ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5% ชี้อีก 2 ปีกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวและจะไม่เท่าเทียมกัน

กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5% ชี้อีก 2 ปีกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวและจะไม่เท่าเทียมกัน

5 สิงหาคม 2020


นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมกนง.ครั้งที่ 5/2563 ว่ากนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 0.5% ต่อปี

ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในประเทศและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงจากโอกาสเกิดการระบาดระลอกที่สอง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบในปีนี้ แต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ตามที่ประเมินไว้ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ

คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และเห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งหนี้ครัวเรือนและธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์

  • ประเด็นหลักคือเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นตามการผ่อนคลายของเมืองไทยและเศรษฐกิจทั่วโลกที่ฟื้นตัวในภาพรวม อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากการควบคุมการระบาดและการท่องเที่ยว
  • ประเด็นที่สองคือ การแพร่ระบาดยังมีความไม่แน่นอนและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจรุนแรงต่อเนื่องยาวนาน แต่ละภาคเศรษฐกิจกระทบไม่เท่ากัน การจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนถูกกระทบมากและใช้เวลานานที่จะกลับไประดับเดิม และต้องเร่งจัดการโดยเร็วตั้งแต่ตอนนี้
  • ประเด็นที่สามคือมาตรการของภาครัฐต้องทำอะไร ภาษาชาวบ้านคือดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่พระเอกแล้ว ดอกเบี้ยได้ลดลงต่ำมากแล้วเทียบกับทั้งในอดีตและภูมิภาค แต่สนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และการฟื้นตัวจะเป็นเรื่องสำคัญ ต้องประสานนโยบายการคลังและนโยบายทางด้านสินเชื่อ เพื่อให้เศรษฐกิจปรับตัวสอดคล้องกับโลกหลังโควิดได้

เศรษฐกิจจะฟื้นตัวไม่เท่ากันทุกภาคส่วน

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในไทยและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจ

ด้านการส่งออกสินค้าเริ่มฟื้นตัวแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ การส่งออกบริการ นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่นักท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ด้านอุปสงค์ในประเทศหดตัวทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนได้รับผลกระทบรุนแรงจากเศรษฐกิจที่หดตัวและจะใช้เวลาฟื้นตัวนาน

“สำหรับภาวะเศรษฐกิจล่าสุด ข้อมูลล่าสุดที่เห็น เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ไตรมาสที่สองดีกว่าที่คาดการณ์ไว้จากที่เคยประมาณการเอาไว้ ต้องรอดูข้อมูลของสภาพัฒน์ที่จะออกมาในช่วงกลางเดือนนี้ แต่เราเห็นสัญญาณการฟื้นตัวหลังจากการผ่อนคลายมาตรการในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นโดยทั่วไป แต่ต้องย้ำว่าความเสี่ยงยังมีจากหลากหลายมิติ”

ต้องประสานนโยบายปรับโครงสร้างธุรกิจ-การจ้างงาน

คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่ามาตรการภาครัฐในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องสนับสนุนการจ้างงาน ส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง รวมถึงนโยบายด้านอุปทานเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลงด้วย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นบ้างตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มติดลบในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ตามราคาน้ำมันดิบที่จะทยอยปรับสูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ด้านภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ขณะที่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลยังคงอยู่ในระดับสูง ด้านสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอลง แม้ว่าส่วนหนึ่งจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการเลื่อนการชำระหนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าสภาพคล่องโดยรวมในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทผันผวนสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทกลับมาโน้มแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์ สรอ. คณะกรรมการฯ เห็นว่าหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

“เรื่องของค่าเงินตอนนี้ประเด็นที่กนง.คุยกันคือหลังจากเกิดการระบาดของโควิด หลายประเทศมีการดำเนินนโยบายการเงินและใส่สภาพคล้องระบบการเงินโลกสูงมาก ดังนั้นราคาสินคทรัพย์หลายตัวรวมถึงทองคำด้วย มีราคาสูงขึ้นมาก สภาพคล่องที่เพิ่มมากขึ้นก็มีความเสี่ยงว่าเป็นช่วงๆอาจจะมีเงินทุนที่เข้ามากดดันค่าเงินบาทได้ กนง.จึงเป็นห่วงให้ติดตามอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ต้องการให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วและกระทบกับการฟื้นตัว มีข้อสังเกตว่าดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกิดดุล แต่ค่อนข้างต่ำเทียบกับในอดีต แปลว่าเรามีแรงกดดันจากบัญชีเดินสะพัดลดลง ส่วนใหญ่มาจากดุลบริการแทบไม่มีเลย”

ส่วนประเด็นที่เห็นเงินทุนไหลเข้ามาอยู่ แม้ว่าธปท.จะคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้า นายทิตนันทิ์ กล่าวว่ามีสองประเด็น เรื่องแรกคือเศรษฐกิจของไทยจะได้รับผลระทบค่อนข้างมาก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีการส่งออกสูง ท่องเที่ยวสูง เป็นเศรษฐกิจเปิดมาก พอเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจโลกเราจะได้รับผลกระทบมากกว่าภูมิภาค ส่วนที่ว่าทำไมมีเงินลงทุนไหลเข้ามาอยู่ เวลาที่สภาพคล่องในระบบการเงินโลกสูง นักลงทุนจะเข้ามาทั้งภูมิภาคส่วนจะไปแต่ละประเทศอาจจะแตกต่างกัน อาจจะมีปัจจัยแต่ละประเทศด้วย ไม่ได้มุ่งเป็นประเทศใด ส่วนใหญ่จะมาเป็นระลอกในเอเชียเลย บางทีก็มาเกาะกองทุนดัชนีเป็นภูมิภาค

สถาบันการเงิน “โดยรวม” ยังเข้มแข็งแม้จะเปราะบางขึ้น

ระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ในบริบทใหม่หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) การค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) การสนับสนุนสินเชื่อโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เป็นต้น

มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่ากนง.กังวลอะไรมากที่สุด นายทิตนันทิ์ กล่าวว่าถ้าถามว่ากนง.ให้ความสำคัญกับปัจจัยไหน โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจนานและไม่เท่ากัน ดังนั้นจุดที่ให้ความสำคัญคือนโยบายต้องตรงสุดและต้องอาศัยการประสานนโยบายจากหลายหน่วยงาน ถึงจะทำให้การปรับตัวมันเป็นผลได้

ขณะที่ประเด็นเรื่องสถาบันการเงินอาจจะได้รับผลกระทบหลังจากนี้ นายทิตนันทิ์ กล่าวว่าส่วนสถาบันการเงินโดยรวมยังดีอยู่ แต่มันเปราะบางมากขึ้น เพราะแน่นอนว่ามีภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบและมีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้และกระทบกับสถาบันการเงินอยู่แล้ว แต่ด้วยเงินสำรองของกองทุนที่มีก็เรียกว่ามีกันชนอยู่ ส่วนเรื่องมาตรการพักชำระหนี้ที่ทำไป ต้องบอกว่าจากพื้นฐานของเดิมที่มีหนี้ครัวเรือนสูงอยู่แล้วและโควิดก็มากระทบกับความเปราะบางตรงนี้ ดังนั้นนโยบายต้องกลับไปที่เดิมคือดูแรงการจ้างงานและเพิ่มทักษะให้เขาปรับตัวได้ และมีกำลังมนการชำระหนี้ ส่วนการเรื่องการชำระหนี้ได้ดีขึ้นแค่ไหนขึ้นอยู่กับการปรับโครงสร้างหนี้ได้มากแค่ไหนและการปรับโครงสร้างธุรกิจให้เข้ากับโลกใหม่ ถ้าทำได้มาก ผลกระทบกับสถาบันการเงินจะลดลง ซึ่งทำให้ต้องทำหลายๆเรื่องไปพร้อมๆกัน เป็นการประสานนโยบายพร้อมๆกัน

จับตาตัวเลขไตรมาสสอง หดตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2563 ธปท.ได้สรุปว่าแม้ว่าจะปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น แต่ในภาพรวมยังถือว่าหดตัวค่อนข้างรุนแรงอยู่ดี และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไตรมาสสองของปีนี้จะหดตัวประมาณ 12-13% อนึ่ง ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่สองอย่างเป็นทางการจะประกาศในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 นี้

ในรายละเอียดของเดือนมิถุนายน การส่งออกที่ไม่รวมทองคำยังหดตัว 18.4% (ปรับตัวดีขึ้นจากหดตัว 29% ในเดือนก่อนหน้า), การบริโภคของเอกชนที่หดตัว 4.7% (ปรับตัวดีขึ้นจากหดตัว 11.5%) หรือการลงทุนของเอกชนที่หดตัว 12.1% (ปรับตัวดีขึ้นจากหดตัว 18.2%) เป็นต้น ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน สุดท้ายภาคการท่องเที่ยวหดตัวสูงที่ 100% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังคงมีอยู่

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบสอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ขณะที่ในส่วนของตลาดแรงงาน จำนวนผู้ว่างงานยังเพิ่มสูงขึ้นด้านดุลบัญชีเดินสะพัดใกล้สมดุล ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน

ขณะที่ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ในรายละเอียดพบว่าอุปสงค์ต่างประเทศหดตัวสูง ทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ และภาคการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลงมาก ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวสูงอย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้และมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