ThaiPublica > ThaiPublica Channel > ThaiPublica Podcast > ข่าวเจาะ EP 16 เจาะข้อมูลความเหลื่อมล้ำ เมื่อนักเรียนไทยเกือบครึ่งประเทศยังยากจน

ข่าวเจาะ EP 16 เจาะข้อมูลความเหลื่อมล้ำ เมื่อนักเรียนไทยเกือบครึ่งประเทศยังยากจน

17 กันยายน 2020


เจาะข้อมูลความเหลื่อมล้ำ เมื่อนักเรียนไทยเกือบครึ่งประเทศยังยากจน

ปัญหาการศึกษาไทยเป็นเรื่องเรื้อรังมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติความเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่การเข้าถึงสถานศึกษา คุณภาพของสถานศึกษา พื้นที่โรงเรียน สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเรียน ตลอดจนความพร้อมในการเข้าศึกษาในโรงเรียนของครัวเรือนต่างๆ ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องกางความจริงให้ปรากฏ เพื่อแก้ไขที่ตรงเป้าหมายและทันเวลา

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้วิจัยและพัฒนา นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education : iSEE) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (BIG Data) รายบุคคล ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส

จากฐานข้อมูล iSEE ในปีการศึกษา 2562 พบว่าการศึกษาในประเทศไทย ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูง จากจำนวนเด็กนักเรียนทั่วประเทศ 7.3 ล้านคน พบว่ามีนักเรียนเกือบ 4 ล้านคนที่ “ด้อยโอกาส-พิการ” หรือเกือบครึ่งหนึ่งของเด็กนักเรียนทั้งประเทศ โดยในจำนวนนี้ มีเด็กนักเรียนที่เข้าข่ายยากจน สูงถึง 3,598,125 คน

รายการข่าวเจาะของเราในวันนี้ จะพาคุณผู้ฟังไปดูฐานข้อมูลเด็กยากจน และด้อยโอกาสในประเทศไทย ของ กสศ. เพื่อตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา ความยากลำบาก และผลกระทบที่เด็กนักเรียนยากจนในประเทศไทยต้องเผชิญ

จากข้อมูลล่าสุดของ Unicef ทั่วโลกมีสัดส่วนเด็กยากจน 1 ใน 3 ของประชากรเด็กทั้งหมด คิดเป็นจำนวนเด็กยากจนประมาณ 663 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีเด็ก 385 ล้านคน ที่ยากจนมาก ถึงขนาดต้องดำรงชีวิตในแต่ละวันด้วยเงินไม่ถึง 63 บาท ($1.90) – ตามนิยามเส้นความยากจนของธนาคารโลก

เด็กที่เกิดมาในครอบครัวยากจน มักจะเผชิญกับภาวะขาดสารอาหาร ไร้บ้าน ขาดแคลนบริการสาธารณสุข และเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนที่สุดมีโอกาสเสียชีวิตในวัยเด็ก สูงกว่าเด็กที่มีฐานะดีกว่าถึง 2 เท่า ซึ่งการเข้าถึงการศึกษาที่ดี เป็นทางออกสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาความยากจนของโลก

สำหรับประเทศไทย ยังมีเด็กยากจนจำนวนมาก ที่ไม่มีแม้เงินค่าเดินทาง หรือกระทั่งค่าอาหารที่โรงเรียน ทำให้เด็กเหล่านี้ไม่ได้เรียนต่อในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่มีโอกาสพัฒนาตนเอง เพื่อให้หลุดพ้นวงจรความยากจน

ข้อมูลเด็กยากจน

ธนาคารโลกได้แบ่งเกณฑ์รายได้ โดยใช้เส้นความยากจนเป็นตัวกำหนด หากบุคคลใดมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ 1.9 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อวัน จะถือว่าบุคลนั้นอยู่ในภาวะยากจน

สำหรับประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กำหนดเส้นความยากจนที่ 2,667 บาทต่อคนต่อเดือน

ประเทศไทยมีเด็กเกินครึ่งขาดเเคลนทุนทรัพย์

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดทำระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education) หรือ iSEE เพื่อสำรวจข้อมูลความยากจนของนักเรียนในระดับชั้นอนุบาล ถึงมัธยมปลาย โดยได้นำข้อมูลของ สพฐ. และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐ ทั้งจาก อปท. และ ตชด. จากข้อมูลล่าสุดในปีการศึกษา 2562 พบว่า

ตัวเลขนักเรียนไทยในระดับชั้นอนุบาล ถึงมัธยมปลาย มีจำนวน 7,357,814 คน

กสศ. จำแนกข้อมูลนักเรียนกลุ่ม “เปราะบาง” ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มด้อยโอกาสและกลุ่มเด็กพิการ โดยได้จัดแสดงรายละเอียดของทั้งกลุ่มด้อยโอกาสและกลุ่มพิการ เพื่อให้ผู้จัดทำนโยบายมองเห็นปัญหาที่แตกต่างกันของเด็กนักเรียนแต่ละกลุ่มเพื่อให้การช่วยเหลือได้ตรงจุด

ตัวเลขภาพรวมเด็กด้อยโอกาสทั้งประเทศมีจำนวน 3,625,048 คน ในจำนวนนี้ คิดเป็น “เด็กยากจน” มีจำนวนถึง 3,598,125 คน

หมายความว่า ตัวเลขเด็กนักเรียนที่ขาดเเคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสในฐานข้อมูลของ กสศ. ที่มีจำนวน 3.62 ล้านคน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่ง ของเด็กนักเรียนทั้งประเทศ

เด็กยากจน มีสมาชิกครอบครัวเฉลี่ย 4 คน รายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 1,368 บาทต่อเดือน

จากข้อมูลของระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (iSEE) ปีการศึกษา 2562 พบว่า เด็กที่ขาดเเคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 1,298.68 บาท และมีจำนวนสมาชิกครอบครัวเฉลี่ย 4 คน โดยปัญหารองจากฐานะทางเศรษฐกิจ 4 อันดับ ได้แก่ ภาระพึ่งพิง ไม่มียานพาหนะ ไม่มีที่ดินทำกินและสภาพบ้านชำรุด

ครอบครัวของนักเรียนยากจนที่สุด มีรายได้เฉลี่ยเพียง 462 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 15 บาทต่อวัน

ในจำนวนนี้ มีเด็กนักเรียนยากจน ที่ต้องเผชิญกับสภาวะยากลำบาก 1,275,310 คน ซึ่งสภาวะยากลำบากนี้ ครอบคลุมการมีภาระพึ่งพิง คือ การมีคนพิการ หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง มีผู้สูงอายุเกินกว่า 60 ปี มีคนอายุ 15-65 ปีที่ว่างงาน อาจเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว

ครอบคลุมการมีสภาพบ้านชำรุด-ไม่ปลอดภัย ไม่มีห้องส้วมในที่อยู่อาศัยหรือในบริเวณบ้าน นอกจากนี้ยังมีจำนวนเด็กที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ คิดเป็น 1.20% และจำนวนเด็กที่เข้าถึงระบบน้ำประปา มีอยู่ 20.69%

นอกจากนี้ ยังมีเด็กที่ครอบครัวไม่มียานพาหนะ 1.22 ล้านคน และไม่มีที่ดินทำกิน 8.93 แสนคน

เด็กมีภาวะ “ทุพโภชนาการ” 1.9 หมื่นคน

จากการสำรวจพบว่าเด็กในพื้นที่ห่างไกลราว 44.5% ไม่ได้ทานอาหารเช้า โดยสาเหตุมาจากฐานะยากจนต้องช่วยพ่อแม่ทำงานก่อนมาเรียน และโรงเรียนยังไม่มีงบประมาณเพียงพอ โดยมีนักเรียนยากจนที่มีภาวะทุพโภชนาการ ผอมต่ำกว่าเกณฑ์การเจริญเติบโตกว่า 19,000 คน และยังพบนักเรียนที่มีแนวโน้มเสี่ยงผอมต่ำกว่าเกณฑ์อีกกว่า 33,000 คน

เด็กยากจน ขาดเรียนมากกว่าเด็กไม่ยากจนเกือบ 1 เท่า

การเข้าเรียนและการขาดเรียน ไม่ว่าจะขาด ลา หรือมาสายของนักเรียนยากจน เปรียบเทียบกับเด็กนักเรียนไม่ยากจน พบว่า เด็กยากจนมีอัตราการขาดเรียนอยู่ที่ 1.53% ขณะที่เด็กไม่ยากจน มีอัตราการขาดเรียนที่ 0.80%

นครราชสีมาครองแชมป์ มีเด็กยากจนมากที่สุดในประเทศ

ในฐานข้อมูล iSEE ได้มีการรวบรวมข้อมูลเป็น Big Data ขนาดใหญ่ มีการแบ่งประเภท แบ่งจำนวนเด็กยากจนแยกตามพื้นที่ แยกตามจังหวัด ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยจังหวัดที่มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ นครราชสีมา 81,897 คน บุรีรัมย์ 74,116 คน อุบลราชธานี 72,602 คน เชียงใหม่ 70,801 คน ศรีสะเกษ 60,423 คน

ส่วนจังหวัดที่มีสัดส่วนนักเรียนยากจนน้อยที่สุด 3 ลำดับแรก คือ นนทบุรี รองลงมาคือ สมุทรสงคราม และ ภูเก็ต

“จน” ถึงกับไม่มีเงินไปโรงเรียน มีอยู่จริง

จากข้อมูลบัญชีรายจ่ายการศึกษาแห่งชาติ พบว่าในหนึ่งโรงเรียนจะมีนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน เฉลี่ยรายได้ไม่ถึง 3,000 บาทต่อเดือนหรือไม่ถึง 30,600 บาทต่อปี ครอบครัวเหล่านี้จะต้องแบกรับรายจ่ายการศึกษา คิดเป็น 22% ของรายได้ สูงกว่าครัวเรือนที่มีฐานะร่ำรวยที่รับภาระเพียง 6% ของรายได้ หรือเฉลี่ยแล้วครัวเรือนยากจนรับภาระมากกว่าเกือบ 4 เท่า

ในบรรดาค่าใช้จ่ายทั้งหมด ค่าเดินทางถือเป็นภาระที่หนักหน่วงที่สุดของนักเรียน เพราะมีสัดส่วนเกิน 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น ครัวเรือนรายได้ต่ำต้องแบกรับค่าเครื่องแบบรวมกับค่าเดินทาง รวมกันเป็นสัดส่วนเกินกว่า 60% ของรายจ่ายด้านการศึกษาของเด็กอีกด้วย

ด้วยความยากจน ทำให้มีเด็กจำนวนมาก มีแนวโน้มออกจากโรงเรียนกลางคันหรือหลุดจากระบบการศึกษา คิดเป็นตัวเลขเฉลี่ยปีละกว่า 670,000 คน

ยิ่งยากจน ยิ่งเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

สอดคล้องกับรายงานเรื่องความไม่เสมอภาคทางการศึกษา ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ระบุว่า ประเทศไทยมีนักเรียนกลุ่มเสี่ยง 3 ล้านคน ในชั้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อายุ 3-17 ปี) ที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากปัญหาความยากจน ความด้อยโอกาสทางสังคม ความพิการ และปัญหาครอบครัว

หมายความว่า แม้จะมีการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัว หรือเพิ่มงบประมาณให้กับโรงเรียนในสังกัดของรัฐ ความช่วยเหลือเหล่านี้อาจไปไม่ถึงเด็กยากจนที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้ กลายเป็นปัญหาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ยิ่งเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยิ่งยากจน

Dr.Nicholas Burnett อดีตรองผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก เคยประเมินว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา จะสร้างความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจไทยมากถึง 3% ของ GDP ต่อปี คิดเป็นต้นทุนกว่า 330,000 ล้านบาท

กลุ่มเด็กยากจน ยังต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เด็กจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่สุด 20% ของประเทศ มีโอกาสเรียนต่อมหาวิทยาลัยเพียง 5% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศคือ 37%

