ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียเตรียมสร้างสนามทดสอบรถยนต์เจาะตลาดอาเซียน

ASEAN Roundup อินโดนีเซียเตรียมสร้างสนามทดสอบรถยนต์เจาะตลาดอาเซียน

13 ธันวาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 6-12 ธันวาคม 2563

  • อินโดนีเซียเตรียมสร้างสนามทดสอบรถยนต์เพื่อเจาะตลาดอาเซียน
  • อินโดนีเซียได้รับวัคซีนชุดแรกจากซีโนแวคของจีน
  • สิงคโปร์ลงนามข้อตกลงการค้าอังกฤษ
  • เวียดนามจะซื้อไฟฟ้าจากลาวเพิ่มขึ้น
  • กัมพูชา ลาว เวียดนามทำแผนท่องเที่ยวร่วมกัน
  • ไทยหนุนตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
  • อินโดนีเซียเตรียมสร้างสนามทดสอบรถยนต์เพื่อเจาะตลาดอาเซียน

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/news/2020/12/11/indonesia-to-build-116-5m-vehicle-test-site-to-capture-asean-market.html

    กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าที่จะสร้าง สนามทดสอบรถยนต์มาตรฐานโลก มูลค่า 1.64 ล้านล้านรูเปียะห์ (116.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)ให้เสร็จสิ้นภายใน 4 ปีข้างหน้า เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตรถยนต์ของชาวอินโดนีเซียจับตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    บูดิ การ์ยา ซูมาดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้โชว์โรดแมปของโครงการ โดยสนามทดสอบซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายสนามแข่งจะสร้างขึ้นในเมืองเบกาซี จังหวัดชวาตะวันตก และมีกำหนดจะเริ่มพัฒนาในปี 2565 และแล้วเสร็จภายในปี 2567

    สนามทดสอบนี้จะใช้ทดสอบรถมอเตอร์ไซเคิลที่ผลิตในอินโดนีเซีย รถสามล้อ รถยนต์โดสาร รถบัสและรถบรรทุก ตามมาตรฐานยานยนต์สากลที่กำหนดโดย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของตลาด โดยเฉพาะตลาดอาเซียน

    “อินโดนีเซียผลิตรถจำนวนมาก เราใช้รถจำนวนมาก แต่เราไม่ได้ส่งออกมากนัก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าว

    ข้อมูลสมาคมผู้ผลิตรถยนต์อินโดนีเซียระบุว่า ผู้ผลิตรถยนต์ในชาวอินโดนีเซียส่งออกรถยนต์ที่ประกอบสำเร็จรูปทั้งคัน(Completely Built Up:CBU) จำนวน 180,903 คัน ณ สิ้นเดือนตุลาคมซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของเดือน
    อย่างไรก็ตามสมาคมฯตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันการส่งออกให้ได้ถึง 1 ล้านคันและเพิ่มยอดขายในประเทศเป็น 2 ล้านคันภายในปี 2568 แม้ภาวะตลาดรถยนต์ในเมืองใหญ่ รวมถึงจาการ์ตา ที่ชะลอตัวลง เพราะปริมาณรถส่วนตัวหนาแน่น

    ในแง่รัฐบาลการเพิ่มการส่งออกรถยนต์เป็นวิธีการเพิ่มการเกินดุลการค้าของอินโดนีเซียซึ่งแตะ 17.07 พันล้านดอลลาร์ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคมปีนี้ ซึ่งการเกินดุลการค้าสนับสนุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินรูเปียะห์และกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

    คู่แข่งหลักของอินโดนีเซียในตลาดรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ไทย แต่เวียดนามซึ่งเป็นดาวเด่นทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ส่งสัญญาณเมื่อเร็วๆนี้ว่า มีแผนจะก้าวไปสู่ระดับโลกหลังจากวินฟาสต์(VinFast) ผู้ผลิตรถยนต์เวียดนามเข้าซื้อสถานที่ทดสอบรถยนต์ในออสเตรเลีย สมาคมฯคาดว่าจะส่งผลให้การแข่งขันในภูมิภาคเข้มข้นมากขึ้น

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/news/2020/12/11/indonesia-to-build-116-5m-vehicle-test-site-to-capture-asean-market.html
    บูดิ เซติยาดี ผู้อำนวยการด้านการขนส่งทางบก กระทรวงคมนามคอธิบายว่า ตามแผนสร้างสนามทดสอบรถยนต์นั้น จะเพิ่มสนามทดสอบใหม่ 19 แห่งในสถานที่ทดสอบยานยนต์ที่มีอยู่ของกระทรวง ในเมืองเบกาซิ โดยสนามทดสอบใหม่นี้จะใช้ทดสอบในด้านอื่นๆด้วย เช่น การปล่อยมลพิษระดับเสียง ความปลอดภัยเมื่อเกิดการชน และมุมมองกระจกตาม UNR ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านข้อตกลงการยอมรับร่วมในเรื่องคุณสมบัติของอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement:MRA)

    “อย่างน้อยที่สุด ก็จะได้รับความไว้วางใจจากประเทศอื่น ๆ ต่อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในอินโดนีเซีย” นายบุดีกล่าวและว่า“ ยังมีสนามทดสอบอื่น ๆ ในอาเซียน แต่ของเราจะใหญ่ที่สุด” ด้วยพื้นที่ 90 เฮกตาร์ ส่วนสนามทดสอบใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคอยู่ในประเทศไทย

    นอกจากนี้สนามทดสอบจะมีพื้นที่สำหรับทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าด้วย โดยรัฐบาลได้ประกาศประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้วเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยายนต์ไฟฟ้าในประเทศ สนามทดสอบนี้เป็น 1 ใน 5 โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับธุรกิจมูลค่าหลายพันล้านรูเปียะห์ที่นำเสนอโดยกระทรวงคมนาคมในปี 2561

    ทั้ง 5 โครงการเป็นโครงการนำร่องในการการตัดงบประมาณของรัฐที่ใช้จ่ายในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่
    กระทรวงการคลังกำลังช่วยกระทรวงคมนาคมจัดหาเงินทุนสำหรับสถานที่ทดสอบ ผ่านพีที เปนจามินาน อินฟราสตรักเจอร์ อินโดนีเซีย(PT Penjaminan Infrastruktur Indonesia:PT PII) สถาบันการเงินของรัฐ

    มูฮัมหมัด วาฮิด สุโตโป ผู้บริหาร PT PII กล่าวว่า บริษัทฯมีความพร้อมเพียงรอกระทรวงการคลังสรุปเงื่อนไขทางธุรกิจเพื่อที่จะนำเสนอต่อนักลงทุนที่สนใจ

    เมื่อประกาศในปี 2561 โครงการนี้มีมูลค่า 1.64 ล้านล้านรูเปียะห์ แต่วาฮิดกล่าวว่า ค่าใช้จ่ายมีประมาณ 2.09 ล้านล้านรูเปียะห์และสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติจะถูกจำกัดไว้ที่ 49% ตามกฎระเบียบที่มีอยู่

    รัฐบาลได้วางแผนที่จะชำระเงินและรับโอนสนามทดสอบหลังจากที่ดำเนินการเป็นเวลา 15 ปีนับจากวันที่เริ่มต้น ซึ่งวาฮิดเปิดเผยเป็นนัยๆ ว่า นักลงทุนต่างชาติที่สนใจคือ ผู้ผลิตรถยนต์หลักในอินโดนีเซีย

    สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซียแล้ว สนามทดสอบรถยนต์จะช่วยประหยัด“หลายพันล้านรูเปียะห์” จากการทดสอบยานยนต์ หรือชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในอินโดนีเซีย เช่น เครื่องยนต์รถบรรทุกขนาดใหญ่ ไปจนถึงเยอรมนี โยฮันเนส นาโงยประธานสมาคมฯกล่าว
    ทุกๆปี มีการทดสอบมากกว่า 400 รุ่น” โดยที่ผู้ผลิตรถยนต์มักจะต้องนำเจ้าหน้าที่ของรัฐไปด้วยในต่างประเทศ เพื่อเป็นพยานในการทดสอบ

