ThaiPublica > ThaiPublica Channel > ThaiPublica Podcast > ข่าวเจาะ EP15 บทเรียน “ทัวร์ลง AOT” ปรับสูตรเก็บรายได้ขั้นต่ำ อุ้มผู้ประกอบการ

ข่าวเจาะ EP15 บทเรียน “ทัวร์ลง AOT” ปรับสูตรเก็บรายได้ขั้นต่ำ อุ้มผู้ประกอบการ

4 กันยายน 2020


บทนำ

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) เป็นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานของประเทศไทย มีท่าอากาศยานในความดูแล 6 แห่ง โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถือเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ แต่จากวิกฤติการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ การเดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศหยุดชะงัก AOT จึงได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการไป 3 ครั้ง

จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาสัมปทานธุรกิจดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน ระหว่าง AOT กับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ที่เพิ่งประมูลไปในหลายประเด็น จนกลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมกำลังจับตา หลังจากที่บอร์ด AOT มีมติยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ เพื่อช่วยผู้ประกอบการ ทุกครั้งที่มีการออกมาตรการในลักษณะนี้ หุ้น AOT ก็มีการปรับตัวลงเกือบทุกครั้ง โดยปัจจุบันมูลค่าหุ้นของ AOT ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวลงมาจากต้นปีแล้วกว่า 20%

รายการข่าวเจาะ จะพาไปดูบทเรียนที่เกิดขึ้นของ AOT จากการยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ และเลื่อนนับอายุสัมปทานดิวตี้ฟรี ที่ส่งผลต่อมุมมอง และความเชื่อมั่นของนักวิเคราะห์ในตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะที่ AOT เป็นรัฐวิสาหกิจ รายได้ของ AOT ที่ลดลง ถือเป็นเรื่องของผลประโยชน์สาธารณะด้วย

เนื้อหา

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานของประเทศไทย โดยธุรกิจหลักประกอบด้วย การจัดการ การดำเนินงาน และการพัฒนาท่าอากาศยาน โดยมีท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 6 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งนี้ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ

AOT เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อยู่ที่ประมาณ 70% ในปีที่แล้วผลการดำเนินงานของ AOT มีรายได้อยู่ที่ 62,783 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 25,026 ล้านบาท โดยรายได้ของ AOT มีที่มาจาก 2 ส่วน คือ รายได้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการการบิน คิดเป็นสัดส่วน 66% และรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการการบิน คิดเป็นสัดส่วน 44%

โดยรายได้จากการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ และค่าสัมปทานดิวตี้ฟรี อยู่ในส่วนรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการการบิน ซึ่งในปีที่แล้ว รายได้ในส่วนนี้มีมูลค่า 27,773 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ 17,467 ล้านบาท คิดเป็น 63% หรือเกินครึ่งหนึ่งของรายได้ในส่วนนี้

ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมา AOT ได้ทยอยออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบกอบการในสนามบินที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปแล้ว 3 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยประกาศจำกัดการเดินทางเข้าหรือออกนอกประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้การเดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศหยุดชะงัก รวมถึงจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ณ สนามบินของ AOT โดยรวมลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการและสายการบินกว่า 1,000 สัญญามีรายได้ลดลงในขณะที่ต้องรับภาระจากค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนั้น AOT ในฐานะรัฐพาณิชย์ได้มีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการ จากการลดลงของจำนวนผู้โดยสาร และสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ เราจะมาดูกันว่า ที่ผ่านมา AOT ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการยังไงบ้าง

ครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประชุมบอร์ด AOT มีมติยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำให้ผู้ที่ประกอบกิจการในสนามบิน 6 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยในระหว่างนี้ให้ AOT เรียกเก็บเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนเป็น “ร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์” ของรายได้จากยอดขายสินค้าปลอดอากร ก่อนหักค่าใช้จ่าย ค่าภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆ แทน

ปกติ AOT จะมีวิธีเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้รับสัมปทานฯ 2 รูปแบบ คือ 1. จัดเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนและรายปี (minimum guarantee) ตามข้อเสนอของผู้รับสัมปทาน 2. เก็บจากค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนเป็นร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์ของรายได้ วิธีไหนเมื่อคำนวณออกมาแล้ว AOT ได้เงินรายได้มากกว่าก็ให้ใช้วิธีนั้น

ดังนั้น การที่บอร์ด AOT มีมติยกเว้นการเรียกค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ และให้ AOT เรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้จากยอดขาย ทำให้รายได้ของ AOT ลดลง

ก่อนหน้านี้ผู้บริหารระดับสูงของ AOT เคยให้สัมภาษณ์ว่า ในปี 2564 ทาง AOT จะมีการรายได้จากการจัดเก็บค่าสัมปทานจากกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ รวมกันทุกสัญญา 23,500 ล้านบาท แต่วันนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะยังไม่ทันจะเริ่มจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขึ้นต่ำในปีแรก (เริ่มวันที่ 28 กันยายน 2563) บอร์ด AOT ก็มีมติยกเลิก โดยให้เก็บเป็นเปอร์เซ็นต์แทนไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565

ภายหลังที่มีมตินี้ออกมา ช่วงเช้าของวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 มูลค่าหุ้นของ AOT ดิ่งลงทันที 6% คิดเป็นมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท และในวันเดียวกันนั้น บริษัทหลักทรัพย์ภัทรได้ออกบทวิเคราะห์ โดยปรับลดประมาณการผลการดำเนินงานของ AOT ลง พร้อมกับปรับลดคำแนะนำเป็น underperform เนื่องจากมาตรการเยียวยาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อรายได้และกำไรของ AOT เป็นจำนวนมาก และที่สำคัญ มาตรการยกเว้นการเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำยังขัดแย้งกับหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูล ตามที่ผู้บริหารระดับสูงของ AOT เคยให้สัมภาษณ์ว่า “AOT จะพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูลธุรกิจดิวตี้ฟรีและธุรกิจบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์จากการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดจากความไม่แน่นอนของจำนวนผู้โดยสาร”

การช่วยเหลือในครั้งที่ 2 ถัดจากการช่วยเหลือครั้งแรกประมาณ 2 เดือน วันที่ 22 เมษายน 2563 ที่ประชุมบอร์ด AOT มีมติกำหนดอัตราการเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำใหม่ ภายหลังมาตรการเยียวยาสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยใช้อัตราผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 มาใช้เป็นฐานในการคำนวณ และให้ปรับขึ้นตามสัญญาเมื่อจำนวนผู้โดยสารเริ่มปรับตัวมากกว่าช่วงก่อนวิกฤติ

และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมบอร์ด AOT มีมติขยายระยะเวลาการเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ผู้ประกอบการ และสายการบินที่ครบกำหนดชำระในช่วงเดือนกุมภาพันธ์–กรกฎาคม 2563 จาก 6 เดือน ขยายเป็น 12 เดือน

ส่วนกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ AOT นั้น ที่ประชุมบอร์ด AOT ครั้งนี้มีมติขยายเวลาการเข้าปรับปรุงพื้นที่ออกไป รวมทั้งมีมติให้เริ่มต้นนับอายุสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์กันใหม่ โดยให้ไปเริ่มนับกันในเดือนเมษายน 2565 ขณะที่เงื่อนไขของสัญญาฯ เดิมกำหนดให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 – 31 มีนาคม 2574 รวมอายุสัญญาสัมปทาน 10 ปี 6 เดือน

ผลจากการออกมาตรการช่วยเหลือในครั้งนี้ ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ หรือ “SCBS” ออกมาปรับลดประมาณการกำไรของ AOT ลง โดยประเมินว่า รายได้ของ AOT ลดลง 6% ในปี 2565 และลดลง 9% ในปี 2566 ส่วนประมาณการกำไรในปี 2565 จะลดลงประมาณ 10% และในปี 2566 ลดลงอีก 13% ซึ่งปกติ AOT จะมีกำไรปีละประมาณ 25,000 ล้านบาท หากใช้ประมาณการของ SCBS คำนวณ หมายความว่าในปี 2565 กำไรของ AOT จะหายไปไม่น้อยกว่า 2,500 ล้านบาท