ส่วนเด็กในครอบครัวที่มีรายได้สูงสุด 20% ของประเทศ มีโอกาสเรียนต่อมหาวิทยาลัย 100%

เด็กยากจนจึงขาดโอกาสพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เสียโอกาสในการเพิ่มรายได้ และไม่อาจหลุดพ้นจากความยากจนได้เมื่อเติบโตขึ้น

ยากจนสูงคะแนนต่ำ ยากจนต่ำคะแนนสูง

เมื่อนำคะแนน O-NET รวมทุกวิชา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2561 เฉลี่ยแยกตามจังหวัด พบว่าจังหวัดที่มีคะแนนอยู่ในกลุ่มต่ำที่สุดของประเทศ เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนเด็กยากจนสูงที่สุด ส่วนจังหวัดที่มีคะแนนสูงที่สุดของประเทศ เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนเด็กยากจนต่ำที่สุด

ข้อมูลจากสถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) ยังสรุปว่า โรงเรียนขนาดใหญ่จะมีคะแนน O-NET สูงกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนในเมืองจะมีคะแนน O-NET สูงกว่าโรงเรียนในชนบท

UNICEF แนะรัฐให้ความช่วยเหลือชั้นปฐมวัยก่อน

UNICEF ได้ระบุถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ว่าภาครัฐต้องเป็นผู้นำในการปฏิบัติ ต้องมีวิธีการสำรวจเด็กยากจนที่ถูกต้อง ครอบคลุมในหลายมิติ ไม่เฉพาะเรื่องความยากจนทางการเงินเพียงอย่างเดียว โดยรัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาอย่างน้อย 20% ให้ถึงกลุ่มเด็กที่ยากจนที่สุดของประเทศ และเน้นสนับสนุนการศึกษาในระดับต้น โดยเฉพาะชั้นปฐมวัย ซึ่งเป็นระดับชั้นที่เด็กยากจนที่สุด จะได้ประโยชน์สูงสุด

ความหวังประเทศไทย ในการลดความเหลื่อมล้ำ

สำหรับประเทศไทย งบประมาณด้านการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับเด็กยากจน มีสัดส่วนเพียง 0.5% ของงบการศึกษาทั้งหมด โดยนักเรียนยากจนได้รับเงินอุดหนุนเฉลี่ยคนละ 5 บาทต่อคนต่อวัน

ในปี 2561 จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อระบุเด็กยากจนได้อย่างถูกต้อง สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข ทำให้เด็กยากจนมีค่าอาหาร และค่าเดินทางไปโรงเรียน ที่ผ่านมา กสศ. ได้ให้ทุนกับเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ไปแล้วประมาณ 700,000 คน

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เสนอว่า จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ต้องใช้เงินจำนวน 25,000 ล้านบาทต่อปี แต่งบประมาณที่ กสศ. ได้ มีเพียงแค่ 2,500 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น

จากข้อมูลทั้งหมด ทำให้เราได้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ที่มีผลกระทบมากกว่าแค่การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แต่ส่งผลกระทบลูกโซ่ไปยังชีวิตและความเป็นอยู่ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัญหาที่ผู้จัดทำนโยบายและภาครัฐต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ถ้าคุณผู้ฟังสนใจข้อมูลเพิ่มเติม เรื่องปัญหาเด็กยากจน และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประทศไทย สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เวบไซต์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมจากข่าวเชิงสืบสวน สอบสวนของสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ที่เราได้นำเสนอข่าวเจาะในประเด็นนี้ จากข่าวที่มีชื่อว่า

  • เปิดพิกัดนักเรียน 7.3 ล้านคน เจาะลึกทำไม “การศึกษาไทย” เหลื่อมล้ำสูง
  • iSEE เวอร์ชัน 2.0 สแกนชีวิต-ความเป็นอยู่ “นักเรียนยากจน 1.7 ล้านคน” สภาวะลำบากซ้ำซ้อน (ตอน2)
  • อย่าลืม Subscribe กดติดตาม ที่ช่องทาง

  • Youtube
  • Soundcloud
  • Apple Podcast
  • Google Podcast
  • Spotify
  • ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล