
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/
นายกฯ เล็งหาวันหยุดยาวเพิ่ม หวังกระตุ้นท่องเที่ยว แจงใช้งบฯทำประชามติ 5,000 ล้าน เลือกตั้งท้องถิ่นอีก 3,000 ล้าน มติ ครม.ต่อเวลาจ่ายเยียวยาผู้ประกันตน 5 หมื่นรายถึงต.ค.นี้ ตั้ง “หมอทวีศิลป์” นั่งผู้ตรวจ สธ.
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน
ย้ำแจกเงินปชช.-เน้นดูแลรายย่อย ยันไม่อุ้มรายใหญ่
พล.อ. ประยุทธ์ ปฏิเสธกระแสข่าวกรณีรัฐบาลแจกเงินให้กับประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยระบุว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีการพิจารณาใน ครม. แต่อย่างใด โดยวันนี้รัฐบาลมุ่งเน้นว่าถ้าจะดูแลก็ต้องดูแลผู้ประกอบการรายย่อย ค้าปลีก แม่ค้าพ่อขายข้างล่าง ซึ่งต้องมีกลไก เตรียมความพร้อมทั้งระบบข้อมูลและระบบการจ่ายงาน ซึ่งต้องใช้เวลา แต่ยืนยันว่าไม่นิ่งนอนใจในการที่จะให้ผู้บริโภคมีโอกาสซื้อของจากร้านค้าปลีกข้างล่าง โดยยืนยันว่าไม่ใช่การอุ้มผู้ประกอบการรายใหญ่ สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลมุ่งเน้นก็คือทำยังไงให้ผู้ประกอบการลดการเลิกจ้างพนักงานให้ได้มากที่สุด
“อันนี้ก็ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังจะไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ใดๆ ทั้งสิ้น แต่อย่าลืมว่าเขามีลูกจ้างพนักงานอยู่ข้างล่างเป็นจำนวนมากนะครับ เราก็ไปดูว่าจะจัดหางบประมาณให้เท่าที่เป็นไปได้ เรื่องของอีคอมเมิร์ซ เรื่องอะไรต่างๆ ก็ให้มีการหารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) แล้ว เรื่องจัดทำแพลตฟอร์มต่างๆ ผมก็คุยกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดีอีว่าเราจะทำยังไงที่จะใช้แพลตฟอร์มของประเทศไทยที่มีอยู่แล้วให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ถ้าเราทำทุกเรื่องใหม่ก็ไม่ทันเวลา เราจะร่วมมือกันได้อย่างไรโดยใช้ความร่วมมือระหว่างกันในการปรึกษาหารือในการทำงานร่วมกัน ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับใคร”
สำหรับกรณีการจ่ายเงินประกันสังคมให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 นั้น วันนี้กระทรวงแรงงานดำเนินการอยู่ มีคนตกค้างที่ไม่ได้รับอยู่ในช่วงที่ 1 ที่ผ่านมา ที่ยังติดค้างในเรื่องการแจ้งบัญชีธนาคารต่างๆ ก็จะขอเลื่อนจ่ายในเดือนตุลาคม 2563 ประมาณ 50,000 กว่าราย
เล็งหาวันหยุดยาวเพิ่ม หวังกระตุ้นท่องเที่ยว
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์โควิดฯ ภายใประเทศโดยรวมว่า สถานการณ์ดีขึ้น ในเรื่องของการผ่อนคลายการแพร่ระบาด ถึงแม้จะมีการตรวจพบ เราก็สามารถติดตามได้ทั้งหมดมาตรวจสอบ และอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ก็ขอให้ทุกคนอย่าตื่นตระหนก อันนี้เป็นการทดสอบว่าระบบเราเป็นยังไง เราก็ทำได้ดีในระดับที่น่าพอใจ
“ในส่วนชายแดนผมก็กำชับตลอดเวลา ที่ผ่านมามีการเพิ่มกำลัง ทหารตำรวจชายแดนก็ให้เขาอยู่เพิ่มขึ้น มันต้องลดอัตราการลาพักจากวงรอบเขาลง และขอให้กำลังใจเขาด้วยในความเสียสละของเขา ทั้งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลจราจรในเรื่องของวันหยุดยาวเหล่านี้”
ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องวันหยุดยาว ว่า ตนได้หารือกับ ครม. แล้ว โดยจะพิจารณาหาวันหยุดให้เพิ่มขึ้นในระยะต่อไป เพราะเห็นว่ามีการท่องเที่ยว มีการหมุนเวียน ใช้จ่ายเงินมากขึ้น ก็ทำให้ธุรกิจหลายอย่างดีขึ้น บางพื้นที่บางจังหวัดแน่นไปหมด ก็ขอให้ทุกคนช่วยกันท่องเที่ยวในประเทศ มันจะทำให้ห่วงโซ่ต่างๆ ขับเคลื่อนไปได้ ถึงแม้จะไม่ดีเท่าไร แต่เราก็ต่อลมหายใจให้กันและกัน
ปัดฝุ่น Land Bridge เชื่อม “อ่าวไทย-อันดามัน”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้รัฐบาลมุ่งเน้นเรื่องของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวได้เหมือนเดิม และเศรษฐกิจตกต่ำมาก รายได้ประเทศลดลง จำเป็นต้องสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้เกิดขึ้น ถึงแม้เราจะมีแผนงานอีอีซีแล้วก็ตาม วันหน้าก็ต้องหาโครงการขนาดใหญ่ในการที่จะลงทุนในประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้นตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
“ทุกอย่างใช้เวลาในการก่อสร้างอีอีซี เริ่มมาห้าปีแล้ว ก็ไปได้ระยะหนึ่ง ก็ต้องหาโครงการใหม่ เรากำลังดูว่าจะเชื่อมตะวันตกตะวันออกได้อย่างไร ควรจะมีไหม ศึกษาเรื่องของ land bridgeกำลังให้แนวทางไปศึกษากันอยู่ ผมคิดว่าก็จะช่วยเศรษฐกิจในระยะยาวได้ในต่อไป การขนส่งข้ามตะวันตกตะวันออก อ่าวไทยกับอันดามัน ท่าเรือต่างๆ ต้องพัฒนาทั้งหมด อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติต้องเดินต่อไป ขั้นตอนการศึกษา ขั้นตอนการลงทุน เหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว”
นอกจากนี้ เรื่องการปรับปรุงกฎหมายอำนวยความสะดวก พล.อ. ประยุทธ์ ยอมรับว่า ในการดำเนินการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการโดยจัดทำ one-stop service ยังมีปัญหาพอสมควร เรื่องการลดระยะเวลา เรื่องการขออนุมัติอะไรต่างๆ ก็ยังช้าอยู่ ขณะเดียวกันตนได้กวดขันเรื่องทุจริต การเรียกรับผลประโยชน์ในการทำให้ล่าช้า โดยเน้นย้ำว่าหากพบจะลงโทษสถานหนัก
แจงใช้งบฯทำประชามติ 5,000 ล้าน เลือกตั้งท้องถิ่นอีก 3,000 ล้าน
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการเตรียมการเพื่อรองรับการออกเสียงประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า วันนี้กฎหมายประชามติเราก็เร่งดำเนินการในการร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ออกมา เท่าที่ทราบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงวันนี้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ถ้าหากมีการทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องมีการทำประชามติ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย ครั้งที่ 3 ถ้าสภาฯ รับรองก็ไม่เป็นไร ซึ่งต้องใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาทในการดำเนินการ แต่เมื่อมีกรณีของสถานการณ์โควิด-19 อาจต้องใช้งบประมาณถึง 4,000 ล้านบาท เพราะสถานที่ลงคะแนนจะต้องกระจายให้น้อยกว่าพันคน
“จุดก็จะมากขึ้น ต้นทุนก็จะมากขึ้น ในเรื่องของต้นทุน กกต. ต้นทุนเอกสาร ต้นทุนรัฐสภา เฉลี่ยแล้วครั้งละประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ประมาณนั้น โอเคผมไม่ได้ว่าอะไร ผมเล่าให้ฟังเฉยๆ อย่าหาว่าผมไม่สนับสนุนละกัน ถ้าไม่อย่างนั้นผมก็ไม่ทำกฎหมายประชามติหรอก ปกติมันสามพันล้านบาทบวกกับอีกพันนึง มีค่าใช้จ่าย กกต. สภาฯ รวมก็ประมาณห้าพันล้านบาท”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า เมื่อมีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ต้องใช้งบประมาณครั้งหนึ่งราว 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งจะจัดให้ปีนี้ แต่จะจัดอันใดอันหนึ่งก่อน เพราะทำพร้อมกันไม่ได้ เนื่องจากต้องเว้นระยะ 60 วัน มันมีขั้นตอนการดำเนินงานหลายอย่างด้วยกัน
“เรื่อง พ.ร.บ. ออกเสียงก็โอเคอยู่แล้วนี่ เป็นกฎหมายให้ กกต. สามารถจัดทำประชามติให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย คราวที่แล้วเขาทำไปพร้อมเรื่องรัฐธรรมนูญเพราะประหยัดงบประมาณ ทำอีกครั้งก็ 3,000 ล้านบาท ผมไม่ได้อ้างเหตุผลตรงนี้ว่าจะทำหรือไม่ทำ อยากจะทำก็ทำไป รัฐบาลก็เตรียมงบประมาณเหล่านี้ไว้ด้วย”
บูรณาการงบฯทุกหน่วย จ้าง นศ.จบใหม่ 1 ล้านคน
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบในหลักการการอนุมัติการจ้างงานนิสิตนักศึกษาจบใหม่จำนวนประมาณ 260,000 ตำแหน่ง จ้างงาน 12 เดือน ทั้ง ปวช. ปวส. ทั้งนักศึกษาปริญญาตรีด้วย ซึ่งยังไม่รวมการจ้างงานอื่นๆ อีกด้วย โดยคาดว่าจะสามารถจ้างงานได้ประมาณ 1 ล้านคน โดยใช้งบประมาณของแต่ละหน่วยงาน แต่ละกระทรวง
“ก็จะมีการเปิด expo ของกระทรวงแรงงานอีกทีหนึ่ง รู้สึกจะมีกำหนดอยู่แล้วมั้ง นอกจากมาตรการจ้างงาน ที่ผมพูดไปแล้วเรื่องหลักการกระตุ้นค่าใช้จ่าย ลดค่าครองชีพ การบริโภคอะไรต่างๆ ดูแลหาบเร่แผงลอย ตอนนี้กำลังศึกษาและอนุมัติหลักการขึ้นมาให้มันชัดเจน บริหารให้ใครเท่าไร ให้ถึงมือผู้ยากไร้จริงๆ”
นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติโครงการปรับปรุงทุกสหกรณ์ วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อให้พัฒนาไปสู่ความทันสมัยความพร้อมในเรื่องของการดูแลภาคประชาชน ผลผลิตทางการเกษตรและอื่นๆ ด้วย และโครงการเชียงใหม่ Gastronomy ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมล้านนาแบบใหม่ ประมาณ 48 ล้านบาท ก็ยกรายได้เกษตรกรผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น 250 ล้านบาท ใช้เงินลงทุนประมาณ 48 บาท คล้ายๆ กับมิชลิน นำท่องเที่ยว ก็เป็นโครงการนำร่อง วันหน้าก็ต้องสนับสนุนให้พื้นที่อื่นต่อไป
ด้านอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ ซึ่งในรายละเอียดการดำเนินการและงบประมาณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดและจะนำเสนอ ครม. อีกครั้ง
พร้อมเปิดชื่อบิ๊ก ตร.เอี่ยว “คดีบอส” หลัง ป.ป.ท.สอบเสร็จ
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา โดยตนยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวสำคัญ และตนรับไม่ได้ ซึ่งตนได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชั้นต้นออกมาแล้ว ซึ่งข้อมูลต่างๆ ขณะนี้ได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งได้พูดคุยกับทางสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แล้ว
“เอาข้อมูลทั้งหมดไปสังคายนา สังเคราะห์ออกมา แล้วเขาให้คนนู้นคนนี้ออกมาเปิดเผยเท่านั้นแหละ ไม่ต้องกลัวจะปิดได้ไง ปิดไม่ได้ แต่ใครเกี่ยวข้องตรงไหนก็ต้องออกมาหมด เดี๋ยว ป.ป.ท. เขาต้องรวบรวมก่อน เราไปพูดเองก่อนก็ดูไม่ดี เพราะผมเป็นรัฐบาลไง ผมเป็นนายกฯ ไปก้าวเกี่ยวยุติธรรมมากๆ มันไม่ดี ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไป เพราะผมอำนวยความสะดวกให้อยู่แล้ว”
เมื่อถามถึงกระแสสังคมเรียกร้องให้เปิดเผยรายชื่อบิ๊กตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า นี่ไง รอเปิดเผยว่าจะมีกี่คน ถ้าผมพูดก็เท่ากับผมพูดเอง ไม่ใช่ รายชื่อเขาส่งมา ผมก็ส่งให้ ป.ป.ท. เขาไป เดี๋ยว ป.ป.ท. เขาจะเรียกคณะนี้มาสอบสำรวจ ใครที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทุกคนก็ต้องมีการดำเนินคดี
ปัดตอบข่าวลือรัฐประหาร
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องการใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่า มีการต่อเวลาการใช้งานในพื้นที่เดิมที่ยังมีความรุนแรงอยู่ หากสถานการณ์ผ่อนคลายก็ปรับลดออกไป จะเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นใช้เมื่อจำเป็น เมื่อไม่จำเป็นก็ปลดออกไป ถ้ามันไม่ดีก็ใช้ใหม่ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สถิติดีขึ้น ดังนั้น ตนอยากให้เข้าใจว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีไว้อย่างนี้
“วันหน้า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องโควิดฯ มันก็ลดลงได้ถ้าสถานการณ์มันดีขึ้นแล้ว เพราะมันต้องบูรณาการกฎหมายของทุกหน่วยงาน ไม่งั้นทหารตำรวจก็ลงมาทำตรงนี้ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องสุขภาพ ทั้งนี้กฎหมายควบคุมโรคก็เป็นกฎหมายเรื่องสุขภาพอย่างเดียว มันทำอย่างอื่นไม่ได้ ชายแดนมันปิดลำบาก นี่เป็นเรื่องของการบูรณาการกฎหมายทุกกฎหมาย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมนะ ยืนยันไม่เกี่ยวกัน”
เมื่อถามถึงกรณีที่โซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่เอกสารการเตรียมกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 นายกรัฐธมนตรีระบุว่า เรื่องของชุมนุม ใครพูดอะไรมาก็ไปหาคนนั้นแล้วกัน ใครที่เปิดเผยเอกสารต่างๆ ผมก็ไม่ได้บังคับบัญชาอะไรเป็นพิเศษ ผมก็ดูแลให้เขาปลอดภัยเท่านั้นแหละ ก็ถือว่าเป็นการชุมนุมถ้าไม่รุนแรงก็ว่าไปตามสิทธิของท่าน
เมื่อถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวลือการทำปฏิวัติรัฐประหารในช่วงที่กองทัพบกมีการเคลื่อนย้ายกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ในหลายพื้นที่ จนทำให้เกิดความแตกตื่น โดย พล.อ. ประยุทธ์ ถึงกับอุทานเสียงดังว่า “เห้ย ไป กลับบ้าน” และเดินออกจากโพเดียมทันที
มติ ครม.มีดังนี้

ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
อนุมัติงบฯฟื้นฟูเพิ่ม 3 โครงการ วงเงิน 2,000 ล้าน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ประชุม ครม. เห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอขอใช้เงินกู้จากวงเงินในส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท อีก 3 โครงการ กรอบวงเงินรวม 2067.57 ล้านบาท ได้แก่
- โครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกรรองรับผลผลิตทางการเกษตร ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรอบวงเงิน 2,71 ล้านบาท
- โครงการ Gastronomy Tourism: Lanna Gastronomy “คิดถึงเชียงใหม่” ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงินรวม 48.60 ล้านบาท
- โครงการพัฒนาการผลิตและใช้โปรตีนจากแมลงเพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงินรวม 15.26 ล้านบาท
ต่อเวลาจ่ายเยียวยาผู้ประกันตน 5 หมื่นรายถึง ต.ค.นี้
นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ขยายระยะเวลาโครงการมาตรการชดเชยราย ได้แก่ ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รีบผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา จากกำหนดเดิมเดือนสิงหาคม 25663 เป็นเดือนตุลาคม 2563 เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการติดตามให้ผู้มีสิทธิแจ้งมายเลขบัญชีเงินฝากธนาคาร และรายละเอียดการจ่ายให้ถูกต้อง โดยให้แก้ไขปัญหาการเบิกจ่ายเงิน โดยให้ทำการโอนจ่ายผ่านระบบพร้อมเพย์ ที่ใช้หมายเลขบัตรประชาชน ซึ่งยังคงมีประชาชนที่ยังไม่ได้รับเงินอยู่จำนวน 52,538 ราย วงเงิน 788 ล้านบาท
อนึ่ง ที่ผ่านมาสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไปแล้ว 896 ล้านบาท เพื่อชดเชยให้กับผู้มีสิทธิรายละ 15,000 บาท รวม 59,776 ราย โดย สปส. ได้อนุมัติการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิที่มีข้อมูลถูกต้อง และได้โอนเงินเข้าบัญชีในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 แล้ว 7,238 ราย เป็นเงิน 108 ล้านบาท
เร่งส่งออกปาล์ม 3 แสนตัน-หนุนใช้บี 10 ดันราคาขยับ 4 บาท/กก.
ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย ผลการประชุม กนป. มีข้อสรุปดังนี้
- โครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน เป้าหมาย 300,000 ตันน้ำมันปาล์มดิบ ภายในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน และรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ใช้งบประมาณกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 618 ล้านบาท เพื่อเป็นการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ เช่น ค่าขนส่ง ค่าคลังจัดเก็บ และรักษาคุณภาพ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในอัตราไม่เกิน 2 บาทต่อกิโลกรัมน้ำมันปาล์มดิบ ให้แก่ผู้ที่ส่งออกน้ำมันปาล์ม
- การใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตไฟฟ้า มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกับสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาความคุ้มค่าและภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นในการจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มเติมจำนวน 100,000 ตัน โดยให้นำเข้าที่ประชุม กนป. อีกครั้งภายในเดือนกันยายนนี้
สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 2564 (รอบใหม่) กนป. ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว โดยคงแนวทางเช่นเดียวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 2562-2563 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการต่อไป
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบออกจากตลาดเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ควบคู่กับการดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินเป้าหมาย 300,000 ตัน รัฐบาลได้เร่งให้มีการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วฐานของประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลในประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยมีการส่งเสริมโดยใช้มาตรการจูงใจด้านราคา โดยกําหนดราคา บี10 ให้ถูกกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี 7) โดยปัจจุบันส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ถูกกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 อยู่ที่ 3 บาทต่อลิตร และมีสถานสถานีบริการจำนวน 6,222 แห่งและกลุ่ม Fleet 543 แห่ง ในช่วงวันที่ 1-9 สิงหาคม 2563 มีปริมาณการจำหน่ายเฉลี่ย 18.45 ล้านลิตรต่อวัน โดยคาดจะทำให้ราคาปาล์มขยับไปได้ถึง 4 บาทต่อกิโลกรัม”
ผ่านร่าง พ.ร.บ.ประชามติ รองรับแก้ รธน.
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินการคู่ขนานกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาและที่ภาคประชาชนเสนอ ทั้งนี้ มาตรา 256 (8) ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องมีการทำประชามติ ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีการตรากฎหมายเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติ โดยที่ผ่านมาใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2550 ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว
“หากมีการจัดการออกเสียงประชามติทั่วประเทศ อาจต้องใช้งประมาณราว 3,150.69 ล้านบาท และถ้ามีการใช้มาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ควบคู่ไปด้วย อาจทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มสูงขึ้นเป็น 4,062.73 ล้านบาท และในลำดับต่อไป จะส่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป ส่วนการออกกฎหมายลำดับรอง มีจำนวน 1 ฉบับ คือ ร่างระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. จะดำเนินการหลังร่าง พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้แล้ว 180 วัน”
สำหรับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. ฉบับนี้ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกเสียงประชามติ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 166 และมาตรา 256 (8) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยยังคงหลักการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งมีสาระสำคัญคือ
- กำหนดให้การออกเสียงประชามติ มี 2 กรณี คือ
- กรณีมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ ครม. จะขอให้มีการออกเสียงในเรื่องที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อ รธน. หรือเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใด เพื่อให้มีข้อยุติ หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ ครม. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้มีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษา
- กรณีมาตรา 256 (8) ของรัฐธรรมนูญ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศมีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษา
- กำหนดให้การออกเสียงใช้วิธีลงคะแนนโดยตรงและลับ การออกเสียงจะถือว่ายุติก็ต่อเมื่อมีผู้ออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากและมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง
- กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องจัดทำประชามติ ต้องดำเนินการให้ข้อมูลการจัดทำประชามติแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับทราบอย่างเพียงพอ
- กำหนดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น มีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันออกเสียง ส่วนลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิออกเสียง เช่น ต้องไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
- กำหนดความผิดและบทกำหนดโทษ เช่น กำหนดโทษจำคุก (1–10 ปี) ปรับ หรือเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง (ไม่เกิน 5 ปี) และกรณีศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้ใดตามฐานความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ และเป็นผู้กระทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยสุจริต ผู้นั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการออกเสียงในหน่วยนั้นด้วย
เห็นชอบผลประชุม รมต.ต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 53
นางสาวรัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 53 และการประชุมระดับรัฐธมนตรีที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9–12 กันยายน 2563 โดยเป็นการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการลงนามร่วมกันในเอกสารรวมทั้งสิ้น 17 ฉบับ ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่ภาคีที่จะร่วมกันเดินหน้าพัฒนาความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิทธิมนุษยชน ความมั่นคง และโลจิสติตกส์ เป็นต้น
โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ
- ความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน–รัสเซีย อาเซียน–จีน อาเซียน–เกาหลี อาเซียน–นิวซีแลนด์ อาเซียน–แคนนาดา อาเซียน–อินเดีย และอาเซียน–สหรัฐอเมริกา
- การลงนามระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ ครอบคลุมในมิติต่างๆ ทั้งสังคม สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม
- การลงนามเกี่ยวข้องกับด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างอาเซียนกับประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติต่อเด็กที่ถูกเกณฑ์และเชื่อมโยงกับผู้ก่อการร้ายและกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง การต่อต้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย การรักษาความมั่นคงในเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อป้องกันและตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19
- การลงนามอาเซียนกับประเทศพันธมิตรในสนธิสัญญาและมิตรภาพความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการขยายความร่วมมือกับกับประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาคอาเซียน กับประเทศคิวบา แอฟริกาใต้ และฉบับสุดท้ายจะเป็นความร่วมมือด้านการพัฒนาในภูมิภาคระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเลขาธิการอาเซียน และสหรัฐอเมริกา โดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (ยูเอสเอด)