สิ่งที่จะกระทบกับกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่คือ เงินปันผล โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น AOT อยู่ 1 หมื่นล้านหุ้น คิดเป็น 70% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ที่ผ่านมา AOT ปันผลคืนให้กับกระทรวงการคลังอย่างสม่ำเสมอ ในอัตราประมาณ 25% ของกำไรสุทธิในแต่ละปี โดยในปีที่แล้ว รอบผลประกอบการปี 61–62 AOT จ่ายเงินปันผล 1.05 บาทต่อหุ้น ทำให้กระทรวงการคลังได้รับเงินปันผลประมาณ 10,500 ล้านบาท ถ้า AOT มีรายได้ที่ลดลง นั่นหมายความว่าความสามารถในการจ่ายเงินปันผลจะลดลงไปด้วย กระทรวงการคลังก็จะได้รับผลประโยชน์ในส่วนนี้ลดน้อยลง ไม่นับรวมกับมูลค่าหุ้นที่หายไปเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท จากราคาหุ้นที่ปรับตัวลง

นอกจากบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์แล้ว ไม่กี่วันถัดมายังมีบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์ “AOT เทวดาตกสวรรค์” แสดงความเห็นกรณีบอร์ดบริหาร AOT อนุมัติเปลี่ยนวิธีการเก็บเงินการันตีขั้นต่ำให้กับกลุ่มคิงเพาเวอร์ฯ โดยระบุว่า “ไม่เห็นด้วยกับ AOT ที่ให้ส่วนลดเงินการันตีขั้นต่ำโดยไม่เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เนื่องจากเราคาดว่าผลกระทบต่อ AOT จากการให้ส่วนลดครั้งนี้จะอยู่ที่ 133,800 ล้านบาท เราคิดว่า AOT น่าจะหาวิธีที่ดีกว่านี้มาชดเชยให้กับบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19”

บล.กสิกรไทย จึงปรับลดคำแนะนำหุ้น AOT ลงจาก “ซื้อ” เป็น “ขาย” และปรับลดราคาเป้าหมายลง จาก 70.50 บาท เป็น 45.50 บาท ซึ่งเป็นผลมาจากการลดเงินการันตีขั้นต่ำ และการให้ CG discount ที่ 20%

นอกจากนี้ยังมีนักวิเคราะห์อีกหลายสำนักออกบทความตามมา เช่น มอร์แกน สแตนลีย์ ระบุว่า การที่ AOT ประกาศเงื่อนไขของสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ โดยให้พิจารณาจากอัตราการเติบโตของผู้โดยสารในครั้งนี้ คาดว่ารายได้ของ AOT จะลดลง 8,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.48 แสนล้านบาท) ตลอดระยะเวลาสัมปทาน ส่วนแบงก์ออฟอเมริกาคอร์ป ปรับราคาเป้าหมายหุ้น AOT มาอยู่ที่ 44 บาท จากเดิม 55 บาท

จากนั้น วันที่ 5 สิงหาคม 2563 ทาง AOT ออกแถลงข่าวชี้แจงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติม กรณีบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ โดยยืนยันว่า “บทความวิเคราะห์–วิจารณ์ ที่มีเผยแพร่อยู่ในปัจจุบันหลายบทความ ได้ทำการวิเคราะห์–วิจารณ์อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะในประเด็นการวิเคราะห์–วิจารณ์ในด้านการสูญเสียรายได้ของ ทอท. ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่แต่เพียงด้านเดียว โดยไม่ได้ครอบคลุมถึงมาตรการฯ ที่ ทอท. ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยด้วยอย่างเท่าเทียมกัน และยังไม่ได้คำนึงถึงโอกาส ทางเลือกที่ผู้ประกอบการสามารถบอกเลิกสัญญา หรือผลกระทบต่อรายได้ ทอท. จากการถูกบอกเลิกสัญญา และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ ในสภาวการณ์จ้างงานดังที่ได้กล่าวข้างต้น ในการนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ออกบทวิเคราะห์ดังกล่าวได้เข้าพบกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 เพื่อรับทราบข้อมูลที่ครบถ้วนและเข้าใจเหตุผลในทุกๆ ด้าน โดยทางผู้ออกบทวิเคราะห์ฯ ได้ตกลงจะออกบทวิเคราะห์ที่เป็นกลางและครอบคลุมถึงข้อมูลมิติต่างๆ ที่ได้รับเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้สาธารณชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิดต่อไป”

