ThaiPublica > เกาะกระแส > บทเรียน “ทัวร์ลง AOT” ให้ข้อมูลนักวิเคราะห์ถูกต้อง–ครบถ้วนหรือไม่

บทเรียน “ทัวร์ลง AOT” ให้ข้อมูลนักวิเคราะห์ถูกต้อง–ครบถ้วนหรือไม่

11 สิงหาคม 2020


บทเรียน “ทัวร์ลง AOT” หลังบอร์ดมีมติลดรายได้ตัวเอง-เลื่อนนับอายุสัมปทานดิวตี้ฟรี อ้างช่วยเหลือผู้ประกอบการในสนามบิน นักวิเคราะห์ปรับคำแนะนำ–หั่นราคาหุ้นเป้าหมาย บล.กสิกรไทยกลับลำแก้คำแนะนำจาก “ขาย” เป็น “ถือ” คำถามข้อมูลใหม่ที่ได้รับจากผู้บริหารนั้นถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร

ต่อจากตอนที่แล้ว คณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ทยอยออกมติปรับลดรายได้ของตนเองไป 3 ครั้ง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในสนามบินทุกรายให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปได้ด้วยกัน จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาสัมปทานธุรกิจดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ระหว่าง ทอท. กับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ที่เคยลงนามกันไว้ในช่วงกลางปีที่แล้ว

เริ่มจากบอร์ด ทอท. มีมติยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ (minimum guarantee) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 และเมื่อถึงวันสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวแล้ว บอร์ด ทอท. ยังมีมติกำหนดอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนใหม่ โดยนำอัตราผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ หรือ “การันตีขั้นต่ำ” ของปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดวิกฤติ มาใช้เป็นฐานในการคำนวณ และให้ปรับอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำขึ้นตามสัญญาเมื่อจำนวนผู้โดยสารเริ่มปรับตัวมากกว่าช่วงก่อนวิกฤติ และล่าสุดช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บอร์ด ทอท. ก็มีมติให้เริ่มต้นนับอายุสัญญาสัมปทานฯ กันใหม่ในเดือนเมษายน 2565 จากเดิมต้องเริ่มนับอายุสัญญาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ไปสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2574 รวมระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน

หลังจากบอร์ด ทอท. มีมติครั้งสุดท้าย ก็เริ่มเกิดเหตุการณ์ “ทัวร์ลง AOT” โดยมีโบรกเกอร์ หรือนักวิเคราะห์จากหลายสำนัก ออกบทวิเคราะห์และปรับลดคำแนะนำหุ้นของ AOT โดยเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับกรณีบอร์ด ทอท. มีมติปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำโดยไม่เรียกประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญ พร้อมทั้งคาดการณ์ผลกระทบจากการรับลดการันตีขั้นต่ำครั้งนี้ว่าอาจทำให้ ทอท. สูญเสียรายได้ประมาณ 133,800 ล้านบาท จึงปรับลดคำแนะนำจาก “ซื้อ” เป็น “ขาย” รวมทั้งปรับลดราคาเป้าหมายลงจาก 70.50 เหลือ 45.50 บาท

ทำให้ผู้บริหาร ทอท. ต้องออกแถลงข่าวชี้แจงว่า บทความวิเคราะห์–วิจารณ์ที่เผยแพร่อยู่ในปัจจุบัน วิเคราะห์จากพื้นฐานข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วน โดยเน้นในด้านการสูญเสียรายได้ของ ทอท. ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่แต่เพียงด้านเดียว ยังไม่ครอบคลุมถึงมาตรการที่ ทอท. ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย และไม่ได้คำนึงถึงกรณีผู้ประกอบการบอกเลิกสัญญา หรือผลกระทบต่อรายได้ของ ทอท. กรณีถูกบอกเลิกสัญญา ซึ่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้ชี้แจงกับนักวิเคราะห์ของ บล.กสิกรไทยไปแล้วเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563

หลังจากที่นักวิเคราะห์ได้รับทราบข้อมูลจากผู้บริหาร AOT และเข้าใจถึงเหตุผลการตัดสินใจของบอร์ด ทอท. แล้ววันที่ 7 สิงหาคม 2563 บล.กสิกรไทยออกบทวิเคราะห์หุ้น AOT ฉบับใหม่ โดยปรับเพิ่มคำแนะนำจาก “ขาย” เปลี่ยนเป็น “ถือ” รวมทั้งปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 56 บาท จากเดิมอยู่ที่ 45 บาท โดยอ้างถึงข้อมูลใหม่ที่ได้รับจากกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ระบุว่า กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับ ทอท. ได้ โดยอ้างเหตุความเสียหายทางธุรกิจที่เกิดขึ้นว่าส่วนใหญ่มาจากนโยบายรัฐบาลที่สั่งปิดน่านฟ้า โดยที่กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ไม่ต้องถูกยึดเงินประกัน หากเกิดขึ้นจริง ประเมินว่า AOT อาจสูญเสียรายได้ตลอดอายุสัญญาฯ ประมาณ 390,000 ล้านบาท (ตามเงื่อนไขเดิม)

