ThaiPublica > เกาะกระแส > ร้องศาลปกครอง ไต่สวน “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ – ขสมก.” ละเมิดคำสั่งระงับโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV ชั่วคราว

ร้องศาลปกครอง ไต่สวน “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ – ขสมก.” ละเมิดคำสั่งระงับโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV ชั่วคราว

20 เมษายน 2018


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 เวลา 10.00 น. บริษัทสยาม สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด ได้มอบหมายนายดรัณ ภูรีสถิตย์ ทนายความ เดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม,นายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการผู้อำนวยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และนายสมควร นาสนม ประธานคณะกรรมการตรวจรับรถเมล์ NGV พร้อมซ่อมบำรุงจำนวน 489 คัน มาไต่สวน ภายหลังศาลปกครอง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 โดยสั่งห้ามขสมก. และคณะกรรมการบริหารกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ “บอร์ดขสมก.” นำมติบอร์ด ขสมก.ครั้งที่ 16/2560 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 กรณีมีมติให้ขสมก.ทำสัญญาซื้อรถเมล์ NGV กับ “กลุ่มทำงาน SCN-CHO” (บริษัท ช. ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท สแกนอินเตอร์จำกัด (มหาชน)) ไปดำเนินการใดๆที่มีผลผูกพันต่อขสมก.และบอร์ด ขสมก. เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือ คำสั่งเป็นอย่างอื่น

ปรากฏว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “กรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้ขสมก. รับมอบรถเมล์ NGV จากกลุ่มร่วมทำงาน SCN – CHO ยังไม่สอดคล้องกัน จึงสั่งการให้ขสมก.ไปหารืออัยการสูงสุดให้ชัดเจน และวิเคราะห์คำสั่งศาล เพื่อยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน”

ขณะที่ขสมก.ได้นำรถเมล์ NGV ออกมาวิ่งให้บริการประชาชนแล้วตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2561 เป็นจำนวน 100 คัน จะยังคงให้บริการประชาชนต่อไป และเดินหน้าตามสัญญา พร้อมทั้งทยอยรับมอบรถเมล์ NGV จนครบ 489 คัน

โดยในคำแถลงของบริษัท สยาม สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด ผู้ฟ้องคดี กล่าวหานายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่ามีพฤติกรรมจงใจยุยงส่งเสริม เพื่อไม่ให้ขสมก.ปฏิบัติตามคำสั่งศาล อาจไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต รวมทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขสมก. ได้ละเมิด และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองกลาง จึงขอให้ศาลเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายอาคม เต็มพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ,นายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการผู้อำนวยการขสมก. และนายสมควร นาสนม ประธานคณะกรรมการตรวจรับรถฯ มาไต่สวน และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ขสมก. ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ตามมาตรา 75/3 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง รวมทั้งขอให้ศาลลงโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่งศาล ตามมาตรา 75/4 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองต่อไป

ที่มาคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 ศาลปกครองกลางรับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของบริษัทสยาม สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด ไว้พิจารณา โดยบริษัท สยามฯ ผู้ฟ้องคดีได้ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งว่า การคัดเลือกกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO เข้าทำสัญญากับ ขสมก. และตรวจสอบการลงมติของที่ประชุมบอร์ด ขสมก. เป็นการลงมติที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

หากตรวจสอบพบว่าเป็นการลงมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติ บอร์ด ขสมก. กรณีคัดเลือกกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO เข้าทำสัญญากับ ขสมก. และในระหว่างที่ศาลปกครองกลาง ดำเนินการตรวจสอบ ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ขสมก. ระงับการดำเนินการใดตามสัญญา หรือทุเลาการบังคับตามมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือระงับการดำเนินการตามสัญญาซื้อ-ขายรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้

วันที่ 10 เมษายน 2561 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยสั่งห้ามนำมติบอร์ด ขสมก. กรณีคัดเลือกกลุ่มร่วมทำงาน SCN – CHO เข้าทำสัญญาจัดซื้อรถเมล์ NGV พร้อมซ่อมบำรุง 489 คัน ไปดำเนินการใดๆที่มีผลผูกพันกับขสมก.และบอร์ดขสมก.เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

อนึ่ง การประกวดราคาครั้งนี้ ขสมก.ออกหนังสือเชิญชวนบริษัทที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขใน TOR จำนวน 2 รอบ รอบแรก ขสมก.ส่งหนังสือถึงบริษัทที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข 7 ราย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 และรอบที่ 2 ส่งหนังสือถึงบริษัทที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขเพิ่มเติมอีก 4 รายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 กำหนดยื่นซองเสนอราคาวันที่ 7 ธันวาคม 2560 โดยบริษัทสยาม สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด ที่ได้รับหนังสือเชิญชวนจากขสมก.รอบแรก แต่เนื่องจากมีเวลาเตรียมเอกสาร 10 วันทำการ ส่วนบริษัทอื่นฯที่ได้รับหนังสือเชิญรชวน รอบ 2 มีเวลาเตรียมเอกสารแค่ 3 ทำการ จึงยื่นเอกสารเสนอราคาไม่ทัน เนื่องจากต้องเตรียมเอกสารเป็นจำนวนมาก ซึ่งตาม TOR ข้อ 5.14 กำหนดให้ผู้เสนอราคา ต้องแปลเอกสารจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย อาทิ คู่มือปฏิบัติงาน คู่มือบำรุงรักษา ซึ่งมีรายละเอียดของกระบวนการทำงานแผนผังวงจร ระบบควบคุม รายงานการทดสอบตามข้อกำหนดของคณะกรรมการเศรษฐกิจยุโรปแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งต้องจัดส่งแผนการประกอบรถ ซึ่งผ่านการรับรองจากโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศด้วย เป็นต้น หากเปรียบเทียบกับการประกวดราคาครั้งก่อนๆ อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 วัน ทำให้บริษัท ช.ทวี และบริษัท สแกนอินเตอร์ ในนามกลุ่มร่วมทำงาน SCN – CHO เข้าเสนอราคารายเดียว การดำเนินการดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการกีดกันบริษัทอื่นๆ ไม่ให้เสนอราคาด้วยความเป็นธรรม

อ่าน คำแถลงขอศาลปกครองกลาง ไต่สวนและลงโทษ