ThaiPublica > เกาะกระแส > เศรษฐกิจไทยไตรมาสสอง’63 ติดลบ 12.2% เกือบเท่าต้มยำกุ้ง คาดทั้งปีหดตัว 7.5%

เศรษฐกิจไทยไตรมาสสอง’63 ติดลบ 12.2% เกือบเท่าต้มยำกุ้ง คาดทั้งปีหดตัว 7.5%

17 สิงหาคม 2020


นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒน์
วันที่ 17 สิงหาคม 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product:GDP) ในไตรมาสที่สองของปี 2563 และแนวโน้มปี 2563 โดยดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้รวมครึ่งแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงร้อยละ 6.9

“การติดลบในอัตรา 12.2% น่าจะเป็นจุดต่ำที่สุดแล้วและยังถือว่าดีกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่เศรษฐกิจไตรมาส 2 ของปี 2541 ติดลบไป 12.5% และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นโดยการลงทุนภาครัฐเติบโตจากการเร่งรัดโครงการขนาดใหญ่ทำให้เห็นโครงการก่อสร้างมากขึ้นอยู่” ดร.ทศพร กล่าว

การระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งในและต่างประเทศส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัวสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 และการดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของภาครัฐ ซึ่งทำให้การบริโภคภาคเอกชนลดลงทั้งในหมวดสินค้าคงทน กึ่งคงทน และหมวดบริการ

“การลดลงของการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ ๆ ตัวอย่างเช่น การซื้อยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 43.0) การใช้จ่ายเกี่ยวกับเสื้อผ้าและรองเท้า (ลดลงร้อยละ 21.4) การใช้จ่ายในร้านอาหารและโรงแรม (ลดลงร้อยละ 45.8) การใช้จ่ายซื้อสินค้าเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (ลดลงร้อยละ 17.1) แต่การใช้จ่ายเพื่อค่าน้ำและค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8”

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เทียบกับการปรับตัวลดลงร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 22.3 (สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 19.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) ทำให้โดยรวมครึ่งแรกของปี 2563 การบริโภคภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.1 และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลงร้อยละ 0.7

ด้านการลงทุนรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 8.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงร้อยละ 15 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลดลงของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการลงทุนในสิ่งก่อสร้าง ร้อยละ 18.4 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 เทียบกับการปรับตัวลดลงร้อยละ 9.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 ในขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 0.8

“สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 17.9 เทียบกับอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 10.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 16.8 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมครึ่งแรกของปี 2563 การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 7.2 โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 10.2 ขณะที่การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2”

ในด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 17.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีมูลค่า 49,787 ล้านดอลลาร์ สรอ.  ตามภาวะถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 16.1 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 2.0

“กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว (ลดลงร้อยละ 0.9) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 41.0) น้ำตาล (ลดลงร้อยละ 28.4) รถยนต์นั่ง (ลดลงร้อยละ 45.2) รถกระบะและรถบรรทุก (ลดลงร้อยละ 67.7) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 45.0) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ลดลงร้อยละ 23.4) เคมีภัณฑ์ (ลดลงร้อยละ 20.4) ปิโตรเคมี (ลดลงร้อยละ 18.9) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 42.7) เป็นต้น”

ขณะที่กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ผลไม้ (ร้อยละ 47.4) ปลากระป๋องและปลาแปรรูป (ร้อยละ 17.9) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 23.4) อาหารสัตว์ (ร้อยละ 24.0) และคอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 5.8) เป็นต้น

ในแง่ของตลาด การส่งออกสินค้าไปยังตลาด สหรัฐฯ จีน กลับมาขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น อาเซียน 9 ประเทศ สหภาพยุโรป 15 ประเทศ ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง 15 ประเทศ ปรับตัวลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 21.4 และมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปของเงินบาทลดลงร้อยละ 16.8 รวมครึ่งแรกของปี 2563 การส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่า 110,654 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 8.2

การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 41,746 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 23.4 (ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6) เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออก อุปสงค์ในประเทศ และราคานำเข้าสินค้า โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 19.3 ส่วนราคานำเข้าลดลงร้อยละ 5.1 รวมครึ่งแรกของปี 2563 การนำเข้าสินค้าคิดเป็นมูลค่า 94,562 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 12.3

