ และสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไป กลายเป็นเกษตรกรผู้ประกอบการที่มีความรู้ ตลอดจนถึงเจ้าหน้าที่ปิดทองหลังพระจากทุกพื้นที่ก็เข้ามาร่วมเรียนรู้โครงการ ด้วยและนำไปขยายผลในพื้นที่ของตนเอง อีก 12 จังหวัด เพื่อให้ประชาชนผ่านภัยแล้งนี้ และยกระดับให้เขาสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป