ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.25% หั่นเป้าจีดีพีปี ’62 โต 2.5% ปีหน้า 2.8%

กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.25% หั่นเป้าจีดีพีปี ’62 โต 2.5% ปีหน้า 2.8%

18 ธันวาคม 2019


นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 8 ของปี มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% หลังประเมินว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. แถลงผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 8 ของปี โดย กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ต่อปี

ทั้งนี้ ในการตัดสินนโยบาย กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพ จากการส่งออกที่ลดลงซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย ซึ่งเป็นผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสองครั้งในช่วงที่ผ่านมา ส่วนเสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

กนง.เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และจะประเมินความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป

“ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่าการประชุมครั้งนี้ แม้ว่า กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ย แต่ขอเน้นว่าเป็นเฉพาะการประชุมครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากว่าที่ผ่านมา กนง.ได้ลดดอกเบี้ยไปแล้วสองครั้งในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าเป็น insurance rate cut คือมีการดำเนินการไปแล้วล่วงหน้า และหากมีความจำเป็น กนง.พร้อมที่จะใช้นโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อไป”

ขณะที่ประเด็นความเพียงพอของนโยบายการเงินต่อการลงทุนของเอกชน นายทิตนันทิ์กล่าวว่า ปัจจุบันหากดูผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว 10 ปีจะพบว่าอยู่ที่ 1.6% ซึ่งถือว่าต่ำมากและเอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชนแล้ว นอกจากนี้ จากการสำรวจพูดคุยกับเอกชนก็พบว่าดอกเบี้ยเป็นปัจจัยในระดับรองๆ แต่เอกชนจะให้น้ำหนักกับกฎระเบียบ ความสามารถของแรงงาน หรือโครงสร้างเศรษฐกิจอื่นๆ มากกว่า ส่วนเรื่องของนโยบายการคลังเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูว่าจะมีมาตรการหรือเครื่องมืออะไรเพิ่มเติมหรือไม่

ในรายละเอียดแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นในปีหน้า อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพและต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม โดยการส่งออกสินค้าที่ผ่านมาหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ และจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการ

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากรายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานที่ปรับลดลงโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นแรงกดดันการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่ายังต้องติดตามความเสี่ยงจากสภาวะการกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมทั้งจะติดตามผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการใช้จ่ายของภาครัฐ ความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และมีผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงานที่จะส่งผลต่อการจ้างงานในระยะต่อไป

“ในการประชุมครั้งนี้ กนง.ได้ดูปัจจัยต่างๆ ทั้งในโลก ในไทย หรือในภาคเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้งพูดถึงเรื่องของวัฏจักรเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาได้ชะลอตัวลงและมีแนวโน้มจะฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า แต่แนวโน้มอันนี้มันเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของทั้งเศรษฐกิจไทยและของเศรษฐกิจโลกด้วย ฉะนั้น ในการประเมินต้องรอดูว่ามีพลวัตอย่างไร”

ตัวอย่างเช่น การส่งออกของไทยที่ถูกกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของตลาดการค้าโลกจากสงครามการค้า อีกด้านมีการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ หรือปัจจัยภายในประเทศที่มีเรื่องความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม หากดูช่วงปีที่ผ่านมาถือว่ายังหดตัวน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และยังคงต้องติตดามต่อไปว่าพลวัตของการส่งออกของไทยจะกระทบจากอะไรบ้าง

หรือโครงสร้างตลาดแรงงานที่ชะลอตัวลงตามการส่งออกของไทยและวัฏจักรเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานล่วงเวลาที่ลดลง การจ้างงานที่ลดลงจนทำให้รายได้ของแรงงานลดลง แรงงานบางส่วนที่หางานใหม่ได้ ก็อาจจะได้งานในภาคการผลิตที่รายได้ต่ำลง ขณะที่บางส่วนต้องออกจากตลาดแรงงานไป ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าจะมีผลต่อโครงสร้างตลาดแรงงานและการจ้างงานอย่างไร เช่น ถ้าแรงงานที่อายุมากและออกจากตลาดแรงงานแล้วแบบนี้ พอเศรษฐกิจฟื้นตัวอีกครั้งจะสามารถกลับมาในตลาดแรงงานได้อีกครั้งหรือไม่ ซึ่งตลาดแรงงานเป็นประเด็นที่ กนง.สั่งให้ ธปท.จับตามองอย่างใกล้ชิดอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจในปี 2562 และ 2563 ลดลงเกือบทุกตัวชี้วัดทั้งหมด ขณะที่ยังส่งสัญญาณว่าแนวโน้มในปีหน้าน่าจะฟื้นตัวมากขึ้นจากปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าเป็นการปรับประมาณลงจากรอบที่ผ่านมา เนื่องจากการชะลอตัวเศรษฐกิจในปี 2562 ที่มากกว่าที่คาด และน่าจะส่งให้ในปี 2563 ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกระยะ ตามการฟื้นตัวของภาคส่งออกที่อาจจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและการใช้จ่ายภาครัฐที่น่าจะล่าช้าออกไปบางโครงการ ซึ่งจะไปทยอยออกมาในปี 2564 แทนด้วย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2562 และปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวในระดับต่ำและอุปทานพลังงานที่จะเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่องแต่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้เงินบาททรงตัวจากการประชุมครั้งก่อน แต่ในช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทางและสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคมากขึ้น กนง.กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่ยังแข็งค่าอยู่เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่มีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจ SMEs ที่ด้อยลง กนง.เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ พฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสม

มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม รวมทั้งจะติดตามปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน