สฤณี อาชวานันทกุล
ข่าวใหญ่ในเดือนตุลาคม 2557 หนีไม่พ้นการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจีนของประชาชนชาวฮ่องกง ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “ปฏิวัติร่ม” จากการใช้วิธีกางร่มกันแก๊สน้ำตาจากตำรวจ
ภาพประชาชนหลายแสนหลั่งไหลออกมาชุมนุมโดยสันติติดต่อกันหลายวัน เรียกร้องประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานจากรัฐบาลจีน นั่นคือ สิทธิการเลือกตั้งผู้นำสูงสุดของฮ่องกงโดยตรง นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนนับตั้งแต่อังกฤษคืน “เขตปกครองพิเศษ” แห่งนี้สู่อ้อมอกจีนแผ่นดินใหญ่ ในปี ค.ศ. 1997
เพื่อนชาวฮ่องกงของผู้เขียนหลายคนที่ทำงานธนาคารก็ใช้เวลาหลังเลิกงานออกไปร่วมชุมนุมกับเขาด้วย เล่าให้ฟังว่าคนฮ่องกงจำนวนมากโกรธจีนที่เคยสัญญาว่า จะใช้ระบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ปกครองฮ่องกงไปอีกอย่างน้อย 50 ปี แต่ในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2017 กลับจะให้คนฮ่องกงเลือกผู้นำจากกลุ่มผู้สมัครที่ถูกคัดกรองมาแล้วชั้นหนึ่งก่อน พวกเขามองว่าหัวหน้าเขตปกครองพิเศษและพวกพ้องที่อยู่ในอำนาจเป็น “ลูกไล่” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ดูแลผลประโยชน์ของจีนมากกว่าดูแลปากท้องของชาวฮ่องกง
ถามว่าอ้าว ฮ่องกงก็เป็นส่วนหนึ่งของจีน ผลประโยชน์ของทั้งสองชาตินี้น่าจะสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันไม่ใช่หรือ เพื่อนอธิบายว่าพูดแบบนั้นก็ถูกบางส่วน โรงงานจีนจำนวนมากในเขตอุตสาหกรรมอย่างเสิ่นเจิ้นไม่มีวันสร้างได้ถ้าปราศจากเงินทุนและความช่ำชองของนักธุรกิจจากฮ่องกง (รวมถึงชาวจีนโพ้นทะเลอีกหลายชาติ ตั้งแต่สิงคโปร์ ไต้หวัน ฯลฯ) ส่วนฮ่องกงเองก็ได้อานิสงส์จากสินค้าราคาถูกและนักท่องเที่ยวจากแผ่นดินใหญ่เช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์เลวร้ายลงในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในฮ่องกงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (ดูจากค่าสัมประสิทธิ์จีนี่กว่า .537 ในภาษาเศรษฐศาสตร์ – เกิน .50 ถือว่าสูงมาก) และวันนี้มีคนจนอย่างเป็นทางการ (ใช้ชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน) ถึงร้อยละ 20 ของทั้งฮ่องกง นอกจากนี้ การจัดตั้งสหภาพแรงงานยังผิดกฎหมาย และกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำก็เพิ่งมีเมื่อปี 2010 นี้เอง แถมระดับค่าแรงขั้นต่ำทางการก็น้อยนิดมาก คือ 28 เหรียญฮ่องกงต่อชั่วโมงหรือประมาณ 120 บาทต่อชั่วโมงเท่านั้น ไม่พอค่ารถใต้ดินกลับบ้านด้วยซ้ำในเมืองที่มีค่าครองชีพแพงติดอันดับโลก
เพื่อนบอกว่าวันนี้คนหนุ่มสาวในฮ่องกงรู้สึกแปลกแยกกับรัฐบาลที่พวกเขาไม่เคยมีสิทธิเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ และมองไม่เห็นอนาคต คนที่พอมีทางหนีทีไล่ (จบการศึกษาสูงๆ ซึ่งมักจะแปลว่าต้องอย่างน้อยเป็นชนชั้นกลาง) ก็ทยอยอพยพไปหางานทำในต่างแดนในอัตราที่สูงที่สุดตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา อัตราการพบจิตแพทย์ก็เพิ่มสูงขึ้นมากเช่นเดียวกัน
ทั้งหมดนี้ช่วยอธิบายว่า เหตุใด “ปฏิวัติร่ม” ในฮ่องกงครั้งนี้จึงมีคนหนุ่มสาวเข้าร่วมเป็นประวัติการณ์ หลายคนโดดเรียนมานั่งชุมนุมประท้วงกลางแดด ติวเข้มกันกลางถนน ฝ่ายอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนก็ใจดี อัดเทปคำบรรยายในคาบตัวเอง ให้ลูกศิษย์ที่ขาดเรียนดาวน์โหลดไปฟังได้ แถมอธิการบดีบางมหาวิทยาลัยยังเดินทางมาให้กำลังใจนักศึกษาที่ยืนหยัดประท้วงอย่างสันติ แตกต่างจากอธิการบดีไทยบางคนราวฟ้ากับเหว
(เพื่อนของผู้เขียนที่ไปประท้วงส่วนใหญ่ไม่ชอบคำว่า “ปฏิวัติร่ม” เพราะพวกเขาไม่ได้อยากโค่นระบอบการปกครอง เพียงแต่มาเรียกร้องให้ผู้นำลาออกและให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งผู้นำโดยตรง พวกเขาบอกว่าต้องโทษสื่อต่างประเทศที่ใช้คำว่า “ปฏิวัติ” แต่มาถึงตอนนี้ก็ต้องปล่อยเลยตามเลย เพราะการเสนอข่าวของสื่อยักษ์หลายค่ายก็ทำให้ชาวโลกได้เห็นเหตุการณ์นี้)
แล้ว “แกนนำ” ของคนหนุ่มสาวเหล่านี้เป็นใคร? หนุ่มน้อยคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญคือ โจชัว หว่อง ผู้มีความคิดความอ่านเป็นผู้ใหญ่เกินตัว ดังที่ผู้เขียนจะแปลบางตอนจากข่าวหนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน เกี่ยวกับตัวเขามาเล่าสู่กันฟัง (เนื้อหาในวงเล็บเป็นของผู้เขียน) –
โจชัว หว่อง ยังเด็กเกินกว่าจะมีสิทธิขับรถหรือซื้อเหล้าดื่มในบาร์ ยังไม่ต้องพูดถึงสิทธิเลือกตั้ง แต่ในวัย 17 ปี เขาได้กลายเป็น “หน้าตา” ของการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับพลเมืองรุ่นราวคราวพ่อ
ผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการนักศึกษา “Scholarism” ผู้นี้เป็นนักกิจกรรมตัวยง สองปีก่อนตอนอายุ 15 โจชัวนำขบวนนักเรียนต่อต้านแผนรื้อหลักสูตร “การศึกษาแห่งชาติ” (แนวทางฟังคล้ายกับแผนการรื้อหลักสูตรปลูกฝัง “ค่านิยม 12 ประการ” สมัยเผด็จการ คสช. ของบ้านเรา) ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูว่ามีเป้าหมายเพื่อ “ล้างสมอง” เด็กๆ ให้นิยมชมชอบรัฐบาลจีน แคมเปญต่อต้านของ Scholarism ครั้งนั้นดึงนักเรียนหลายวัยมาร่วมมากถึง 100,000 คน ชุมนุมกดดันหน้าทำเนียบรัฐบาลจนรัฐบาลต้องยอม “แขวน” นโยบายรื้อหลักสูตรไปก่อน นับจากนั้นโจชัวก็กลายเป็นขวัญใจวัยรุ่นในชั่วเวลาข้ามคืน
ในการ “ปฏิวัติร่ม” ครั้งนี้ โจชัวและเพื่อนๆ ถูกตำรวจควบคุมตัว 40 ชั่วโมงหลังจากที่บุกเข้าไปประท้วงในเขตสถานที่ราชการ ต่อมาศาลสั่งให้ตำรวจปล่อยตัวเขาไปเพราะ “ควบคุมตัวนานเกินความจำเป็น” แต่กว่าเขาจะออกมาโจชัวก็กลายเป็นเซเลบระดับโลก สร้างแรงบันดาลใจให้คนอีกหลายแสนคนออกมาร่วมประท้วง ไม่นับคนอีกมากมายที่เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียอื่นๆ เป็นรูปร่มหรือริบบิ้นสีเหลือง – สัญลักษณ์ของการประท้วงในครั้งนี้
โจชัวไม่ชอบแสงไฟที่สาดมาที่ตัวเขา ก่อนหน้านี้ในปี 2012 ตอนที่รณรงค์ต่อต้านหลักสูตร “ล้างสมอง” ของรัฐ เขาพูดว่า “ถ้าหากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกลายเป็นการบูชาใครสักคนล่ะก็ นั่นแหละคือปัญหาใหญ่” ในครั้งนี้เขาย้ำว่า “คุณไม่ต้องเป็นไอดอลใครก็เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางสังคมได้ คุณแค่ต้องแคร์ในประเด็นนั้นๆ จริงๆ”
โจชัวเปรียบเทียบการคัดกรองผู้สมัครเป็นหัวหน้าเขตปกครองพิเศษชั้นหนึ่ง ก่อนจะให้ประชาชนโหวตเลือก ว่าเหมือนกับการให้คนเลือกว่าจะกินอะไรระหว่างศูนย์การค้าสองแห่ง
“นี่เป็นตัวเลือกที่แท้จริงหรือเปล่า? ข้างในศูนย์การค้านั่นคล้ายกันมาก ยังไงๆ คุณก็ต้องลงเอยด้วยการไปกินร้าน Pepper Lunch อยู่ดี”
โจชัวยืนกรานกับสื่อตลอดมาว่าเขาไม่ใช่ฮีโร่ เพราะ “ฮีโร่ของการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือพลเมืองฮ่องกงทุกคน”
ในบทสัมภาษณ์กับนิตยสาร TIME ฉบับเอเชีย ซึ่งทำสกู๊ปปกเรื่องปฏิวัติร่มสองฉบับติดต่อกัน โจชัวเน้นว่า “อนาคตไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใหญ่จะเป็นคนตัดสิน [เพราะอนาคตย่อมเป็นของเด็ก] …ผมอยากจะถามผู้ใหญ่ คนที่มีเงินทุนและอำนาจ ว่าทำไมพวกเขาจึงไม่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครับ?”