ThaiPublica > เกาะกระแส > “ศุภชัย พานิชภักดิ์” ชวนทบทวนโลกาภิวัตน์ใหม่ภายใต้ New Normal เมื่อโลกเชื่อมโยงกันมากกว่าการค้า

“ศุภชัย พานิชภักดิ์” ชวนทบทวนโลกาภิวัตน์ใหม่ภายใต้ New Normal เมื่อโลกเชื่อมโยงกันมากกว่าการค้า

30 กรกฎาคม 2017


ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO)

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD จัดเสวนาเวทีการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนาประจำปี 2560 โดย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “กระบวนทัศน์ใหม่ทางการค้าและการพัฒนาในยุคที่เกิดการก่อตัวขึ้นของการปกป้องและประชานิยม (A New Paradigm in Trade and Development in the Age of Rising Protectionism and Populism)”

ดร.ศุภชัยเริ่มต้นกล่าวว่า วันนี้ตนจะกล่าวถึงบางประเด็นที่ได้มีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในช่วงที่ผ่านมา กล่าวคือ การผงาดขึ้นมารวมทั้งอาจจะเป็นการล่มสลายของระบบการเจรจาการค้าพหุภาคี (Multilateral Trading system) อันเป็นแนวคิดหลักที่มีอิทธิพลมาหลายทศวรรษ โดยเฉพาะช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ผ่านมา

“อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษใหม่การเจรจาการค้าพหุภาคีและโลกาภิวัตน์กลับกำลังถูกทบทวนและทดสอบอีกครั้งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการหาทางปรับเป้าหมายใหม่ เพื่อให้สามารถผ่านสิ่งที่เรียกว่า New Normal ซึ่งผมมองว่าไม่ได้ใหม่และไม่ได้ปกติ ไม่ใหม่เพราะว่าสถานการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างเช่น การก่อตั้ง GATT และต่อมาเป็น WTO เพื่อแก้ไขปัญหาที่ก่อนหน้านั้น แต่ละประเทศกำหนดกฎเกณฑ์ของตนเอง ซึ่งได้ทิ้งบางประเทศไว้ข้างหลังไม่มากก็น้อย เราได้เปลี่ยนสิ่งนั้น เหมือนที่พูดไปก่อนหน้าคือการผงาดขึ้นมาของการค้าโลกหลังปี 2534 หลังจากก่อตั้ง WTO ซึ่งเติบโตต่อเนื่องจนกระทั่งช่วงปี 2550 เมื่อเราต้องเผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลงที่เรายังไม่เคยเผชิญมาก่อนและต้องการโครงสร้างใหม่ๆ มารองรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าที่มีส่วนร่วม ระบบการค้าที่ยั่งยืน อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ดร.ศุภชัยกล่าว

เมื่อ “การค้าเสรี” ถูกท้าทายจาก “เทคโนโลยีเสรี”

ดร.ศุภชัยกล่าวต่อไปว่า เมื่อหลายปีก่อนปัญหาได้เริ่มต้นก่อตัวชัดเจนขึ้น เหมือนที่ศาสตราจารย์ Paul Samuelson เขียนบทความหลายปีก่อนที่จะเสียชีวิตถึงประเด็นผลกระทบจากการค้าเสรีที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมไปถึงการสร้างงาน ซึ่งแตกต่างกับประเด็นศึกษาหลักในสาขาการค้าระหว่างประเทศที่ส่วนใหญ่จะพูดถึงการแลกเปลี่ยนสินค้าบริการ การกำหนดภาษี ฯลฯ และแตกต่างไปจากนักเศรษฐศาสตร์อเมริกาส่วนใหญ่ที่เชื่อมั่นในระบบการค้าเสรีและมีส่วนร่วมการขับเคลื่อนวาระดังกล่าว

สิ่งที่ Samuelson เน้นถึงความแตกต่างในปัจจุบันกับอดีตคือการเกิดขึ้นของการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเสรี ขณะที่ทฤษฎีการค้าเดิมแต่ละประเทศจะแข่งขันกันและแบ่งกันผลิตสินค้าด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ไม่ว่าจะผ่านการมีเทคโนโลยีที่ดีกว่า สินค้าที่มีคุณภาพดีกว่า ระบบการขนส่งที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีสามารถถ่ายทอดได้อย่างเสรี ประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำจากแรงงานราคาถูกอย่างประเทศในเอเชียสามารถยกระดับการผลิตและคุณภาพสินค้าที่ดีขึ้นอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน และทำให้ประเทศที่มีความได้เปรียบจากการมีเทคโนโลยีอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไป ยิ่งผลิตภาพการผลิตรวมถึงการลงทุนในสินค้าทุนของเอเชียเพิ่มสูงขึ้นเท่าไหร่ สหรัฐอเมริกายิ่งสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปมากขึ้น และในที่สุดอาจจะสูญเสียตลอดไป

“สิ่งนี้สร้างพายุใหญ่ขึ้นมาในระบบ เพราะภายใต้สถานการณ์ใหม่นี้ การไหลอย่างเสรีของเทคโนโลยี  เราอาจจะต้องคิดใหม่เกี่ยวกับการค้า สิ่งเหล่านี้ยังสอดคล้องกับไปการสำรวจประชาชนในอเมริกาว่ายังสนับสนุนการค้าเสรีอีกหรือไม่ และคุณสามารถเห็นได้ว่าผู้สนับสนุนการค้าเสรีลดลงๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปทุกๆ ปี รวมไปถึงในยุโรปด้วย ขณะที่อีกด้านของโลกกลับมีทิศทางสวนทางกัน โดยเฉพาะประเทศในเอเชียกลับเปิดประเทศมากขึ้น” ดร.ศุภชัยกล่าว

โลกต้องการระเบียบใหม่ สร้างสมดุลเศรษฐกิจ

ดร.ศุภชัยกล่าวว่า การจะปรับตัวและกระโดดออกจาก New Normal เราต้องการโมเดลใหม่ๆ ที่หันมารักษาสมดุลมากขึ้น ไม่ใช่โมเดลเก่าที่เน้นนโยบายเน้นการส่งออกอย่างเดียว ซึ่งสอดคล้องกับที่หลายฝ่ายเห็นด้วยว่าประเทศในเอเชียจะต้องหันมาพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศให้มากขึ้นเมื่อเทียบกับการค้าภายนอก แต่ปัญหาคือประเทศในเอเชียยังออมมากเกินไป รวมไปถึงปล่อยเงินทุนราคาถูกดังกล่าวไปยังสหรัฐอเมริกาและทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาใช้จ่ายมากเกินไปจนนำไปสู่การล่มสลาย

“สิ่งที่เกิดขึ้นในศตวรรษใหม่ได้พลิกทฤษฎีไปอีกด้าน ประเทศในเอเชียควรออมลดลง ลงทุนลดลง และบริโภคมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยเราบรรลุเป้าหมายการปรับตัวใหม่ที่ต้องการได้ ที่ผ่านมาคนที่บริโภคในสหรัฐฯ​ไม่ได้ออมแต่ใช้เงินกู้ยืมเพื่อบริโภค ขณะที่เอเชียกลับออมมากเกินไป ลงทุนมากเกิดไปจนเกิดกำลังการผลิตส่วนเกิน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศจีน ซึ่งตอนนี้กลับมาเน้นที่การหาทางลดกำลังการผลิตแทน และหาทางกลับมาเป็นระเบียบเรียบร้อยอีกครั้ง”

ดร.ศุภชัยกล่าวว่า ในขณะนี้สถานการณ์ไร้ระเบียบหรือทิศทางนโยบายที่สวนทางกันอาจจะยังไม่สามารถคลี่คลายได้ เพราะว่าการบริหารจัดการของโลก (Global Governance) ยังไม่มีผู้นำที่ชัดเจน แม้ว่าโลกจะมี G7 หรือ G20 แต่ก็ไม่ได้สร้างกฎระเบียบที่แท้จริง ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของโลก

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของสหรัฐอเมริกาและจีนก็ดูสวนทางจากที่เคยเป็นมาก่อนและมีพัฒนาที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น ในการประชุม World Economic Forum ที่ดาวอสเมื่อเดือนมกราคม 2560 นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากโลกาภิวัตน์ และยิ่งไปกว่านั้นเรายังต้องการโลกาภิวัตน์ที่มากกว่านี้ และจีนจะทำงานร่วมกับโลกและประเทศต่างๆ เพื่อสร้างโลกขึ้นมาใหม่ เรากำลังจะสร้างเส้นทางสายไหมขึ้นมาใหม่ เรียกว่า Belt and Road Initiative ขณะที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากโลกาภิวัตน์และการเจรจาการค้าเสรี และต้องการหนีออกจากสิ่งเหล่านี้

เอเชียผงาดจัดระเบียบโลก “โลกาภิวัตน์” รูปแบบใหม่มากกว่า “การค้า”

นอกจากจะจัดระเบียบใหม่แล้ว โลกยังต้องหาคำตอบว่าจะจัดการกับโลกาภิวัตน์อย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน โลกาภิวัตน์ควรเปลี่ยนแปลงใหม่หรือทิ้งไว้แบบนี้ ควรเดินต่อไปข้างหน้า ถอยหลัง หรือควรรื้อถอนโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ในประเด็นนี้ ดร.ศุภชัยมองว่าจีนจะขึ้นมาเป็นผู้กำหนดทิศทางของระบบการค้าโลกและโลกาภิวัตน์มากขึ้น เพราะว่ารูปแบบของห่วงโซ่การผลิตที่กระจายออกไปในภูมิภาคเอเชียกว่า 60-70% ของห่วงโซ่ทั้งหมด โดยมีจีนเป็นผู้เล่นหลักในห่วงโซ่ดังกล่าว ทำให้เอเชียและจีนเป็นผู้กำหนดทิศทางพัฒนาการของโลก

การเปลี่ยนขั้วอำนาจที่เกิดขึ้นจากตะวันตกมายังตะวันออกและรูปแบบของห่วงโซ่การผลิตโลกจะกลายเป็น “โลกาภิวัตน์” รูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนกับช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาและไม่ใช่การถอนตัวออกจากโลกาภิวัตน์ที่เรากำลังกลัว แต่โลกกำลังเข้าสู่โลกาภิวัตน์รูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยปัจจัยภายนอกที่ไม่ได้ควบคุมโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศ การสื่อสารระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยเชื่อมโยงโลกเข้าไว้ด้วยกันมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

“สิ่งที่แตกต่างคือสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงหรือสร้างมันได้เพียงคนเดียว ด้วยรูปแบบใหม่นี้ อำนาจต่อรองที่เท่าเทียมกันมากขึ้น เรายิ่งมีความหวังว่าหน่วยงานระหว่างประเทศอย่างอังค์ถัด จะช่วยสร้างข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ใหม่ ที่มีความเท่าเทียมและมีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ใช่โลกาภิวัตน์ที่ถูกกำหนดโดยประเทศร่ำรวย ประเทศที่มีทุนจำนวนมากในตะวันตกอย่างที่ผ่านมา” ดร.ศุภชัยกล่าว