ThaiPublica > คอลัมน์ > มองฮ่องกงแล้วย้อนมองไทย ส่องความพยายามแบบเผด็จการ

มองฮ่องกงแล้วย้อนมองไทย ส่องความพยายามแบบเผด็จการ

19 สิงหาคม 2020


ดอม ขุนพินิจ

ทำไมต้อง ‘สังคมฉุกคิด’ กับเหตุการณ์ต่างประเทศ?

สังคมมนุษย์มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่รวมถึงต่างประเทศด้วย และในฐานะที่เราล้วนอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ย่อมเป็นไปได้ที่ทิศทางและความเป็นไปของสังคมมนุษย์ในโลกจะส่งผลกระทบต่อสถานะและคุณภาพชีวิตของเราได้ในทางใดทางหนึ่ง

นอกจากความเป็นไปในประเทศไทยของเราแล้ว คอลัมน์ ‘สังคมฉุกคิด’ จึงอยากชวนให้สังคมไทยพิจารณาปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ และมาร่วมกันวิเคราะห์ว่าปรากฏการณ์เหล่านั้นสะท้อนแง่มุมใดเกี่ยวกับสังคมมนุษย์ได้บ้าง ไม่เพียงแต่เพื่อทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์เหล่านั้น แต่เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบหรือเหตุการณ์คล้ายคลึงกันที่อาจเกิดขึ้นกับเราในอนาคตด้วย

ตัวอย่างปรากฏการณ์หนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญต่อทิศทางของสังคมมนุษย์และควรค่าแก่การศึกษา ได้แก่ สิ่งที่เกิดขึ้นกับฮ่องกงในช่วงที่ผ่านมานี้ นั่นก็คือการออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ (national security law) ในฮ่องกงโดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้ว่าอาจจะฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยอย่างเราๆ แต่ก็เป็นเรื่องที่มีนัยเชิงอำนาจซึ่งมีความสำคัญระดับโลก จึงย่อมเป็นการดีหากเราจะทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์นี้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เพื่อหันมาย้อนมองสังคมไทยในปัจจุบันตลอดจนแนวโน้มในอนาคต

เกิดอะไรขึ้นกับฮ่องกง

หลายคนคงทราบอยู่แล้วว่า ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2019 ได้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกงที่กินเวลายาวนานหลายเดือน ชาวฮ่องกงจำนวนกว่าล้านคนออกมาประท้วงเพื่อต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศจีน จนทำให้ทางการฮ่องกงตัดสินใจชะลอการออกกฎหมายดังกล่าว แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้การประท้วงสงบลง เนื่องจากผู้ประท้วงต้องการให้จีนลดการแทรกแซงในฮ่องกง และมุ่งเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมโดยตำรวจในการประท้วงที่ผ่านมา1

ประท้วงโบกธงที่มีสโลแกนเรียกร้องการปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกงเมื่อปี 2019 ข้อความนี้ผิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ ที่มาภาพ: Ng Han Guan/ Associate Press ที่มา: CBS17

นอกจากนี้ ชาวฮ่องกงยังได้แสดงจุดยืนดังกล่าวในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผู้ลงสมัครฝ่ายประชาธิปไตยชนะอย่างถล่มทลายในเดือนพฤศจิกายน 2019 การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ใช้สิทธิ์กว่า 70% ซึ่งเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ฮ่องกง โดยผู้ลงสมัครจากพรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งไปกว่า 90%2 เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งเดียวในฮ่องกงที่เลือกโดยประชาชนผ่านระบบหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงอย่างแท้จริง

ผลของการเลือกตั้งครั้งนี้จึงถูกมองว่าเป็นเสมือนการลงประชามติที่สะท้อนจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตยหลังจากการประท้วงอันยืดเยื้อ ซึ่งเริ่มซาลงเมื่อเกิดวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ก่อนที่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะทิ้งระเบิดลูกใหญ่ที่ทำให้คนทั้งฮ่องกงต้องช็อกเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นั่นก็คือการออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ที่เมื่อบังคับใช้แล้วจะทำให้ทุกการแสดงออกที่มีทิศทางต่อต้านรัฐบาลจีนและสนับสนุนอำนาจอนาธิปไตยของฮ่องกงที่เป็นอิสระจากจีนเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่มีโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต3

การออกกฎหมายครั้งนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมฮ่องกงที่มีอิสรภาพในการบริหารตนเองและมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมาเป็นเวลากว่า 20 ปีภายใต้ระบอบ 1 ประเทศ 2 ระบบ (one country, two systems) หลังจากได้รับอิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมภายใต้อังกฤษอยู่นานถึง 156 ปี และกลับคืนสู่อำนาจของจีนในปี 1997 เหตุผลของการใช้ระบอบดังกล่าวคือเป็นความพยายามที่จะรวมประเทศอย่างสันติกับจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งยังคงยึดมั่นในระบอบสังคมนิยมที่รัฐบาลมีอำนาจควบคุมเศรษฐกิจ ในขณะที่ฮ่องกงได้รับอนุญาตให้คงระบบทุนนิยมไว้ต่อไป โดยมีกำหนดการกลับเข้าสู่การปกครองของสาธารณประชาชนจีนอย่างเต็มรูปแบบในอีก 50 ปีหลังจากนั้น (ในปี 2047) ทั้งนี้ก็เพื่อคงไว้ซึ่งสถานะของฮ่องกงในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการธนาคารของโลก ด้วยกฎหมายที่มีลักษณะเสรีนิยมแบบอังกฤษเพื่อให้มีความโปร่งใสที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติโดยที่ยังคงอยู่ภายใต้อธิปไตยของจีน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจและประชาชนชาวฮ่องกงจะได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพภายใต้ธรรมนูญการปกครอง (basic law) ซึ่งเป็นเสมือนรัฐธรรมนูญขนาดย่อมที่แยกจากของจีนแผ่นดินใหญ่ในฐานะเขตบริหารพิเศษ (special administrative region) แต่ก็ยังอยู่ภายใต้อำนาจการพิจารณาของรัฐบาลกลางสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งคณะผู้บริหารของฮ่องกงด้วย (ดูเรื่อง 1 ประเทศ 2 ระบบเพิ่มเติมได้ที่นี่)4

แล้วเพราะเหตุใด การออกกฎหมายความมั่นคงครั้งนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก? ถ้าจะตอบคำถามนี้ เราก็ต้องทราบเสียก่อนว่ากฎหมายความมั่นคงแห่งชาตินี้คืออะไร และได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในฮ่องกงอย่างไรบ้าง

กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกง: ‘ความมั่นคง’ ของใคร

กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่เริ่มบังคับใช้ในฮ่องกงเมื่อคืนวันที่ 30 มิถุนายน 2020 ที่ผ่านมานี้ มีเนื้อหาสำคัญเป็นข้อห้ามสี่ประการเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ได้แก่

    1) การบ่อนทำลายการปกครอง (subversion)
    2) การแบ่งแยกดินแดน (secession)
    3) การก่อการร้าย (terrorism)
    4) การคบคิดกับต่างชาติเพื่อบ่อนทำลายความมั่นคง (collusion with foreign forces)

ปัญหาสำคัญที่ทำให้กฎหมายนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างคือความคลุมเครือของกฎหมายที่ไม่ได้บัญญัติรายละเอียดของความผิดไว้อย่างชัดเจน ทำให้เป็นกฎหมายที่มีลักษณะ ‘ครอบจักรวาล’ โดยขึ้นอยู่กับการตีความของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย หมายความว่าการกระทำใดๆ ที่ไม่เป็นที่พึงประสงค์ในสายตาของรัฐบาลกลางจีน รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ก็อาจเข้าข่ายความผิดข้อใดข้อนึงในทั้งสี่ประการข้างต้นได้ทั้งสิ้น โดยมีโทษตั้งแต่บำเพ็ญประโยชน์ไปจนถึงจำคุกตลอดชีวิต และนอกจากความครอบจักรวาลในแง่ของเนื้อหาและระดับความรุนแรงของโทษแล้ว กฎหมายนี้ยังครอบคลุมถึงบุคคลและธุรกิจต่างชาติทั้งในและนอกฮ่องกงอีกด้วย

อีกข้อกังวลสำคัญเกี่ยวกับความโปร่งใสและความยุติธรรมของการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ก็คือรัฐบาลกลางจีนมีสิทธิ์ที่จะเป็นผู้กุมอำนาจสั่งการในการดำเนินคดี ตัดสินโทษ และลงโทษกับผู้ที่มีความผิดในกฎหมายนี้ โดยจะสามารถนำผู้ที่มีความผิดร้ายแรงไปไต่สวนและลงโทษในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่องระบบยุติธรรมที่โปร่งใส