หลังจากนั้น บล.กสิกรไทยได้ออกบทวิเคราะห์หุ้น AOT ฉบับใหม่ ระบุว่า ได้ปรับเพิ่มคำแนะนำจาก “ขาย” เป็น “ถือ” และปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นจาก 45 บาทเป็น 56 บาท ในบทวิเคราะห์ครั้งที่แล้ว การเพิ่มขึ้นของราคาเป้าหมายเกิดจากข้อมูลที่มีความชัดเจนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการแถลงการณ์ของ AOT (ในวันที่ 5 สิงหาคม 2563) และการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารระดับสูงกับสำนักข่าวหุ้น (วันที่ 6 สิงหาคม 2563) ซึ่งเชื่อได้ว่าบริษัทคิง เพาเวอร์ดิวตี้ฟรีและกลุ่มได้ปฏิบัติตามสัญญาการร่วมงานกับ AOT จึงนำ CG discount ออกไป เป็นผลทำให้ราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้น 11 บาท

โดยระบุว่า การปรับมุมมองเรื่องธรรมาภิบาลมาจากข้อมูลใหม่ที่ได้ โดยเชื่อว่าทางคณะกรรมการบริหารของ AOT ได้ตัดสินใจแก้สัญญาดิวตี้ฟรีเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯ อย่างดีที่สุด ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากเช่นนี้ ซึ่งในขั้นตอนการพิจารณา ทาง บล.กสิกรไทยได้ข้อมูลว่า AOT ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว อีกทั้งการอนุมัติแก้ไขสัญญาดิวตี้ฟรี ถือเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในการบรรเทาผลกระทบของคู่ค้าของ AOT ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ปิดสนามบินเมื่อปี 2551

ส่วนเรื่องความเสียหายจากการเลิกสัญญา ได้ทราบข้อมูลใหม่จากผู้บริหาร AOT ว่ากลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ มีสิทธิบอกเลิกสัญญา โดยให้เหตุผลว่าความเสียหายทางธุรกิจที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคิงเพาเวอร์ฯ เกิดจากนโยบายรัฐบาลในการปิดน่านฟ้าส่วนใหญ่ โดยที่กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ไม่ต้องถูกยึดเงินประกัน หากเกิดขึ้นจริง บล.กสิกรไทยประเมินว่า AOT อาจจะสูญเสียรายได้ตลอดอายุสัญญาฯ ที่ 3.9 แสนล้านบาท (ตามเงื่อนไขเดิม)

จากการวิเคราะห์ของ บล.กสิกรไทย แหล่งข่าวที่ติดตามเรื่องนี้กล่าวกับ “ไทยพับลิก้า” ว่า ตนไม่แน่ใจ ผู้บริหาร ทอท. ให้ข้อมูลแก่นักวิเคราะห์ของ บล.กสิกรไทย เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนและนักลงทุนถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ หากพิจารณาจาก “ข้อสัญญาทั่วไป” ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระหว่าง ทอท. กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (ผู้รับอนุญาต) ซึ่งลงนามกันไว้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ข้อที่ 4 ว่าด้วยเรื่อง “การผิดสัญญาและการบอกเลิกสัญญา” มีทั้งหมด 7 ข้อย่อย แต่ที่เกี่ยวข้องกับบทวิเคราะห์ของ บล.กสิกรไทยหลักๆ มี 3 ข้อ

ยกตัวอย่าง กรณีที่ผู้บริหาร ทอท. ให้ข้อมูลนักวิเคราะห์ว่ากลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ อันนี้ยอมรับว่าจริง แต่ในขณะเดียวกัน ทอท. ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดอายุสัญญาได้เช่นกัน ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับทั่วไป ข้อแรกของข้อสัญญาทั่วไประบุว่า “กรณีที่การประกอบกิจการตามสัญญานี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของประเทศชาติ หรือต่อความปลอดภัย หรือความเป็นอยู่ของประชาชน หรือต่อภาพลักษณ์หรือชื่อเสียงของ ทอท. หรือต่อการดำเนินการของท่าอากาศยานโดยภาพรวม ทอท. มีสิทธิเลิกสัญญาได้ทันที โดยไม่ตัดสิทธิ ทอท. ในการเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น”

