วรากรณ์ สามโกเศศ
เราเห็นข่าวลวงในสมาร์ทโฟนกันบ่อยมากจนไม่อยากเชื่ออะไรง่าย ๆ แต่ก็ไม่รู้จะแยกแยะอย่างไร ข่าวลวงหรือสารสนเทศปลอม หรือ fake news เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญอีกยาวนานและบางครั้งมีผลต่อการตัดสินใจสำคัญในชีวิตเอาด้วย
fake news มีมายาวนานแล้วตั้งแต่มีมนุษย์เป็นตัวตนแบบปัจจุบันเมื่อ 150,000 ปีก่อน เพื่อทำลายคู่แข่งหรือศัตรู จนแม้กระทั่งใช้ในสงครามเพื่อลวงข้าศึก นิยายจีนคลาสสิก สามก๊ก มหาภารตะ หรือแม้แต่รามเกียรติ์ก็มี fake news
สิ่งที่เรียกว่า fake news นั้น แยกออกได้เป็น 3 ลักษณะกล่าวคือ
-
(1) ข่าวลือ หรือเรื่องลวงโลก (เช่น ฝุ่นจะบังโลกจนแสงแดดจากพระอาทิตย์ส่องไม่ถึง โลกจะมืดเป็นเวลาหลายวัน)
(2) misinformation ซึ่งหมายถึงสารสนเทศที่ไม่ถูกต้อง โดยมาจากความผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ
(3) disinformation คือสารสนเทศไม่จริงที่มีผู้จงใจปล่อยออกมาเพื่อหลอกลวงผู้คน fake news นั้นอยู่ในประเภทข่าวลวงโลกและ disinformation
นับตั้งแต่เกิดโลก social media ในทศวรรษ 1990 fake news ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำว่า fake news ถูกใช้โดย Donald Trump ซึ่งมีความหมายแตกต่างออกไป กล่าวคือเป็นสารสนเทศที่ไม่เป็นผลดีกับตัวเขา หรือออกจากแหล่งของสื่อที่เขาไม่ชอบเพราะไม่เชียร์เขา ที่ขบขันคือตัว Trump เองเป็นแหล่งของfake news เสียเองเพราะเขาชอบพูดสิ่งที่ไม่จริงอย่างหน้าเฉยตาเฉยไม่อายฟ้าดิน (สถิติก็คือโกหก 4,229 ครั้งใน 558 วันที่เป็นประธานาธิบดี หรือเฉลี่ยวันละ 7.6 ครั้ง)
fake news ไม่มีวันหมดไปจากโลกตราบที่มีคนเชื่อและมีคนชั่วที่สร้างมันขึ้นมาตลอดเวลาเนื่องจากมนุษย์ต้องใช้สื่ออยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน นักสังคมวิทยาชื่อ Elihu Katz (1960) ระบุว่ามี 5 เหตุผลที่เราใช้สื่อ กล่าวคือ
-
(1) เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสาร และเพื่อให้การศึกษาแก่ตนเอง
(2) เพื่อความบันเทิง
(3) เพื่อให้เราสามารถบอกตัวเราเองได้ว่าเราเป็นใครจากการดูผู้คนในสื่อ เช่น เป็นคนประเภทใด เป็นคนคิดแบบใด เป็นคนมีฐานะในสังคมและเศรษฐกิจระดับใด ฯลฯ จากการเปรียบเทียบเพื่อความเข้าใจตนเอง
(4) เพื่อการสนทนาโดยสามารถเอาเรื่องที่พานพบในสื่อไปพูดคุยกับคนอื่น ๆ ได้ เนื่องจากมนุษย์เป็น “สัตว์สังคม”
(5) เพื่อหลีกหนีชีวิตจริงไปสู่โลกแห่งความสนุกและความฝัน
เมื่อเราจำเป็นต้องใช้สื่อด้วยเหตุผลดังกล่าว เราจึงไม่มีวันหลีกหนีมันได้แน่นอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องพบ fake news ที่มีอยู่ดาษดื่นจนอ่านไม่ไหว มีคำแนะนำอยู่หลายประการจากผู้รู้ว่าจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็น fake news
- ดูแหล่งที่มา ให้ตรวจสอบที่มา เช่น เว็บไซต์ พันธกิจของแหล่ง จุดที่สามารถติดต่อได้
- อ่านทั้งหมด อย่าอ่านแต่เพียงหัวเรื่องที่มักเขียนเว่อร์เพื่อให้คลิกเข้าอ่าน และนำไปพูดต่อ ต้องอ่านเรื่องราวทั้งหมดและประเมินว่าพอเป็นจริงไหม
- ตรวจสอบคนเขียน เช็คว่าเป็นใคร มีตัวตนจริงหรือไม่ น่าเชื่อถือไหม อย่าเพียงแค่เห็นชื่อก็เชื่อทันที
- ตรวจแหล่งอื่นที่ใกล้เคียง คลิกไปที่แหล่งเหล่านั้นเพื่อหาข้อมูลสนับสนุนและพิจารณาข่าวที่สงสัย
- ตรวจสอบวันที่เหตุการณ์เกิดขึ้น บ่อยครั้งที่ fake news เอาข่าวเก่าที่เกิดขึ้นจริงมาฉายซ้ำ (เช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้มีรูปการพบเครื่องบินลำที่เพิ่งตกแต่ไปเอารูปเก่ามา) ต้องสังเกตรายละเอียดในภาพว่าไม่ขัดแย้งกับสิ่งที่เขาบอก
- ตรวจว่าเป็นเรื่องตลกหรือประชดประชันหรือไม่ ค้นคว้าที่เว็บไซต์และหาตัวผู้เขียน
- เช็คว่าความเอนเอียงของเราช่วย บดบังวิจารณญาณหรือไม่ (เช่น ไม่ชอบคนนี้ เมื่อมีข่าวไม่ดีมาก็เชื่อทันที)
- ถามผู้เชี่ยวชาญหรือเช็คกับแหล่งที่ให้ข้อมูลก่อนที่จะเชื่อ
ปัจจุบันมีสิ่งที่หลอกลวงเราได้ลึกซึ้งกว่านั่นก็คือ deepfake หรือเทคโนโลยีช่วยตัดต่อคลิปปลอมเพื่อลวงให้เข้าใจผิด เช่น ภาพที่คนหนึ่งพูดเป็นเรื่องเป็นราวที่น่าเกลียด ทุกคำพูดเขาได้พูดออกมาจริงแต่ต่างกรรมต่างวาระกัน แต่คนตัดต่อสามารถเอาแต่ละคำพูด ประโยคเหล่านั้นมาตัวต่อเรียงกันอย่างแนบเนียน
deepfake ทำได้ดีมากเพราะใช้ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ที่เรียนรู้ลักษณะหน้าตา ท่าทาง ตลอดจนท่วงทำนองการพูดของบุคคลที่จะนำไปตัดต่อคลิป เทคโนโลยีมีหลายรูปแบบ มีทั้งการเอาหน้าคนหนึ่งไปใส่อีกคนหนึ่ง การแสดงอารมณ์ของหน้าคนต่อคำพูดที่ไม่ใช่สิ่งที่ได้ยินจริง การเอาการขยับร่างกายของคนหนึ่งมาตัดต่อให้แก่อีกคนหนึ่ง ฯลฯ ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นที่เอามาสร้าง deepfake กันได้ไม่ยากด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ธรรมดา
สังคมไทยเราที่เชื่ออะไรง่ายโดยขาดการไตร่ตรองคิดวิเคราะห์ ประชาชนรู้ไม่เท่าทันมีเดียสมัยใหม่ นิยมข่าวลือโดยเฉพาะข่าวซุบซิบ มีความเอนเอียงแบ่งแยก ไม่ชอบกันสูง ฯลฯ โดยเฉพาะในฤดูกาลใกล้เลือกตั้ง เราจะพบ fake news กันทุกวันจากคนต้องการขายสินค้า โฆษณาตัวเอง ต้องการล้างสมองให้เชื่อสิ่งที่เขาศรัทธา ให้เชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อ และมีความนิยมพรรคการเมือง การตั้งการ์ดป้องกัน fake news จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวง และถูกใช้เป็นเครื่องมือ
ไม่ว่าใครจะพยายามหลอกเราด้วย fake news อย่างใดก็ตาม คนสุดท้ายที่จะทำให้งาน ชั่วร้ายของเขาประสบผลสำเร็จหรือไม่ก็คือตัวเราเอง จงเริ่มต้นด้วยความสงสัยสารสนเทศที่ได้รับไว้ก่อน คิดไตร่ตรอง และถ้าไม่จำเป็นอย่าแชร์ต่อ
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 11 ธ.ค. 2561