ThaiPublica > คอลัมน์ > ชี้นำเพื่อครองชีวิต

ชี้นำเพื่อครองชีวิต

17 สิงหาคม 2020


วรากรณ์ สามโกเศศ

หนังสือที่เขียนโดยผู้มีประสบการณ์ชีวิตช่วยชี้แนะการครองชีวิตคือขุมทรัพย์แห่งปัญญาของคนรุ่นหลัง น่าเสียดายที่สังคมไทยมีหนังสือทำนองนี้อยู่ไม่มากนัก ผู้เขียนพบหนังสือเล่มน้อยชื่อ “โควิด 9 บท” ที่เขียนขึ้นระหว่างถูกล็อกดาวน์ โดยคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ บิ๊กบอสของ 7-11 จึงขอตัดบางตอนมาให้อ่านกัน

ศักดิ์ศรีเป็นเรื่องสำคัญสำหรับมนุษย์จำนวนมาก บ่อยครั้งฆ่ากันตายเพราะการหมิ่นศักดิ์ศรี ความหมายของศักดิ์ศรีจากมุมมองของคุณก่อศักดิ์มีดังนี้

“…ความรับผิดชอบต่อหน้าที่คือศักดิ์ศรีของคนทำงานทุกคน ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างเช่นญี่ปุ่นใครมีอาชีพหรือหน้าที่อะไรก็จะถือว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมในบทบาทของตนเอง แม้ กระทั่งคนกวาดถนนก็ไม่มีใครรังเกียจหรือดูถูกว่าเป็นอาชีพต่ำต้อย เพราะถ้าขาดเขาแล้วถนนหนทางก็จะระเกะระกะไปด้วยขยะและสิ่งสกปรก แต่สังคมจะไม่ยอมรับผู้ที่ไม่ช่วยกันผลิตเช่น มิจฉาชีพ หรือลูกคนรวยที่ไม่ทำงานทำการ คนเหล่านี้คือสมาชิกที่ไม่ดี เป็นที่รังเกียจของประชาชนโดยทั่วไป

ผู้ที่ปฏิบัติงานในบางสาขาอาชีพก็ต้องเสี่ยงภัยอันตราย เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ มีโอกาสเผชิญหน้ากับผู้ร้ายที่มีปืนอยู่ในมือจึงสามารถเสียชีวิตได้ทุกเมื่อ รวมถึงพนักงานร้านเซเว่นฯ ทั่วประเทศที่ต้องบริการลูกค้าสิบกว่าล้านคนต่อวันก็มีความเสี่ยงต่อภัยอันตรายไม่ต่างจากตำรวจ แต่พนักงานร้านทุกคนก็ต้องพร้อมทำหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง นี่ก็คืองามของผู้มีศักดิ์ศรีที่เปี่ยมไปด้วยความรับผิดชอบ

มีศักดิ์ศรีไม่ได้อยู่ที่นามสกุล ไม่ได้อยู่ที่สถาบันการศึกษา ไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่ง ยศศักดิ์ แต่อยู่ที่ (1) ไม่รับในสิ่งที่ไม่ควรรับ (2) ให้ในสิ่งที่ควรต้องให้ เช่น ตำรวจ ทหาร แพทย์ พยาบาลที่ทำงานอยู่ท่ามกลางอันตราย ต้องสละให้ได้แม้กระทั่งชีวิตตนเอง (3) ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเข้มแข็ง อดทน ไม่ย่อท้อ ไม่หวาดหวั่น

ใครรักษาหลักการ 3 ข้อนี้ได้ครบถ้วน ก็ถือได้ว่าเป็นผู้มีศักดิ์ศรีอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพไหนก็ตาม แม้แต่เป็นคนกวาดถนนก็สามารถอยู่ได้อย่างภาคภูมิใจในตัวเองว่าไม่ได้แบมือขอทานจากใคร ส่วนผู้ที่ไร้ศักดิ์ศรีก็คือผู้มีตำแหน่งหน้าที่แต่กลับใช้อำนาจหน้าที่ไปทำสิ่งเลวร้าย สร้างความร่ำรวยโดยเอาเปรียบผู้อื่น

