ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > GCNT ชี้ “5 SDGs Mega Trends 2021” ชวนภาคธุรกิจพลิกวิกฤติเป็นโอกาส เร่งเครื่องสู่ความยั่งยืน

GCNT ชี้ “5 SDGs Mega Trends 2021” ชวนภาคธุรกิจพลิกวิกฤติเป็นโอกาส เร่งเครื่องสู่ความยั่งยืน

25 กุมภาพันธ์ 2021


GCNT ชี้ “5 SDGs Mega Trends 2021” ชวนภาคธุรกิจพลิกวิกฤติเป็นโอกาส เร่งเครื่องสู่ความยั่งยืน

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 : สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เครือข่ายความยั่งยืนในประเทศไทย เผยแพร่รายงาน “5 SDGs Mega Trends 2021” แนวโน้มสำคัญเพื่อจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2564 ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง และปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อมที่กำลังรุมเร้า พร้อมเชิญชวนภาคเอกชนพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อเร่งเครื่องเป็นผู้นำความยั่งยืน ตอบโจทย์ SDGs ภายในปี 2073

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยหรือ GCNT ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ของ United Nations Global Compact มุ่งหวังจะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมความรู้และแนวปฎิบัติด้านความยั่งยืนจากเครือข่ายทุกภาคส่วน จึงได้จัดทำข้อมูล “5 SDGs Mega Trends 2021” ขึ้นเป็นปีที่สอง โดยคัดเลือก 5 ประเด็นเด่นเกี่ยวกับความยั่งยืนจากแหล่งข้อมูลชั้นนำทั่วโลกที่ควรให้ความสำคัญในปีนี้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและให้ความตระหนักรู้ต่อภาคเอกชนในการร่วมแก้ไขปัญหาสังคมระดับโลก สนับสนุนต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs

สำหรับ 5 SDGs Mega Trend 2021 แนวโน้มสำคัญเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2564 ได้แก่

  • โอกาสในวิกฤติของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Right: Opportunity in crisis) สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงาน ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้น ขาดความมั่นคงทางการเงินและอำนาจต่อรอง ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยมากขึ้นอีก สิ่งที่องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องทำประการแรก คือ การเคารพสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายขั้นพื้นฐาน การดำเนินมาตรการปกป้องแรงงาน ครอบคลุมถึงแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่จำเป็นต้องทบทวนโมเดลธุรกิจของตัวเองและบริหารจัดการการมีส่วนร่วมในระดับโลกให้ดีขึ้นด้วย
  • นวัตกรรมเกี่ยวกับสุขภาพจะเป็นตัวช่วยในความปกติใหม่ (Innovation for health will be impactful in the new normal) ในยุค COVID-19 เรื่องของนวัตกรรมทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากธุรกิจไม่ให้ความสำคัญและปรับตัวเพื่อสร้างนวัตกรรม จะมีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทจะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน ด้วยความตระหนักและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โอกาสในวันนี้จึงเป็นของภาคธุรกิจที่สามารถพัฒนานวัตกรรมได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะนวัตกรรมที่มีประเด็นด้าน “สุขภาพและความปลอดภัย” เป็นตัวตั้ง
  • COVID-19 กระตุ้นการเงินและการลงทุนที่ยั่งยืน (COVID-19 accelerates ESG trends) แม้การลงทุนในภาพรวมจะชะลอตัว แต่บริษัทที่สามารถระบุประเด็นที่มีความสำคัญต่อความยั่งยืนของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลต่อศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่จะโดดเด่น และการลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืน สามารถให้ผลตอบแทนในรูปแบบของตัวเงินกลับมาสู่นักลงทุนได้ ซึ่งบริษัทที่คำนึงถึงปัจจัยทางด้านสังคมและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องดังกล่าว
  • การฟื้นตัวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Recovery) การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นผลบวกต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยในปีนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญของการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งทุกประเทศ ทุกเมือง รวมถึงสถาบันการเงินจะต้องดำเนินการตามแผนเพื่อปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่ากับศูนย์ภายในปี 2050 จึงเป็นโอกาสของธุรกิจที่จะพลิกฟื้นกิจการด้วยความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะได้ประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษีจากภาครัฐ สำหรับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน
  • ความท้าทายที่มากขึ้นในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Challenges for the Circular Economy) สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกปริมาณมากในเวลาเดียวกัน แต่อัตราการนำทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่กลับอัตราลดลง ภาคธุรกิจสามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ในหลายด้าน การสร้างนวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำทรัพยากรกลับมาใช้ จนถึงความร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเก็บขยะพลาสติก การพัฒนาตลาด secondary markets เพื่อนำของเสียกลับมาใช้ใหม่

“ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเป็นอีกปีที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปีที่แล้วอย่างเต็มรูปแบบ แต่มีประเด็นที่อาจถูกมองข้ามที่จัดให้เป็นอันดับหนึ่งคือเรื่องสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกัน ก็ยังมีทางออกต่างๆ ที่จะช่วยให้เราพ้นจาก COVID-19 ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเงิน ได้รับความสนใจเป็นอันดับที่สองและสาม ส่วนประเด็นที่สี่และห้า ว่าด้วยการฟื้นตัวแบบยั่งยืน (Green Recovery) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามลำดับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาใหญ่ของโลกที่ยังคงอยู่กับเรา นั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”นายศุภชัยกล่าว

พร้อมกล่าวต่อว่า “วันนี้คำถามสำคัญของภาคธุรกิจ คือ เมื่อเห็นทั้งแนวโน้มและปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นรอบตัวเราแล้ว “ทำไมเราไม่ลงมือทำ” และลุกขึ้นมาพัฒนาองค์กรให้เป็น “ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง” แล้วมองวิกฤติ COVID-19 เป็นโอกาสแห่งการลงมือทำอย่างจริงจัง โดยใช้ศักยภาพของภาคธุรกิจที่ได้เปรียบในเชิงความต่อเนื่องของนโยบายและความแข็งแกร่งในการบริหารจัดการมาร่วมแก้ไขปัญหาสังคมในระดับโลก เพื่อร่วมกันสร้างแบบแผนการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ ที่ทำให้มนุษยชาติเติบโต ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพดีกว่าเดิม สมดุลกว่าเดิม บนต้นทุนเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่น้อยลง”

นอกจากข้อมูล 5 SDGs Mega Trends 2021 รายงานปีนี้ ยังได้นำเสนอตัวอย่างวิถีคิดของผู้นำและแนวปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรธุรกิจชั้นนำ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยและของโลก ได้แก่ “เอสซีจี” (SCG) กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน การลงทุนอย่างรับผิดชอบเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนของ “บ้านปู” (BANPU) “เครือเจริญโภคภัณฑ์” (CPG) กับการตั้งเป้าหมาย Zero Carbon Footprint และ Zero Waste การร่วมมือกับพันธมิตรขยายผลเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยแนวคิด “มีทางออกให้กับทุกคน” ของ “จีซี” (GC) และวิสัยทัศน์ “อาหารแห่งอนาคต” Plant-based food ของ“เอ็นอาร์เอฟ” (NRF) รวมทั้งทิศทางการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ก.ล.ต. จะร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นบทบาทของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในฐานะผู้นําบริษัท (tone from the top) ควบคู่ไปกับการผลักดันให้ผู้ลงทุนให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นของบริษัทหรือผลิตภัณฑ์การเงินที่ออกโดยบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและผนวก ESG ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าของระบบนิเวศในตลาดทุนอย่างยั่งยืน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจะช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกสนับสนุนให้กิจการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก อันนำไปสู่การเสริมสร้างให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. มีบทบาทแข็งขันในการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนนำแนวทางการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ไปผนวกเป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจด้วย”

ด้านนางกีตาร์ ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ในฐานะที่สหประชาชาติเป็นหน่วยงานหลักอีกหน่วยงานหนึ่งที่ขับเคลื่อน SDGs ได้เปิดมุมมองต่อบทบาทของภาคเอกชนว่า ภาคเอกชน เป็นแกนกลางในการทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นจริง แม้ว่าบทบาทของธุรกิจ คือ การสร้างงาน แต่ธุรกิจก็สามารถแสวงหาทางออกอย่างมีนวัตกรรมให้กับปัญหาด้านการพัฒนาในปัจจุบัน สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ การพิทักษ์โลกและลดความเหลื่อมล้ำไปด้วยกัน ในฐานะพันธมิตร เราร่วมมือกันได้ เพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม

องค์กรธุรกิจและผู้สนใจการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนสามารถดาวน์โหลด “5 SDGs Mega Trends 2021” ได้ที่ https://globalcompact-th.com/sdgs/megatrend/2021 และติดตามความรู้ใหม่ ๆ ด้านความยั่งยืนเพิ่มเติม ได้ทาง https://www.globalcompact-th.com/

อนึ่ง สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand): เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งในไทย 15 บริษัท ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 60 องค์กร โดยโกลบอลคอมแพ็ก ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ของโครงการสำคัญในระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ UN Global Compact เครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งรณรงค์ให้บริษัททั่วโลกวางกลยุทธ์และยึดหลักการทำงานที่สร้างเศรษฐกิจยั่งยืนครอบคลุมการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การต่อต้านทุจริต ตลอดจนดำเนินกิจกรรมที่ช่วยผลักดันเป้าหมายของสังคมในวงกว้าง ภายใต้หลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact เพื่อบรรลุเป้าหมายของสหประชาชาติ อาทิ เป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมไปถึงข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement)