ThaiPublica > เกาะกระแส > MQDC เปิดศูนย์วิจัย “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” กำหนดทิศทางศึกษาโลกอนาคต

MQDC เปิดศูนย์วิจัย “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” กำหนดทิศทางศึกษาโลกอนาคต

19 กันยายน 2020


ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

MQDC เปิดตัวศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา “FutureTales Lab” คาดการณ์การเปลี่ยนแปลงเมืองกรุงเทพฯ 4 รูปแบบ พร้อมเปิดให้ประชาชนเยี่ยมชมนิทรรศการเมืองแห่งอนาคต

นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เปิดเผยว่า สังคมปัจจุบันเกิดเทรนด์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา บริษัทเล็งเห็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคตเพื่อนำไปต่อยอดการพัฒนาที่อยู่อาศัย และบริการที่ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตของคนในอนาคต ทำให้บริษัทจัดตั้งศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ภายใต้ชื่อ “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” (FutureTales Lab by MQDC) และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563

นายวิสิษฐ์กล่าวอีกว่า FutureTales Lab เป็นศูนย์วิจัยแห่งแรกที่พัฒนาโดยภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยมีจุดประสงค์ 3 ข้อ คือ

(1) แลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูล เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ (Exchange Knowledge and Data)

(2) สร้างความร่วมมือ เครือข่าย และการมีส่วนร่วมกับชุมชน (Engagement)

(3) เปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของมนุษย์ต่อเรื่องการเตรียมการสู่อนาคต (Evolution)

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อศึกษางานวิจัย และสถานการณ์แนวโน้มในอดีต ปัจจุบัน ตลอดจนวิเคราะห์ถึงอนาคต โดยใช้เครื่องมือการคาดการณ์อนาคตเพื่อสะท้อนภาพของ การอยู่อาศัย การทำงาน การเรียนรู้ การใช้เวลาว่าง คมนาคมขนส่ง และบริบทของความยั่งยืนแล้วนำมาวิเคราะห์และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น รวมถึงถ่ายทอดในรูปแบบ Interactive

ดร.การดี ยกตัวอย่างแพลตฟอร์ม Earth Pulse สำหรับติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทะเล อากาศ พื้นดิน น้ำแข็ง และสิ่งมีชีวิต โดยได้ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยและที่ปรึกษาระดับโลก ได้แก่ ARUP Foresight + Innovation จากประเทศออสเตรเลีย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ

กลุ่มเป้าหมายของ FutureTales Lab คือผู้กำหนดนโยบาย นักวิจัย กลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจเรื่องอนาคตศึกษา

“มีคนถามว่างานแบบนี้ควรจะเป็นภาครัฐทำหรือเปล่า แต่เราเองในฐานะพลเมืองไทยก็เป็นหน้าที่ของเราเช่นกันที่จะศึกษาเรื่องเหล่านี้ และต่อยอดการทำงานร่วมกันเป็นอนาคตศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การวางแผนระดับเมืองและระดับประเทศ” ดร.การดีกล่าว

ข้อค้นพบหนึ่งหลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลและผ่านการวิเคราะห์แล้ว ดร.การดี เล่าว่าในอนาคตเมืองกรุงเทพฯ มีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็น 4 รูปแบบตามที่เรียกว่า Scenario Archetype

แบบแรก Growth ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปทั้งในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากการเติบโตแบบพื้นที่สีเขียวในแนวตั้งที่เรียกว่า Green Metropolis

แบบที่สอง Transformation คือการที่สิ่งแวดล้อมเข้ามามีผลกระทบต่อเมือง เห็นได้ชัดคือระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองใต้น้ำ ทำให้คนในเมืองต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับแม่น้ำ

แบบที่สาม Constraint เป็นการเติบโตแบบที่พยายามรักษาเมือง แต่ยังคงบริบท water city

สุดท้ายคือการเติบโตแบบ Collapse ซึ่งจะทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปเป็น indoor city กล่าวคือคนในเมืองต้องอาศัยอยู่ในร่มมากกว่ากลางแจ้ง เพราะปัญหาสภาพภูมิอากาศที่แย่ลง โดยการเติบโตในแบบนี้สะท้อนว่ากรุงเทพฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดี

นอกจากบทบาทของ “งานวิจัย” MQDC ยังพัฒนานิทรรศการอนาคตศึกษาแบบมีส่วนร่วม (Interactive Exhibition) จำนวน 3 โซน เปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมได้ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2563 ในรูปแบบกลุ่มเล็ก จำนวนไม่เกิน 25 คนต่อรอบต่อวัน

โซนที่ 1 : Data Platform ประกอบด้วย 2 ส่วนนิทรรศการ ได้แก่ Earth Pulse มองโลกในมิติแห่งความเชื่อมโยง จับตาดูชีพจรของโลกในทุกแง่มุมทั้งบนดิน ใต้น้ำ และสภาวะอากาศ และ Bangkok Next Tales รู้จักและเข้าใจเมืองหลวงของเราในหลากหลายมิติ

โซนที่ 2 : Future Living Interactive Gamification ประกอบด้วย 6 ส่วนนิทรรศการ ได้แก่ Future City Vision เรียนรู้ปัญหาและวิกฤตของโลกสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ, Journey of Waste สถานการณ์ของปริมาณขยะในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต, Future Mobility การเดินทางในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบกับสุขภาพและเมืองในอนาคต, Create your City ฐานข้อมูลในการพัฒนาเมืองโดยคำนึงถึงบริบทต่างๆ, Future Habitat เทรนด์ความเป็นอยู่ในอนาคต และ Your Urbanite วิเคราะห์คาแรคเตอร์ของคน

โซนที่ 3 : Space Exploration ประกอบด้วยส่วนนิทรรศการ Space Exploration ให้ความรู้ด้านอวกาศ ทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศไทย รวมถึงแนวความคิดของการที่จะไปอยู่อาศัยในดาวดวงใหม่ และการจำลองการปลูกต้นไม้ในโลกและปลูกด้วยเครื่องจำลองแรงโน้มถ่วง

นอกจากนี้ MQDC ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตร อาทิ สถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงพันธมิตรผู้สนใจด้านอวกาศ เช่น Space Zab และ SPACETH เป็นต้น เพื่อสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับนักอนาคตศาสตร์ทั่วโลก รวมถึงมีการพูดคุยกับกทม.เพื่อพัฒนาข้อมูลแบบเรียลไทม์