ในยามวิกฤติคนไร้ศักดิ์ศรีประเภทนี้จะเปิดเผยโฉมหน้าอันแท้จริงออกมาให้เห็นได้ง่ายขึ้น จากนั้นก็จะถูกสังคมรุมประณามจนไม่เหลือความน่าเคารพยกย่องอีกต่อไป เงินทองที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรมนั้นแลกกับศักดิ์ศรีไม่ได้ พวกเขารู้ดีว่าไม่อาจจะเชิดหน้าเดินอย่างอาจหาญและต้องเจ็บปวดกับบาดแผลในใจไปตลอดรวมทั้งคอยหวาดผวารอการมาเยือนของผลกรรมเล็กบ้างใหญ่บ้าง เร็วบ้างช้าบ้างแล้วแต่กรณี…..”

ในเรื่องการปกครอง ผู้นำ และทัศนะสำหรับผู้บริหารนั้น มีดังนี้ “…ซุ่นจื๊อ (ประมาณ 313 BC-238 BC) เมธีจีนโบราณผู้เป็นหลานศิษย์ชื่อเสียงโด่งดังของขงจื๊อได้บันทึกไว้ในสรรนิพนธ์ของตนว่า ‘น้ำหนุนเรือให้ลอยได้ และล่มเรือให้จมได้เช่นกัน’ เป็นการเปรียบเปรยว่าประชาชนนั้นเป็นเสมือนน้ำ ส่วนผู้ปกครองเป็นเสมือนเรือ ผู้ปกครองจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยการสนับสนุนของประชาชน….. แนวคิดนี้ถือว่าก้าวหน้ามากในยุคสองพันกว่าปีที่แล้ว

ผู้ปกครองต้องตระหนักถึงพลังและความสำคัญของประชาชน มิฉะนั้นหากบริหารบ้านเมืองโดยไม่แยแสใส่ใจความทุกข์ยากของประชาชน ประชาชนก็มีความชอบธรรมที่จะรวมตัวกันเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวผู้ปกครองเป็นคนใหม่

ฉันใดก็ฉันนั้นในการบริหารหน่วยงานหรือองค์กร หัวหน้าก็ควรจะเข้าใจว่าลูกน้องยินดีอยู่ใต้บังคับบัญชาหรือไม่ พร้อมจะร่วมแรงร่วมใจไปสู่เป้าหมายเดียวกันหรือไม่ หากทีมงานไม่พอใจไม่ยอมรับผู้บังคับบัญชาจะนำไปสู่ปัญหามากมาย และอาจถึงขั้นเกิดการต่อต้านจนพังกันไปทั้งสองฝ่าย

การปกครองจึงต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์สำหรับผู้ที่มีภาวะผู้นำ ปกก็คือปกป้อง ปกปักรักษา ครองคือครองใจทีมงานให้ทำงานอยู่ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข ตรงกันข้าม คนที่ไม่มีภาวะผู้นำแต่ขึ้นมามีตำแหน่งอย่างไม่ชอบธรรมไม่ใช่ด้วยความสามารถ…ก็จะมองตนเองว่าเป็นชนชั้นปกครองสามารถทำอะไรกับผู้ใต้บังคับบัญชาก็ได้ ย่อมก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำแห่งความอึดอัดใจ ซึ่งอาจขยายกลายเป็นสึนามิถาโถมถล่มองค์กรได้ในระยะยาว

อำนาจในการปกครองนั้นมีที่มาต่างกันหลากหลาย มีทั้งอำนาจที่มาจากตำแหน่งเพื่อใช้ทำงานให้บรรลุผลเรียกว่าอำนาจตามหน้าที่ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Authority ซึ่งเมื่อไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแล้วอำนาจนี้ก็หมดไป แต่ก็มีอำนาจที่ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งยศศักดิ์ เป็นอำนาจที่อยู่กับตัวบุคคล เช่น เจ้าพ่อที่คนหวั่นเกรง อำนาจชนิดนี้เรียกว่าอิทธิพลหรืออำนาจมืด ผู้มีอำนาจประเภทนี้จะควบคุมผู้อื่นด้วยความหวาดกลัวและ/หรือผลประโยชน์ จึงมักจะยิ่งใหญ่ได้ไม่ยั่งยืน หากก่อเรื่องไม่ดีจนเกินควร เจ้าพ่อเหล่านี้ก็จะมีอันเป็นไปแบบจบไม่สวย อาจจะถูกฆ่า ติดคุก หรือต้องหลบหนีเพราะคดีความต่างๆ ที่ได้กระทำไว้

คนส่วนใหญ่มุ่งแสวงหาอำนาจ แต่ผู้ปกครองหรือผู้บริหารที่ดีจะใฝ่หาคุณสมบัติ ผมคิดว่าคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ก็คือการมีโลกทัศน์ ชีวทัศน์และทัศนะเชิงคุณค่าที่ถูกต้องเหมาะสม คนทั่วไปก็อาจจะมีทัศนะ 3 ประการนี้อยู่โดยไม่รู้ตัว คล้ายกับเป็นภาพที่พร่าเลือน แต่สำหรับนักบริหารแล้วสามทัศนะนี้ต้องเป็นภาพที่ชัดเจนอยู่ทุกขณะจิต

ถัดมาจากโลกทัศน์ก็คือชีวทัศน์ซึ่งเป็นเรื่องทัศนะต่อชีวิต เราทุกคนคงจะเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ความหมายของชีวิตคืออะไร ส่วนตัวผมเองมีความเห็นว่า ‘ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน’ ไม่ใช่ ‘ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร’ อย่างที่ล้อเลียนกันทั่วไป แต่ละคนควรค้นให้พบคุณค่าและความหมายในชีวิตของตนเอง เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายมีคุณค่า สมกับเวลาที่เสียไป

สุดท้ายคือเรื่องทัศนะเชิงคุณค่า เป็นการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ รอบตัว ซึ่งจะนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติตนว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ผมเชื่อว่าในสังคมไทยที่คนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา สิ่งที่มีคุณค่าสำหรับผู้ปกครองหรือผู้บริหารก็คือพรหมวิหาร 4 อันมี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้คนในปกครองและจะช่วยสร้างบรรยายกาศที่สงบสุข อบอุ่น เอื้ออาทรต่อกันเหมือนคนในครอบครัว

ทัศนะทั้งสามนี้เป็นเรื่องภายใน ส่วนการแสดงออกภายนอกให้ผู้อื่นได้สัมผัสพบเห็นก็เป็นสิ่งสำคัญ ผู้ใต้บังคับบัญชาจะคาดหวังอะไรจากผู้นำในยามวิกฤติ พวกเขาย่อมหวังให้ผู้นำช่วยนำพาทุกคนให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ตลอดรอดฝั่งด้วยอารมณ์ที่หนักแน่นสุขุม สงบนิ่งไม่ตื่นตระหนกหรือตื่นตูมลนลานจนทีมงานปั่นป่วนไปหมด ดังเช่นที่สำนวนจีนเปรียบเทียบไว้ว่า ‘ขุนเขา ไท่ซานพังทลายลงตรงหน้าก็ไม่สะทกสะท้าน’ ผู้นำที่ดีต้องมีทั้งสติและปัญญาที่จะกำหนดกลยุทธให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ เป็นเสาหลักอันมั่นคงอยู่ท่ามกลางพายุที่โหมกระหน่ำ…..”

ไม่ว่าพายุจะรุนแรงเพียงใด ชีวิตแปรผันไปอย่างใด หรือมีสิ่งเลวร้ายใดเกิดขึ้น ความจริงก็คือ “ชีวิตดำเนินต่อไปเสมอ”

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 11 ส.ค. 2563