ส่วนข้อสัญญาทั่วไปอีกข้อหนึ่ง ระบุว่า “คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดอายุสัญญาได้ แต่ต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้า ยกตัวอย่าง กรณี ทอท. เป็นฝ่ายขอบอกเลิกสัญญา ต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้รับอนุญาต (คิงเพาเวอร์ฯ) ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยผู้รับอนุญาตตกลงจะไม่ฟ้องร้องหรือเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จาก ทอท. ทั้งสิ้น”

แต่ถ้าผู้รับอนุญาตเป็นฝ่ายขอบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดอายุสัญญา ภายใต้ข้อสัญญาทั่วไปยังระบุอีกว่า ผู้รับอนุญาตต้องบอกเป็นลายลักษณ์อักษรให้ ทอท. ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ผู้รับอนุญาตต้องไม่มีหนี้สินติดค้างกับ ทอท. โดย ทอท. สงวนสิทธิ์ที่จะให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรในการขอบอกเลิกสัญญาของผู้รับอนุญาต ทั้งนี้ ผู้รับอนุญาตตกลงจะไม่ฟ้องร้องหรือเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จาก ทอท. ทั้งสิ้น

ส่วนกรณีที่มีการวิเคราะห์ถึงเรื่องความเสียหายจากการเลิกสัญญา ซึ่งมีสาเหตุมาจากนโยบายรัฐบาลสั่งปิดน่านฟ้า โดยที่กลุ่มคิงเพาเวอร์ไม่ต้องถูกยึดเงินประกันนั้น

หากพิจารณาจากข้อสัญญาทั่วไปที่เขียนไว้ค่อนข้างรัดกุมว่า กรณีที่ผู้รับอนุญาตเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญา ทอท. สงวนสิทธิ์เรียกค่าเสียหายจากการที่ผู้รับอนุญาตได้เท่ากับค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนในเดือนสุดท้ายไม่รวม VAT นับตั้งแต่วันที่การบอกเลิกสัญญามีผลเป็นเวลา 6 เดือน หรือจนถึงวันที่ ทอท. ได้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาดำเนินการแทน แล้วแต่วันไหนจะถึงก่อน เศษของเดือนปัดเป็น 1 เดือน โดยไม่กระทบถึงสิทธิของ ทอท. ในการเรียกค่าเสียหายอื่นใด รวมทั้งค่าขาดประโยชน์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ผู้รับอนุญาตยินยอมให้ ทอท. บังคับหลักประกันตามสัญญานี้ได้ทันที ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด โดยผู้รับอนุญาตสัญญาว่าจะไม่ฟ้องร้องหรือเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จาก ทอท. ทั้งสิ้น

นี่ก็เป็นการตั้งข้อสังเกต เรื่องการให้ข้อมูลกับนักวิเคราะห์ว่ามีความครบถ้วนเพียงใด เพราะถ้าหากว่านักวิเคราะห์และสาธารณะชนได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วน รอบด้าน ก็จะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจด้านการลงทุนได้ดีขึ้น และทำให้ประชาชนเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยกันสอดส่อง และรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ข่าวเจาะในซีรีย์ของ AOT สามารถเข้าไปอ่านข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนที่เว็บไซต์ Thaipublica.org ในชื่อหัวข้อ

  • “ทัวร์ลง AOT” บอร์ดฯ ปรับลดรายได้ขั้นต่ำ – เลื่อนนับอายุสัมปทานดิวตี้ฟรี
  • “ทัวร์ลง AOT” ให้ข้อมูลนักวิเคราะห์ถูกต้อง–ครบถ้วนหรือไม่
  • ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

    อย่าลืม Subscribe กดติดตาม ที่ช่องทาง

  • Youtube
  • Soundcloud
  • Apple Podcast
  • Google Podcast
  • Spotify