เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร ออลล์ ออนไลน์ และเซเว่นอีเลฟเว่น จัดพิธีมอบโล่พระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้แก่บุคคลที่ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ครั้งที่ 17 ประจำปี 2563 โดยมีนักเขียน นักวาดการ์ตูน บรรณาธิการและสำนักพิมพ์ต่างๆ เข้าร่วมงาน
ภายในงานยังมีปาฐกถาเรื่อง “การอ่าน” จากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ในฐานะองคมนตรี และกรรมการกิตติมศักดิ์โครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด โดยถอดความปาฐกถาได้ดังนี้
“ผมอยากจะขอเล่าย้อนไป 80 ปีก่อนปีนี้ เพราะว่าถ้าเราเอาคริสต์ศักราชมาเขียนจะเป็นปี 1940 ช่วงปี 1941 ถึง 1945 เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง โลกใบนี้ก็แบ่งเป็นสองค่าย ค่ายอักษะกับค่ายสัมพันธมิตร ของเราไปอยู่ในค่ายอักษะ เพราะญี่ปุ่นบอกให้เราไปอยู่ค่ายนี้ แล้วเราก็แพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ตอนที่แบ่งค่ายก็เป็นศัตรูกัน 4-5 ปีที่รบรากันก็ลงมือโดยใช้นิวเคลียร์บอมบ์ลงไปสองเมือง ฆ่าคนไปไม่รู้เท่าไรที่ญี่ปุ่น แล้วก็ยุติสงคราม”
หลังยุติสงครามแล้ว โลกก็ยังไม่สมัครสมานสามัคคี จากสงครามร้อนกลายเป็นสงครามเย็น สงครามร้อนใช้เวลา 4-5 ปี สงครามเย็นใช้เวลา 45 ปี คือตั้งแต่ปี 1945 ถึง 1990
และที่บอกว่าสงครามเย็นจบลงแล้วคือ หนึ่ง สหภาพโซเวียตล่มสลายกลายเป็นประเทศรัสเซีย และมีประเทศสาธารณรัฐอีก 14–15 แห่ง อันที่สองคือกำแพงเบอร์ลิน ซึ่งแบ่งเบอร์ลินเป็นตะวันออกและตะวันตก ทำให้เยอรมันตะวันออกตะวันตกรวมกันได้เป็นหนึ่งเดียวกัน
แต่ตอนสงครามเย็น ก็แบ่งเป็นสองขั้ว ประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ ตอนนี้ประเทศไทยไปอยู่ที่ประชาธิปไตย เป็นหนึ่งในวงล้อมที่ตะวันตกพยายามล้อมจีนกับรัสเซีย รวมถึงทั้งเวียดนาม ลาว เขมรด้วย เราก็อยู่ในวงล้อม แต่โลกนี้ก็ยังไม่สมัครสมานสามัคคี ค่ายประชาธิปไตยมีอะไรก็แบ่งปันกัน ค่ายคอมมิวนิสต์มีอะไรก็แบ่งปันกัน แต่จะไม่ข้ามค่าย เพราะฉะนั้นความเจริญเป็นได้แค่ครึ่งโลก ไม่ใช่ทั้งโลก
มีสามประเทศที่แบ่งเหนือแบ่งใต้ตะวันออกตะวันตก ‘เยอรมัน’ โชคดีเพราะเยอรมันตะวันตกค่อนข้างจะเข้มแข็งในหลายๆ ด้าน เยอรมันตะวันออกก็ไม่ขี้เหร่ เมื่อล้มกำแพงเบอร์ลินได้ เขาก็หาทางทำอย่างไรให้เป็นเยอรมันเดียวกัน จนเขาทำสำเร็จ
อีกประเทศที่รวมเหนือรวมใต้ก็ ‘เวียดนาม’ เดิมก็แบ่งเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ เวียดนามเหนือก็แบ่งคอมมิวนิสต์ เวียดนามใต้ก็แบ่งประชาธิปไตย แต่เมื่อปี 1978 ก็รวมเป็นหนึ่ง ขณะนี้เวียดนามภายใต้ความเป็นเอกภาพ เขาก็สามารถพัฒนาบ้านเมืองได้โดดเด่นไม่น้อยหน้าใครในอาเซียน
อีกประเทศที่ยังรวมไม่ได้คือ ‘เกาหลี’ เกาหลีเหนือและใต้ และความที่รวมไม่ได้เลยเกิดเป็นภาวะศัตรูกัน หรือสภาวะคู่สงคราม ประชาชนทั้งสองฝ่ายก็ลำบาก
ที่ผมพยายามยก 3 ประเทศขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพราะประเทศใดที่แบ่งพี่แบ่งน้องกันจะหาความเจริญหรือความสงบสุขได้ยาก ประเทหนึ่งเคยถูกการเมืองระหว่างโลกแบ่งเป็นสองฝ่าย แต่สุดท้ายรวมกันมาช่วยเหลือกัน มันสามารถเปลี่ยนจากความทุกข์ยากมาเป็นความเจริญรุ่งเรืองได้
จากสงครามโลกถึงยุคโลกาภิวัตน์รุ่งเรือง
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง 5 ปี สงครามเย็นอีก 45 ปี หลังจากนั้นในปี 1990–2020 สามสิบปีนี้ เป็นยุคที่โลกใบนี้เจอโอกาสที่ดีที่สุด เป็นยุคที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ หรือ “globalization”
นักวิชาการตะวันตกบอกว่า ยุค 30 ปี เป็นยุคของการขับเคลื่อนคน ความรู้ สินค้า บริการ ไปได้ทั่วโลก ไม่ใช่ไปเฉพาะครึ่งโลก แต่มันไปได้ทั้งโลก ความเคลื่อนไหวนี้ไปสร้างความเข้าใจทางเศรษฐกิจและสังคม และความเข้าใจระหว่างประเทศอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เขาใช้คำว่า positive productivity shock ในช่วง 30 ปีนี้ เป็นช่วงที่โลกใบนี้เจริญรุ่งเรือง เจอความร่วมไม้ร่วมมือ
แต่ในช่วงสงครามเย็น เหลือเป็น bi-nationalism กับ anti-nationalism
ถ้าเราจะขอประเทศคู่ค้าปรับภาษี สองประเทศต้องมาหารือกันแล้วเกิดมาตกลงกัน เราก็มี WTO คอยกำหนดเงื่อนไขกลาง มาตรฐานกลางให้ประเทศต่างๆ เพราะฉะนั้นการค้าของโลกก็เลยรุ่งเรืองขึ้นมา ทุกคนก็ได้ประโยชน์ หรือถ้าเป็นประเด็นมากกว่าสองประเทศ เราก็ให้ผู้เกี่ยวข้องมาหารือกัน เขาเรียกว่า political nationalism โดยวิธีนี้คือความปรองดอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกันก็จะเกิดขึ้นได้
ช่วง 30 ปีของโลกาภิวัตน์ ยังมีอีกปัจจัยที่ทำให้ความก้าวหน้าทางวิชาการ รวมทั้งความเจริญเติบโตของโลกใบนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ก็คือความก้าวหน้าทางวิชาความรู้ โดยเฉพาะเรื่อง digital technology ด้าน computer-science, automation, AI แต่ภายใต้ความท้าทายและเครื่องมือที่ได้จากเทคโนโลยี มันต้องการความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจคอยกีดกัน ถ้าร่วมมือกันมันจะไปได้เร็ว ทุกคนได้กำไร และทุกคนก็ชนะหมด
ปลายๆ ยุคโลกาภิวัตน์ ปรากฏมีประธานาธิบดีของประเทศใหญ่ที่สุดได้รับเลือกมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เขาทำให้ bi-nationalism กับ anti-nationalism หยุดชะงัก เพราะเขาบอกว่าเขาจะขึ้นภาษีประเทศไหน เขาเป็นคนสั่งอย่างเดียว ไม่หารือ คือเขานำเอา uni-nationalism ในสมัยลิทธิล่าอาณานิคมกลับมาใช้อีก ระบบระเบียบโลกใหม่ที่ทำมาอย่างดีใน 30 ปี มันก็ชักจะรวนเร
โควิด-19 ชะงักโลก
ดาบสุดท้ายที่ลงมาเมื่อต้นปีนี้ คือโควิด-19 โผล่ขึ้นมา แล้วกระจายไปทั่วเลย จากจีน ไปไทย เผอิญมีอาซ้อคนหนึ่งจากนครปฐมไปเที่ยวอู่ฮั่นกลับมาเลยเป็นประเทศที่สองในโลกที่ได้บันทึกในประวัติศาสตร์ แต่ตอนนี้แกสบายแล้ว หายแล้ว เดินไปเดินมาอยู่ที่องค์พระปฐมเจดีย์
ขณะนี้ 188 ประเทศมีคนไข้ติดเชื้อ แต่ที่สำคัญที่สุดใน 6 ถึง 7 เดือนที่ผ่านมา จากภาวะลื่นไหลในโลกาภิวัตน์ 30 ปี มนุษย์ในโลกเกิดภาวะชะงักงัน หยุดกึก ภาษาไทยคำว่า “หยุดกึก” มันเห็นภาพ หยุดกับที ก้าวไปอีกสักก้าวก็ไม่ได้ จะไปทำงานก็ไม่ได้ จะไปโรงเรียนก็ไม่ได้ จะจัดมวยก็ไม่ได้ ทุกอย่างมันหยุดกึกหมด
มีคนถามเลขาธิการ WHO ว่าเมื่อไรการระบาดจะเลิกสักที เราจะได้กลับไปสู่ภาวะปกติ ท่านก็บอกสัก 2 ปี ถ้าเชื่อตาม WHO การระบาดเที่ยวนี้จะกินเวลา 3 ปี คือปีนี้ 2020 ปีหน้า 2021 อีกปี 2022 กว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับมาเหมือนก่อนโควิด
เรา enjoy โลกาภิวัตน์มาเกือบ 30 ปี จนกระทั่งประธานาธิบดีของอเมริกาโผล่ขึ้นมา ทำให้เกิดความวุ่นวาย แต่ก็ยังไม่ชะงักงันเหมือนโควิด-19
ขณะนี้คนทั้งโลกก็พยายามปรับตัวใหม่ ที่เราเรียกว่า new normal ชีวิตวิถีใหม่
กระบวนการที่ทำให้การสื่อสารต่างๆ ชะงักงันเรียกว่า deglobalization คือกระบวนการที่จะยุติกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งจะพัฒนายังไงต่อไป มีแต่ความไม่แน่นอน แต่เรายังคาดการณ์ได้ไม่มากนัก แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องพยายามติดตาม และนำเสนอสิ่งที่ถูกต้องและส่วนรวม ไม่ใช่ประโยชน์ต่อชาติใดชาติหนึ่ง
“deglobalization ทำให้แต่ละประเทศคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ประเทศฉันต้องมาก่อน แม้แต่วัคซีนก็เป็นวัคซีน war ไม่ใช่แค่ trade war หรือ cyber war ทุกอย่างมันกลายเป็น war ได้หมด แม้แต่วัคซีนโควิด-19 กลายเป็นเครื่องมือของประเทศและบริษัทใหญ่ๆ ที่จะเล่นการเมืองระหว่างประเทศ และจะหากำไร โดยไม่คิดถึงคนยากคนไร้อีกต่อไป นี่เป็นอะไรที่น่ากลัวและน่าเป็นห่วงมาก”
นักวิชาการตะวันตกบอกว่าช่วง 30 ปีก่อน เรามี positive productivity shock 2 อย่าง คือ globalization กับ technology
ปีนี้ปี 2020 เราไปเจอ negative productivity shock 2 อย่าง คือ 1. โควิด-19 และ 2. uncertainty คือ ความไม่แน่นอน บอกไม่ได้ว่า ศบค. เมื่อไรจะหยุด บอกไม่ได้ว่าประกาศฉุกเฉินเดือนไหนจะหยุดสักที มีตั้งแต่เรื่องการค้าขาย สังคม การจัดการเรียนการสอน การใช้ชีวิตว่าจะไปอย่างไรต่อ
ถาม “นักประพันธ์-นักเขียน” จะช่วยโลกนี้อย่างไร
กลับมาที่หนังสือและภาษา ประเทศเราโชคดีมาก มีภาษาของตัวเอง และเป็นมรดกที่บรรพบุรุษคิดมาให้พวกเรา ผมคิดว่าหนังสือสามารถจะทำได้หลายๆ บทบาท ผมกำลังเชิญชวนนักประพันธ์ว่าท่ามกลางความไม่แน่นอนจากโควิด-19 ท่ามกลางความแตกแยก มันทำให้เราวางแผนข้างหน้าได้ยากพอสมควร
ความไม่แน่นอนพร้อมกับความลำบากที่ถูกล็อกดาวน์ เขาประมาณว่ามีสองพันกว่าล้านคน นักจิตวิทยาตะวันตกพยายามศึกษาว่าถูกล็อกดาวน์แล้วจะเป็นโรคจิตไหม ไปไหนก็ไม่ได้ ตอนนี้เจออย่างน้อย 1 ใน 3 มีอาการโรคจิตอ่อนๆ แต่ 2 ใน 3 ยังเก่งอยู่ แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นกับการปรับตัว อยากให้พวกเราติดตามความไม่แน่ เพื่อหาทางออกที่สมดุล และไม่สร้างความทุกข์ยากไปมากกว่านี้
deglobalization กับโควิด-19 เป็นปัจจัยสองอัน ทำให้ผลิตผลติดลบเกือบทั้งหมด แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
อีกอย่างคือมันไปสร้างความแตกแยกในชาติได้ง่ายขึ้น อเมริกาเดินขบวนไม่รู้กี่ประเด็น ทุกคนมันอยากจะหาเรื่อง โดนออกจากงาน เงินเดือนไม่มี กินไม่พอ ลูกก็ออกจากโรงเรียน แล้วชวนกันไปเดินขบวน ทุกคนก็ไป หมายความว่าความเดือดร้อนจากภาวะต่างๆ ที่บีบคั้นจากโควิดไปเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ทำให้คนชวนท้าตี ชวนท้าต่อยมากขึ้น เดินขบวนทั้งนั้น อเมริกา อังกฤษ ของเราก็มี พอหอมปากหอมคอให้ตำรวจได้ทำงานบ้าง
แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า 80 ปีที่ผ่านมา ช่วง 50 ปีแรกสงคราม เราแบ่งค่าย หลายประเทศแบ่งฝ่าย ไม่ดีเลย เกิดความทุกข์ เราไม่มีโอกาสเท่าเทียมกัน แต่เมื่อ 30 ปีต่อมา คือโลกาภิวัตน์ ทำให้ทุกอย่างลื่นไหลไปหมด ทุกอย่างกำลังพัฒนาไปดี แล้วอยู่ๆ มีการเมืองแบบมหาอำนาจสั่งคนอื่นฝ่ายเดียว ตามด้วยโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะ negative productivity shock แล้วมันมีผลต่อระดับปัจเจกบุคคล ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับประเทศ
“คำถามที่ผมมีคือนักประพันธ์ นักเขียน นักคิด citizen หรือ netizen ทั้งหลาย เราจะมีส่วนช่วยโลกนี้อย่างไร ไม่ให้มันแตกไปมากกว่านี้ นำเอาความจริง ข้อเท็จจริง ปัญญา วิทยาศาสตร์ ความเป็นกลาง ความไม่ลำเอียง ความที่เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนหรือพวกของตน เอามาชูอย่างไร”
ถ้าใครเล่นไลน์จะเห็นว่าทั้งตะวันออก ตะวันตก พยายามจะเสนอตัวอย่างง่ายๆ ที่สอนจริยธรรม โดยหวังว่าสอนง่ายๆ สักหนึ่งถึงนาทีครี่งจะทำให้คนได้สำนึก และตระหนักว่าความแตกแยก ทำให้ไม่มีเกิดประโยชน์อะไร ความมีน้ำใจ ความสามัคคีซึ่งกันและกันจะทำให้มีประโยชน์มากกว่า
ในฐานะนักประพันธ์ นักเขียน นักคิด ผมคิดว่าท่านมีบทบาทสูงมากที่จะยกโลกนี้ให้พ้นจากที่จะดิ่งลงเหว ดิ่งลงเหวจากความไม่แน่นอนของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดจาก deglobalization กับโควิด-19 ก็เป็นความหวังของผม เราอ่านเพื่อตระหนักรู้ หรือเพื่อความรู้ แต่อีกด้านคือเราอ่านเพื่อจะตระหนักรู้ว่าอะไร ถูก–ผิด ดี–เลว อะไรจะอยู่บนโลกนี้ เพื่อเดินไปข้างหน้าด้วยความสวยงาม หรือ อะไรจะทำให้โลกนี้ มันลงเหว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับนักประพันธ์ นักเขียน นักคิด