นอกจากนี้ยังจะควบคุมการบังคับใช้กฎหมายนี้ผ่านสำนักงานรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (Office for Safeguarding National Security) ซึ่งรัฐบาลจีนเพิ่งตั้งขึ้นในฮ่องกงเพื่อคอยติดตามการทำงานของหน่วยงานรัฐบาลฮ่องกงที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมายใหม่ อันประกอบด้วย คณะกรรมการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (Committee for Safeguarding National Security) จะเป็นผู้จัดการระบบทางกฎหมายและกลไกการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ โดยที่องค์กรหรือสถาบันอื่นใดจะไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการนี้ได้

รวมทั้งยังมีการตั้งหน่วยตำรวจที่จะทำงานในคดีความมั่นคงแห่งชาติโดยเฉพาะ ซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมายใหม่ให้มีอำนาจที่จะขอยึดเอกสารการเดินทางจากผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง ตลอดจนดักฟังโทรศัพท์ และบุกค้นที่อยู่อาศัยโดยไม่ต้องใช้หมายศาล

สำนักงานรักษาความมั่นคงแห่งชาติยังจะร่วมมือกับทางการท้องถิ่นของฮ่องกงในการควบคุมดูแลบริษัทต่างชาติ เอ็นจีโอ องค์กรระหว่างประเทศ และสื่อต่างประเทศในฮ่องกง โดยที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานนี้จะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายของฮ่องกงระหว่างปฏิบัติหน้าที่ (ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกงได้ที่นี่)5

จากที่เล่ามานี้ จะเห็นได้ว่านิยามของ ‘ความมั่นคง’ ในกฎหมายนี้ไม่ได้มีการยึดโยงกับสวัสดิภาพของประชาชนชาวฮ่องกงแต่อย่างใด แต่กลับมุ่งเน้นอำนาจอธิปไตยของจีนเหนือฮ่องกงภายใต้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ข้อสรุปนี้สอดคล้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ที่เห็นได้ชัดเจนว่าบั่นทอนสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกงที่คุ้นชินกับการมีเสรีภาพในการแสดงออกมาอย่างยาวนาน

เมื่อเสรีภาพหดหาย: ฮ่องกงที่เปลี่ยนไปหลังบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง

หลังจากการเริ่มบังคับใช้กฎหมายในเวลา 23.00 น. ของคืนวันที่ 30 มิถุนายน เช้าวันถัดมาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2020 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 23 ปีที่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีนและมักมีการชุมนุมเพื่อระลึกถึงเป็นประจำทุกปี มีชาวฮ่องกงจำนวนหลายพันคนออกมาประท้วงกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ก่อนจะถูกตำรวจใช้กำลังเข้าปราบปราม โดยมีผู้ประท้วงถูกจับราว 360 คน และอีก 10 คนถูกจับฐานมีความผิดในข้อหาภายใต้กฎหมายใหม่ดังกล่าว6

การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงยังส่งผลให้กลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงตัดสินใจสลายตัว รวมทั้งกลุ่ม Demosisto ของโจชัว หว่อง (Joshua Wong) นักเคลื่อนไหวชื่อดังวัย 23 ปี7 ในทำนองเดียวกัน บรรดาร้านค้า ร้านอาหาร และธุรกิจต่างๆ ในฮ่องกงที่เคยแสดงตัวว่าสนับสนุนประชาธิปไตย (yellow shops) ได้ตัดสินใจปลดโปสเตอร์ที่มีเนื้อหาในทิศทางดังกล่าวด้วยความกลัวว่าจะผิดกฎหมายใหม่8

นอกจากนี้ หลังการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเพียงไม่กี่วัน หนังสือที่เขียนโดยผู้สนับสนุนประชาธิปไตยยังหายไปอย่างลึกลับจากห้องสมุดต่างๆ ในฮ่องกง9 ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่มีลักษณะของสังคมแบบเผด็จการที่มีการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด เช่นเดียวกับความพยายามที่จะสอดแทรกแนวคิดที่ส่งเสริม “ความมั่นคงของชาติ” ด้วยการควบคุมหลักสูตรในระบบการศึกษาให้สอดรับกับกฎหมายใหม่ 10

ร้านค้าที่สนับสนุนประชาธิปไตยตกแต่งร้านด้วยกระดาษโพสท์อิทที่ว่างเปล่า จากที่เคยให้ลูกค้าเขียนข้อความเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายใหม่ ที่มาภาพ: Associate Press

ทางการฮ่องกงยังตัดสิทธิ์ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยอย่างน้อย 12 คน โดยอ้างว่าผิดกฎหมายความมั่นคงดังกล่าวในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ (Legislative Council – LegCo) หลังจากที่ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงมีความหวังว่าฝ่ายค้านจะชนะในการเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้ โดยหนึ่งในผู้ที่โดนตัดสิทธิ์คือโจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวชื่อดัง11

ที่เลวร้ายไปกว่านั้น ทางการฮ่องกงยังไล่จับกุมชาวฮ่องกงผู้เห็นต่างในข้อหาภายใต้กฎหมายความมั่นคง ประกอบด้วยการจับกุมนักเรียนและนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหวจำนวนสี่คนเนื่องจากโพสต์ในโซเชียลมีเดียพร้อมยึดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2020 โดยมีข้อกล่าวหาว่าผิดข้อหาแบ่งแยกดินแดน12

และเมื่อเช้าวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ตำรวจได้บุกจับจิมมี ไหล (Jimmy Lai) เจ้าพ่อธุรกิจสื่อในฮ่องกงที่มีจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตยพร้อมกับลูกชายสองคนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทอีกสี่ราย โดยหลังจากการจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 200 นายยังบุกไปยังสำนักงานใหญ่ของหนังสือพิมพ์ที่เขาเป็นเจ้าของเพื่อตรวจค้นเป็นเวลาเกือบเก้าชั่วโมง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในฮ่องกง13

การจับกุมครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการคุกคามสื่อที่มีจุดยืนตรงข้ามกับรัฐบาลจีน แต่ยังแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าใครก็อยู่ภายใต้กฎหมายความมั่นคงฉบับนี้ แม้แต่เศรษฐีผู้มีอิทธิพลก็ไม่เว้น การจับกุมดังกล่าวส่งผลให้เกิดแรงสนับสนุนธุรกิจของจิมมี ไหล ในวันถัดมา โดยผู้คนได้แห่กันไปซื้อหนังสือพิมพ์ Apple Daily ของเขาและราคาหุ้นของบริษัทได้พุ่งสูงขึ้นสี่เท่าตัวจนเกือบสูงที่สุดในรอบ 12 ปี14

นอกจากนี้ในช่วงบ่ายวันเดียวกันยังมีการจับกุมแอกเนส ชาว (Agnes Chow) นักเคลื่อนไหวชื่อดังวัย 23 ปีพร้อมกับนักเคลื่อนไหวรายอื่นๆ สรุปแล้วในวันนั้นมีผู้ถูกจับกุมรวม 10 คน ซึ่งผู้สนับสนุนประชาธิปไตยมองว่าเป็นการไล่ปราบปรามทางการเมืองที่กระทำกับผู้เห็นต่างจากรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน15 แม้ว่าผู้ถูกจับกุมจะได้รับการประกันตัวในภายหลัง16 แต่ก็ชัดเจนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือการคุกคามประชาชนผู้เห็นต่างโดยใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่

จิมมี่ ไหล่ เจ้าพ่อสื่อผู้เห็นต่างจากรัฐบาล ถูกจับกุมจากบ้านพักขณะใส่กุญแจมือ ที่มาภาพ: Wallstreet Journal

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า “ความมั่นคง” ที่กฎหมายนี้ต้องการปกป้อง ไม่ได้หมายถึงความมั่นคงของประชาชนชาวฮ่องกงแต่อย่างใด หากแต่เป็นความมั่นคงของรัฐบาลจีนที่ต้องการคงไว้ซึ่งอำนาจเหนือฮ่องกงที่ไม่อาจยอมให้ถูกสั่นคลอนได้ด้วยเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้เห็นต่าง

ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายจึงออกมาแสดงการต่อต้านกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะชาติตะวันตก ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาได้ออกมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว รวมทั้งแคร์รี แลม (Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง17 สหรัฐฯ ยังประกาศว่าต่อไปนี้จะถือว่าฮ่องกงคือส่วนหนึ่งของจีน และสินค้าฮ่องกงที่ส่งออกมายังสหรัฐฯ จะต้องระบุว่าเป็นสินค้าที่ “ผลิตในจีน” (made in China) ซึ่งมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าสินค้าที่ได้ชื่อว่าผลิตในฮ่องกง18

ขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างแคนาดา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ได้ประกาศยกเลิกสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกง ด้วยเหตุผลที่ว่าระบอบการปกครองแบบหนึ่งประเทศสองระบบและอิสระในการปกครองตนเองของฮ่องกงได้ถูกทำลายลงด้วยกฎหมายความมั่นคงแห่งชาตินี้ ทำให้ไม่อาจไว้ใจระบบยุติธรรมของฮ่องได้อีกต่อไป19 และหลายประเทศยังแสดงความกังวลต่อสวัสดิภาพของชาวฮ่องกง โดยมีการต่ออายุวีซ่าและเพิ่มโอกาสในการขอสถานะผู้พำนักถาวรให้แก่ชาวฮ่องกงที่อาศัยอยู่ในประเทศของตน20

นอกจากภาคการเมืองระหว่างประเทศ ความกังวลในลักษณะเดียวกันยังปรากฏในภาควิชาการ เนื่องจากการแสดงออกเชิงวิชาการที่มักมีการพูดถึงข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาอาจถือเป็นความผิดภายใต้กฎหมายความมั่นคงดังกล่าว21 ตลอดจนในภาคการเงินเกี่ยวกับความโปร่งใสของระบบกฎหมายในฮ่องกงที่ไม่ได้เป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่อีกต่อไป22 ในขณะที่สื่อต่างประเทศย้ายออกจากฮ่องกงไปยังประเทศอื่นๆในเอเชีย23

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงโดยรัฐบาลกลางจีน ไม่เพียงแต่บั่นทอนสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนเสถียรภาพของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินการธนาคารของโลกที่มีการเชื่อมต่อกับนานาชาติอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด เนื่องจากนานาประเทศไม่อาจไว้ใจได้อีกต่อไปว่าฮ่องกงจะยังคงมีระบบเศรษฐกิจการเมืองและความยุติธรรมที่โปร่งใสโดยไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน นี่อาจบ่งชี้ว่า ‘ความมั่นคงแห่งชาติ’ ในกฎหมายนี้หมายถึงความมั่นคงในอำนาจของรัฐบาลจีนเหนือสิ่งอื่นใด

มองฮ่องกงแล้วย้อนมองไทย: ปรากฏการณ์นี้บอกอะไรกับเรา

ดังที่ผู้เขียนเคยกล่าวในบทความแรกของคอลัมน์นี้ ทุกคนในสังคมควรมีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดทิศทางของสังคมร่วมกัน จึงจะนำมาซึ่งสังคมที่ดีสำหรับคนทุกกลุ่มโดยแท้จริง หากสังคมมีปัญหา สมาชิกของสังคมนั้นก็ควรมีสิทธิ์ที่จะพูดถึงปัญหาและเรียกร้องให้เกิดการแก้ไข ดังนั้นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปในสังคม โดยเฉพาะในภาคการเมืองที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนโดยตรง ย่อมถือเป็นการละเมิดต่อสวัสดิภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม ในสภาวะที่มีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ถือครองอำนาจในรัฐเพื่อเอื้อให้ตนเองและพวกพ้องสามารถกอบโกยผลประโยชน์ในรัฐนั้นๆ ได้โดยเสรี ก็ย่อมเป็นไปได้ที่คนกลุ่มนั้นจะมุ่งยับยั้งการวิพากษ์วิจารณ์หรือการแสดงความคิดเห็นที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อความมั่นคงในอำนาจของตนเอง ซึ่งหลายต่อหลายครั้งมักถูกอ้างว่าเป็น “ความมั่นคงของชาติ” แม้ว่าจะไม่ได้ยึดโยงกับความมั่นคงของสิทธิเสรีภาพและสวัสดิภาพของประชาชน หรือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศเลยก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นความพยายามที่จะบ่อนทำลายเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในรัฐที่มีการถือครองอำนาจในลักษณะดังกล่าวโดยใช้วิถีแบบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นการกล่อมเกลาผ่านการควบคุมระบบการศึกษาเพื่อสร้างประชากรที่เป็นไปตามประสงค์ของรัฐ การเซนเซอร์สื่อ การแบนหนังสือหรือสื่ออื่นใดที่มีเนื้อหาขัดกับประสงค์ของรัฐ การจับกุมหรือดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง หรืออาจถึงขั้นอุ้มหายหรืออุ้มฆ่า ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในสังคมมนุษย์ที่เราอยู่

ในกรณีของฮ่องกง ปัญหาที่ประชาชนประสบจนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องมีตั้งแต่เรื่องความเหลื่อมล้ำไปจนถึงเรื่องภัยคุกคามจากการใช้อำนาจของรัฐบาลจีน สำหรับปัญหาความเหลื่อมล้ำมีสาเหตุสำคัญคือความเฟื่องฟูของทุนนิยมในระบบเศรษฐกิจฮ่องกง ซึ่งขับเคลื่อนด้วยนโยบายของรัฐบาลภายใต้การควบคุมของจีนแผ่นดินใหญ่ที่มุ่งสนับสนุนนายทุนใหญ่และกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้อสังหาริมทรัพย์มีราคาสูงจนคนฮ่องกงไม่มีกำลังพอที่จะซื้อได้และต้องเช่าที่อยู่อาศัยที่คับแคบ

นอกจากนี้การหลั่งไหลของคนจีนเข้ามายังฮ่องกงยังส่งผลให้ค่าครองชีพต่างๆ ยิ่งสูงขึ้น ในขณะที่รายได้ของประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่นายทุนใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้นสอดรับกัน ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการของรัฐที่ไม่ได้มุ่งเน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักทำให้ชาวฮ่องกงเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการเมืองของประเทศให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของฮ่องกง ต่างจากในปัจจุบันที่เจ้าหน้าที่บริหารของรัฐบาลฮ่องกงมาจากการคัดสรรโดยรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่และกลุ่มทุนที่ไม่ได้ยึดถือประโยชน์ของชาวฮ่องกงเป็นสำคัญ (ดูเรื่องความเหลื่อมล้ำในฮ่องกงเพิ่มเติมได้ที่นี่)24 สิทธิการเลือกตั้งของพลเมืองทั้งมวล (universal suffrage) จึงเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญของชาวฮ่องกงในการประท้วงที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมาและก่อนหน้านั้น25

และนอกจากรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีอำนาจเหนือนโยบายเศรษฐกิจในฮ่องกง การคุกคามสวัสดิภาพของชาวฮ่องกงจากการใช้อำนาจของรัฐบาลจีนก็เป็นอีกข้อกังวลสำคัญที่นำมาสู่การประท้วงเพื่อต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ และเรียกร้องให้รัฐบาลจีนลดการแทรกแซงอำนาจเมื่อปีที่แล้ว ตลอดจนการต่อต้านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในปีนี้

เหตุการณ์หนึ่งที่เป็นตัวอย่างชัดเจนของการคุกคามดังกล่าวและสะท้อนให้เห็นความไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิตและสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกงภายใต้อำนาจการแทรกแซงจากรัฐบาลของจีนแผ่นดินใหญ่ ได้แก่ การอุ้มหายที่กระทำกับเจ้าของร้านหนังสือ Causeway Bay Books และสำนักพิมพ์ Mighty Current ในฮ่องกงที่ขายหนังสือเกี่ยวกับเบื้องลึกเบื้องหลังของบุคคลในพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 โดยมีการลักพาตัวเหยื่อจำนวนห้ารายเพื่อนำตัวไปกักขังในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นเวลาหลายเดือนโดยไม่มีกระบวนการทางกฎหมายที่โปร่งใสแต่อย่างใด หนึ่งในนั้นหายตัวไปจากประเทศไทยก่อนจะปรากฏตัวอีกครั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ และเพิ่งถูกตัดสินโทษจำคุก 10 ปีในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมานี้26

ห้องเช่าที่คับแคบในฮ่องกงสำหรับอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว เนื่องจากที่อยู่อาศัยมีราคาแพงมาก ที่มาภาพ: Jin Wu/The New York Times ถ่ายโดย Tyrone Siu/Reuters

เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับชาวฮ่องกงที่เชื่อว่าตนเองมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมาโดยตลอด และน่าจะเป็นหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ชาวฮ่องกงต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปีก่อน เพราะไม่ไว้ใจรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการดำเนินการทางกฎหมายอย่างโปร่งใสและยุติธรรม เนื่องจากแม้ขณะยังไม่มีกฎหมาย ยังสามารถกระทำการอุกอาจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนฮ่องกงอย่างร้ายแรงเช่นนั้นได้

ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในฮ่องกงและภัยคุกคามจากการใช้อำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่อย่างไม่โปร่งใสเช่นนี้ จึงถือเป็นปัญหาสำคัญที่บั่นทอนความมั่นคงในชีวิตของชาวฮ่องกง และทำให้ชาวฮ่องกงต้องการเรียกร้องอิสรภาพในการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยยึดโยงกับประชาชนเป็นรากฐานสำคัญ

ที่น่าเศร้าก็คือ เมื่อหันมามองประเทศไทยของเรา ก็พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ต่างกันเท่าใดนัก สังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก และจำเป็นต้องมีการแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในการครองชีพและคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระจายรายได้ การผูกขาดทางเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสวัสดิการ นอกจากนี้ในแง่ของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สังคมไทยของเราก็ยังคงมีปัญหา ดังที่มีข่าวการจับกุม ดำเนินคดี อุ้มหาย อุ้มฆ่าผู้เห็นต่างทางการเมืองให้เราเห็นอยู่เนืองๆ ภายใต้ระบบการเมืองที่ไร้ซึ่งการตรวจสอบและคานอำนาจอย่างมีประสิทธิภาพ เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่เราต้องเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขความเป็นไปในประเทศ เพื่อสังคมไทยที่ดีขึ้นและมี ‘ความมั่นคง’ อย่างแท้จริงสำหรับคนไทยทุกคน

เพราะฉะนั้น ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าการมีสิทธิ์มีเสียงของประชาชนในรัฐจะสะท้อนความต้องการของประชาชนและนำไปสู่การแก้ปัญหาเพื่อประชาชนได้ โดยเฉพาะในเรื่องของความมั่นคงในการดำรงชีพและสวัสดิภาพที่มาพร้อมกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในฐานะพลเมือง เราจึงจำเป็นต้องช่วยกันผลักดันให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงอย่างแท้จริงในการกำหนดทิศทางของประเทศ โดยเริ่มจากการขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็น ‘สังคมฉุกคิด’ ดังที่เป็นจุดยืนหลักของคอลัมน์นี้

เพราะหากคนในสังคมเพิกเฉยต่อการใช้อำนาจในลักษณะเผด็จการโดยรัฐ ในท้ายที่สุดแล้ว เราอาจถูกบีบให้ต้องจำนนต่อสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่โดยไม่สามารถมีปากเสียงใดๆ ภายใต้การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จของรัฐที่ไม่ได้เห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ในรัฐที่มีลักษณะเผด็จการในโลกปัจจุบัน สังคมที่จำกัดเสรีภาพเช่นนั้นทำให้ผู้เขียนนึกถึง ‘ดิสโทเปีย’ หรือโลกสมมติที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จและการกดขี่ ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพความน่าสะพรึงกลัวของอำนาจเผด็จการมากขึ้น ผู้เขียนจะมาเล่าเรื่องดิสโทเปียให้ฟังโดยละเอียดในบทความต่อไปของคอลัมน์สังคมฉุกคิด

หมายเหตุ :
1. Hong Kong protesters vow to stay on the streets despite Carrie Lam concession (Guardian, 4 ก.ย. 2019)

2.Landslide victory for Hong Kong pro-democracy parties in de facto protest referendum (CNN, 25 พ.ย. 2019)

3.National security law: those convicted could face life imprisonment as Beijing holds meeting to finalise bill set to be passed imminently (SCMP, 28 มิ.ย. 2020)

4. แท้จริงแล้ว 1 ประเทศ 2 ระบบ ของจีนกับฮ่องกงคืออะไรกันแน่? (SpokeDark TV, 2019)(คลิป)

5.Hong Kong government unveils national security law details (SCMP, 1 ก.ค. 2020)

‘กฎหมายความมั่นคงฮ่องกง’ ปิดฉาก ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’? (The Momentum, 6 ก.ค. 2020)

What you should know about China’s new national security law for Hong Kong (SCMP, 2 ก.ค. 2020) (คลิป)

6.Hong Kong: First arrests under ‘anti-protest’ law as handover marked (BBC, 1 ก.ค. 2020)

ประท้วงฮ่องกง : ครบรอบ 23 ปี อังกฤษส่งคืนเกาะฮ่องกงให้จีน ชาวฮ่องกงเริ่มถูกจับกุมด้วยกฎหมายความมั่นคงของจีน (BBC, 2 ก.ค. 2020)