โดยบทวิเคราะห์ระบุว่าแต่ถ้าเปิดประมูลใหม่ โดยใช้ราคาประมูลของผู้ชนะลำดับที่ 2 เป็นบรรทัดฐาน มูลค่าสัญญามีโอกาสลดลงครึ่งหนึ่ง ดังนั้น การที่ AOT เปลี่ยนเงื่อนไขในสัญญา จึงถือเป็นการรักษาผลประโยชน์ของ AOT และผู้ถือหุ้นอย่างเต็มที่

จากการวิเคราะห์ของบล.กสิกรไทย แหล่งข่าวที่ติดตามเรื่องนี้กล่าวกับ “ไทยพับลิก้า” ว่า ตนไม่แน่ใจ ผู้บริหาร ทอท. ให้ข้อมูลแก่นักวิเคราะห์ของ บล.กสิกรไทยเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนและนักลงทุนถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ หากพิจารณาจาก “ข้อสัญญาทั่วไป” ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระหว่าง ทอท. กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (ผู้รับอนุญาต) ซึ่งลงนามกันไว้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ข้อที่ 4 ว่าด้วยเรื่อง “การผิดสัญญาและการบอกเลิกสัญญา” มีทั้งหมด 7 ข้อย่อย แต่ที่เกี่ยวข้องกับบทวิเคราะห์ของ บล.กสิกรไทยหลักๆ มี 3 ข้อ

ยกตัวอย่าง กรณีที่ผู้บริหาร ทอท. ให้ข้อมูลนักวิเคราะห์ว่ากลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ อันนี้ยอมรับว่าจริง แต่ในขณะเดียวกัน ทอท. ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดอายุสัญญาได้เช่นกัน ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับทั่วไป ข้อแรกของข้อสัญญาทั่วไประบุว่า “กรณีที่การประกอบกิจการตามสัญญานี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของประเทศชาติ หรือต่อความปลอดภัย หรือความเป็นอยู่ของประชาชน หรือต่อภาพลักษณ์หรือชื่อเสียงของ ทอท. หรือต่อการดำเนินการของท่าอากาศยานโดยภาพรวม ทอท. มีสิทธิเลิกสัญญาได้ทันที โดยไม่ตัดสิทธิ ทอท. ในการเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น”

ส่วนข้อสัญญาทั่วไปอีกข้อหนึ่ง ระบุว่า “คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดอายุสัญญาได้ แต่ต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้า ยกตัวอย่าง กรณี ทอท. เป็นฝ่ายขอบอกเลิกสัญญา ต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้รับอนุญาต (คิง เพาเวอร์) ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยผู้รับอนุญาตตกลงจะไม่ฟ้องร้องหรือเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จาก ทอท. ทั้งสิ้น”

แต่ถ้าผู้รับอนุญาตเป็นฝ่ายขอบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดอายุสัญญา ภายใต้ข้อสัญญาทั่วไปยังระบุอีกว่า ผู้รับอนุญาตต้องบอกเป็นลายลักษณ์อักษรให้ ทอท. ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ผู้รับอนุญาตต้องไม่มีหนี้สินติดค้างกับ ทอท. โดย ทอท. สงวนสิทธิ์ที่จะให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรในการขอบอกเลิกสัญญาของผู้รับอนุญาตทั้งนี้ ผู้รับอนุญาตตกลงจะไม่ฟ้องร้องหรือเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จาก ทอท. ทั้งสิ้น

ส่วนกรณีที่มีการวิเคราะห์ถึงเรื่องความเสียหายจากการเลิกสัญญา ซึ่งมีสาเหตุมาจากนโยบายรัฐบาลสั่งปิดน่านฟ้า โดยที่กลุ่มคิงเพาเวอร์ไม่ต้องถูกยึดเงินประกันนั้น

หากพิจารณาจากข้อสัญญาทั่วไปที่เขียนไว้ค่อนข้างรัดกุมว่า กรณีที่ผู้รับอนุญาตเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญา ทอท. สวงวนสิทธิ์เรียกค่าเสียหายจากการที่ผู้รับอนุญาตได้เท่ากับค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนในเดือนสุดท้ายไม่รวม VAT นับตั้งแต่วันที่การบอกเลิกสัญญามีผลเป็นเวลา 6 เดือน หรือจนถึงวันที่ ทอท. ได้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาดำเนินการแทน แล้วแต่วันไหนจะถึงก่อน เศษของเดือนปัดเป็น 1 เดือน โดยไม่กระทบถึงสิทธิของ ทอท. ในการเรียกค่าเสียหายอื่นใด รวมทั้งค่าขาดประโยชน์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ผู้รับอนุญาตยินยอมให้ ทอท. บังคับหลักประกันตามสัญญานี้ได้ทันที ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด โดยผู้รับอนุญาตสัญญาว่าจะไม่ฟ้องร้องหรือเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จาก ทอท. ทั้งสิ้น

หลังจากที่ ทอท. เชิญนักวิเคราะห์เข้าไปรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 จนนำมาสู่การปรับแก้คำแนะนำนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ใน 3 วันถัดมา จาก “ขาย” เปลี่ยนเป็น “ถือ” การกลับลำแก้บทวิเคราะห์ครั้งล่าสุดนี้จึงมีคำถามตามมาว่า ข้อมูลใหม่จากผู้บริหาร ทอท. นั้นถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ เพียงใด