ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้ทะยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังจากที่เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมครั้งที่ 7 ของปี 2562 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปีจาก 1.50% เป็นร้อยละ 1.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที
ธ.กรุงเทพลดดอกเบี้ยเงินกู้ MLR 0.25%
ธนาคารกรุงเทพ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มแอลอาร์ ลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการลดต้นทุนทางการเงิน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มแอลอาร์ (MLR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) ลง 0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ นับเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องการลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ
“ธนาคารกรุงเทพ มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวม สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ” นายสุวรรณ กล่าว
กสิกรไทยลด MLR ลงมาที่ 6.0%
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารตอบสนองต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยเพื่อช่วยลูกค้าของธนาคารในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 0.25% จากปัจจุบันที่ 6.25% เป็น 6.00% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่กลุ่มลูกค้าของธนาคารใช้เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับลูกค้านิติบุคคลลง 0.07%-0.25% ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป โดยธนาคารยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาในขณะนี้
กรุงไทยลดดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากประจำ
ธนาคารกรุงไทย สนองนโยบายรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยผู้ประกอบการลดภาระต้นทุน ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบมีระยะเวลา MLR ลง 0.25% ต่อปี เริ่มวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ธนาคารตระหนักถึงการมีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ อีกทั้งช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของภาวะความผันผวนของค่าเงินและสงครามการค้า พร้อมทั้งตอบสนองทิศทางดอกเบี้ย ธนาคารจึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบมีระยะเวลา MLR ลง 0.25% ต่อปี จากอัตรา 6.275% ต่อปี เหลืออัตรา 6.025% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป ซึ่งธนาคารหวังว่า การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงิน มีส่วนสนับสนุนศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ตลอดจนร่วมผลักดันเศรษฐกิจไทยโดยรวม
นอกจากนี้ ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.25% ต่อปี ยกเว้นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้ารายย่อย
ไทยพาณิชย์ลดทั้งเงินกู้ เงินฝากประจำ 0.25%
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีเจตนารมย์ที่จะช่วยลดภาระต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย เพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศ จึงขานรับทิศทางการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ด้วยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% มาอยู่ที่ 6.87% พร้อมกันนี้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.25% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะสภาพคล่องในระบบการเงินในปัจจุบัน
ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำใหม่ จะมีผลตั้งแต่วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน เป็นต้นไป
EXIM BANK ขานรับนโยบายรัฐบาลลด Prime Rate
EXIM BANK ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate สำหรับลูกค้าทั่วไปและ SMEs เทียบเท่า MRR ของธนาคารพาณิชย์ เหลือ 6.00% ต่อปี เพื่อช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของผู้ประกอบการไทย สนองนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการหดตัวของการส่งออกตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะกีดกันทางการค้า
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีภารกิจสนับสนุนธุรกิจการส่งออก การนำเข้า และการลงทุน ขานรับทิศทางการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ด้วยความเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศในสภาวะที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า จึงพร้อมช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนทางการเงินที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจให้แก่ลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ซึ่งเทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ของธนาคารพาณิชย์ เหลือ 6.00% ต่อปี จากอัตราเดิม 6.125% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป
“EXIM BANK พร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้อย่างไม่สะดุด แม้ในภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง” นายพิศิษฐ์กล่าว