7.Activists quit, groups disband as HK security law is approved (Straits Times, 1 ก.ค. 2020)

8. ‘Yellow economic circle’ takes a hit as protest-friendly shops in Hong Kong back off amid uncertainty over national security law (SCMP, 30 มิ.ย. 2020)

Hong Kong national security law leaves ‘Lennon Walls’ in restaurants blank, protest posters out (SCMP, 8 ส.ค. 2020) (คลิป)

9.Hong Kong: books by pro-democracy activists disappear from library shelves (Guardian, 5 ก.ค. 2020)

10. Hong Kong national security law: schools to get new teaching guidelines on legislation as officials review curriculum (SCMP, 31 ก.ค. 2020)

11.ทำไมฮ่องกงห้ามผู้สมัครฝ่ายค้าน 12 คนลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ (BBC, 31 ก.ค. 2020)

Hong Kong elections: mass disqualification of opposition hopefuls sparks political storm (SCMP, 30 ก.ค. 2020)

12.ตำรวจฮ่องกงใช้กฎหมายความมั่นคงบุกจับ นศ. 4 คน ฐานยุยงผ่านโซเชียลมีเดีย (BBC, 30 ก.ค. 2020)

13.ประท้วงฮ่องกง: จิมมี ไหล มหาเศรษฐีสัญชาติอังกฤษสำคัญอย่างไรในขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกง (BBC, 11 ส.ค. 2020)

14.Apple Daily: Company sees huge rise in stock after crackdown (BBC, 12 ส.ค. 2020)

15.China carrying out political purge in Hong Kong, activists say, with Agnes Chow detained following Jimmy Lai’s arrest (ABC, 11 ส.ค. 2020)

16.Hong Kong media tycoon Lai, activist Agnes Chow released on bail (Al Jazeera, 12 ส.ค. 2020)

17. US sanctions Hong Kong leader Carrie Lam for ‘implementing Beijing’s policies of suppression’ (SCMP, 7 ส.ค. 2020)

18.Hong Kong goods for export to U.S. to be labelled made in China (Reuters, 11 ส.ค. 2020)

Hong Kong exports to US will avoid punitive tariffs, Washington guidance says, but fears among city firms remain over relabelling to ‘Made in China’ (SCMP, 13 ส.ค. 2020)

19.International call to halt extradition treaties with Hong Kong after China imposes tough national security law (SCMP, 6 ก.ค. 2020)

National security law: Australia suspends Hong Kong extradition treaty (BBC, 9 ก.ค. 2020)

U.K. suspends Hong Kong extradition treaty and extends arms embargo in rebuke to China (CNBC, 20 ก.ค. 2020)

New Zealand suspends extradition treaty with Hong Kong (Reuters, 28 ก.ค. 2020)

20.Hong Kong: UK makes citizenship offer to residents (BBC, 1 ก.ค. 2020)

Visas are being extended for Hong Kong citizens. Here is what’s changing (ABC, 9 ก.ค. 2020)

21.National security law: for Hong Kong scholars, a fear of the unknown (SCMP, 8 ส.ค. 2020)

22.Debates arise on security law’s effects on Hong Kong finance sector (Hong Kong Business, 12 ก.ค. 2020)

23.Western Newsrooms Weigh Alternatives to Hong Kong as Beijing Tightens Grip (WSJ, 15 ก.ค. 2020)

24. 101 One-On-One EP.84 จับตาและทำความเข้าใจ ‘ฮ่องกง’ กับ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ (2019, 101 World) (คลิป)

Tiny Apartments and Punishing Work Hours: The Economic Roots of Hong Kong’s Protests (New York Times, 22 ก.ค. 2020)

Hong Kong protesters blame China for rising inequality and economic woes (Quartz, 1 ก.ค. 2014)

Hong Kong protesters don’t identify as Chinese amid anger at inequality – survey suggests (The Conversation, 25 ก.ย. 2019)

25.Hong Kong protests: thousands join rally in Central to demand universal suffrage in upcoming election (SCMP, 12 ม.ค. 2020)

26.The Case of Hong Kong’s Missing Booksellers (New York Times, 3 เม.ย. 2018)

China jails Hong Kong bookseller Gui Minhai for 10 years (SCMP, 25 ก.พ. 2020)

Did Bangkok choose to look the other way in the abduction of Gui Minhai? (SCMP, 29 ม.ค. 2016)