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีการประชุมหนึ่งที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11 กันยายน 2563 เป็นการประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง–สหรัฐฯ ครั้งที่ 1 โดยกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงประกอบด้วยไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และเมียนมา ซึ่งจะมีการลงนามในเอกสารรวม 2 ฉบับ คือ
- ร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง–สหรัฐฯ เป็นความร่วมมือเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขยายสาขาความร่วมมือภายใต้หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง–สหรัฐฯ ส่งเสริมพลังงานและตลาดพลังงานไฟฟ้าให้มีความยั่งยืน แบ่งปันข้อมูลน้ำที่โปร่งใส และเสริมสร้างบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน และสหรัฐฯ จะประกาศเงินสนับสนุนเพื่อพัฒนาและผลักดันในประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ การบรรเทาสาธารณภัย และการบริหารจัดการข้อมูลน้ำ
- ร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีหุ้นส่วนพลังงานลุ่มน้ำโขง ญี่ปุ่น–สหรัฐฯ (Japan-U.S. Mekong Power Partnership: JUMPP) เป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการทำให้ตลาดพลังงานในอนุภูมิภาคมีความเชื่อมโยงและยั่งยืนมากขึ้น โดยตกลงที่จะยกร่างแผนปฏิบัติการภายใต้ JUMPP ภายใน 1 ปี เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ที่มีกรอบเวลาและตัวชี้วัดทบทวนความคืบหน้า และหารือประเด็นอุปสรรคต่อการบูรณาการและการประสานงานกันระหว่างประเทศสมาชิก
เคาะแก้ กม. e-Service อำนวยความสะดวกเอกชน
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจรให้แก่ภาคเอกชนและประชาชน ส่งผลต่อการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก โดยมีแนวทางที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอให้หน่วยงานดำเนินการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังนี้คือ
- ให้หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการขออนุญาต สถานที่ยื่นคำขอ การต่ออายุใบอนุญาต รวมถึง การขอรับใบแทนในอนุญาตกรณีชำรุด เสียหายหรือสูญหาย โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อีกวิธีหนึ่ง นอกเหนือจากช่องทางปกติ และให้ถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน
- ให้หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการชำระค่าธรรมเนียมในการขออนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และให้หน่วยงานต้องจัดทำใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-receipt) ด้วย
- ให้หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับการลงลายมือในเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
- ให้หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์ในการแจ้งผลการพิจารณาและการรับใบอนุญาต หรือหนังสือรับรองโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-certificate) โดยให้หน่วยงานแจ้งผลทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
- เรื่องการระบุให้ต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบการ ส่วนนี้ให้แก้ไขโดยใช้ข้อความต่อไปนี้แทนข้อความเดิมในกฎหมาย “ให้ผู้รับอนุญาตเตรียมใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถแสดงถึงการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ทุกเมื่อไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม” เทียบเคียงได้กับการแสดงใบอนุญาตขับขี่ทางอิเล็กทรอนิกส์หรือสำเนาภาพถ่าย
ทั้งนี้ ได้กำหนดแผนการดำเนินการแก้ไขกฎหมายไว้ ในส่วนของประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งที่เป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะแก้ไขได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม. ให้หน่วยงานดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบ ในกรณีที่เป็นกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับที่ต้องขอความเห็นชอบจากครม.ก่อนนั้น ให้แก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ส่วนกฎหมายที่เป็น พ.ร.บ. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอแก้ไขต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเชิญหน่วยงานมาชี้แจงและปรับแก้กฎหมายเพื่อเสนอต่อ ครม. และหลังจากแก้ พ.ร.บ. สำเร็จ ให้แก้ไขกฎหมายลำดับรองให้สอดคล้องภายใน 3 เดือน นับแต่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้
“ก.พ.ร. ได้เสนอว่า ในจำนวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรค 84 ฉบับ มีอยู่จำนวน 23 ฉบับของหน่วยงานนำร่องที่มีความพร้อมอยู่แล้ว หากแก้ไขกฎหมายจะสามารถให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ พร้อมกันนี้ ครม. ได้มีมติให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ แก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด”
จัดงบฯ 70 ล้าน ปูนบำเหน็จเจ้าหน้าที่ปราบยาเสพติด
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้มีการพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดปีงบประมาณ 2563 จำนวนไม่เกิน 10,700 อัตรา เฉลี่ยคนละ 6,570 บาท รวมเป็นเงิน 70 ล้านบาท โดยใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการต้นสังกัดก่อน หากไม่พอให้ให้เบิกจ่ายจากงบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด โดยแบ่งเป็น
- เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดในระดับภูมิภาค จำนวน 8,025 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 75
- เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดหน่วยงานส่วนกลาง จำนวน 1,605 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 15
- เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นผู้พิจารณาทั้งจากส่วนกลาง ภูมิภาค สำนักงาน ป.ป.ส. และกรณีทุพพลภาพ 1,070 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 10
เพิ่มสวัสดิการพนักงาน กปภ.