สำหรับด้านการท่องเที่ยว หดตัวร้อยละ 50.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 23.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงมากของรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและนักท่องเที่ยวชาวไทยซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 0.019 ล้านล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 97.1 โดยและเป็นรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยทั้งหมด ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 92.7  อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.51 ลดลงจากร้อยละ 51.50 ในไตรมาสก่อนหน้า และลดลงจากร้อยละ 70.79 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

“รวมครึ่งแรกของปี 2563 การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลงร้อยละ 36.2 โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 0.332 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงร้อยละ 66.2 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 29.01”

สุดท้ายในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2.0 เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยลดลงร้อยละ 2.7 บัญชีเดินสะพัดขาดดุล 0.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (27.0 พันล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 มีจำนวน 241.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และ หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่าทั้งสิ้น 7,433.1 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.8 ของจีดีพี

คาดทั้งปี -7.5% จากเดิมที่คาดไว้ -5.5%

ดร.ทศพร กล่าวต่อไปว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ -7.8 ถึง -7.3 เป็นการปรับลดจากการลดลงร้อยละ -6.0 ถึง -5.0 ที่ได้ประมาณการครั้งก่อน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 โดยเศรษฐกิจทั้งปีมีข้อจำกัดจาก 1) การปรับตัวลดลงมากของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2) ภาวะความถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 3) ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศ และ 4) ปัญหาภัยแล้ง

“ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 10.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 3.1 และร้อยละ 5.8 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ -1.2 ถึง -0.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.5 ของจีดีพี”

สุดท้ายประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2563 ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันการกลับมาระบาดของไวรัสในประเทศ ควบคู่ไปกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในประเด็นสำคัญๆ ประกอบด้วย

  1. การประสานนโยบายการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดย
    1. การเร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับเงื่อนไขในการฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจ
    2. การติดตามและป้องกันปัญหาในบางภาคการผลิตที่อาจส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปยังภาคการเงิน
    3. (การสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  2. การพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจและแรงงานในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการฟื้นตัว โดยเฉพาะ
    1. กลุ่มธุรกิจและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง
    2. กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังมีศักยภาพในการฟื้นตัวแต่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการภาครัฐ
    3. กลุ่มธุรกิจและแรงงานที่อยู่ในช่วงของการปิดกิจการชั่วคราว รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ว่างงานและแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่
  3. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับ
    1. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทิศทางทางการค้าและการย้ายฐานการผลิตในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งกลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการระบาดของโรคโควิด 19
    2. การใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศไทยในด้านขีดความสามารถในการควบคุมการระบาดของโรค
    3. การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศภายในกลุ่มอาเซียน
  4. การดูแลภาคการเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและการลดลงของราคาสินค้าส่งออก โดยให้ความสำคัญกับ
    1. การจัดหาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ
    2. การชดเชยเยียวยาเกษตรกร
    3. การปรับเปลี่ยนการผลิตในภาคเกษตร
    4. การสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรออนไลน์และบริการโลจิสติกส์ต้นทุนต่ำ
  5. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐภายใต้กรอบสำคัญ ๆ ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ในไตรมาสแรก และงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนมาตรการการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว
  6. การส่งเสริมไทยเที่ยวไทยและการรณรงค์ใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ
  7. การเตรียมการรองรับความเสี่ยงสำคัญ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากความยืดเยื้อของการระบาดของโรคและการกลับมาระบาดในระลอกที่สอง ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และเงื่อนไขความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกในระยะปานกลาง
  8. การรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ และเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเป็นไปอย่างช้าๆ และยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง

ธปท.ชี้หดตัวน้อยกว่าที่ประเมิน

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ทางด้าน ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2563 หดตัวสูงที่ร้อยละ 12.2 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ 9.7 จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการหดตัวสูงในเกือบทุกองค์ประกอบ ยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ และเมื่อเทียบกับประมาณการล่าสุดของ ธปท. ในเดือนมิถุนายน 2563 พบว่าหดตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ จากการบริโภคภาคเอกชนและการสะสมสินค้าคงคลังเป็นสำคัญ

แต่ในภาพรวมถือว่าไม่ผิดจากที่คาดมากนัก โดยยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยได้พ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 และจะทยอยปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้า แต่เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากและต้องการแรงสนับสนุนด้านความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะการจ้างงานและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น จึงต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์ COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศ นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้า รวมถึงมาตรการการเงินการคลังที่อาจออกมาเพิ่มเติม ทั้งนี้ ธปท. จะมีการประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจและเผยแพร่อีกครั้งในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนกันยายน 2563