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ปรับเพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลใน 2 ส่วนคือ ส่วนแรก คือ ค่าธรรมเนียมแพทย์หรือค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เข้ารับการรักษาในคลินิกพิเศษหรือคลินิกนอกเวลาของสถานพยาบาลของทางราชการ โดยมีสิทธิ์เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินครั้งละ 300 บาท รวมแล้วไม่เกินปีงบประมาณละ 3,600 บาท ส่วนที่ 2 คือค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ปฏิบัติงานหรือบุคคลในครอบครัว กรณีเข้ารับการรักษาประเภทผู้ป่วยนอกในสถานพยาบาลของเอกชนหรือคลินิกเวชกรรม มีสิทธิ์เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง รวมแล้วไม่เกินปีละ 3,600 บาทต่อครอบครัว
อนุมัติ “Northern Gulf” โอนสัมปทานปิโตรเลียมให้ “เอ็มพีจี1”
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ พิจารณาอนุมัติให้บริษัท Northern Gulf Petroleum Pte.Ltd. (บจ. Northern Gulf) โดยสิทธิประโยชน์และพันธะซึ่งถืออยู่ทั้งหมดในอัตราร้อยละ 10 ตามสัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 7/2559/75 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย G1/48 ให้แก่ บจ.เอ็มพี จี1 ซึ่งจะทำให้คงเหลือผู้ถือสัมปทาน ได้แก่ บจ.เอ็มพี จี1 ถือสิทธิร้อยละ 70 และ บจ. Tap Energy ถือสิทธิร้อยละ 30
อนึ่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ได้บัญญัติให้ผู้รับสัมปทานมีสิทธิโอนสัมปทานให้แก่บริษัทอื่น โดยไม่ต้องขอรับอนุญาตในกรณีที่ผู้รับสัมปทานและบริษัทผู้รับโอนสัมปทานเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน แต่กรณีนี้บริษัททั้งสองไม่ได้อยู่ในเครือเดียวกัน จึงต้องได้รับอนุญาตจาก ครม.
ตั้ง “พัชรี อาระยะกุล” ขึ้นปลัด พม. -“หมอทวีศิลป์” นั่งผู้ตรวจ สธ.
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 8 ราย ดังนี้
- นางพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสุขภาพจิต
- นายสุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอนามัย
- นายโอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมควบคุมโรค
- นายศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- นางอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
- นายสุระ วิเศษศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
- นายธงชัย กีรติหัตถยากร ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
- นายทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้งนางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
และเห็นชอบการแต่งตั้งนายกวี อารีกุล ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการประปานครหลวง โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 350,000 บาท ซึ่งกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ตามมติคณะกรรมการการประปานครหลวง ในการประชุมครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 และครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไปแต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ และให้นายกวี อารีกุล ลาออกจากการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจก่อนลงนามในสัญญาจ้างด้วย
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 8 กันยายน 2563เพิ่มเติม