    สนามทดสอบที่จะสร้างขึ้นตามแผน ยังจำเป็นสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ในการทดสอบรถยนต์รุ่นเก่ากว่าหลายร้อยคัน เนื่องจากรัฐบาลมีแผนจะเลิกใช้เชื้อเพลิงยูโร 2 ที่สกปรกในปี 2564 ตามกฎระเบียบของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ ซึ่งแน่นอนว่าคิวจะยาวอย่างมาก

    อินโดนีเซียได้รับวัคซีนชุดแรกจากซีโนแวคของจีน

    ที่มาภาพ:
    https://www.thejakartapost.com/news/2020/12/07/indonesia-spends-45-million-to-procure-millions-of-vaccine-doses-from-china-this-year.html

    วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ชุดแรกที่สั่งซื้อจาก บริษัทซีโนแวค ไบโอเท็ค จำกัด(Sinovac Biotech Ltd.)ของจีนส่งถึงอินโดนีเซียแล้ว นับเป็นช่วงใหม่ในการต่อสู้กับการระบาดของโรคที่เลวร้ายที่สุดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายนี้

    โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวว่า วัคซีนจำนวน 1.2 ล้านโดสได้ส่งมายังอินโดนีเซียแล้วเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมและรัฐบาลคาดว่าจะได้รับวัคซีนอีกล็อต 1.8 ล้านโดสในต้นเดือนมกราคม

    ซีโนแวคจะจัดส่งวัตถุดิบจำนวน 45 ล้านโดสซึ่งพีที ไบโอ ฟาร์มา บริษัทยาของรัฐ จะดำเนินการผลิตภายในประเทศ ประธานาธิบดีวิโดโดระยุในแถลงการณ์

    นอกจากซีโนแวคแล้วรัฐบาลยังมีคำสั่งซื้อกับซัพพลายเออร์วัคซีนอีกอย่างน้อย 3 รายรวมถึงแอสตราเซเนก้า ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองขั้นสุดท้าย

    อินโดนีเซียมีผู้ป่วยโรคโควิดมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจำนวนกว่าครึ่งล้านคนและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 17,000 คน

    สรี มุลยานี อินทราวตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า รัฐบาลตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนฟรีให้กับชาวอินโดนีเซียให้ได้มากถึง 120 ล้านคนโดยมีค่าใช้จ่ายเท่ากับ 0.5% ถึง 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP)จนถึงปี 2565

    วัคซีนปริมาณ 3 ล้านโดสแรกจะใช้กับบุคคลากรที่ปฏิบัติงานในแนวหน้าของการแพร่ระบาดรวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตำรวจ ทหารและข้าราชการในเดือนนี้ หลังจากนั้นรัฐบาลจะจัดลำดับความสำคัญของผู้ที่มีอายุ 18 ถึง 59 ปีโดยไม่มีโรคประจำตัวซึ่งจะต้องใช้วัคซีนทั้งหมด 246 ล้านเข็ม

    การได้รับวัคซีนซีโนแวคย้ำถึงความท้าทายที่ไม่เหมือนใครของอินโดนีเซียซึ่งเป็นหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ต้องเผชิญในการฉีดวัคซีนให้กับประชากรที่กระจายไปทั่วประมาณ 6,000 เกาะ

    วัคซีนส่งถึงจาการ์ตาในเวลาเที่ยงคืนของวันอาทิตย์และต้องขนส่งโดยรถบรรทุกห้องเย็นในระยะเวลา 3 ชั่วโมงไปยังเมืองบันดุงซึ่งอยู่ห่างออกไป 150 กิโลเมตร แต่การขนส่งไปภูมิภาคอื่นๆน่าจะใช้เวลานานกว่าและซับซ้อนกว่านั้น นอกเหนือจากเกาะชวาซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งที่สุด

    อินโดนีเซียได้ใช้เงิน 637.3 พันล้านรูเปียะห์ (45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาจากจีนในปีนี้ ขณะที่รัฐบาลเตรียมโครงการฉีดวัคซีนจำนวนมาก

    อินโดนีเซียได้รับการจัดส่งวัคซีนครั้งแรกในวันอาทิตย์ สรี มุลยานี อินทราวตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้เงินเพื่อจัดหาวัคซีนโคโรนา 3 ล้านโดสจากซีโนแวคของจีนและ 100,000 โดสจาก กังซีโน ไบโอโลจิกส์(CanSino Biologics)

    อินโดนีเซียได้ัรบวัคซีน 1.2 ล้านโดสจากซีโนแวคในวันอาทิตย์ที่นำเข้าโดย PT Bio Farma “การจัดซื้อ [วัคซีน] จะใช้เวลาหลายปีจึงจะเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2564 และ 2565”

    กระบวนการฉีดวัคซีนจะปฏิบัติตามคำแนะนำจากเกณฑ์ของรัฐบาลและกลุ่มที่จัดลำดับความสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขระบุไว้ และตามข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลก โครงการฉีดวัคซีนระยะแรกจะมุ่งเป้าไปที่บุคลากรทางการแพทย์

    การจัดส่งวัคซีนมีขึ้น เมื่ออินโดนีเซียตกสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบสองทศวรรษ และรัฐบาลพยายามควบคุมการระบาดและแก้ไขเศรษฐกิจตกต่ำ ขณะที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสครึ่งล้านในวันที่ 23 พฤศจิกายนโดยพบผู้ป่วยรายใหม่ราว 6,000 รายในวันอาทิตย์ ส่งผลให้จำนวนติดเชื้อสะสมรวม 575,700 คน ซึ่งสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แม้จะมีการทดสอบหาเชื้อต่ำ

    รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 35.1 ล้านล้านรูเปียะห์เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาจากงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งมีวงเงิน 695.2 ล้านล้านรูเปียะห์ในปีนี้ นอกจากนี้ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีวิโดโดได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 18 ล้านล้านรูเปีะยห์สำหรับโครงการฉีดวัคซีนจำนวนมากในปี 2564 จนถึงขณะนี้รัฐบาลได้ใช้เงินไปแล้ว 277.45 พันล้านรูเปียะห์เพื่อจัดหาเข็มฉีดยา กล่องนิรภัย และแอลกอฮอลล์ฆ่าเชื้อ รวมถึง 190 พันล้านรูเปียะห์สำหรับตู้เย็นจัดเก็บวัคซีนและผู้ให้บริการขนส่งวัคซีนรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

    กฎหมายที่ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เทราวาน อากุส ปูทรันโต เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมกำหนดว่า วัคซีนที่สามารถใช้สำหรับโครงการฉีดวัคซีนในอินโดนีเซียต้องมาจากไบโอฟาร์มา แอสตราเซเนก้าจากสหราชอาณาจักร ซีโนฟาร์มของจีน หรือซีโนแวค ไบโอเท็ค หรือโมเดอร์นาจากสหรัฐฯ และวัคซีนที่ผลิตโดย บริษัทไฟเซอร์ของสหรัฐฯร่วมกับบริษัทไบโอเอ็นเท็คของเยอรมัน

    ในอินโดนีเซียวัคซีนที่ได้รับการผลิตโดย บริษัทเหล่านี้กำลังเข้าสู่หรือเสร็จสิ้นการทดลองทางคลินิกระยะที่สาม อินโดนีเซียได้ทำการทดสอบวัคซีนซีโนแวคตั้งแต่เดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตามวัคซีนดังกล่าวยังอยู่ในการทดลองระยะสุดท้ายในบราซิลและตุรกี โดยผลการทดลองประสิทธิภาพในบราซิลจะเปิดเผยภายในกลางเดือนธันวาคม

    ประธานาธิบดีโจโกวีกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า รัฐบาลวางแผนที่จะได้รับอีก 1.8 ล้านโดสในต้นเดือนมกราคมปีหน้า และคาดว่าจะมีการจัดส่งวัตถุดิบเพื่อผลิต 15 ล้านโดสในเดือนนี้เช่นเดียวกับวัตถุดิบ 30 ล้านโดสในเดือนหน้า อย่างไรก็ตามวัคซีนยังคงจำเป็นต้องได้รับการประเมินโดยสำนักงานตรวจสอบอาหารและยา (BPOM) ขณะที่รัฐบาลยังคงเตรียมการสำหรับการแจกจ่ายวัคซีน

    ก่อนหน้านี้ BPOM ระบุในเดือนพฤศจิกายนว่า จะไม่อนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินกับวัคซีนจากซีโนแวคในเดือนธันวาคมเนื่องจากขาดข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ

    “เราได้ชี้แจงกับประธานาธิบดีแล้วว่าเราไม่สามารถดำเนินการตามกำหนดเวลาสำหรับการอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินได้ในสัปดาห์ที่สองหรือสามของเดือนธันวาคม” เพนนี กุสุมาสตุตี ลูกิโต ผู้บริหารBPOM กล่าวในการชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร การอนุมัติอาจเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่สามหรือสี่ของเดือนมกราคม 2564

    สิงคโปร์ลงนามข้อตกลงการค้าอังกฤษ

    ที่มาภาพ: https://www.rfi.fr/en/business-and-tech/20201210-uk-signs-singapore-trade-deal-as-eu-talks-falter-1

    เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม อังกฤษได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการสร้างฐานในเอเชียและวิถีใหม่หลังจากถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit เพราะการเจรจาข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรปยังมีความไม่แน่นอน

    ข้อตกลงนี้ส่วนใหญ่ไม่ต่างจากข้อตกลงที่สิงคโปร์มีกับสหภาพยุโรป โดยสิงคโปร์ระบุว่า จะครอบคลุมการค้าทวิภาคีมากกว่า 17,000 ล้านปอนด์ (22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) และข้อตกลงการค้านี้มีขึ้นจากการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรปที่จะใช้หลัง Brexit ไม่ประสบความสำเร็จ

    ข้อตกลงการค้านี้จะลดอัตราภาษี และช่วยให้ทั้งสองประเทศสามารถเข้าถึงตลาดบริการของกันและกันได้ รวมทั้งขจัดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีในภาคส่วนต่างๆตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ยา กระทรวงการค้าของสิงคโปร์ระบุ

    ข้อตกลงการค้านี้ได้มีการลงนามในสิงคโปร์ โดยลิซ ทรัส รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศของอังกฤษยกย่องสิงคโปร์ในด้านความเป็นผู้นำด้านการค้าเสรี

    “ตอนนี้สหราชอาณาจักรกลับมาเป็นประเทศการค้าเสรี เรามีอิสระที่จะเข้าร่วมการค้าเสรีนี้”

    “สิงคโปร์เป็นพันธมิตรทางการค้าและการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักรในอาเซียน ขณะที่สหราชอาณาจักรเป็นแหล่งลงทุนอันดับต้น ๆ ของสิงคโปร์ในยุโรป”

    ชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ กล่าวว่าข้อตกลงนี้ “ทำให้ธุรกิจอังกฤษมีแพลตฟอร์มในการเข้าถึงโอกาสในภูมิภาคผ่านสิงคโปร์”

    อัตราภาษีจะถูกยกเลิกภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับข้อตกลงระหว่างสหภาพยุโรปและสิงคโปร์

    ทรัสกล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะทำให้อังกฤษก้าวสู่การเข้าร่วมเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่มากขึ้น คือ ข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership :CPTPP) ซึ่งสิงคโปร์ได้เข้าร่วม

    CPTPP มีประเทศแปซิฟิกเข้าร่วม 11 ประเทศได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น เม็กซิโกและเวียดนาม ข้อตกลง CPTPP ฉบับก่อนหน้านี้เคยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กลับละทิ้งข้อตกลง

    ชานกล่าวว่า สิงคโปร์จะสนับสนุนการขอเข้าร่วมของอังกฤษในต้นปี 2564

    อังกฤษลงนามข้อตกลงการค้าหลัง Brexit ครั้งใหญ่ครั้งแรกกับญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม แต่ข้อตกลงที่ลงนามในวันพฤหัสบดีถือเป็นครั้งแรกกับกลุ่มประเทสมาชิกอาเซียน

    กลุ่มอาเซียน 10 ประเทศมีประชากรรวมกัน 650 ล้านคนและก่อนที่จะเกิดภาวะตกต่ำจากการระบาดของโรคระบาด เศรษฐกิเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

    เดเบอร่าห์ เอลมส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศในสิงคโปร์ให้ความเห็นว่า การที่ทำข้อตกลงกันได้เร็วเพราะทั้งเนิ้อหาและความตกลงไม่ต่างจากข้อตกลงการค้าเสรีของสหภาพยุโรปที่มีกับคู่ค้า แต่ข้อตกลงที่ใช้เวลามากที่สุดคือ บริการทางการเงิน เนื่องจากทั้งลอนดอนและสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางในด้านการเงิน

    “สิงคโปร์มีความกังวลเกี่ยวกับการปล่อยให้มีผู้ให้บริการทางการเงินจำนวนมากเกินไปในตลาดขนาดเล็ก”

    การเข้าร่วม CPTPP ที่มีศักยภาพของสหราชอาณาจักรเป็นก้าวย่างที่สำคัญ “สหราชอาณาจักรจำเป็นต้องเชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างชัดเจนหลังจาก Brexit”

    การลงนามในวันพฤหัสบดีเกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษบอริส จอห์นสันและประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เออร์ซูล ฟอน เดอร์ เลเยนให้เวลาการเจรจาข้อตกลงการค้าจนถึงวันอาทิตย์หลังจากยังมีความเห็นที่ต่างัน

    เวียดนามจะซื้อไฟฟ้าจากลาวเพิ่มขึ้น

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-to-purchase-more-power-from-laos-4202781.html

    การไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ Vietnam Electricity (EVN) ได้ลงนามใน บันทึก 3 ฉบับเพื่อซื้อไฟฟ้าจากบริษัทในลาว เพื่อรองรับการขาดแคลนพลังงานที่คาดไว้

    EVN จะซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่งและโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 แห่งในประเทศลาว โดยจะเริ่มในปี 2567 ตามบันทึกความเข้าใจที่ลงนามเมื่อวันอาทิตย์

    โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำยวงที่มีกำลังการผลิต 84 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนถ่านหินน้ำพันที่มีกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ พัฒนาโดยกลุ่มพงศ์ทรัพย์ทวี มีกำหนดส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเวียดนามในปี 2567 และ 2568

    โรงไฟฟ้าพลังน้ำอีกแห่งน้ำยืน 1 กำลังการผลิต 124 เมกะวัตต์พัฒนาโดยคงทรัพย์ ไฮโดร ดิเวลอปเม้นท์ และน้ำเนิน 1 และน้ำเนิน 3 จะเริ่มส่งมอบไฟฟ้าไปยังเวียดนามในอีก 2 ปี

    ในเดือนมกราคม EVN ได้ลงนามข้อตกลง 5 ฉบับกับ บริษัทลาว 2 แห่งเพื่อซื้อพลังงาน 1.5 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปีในปี 2564 และ 2565

    ก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้เตือนถึงการขาดแคลนพลังงาน 3.7 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงในปี 2564 และเกือบ 1 หมื่นล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงในปีถัดไป เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนและก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ล่าช้ากว่ากำหนด

    ปี 2566 จะเป็นปีที่สถานการณ์ตึงเครียดที่สุด โดยคาดว่าจะมีการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าประมาณ 15 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง จากนั้นจะลดลงโดยคาดว่าการขาดแคลนจะลดลงเหลือ 7 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงและ 3.5 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ

    กระทรวงระบุว่า ทางออกเดียวคือการนำเข้าจากลาวและจีนให้มากขึ้น แต่เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาวจะต้องเร่งดำเนินการโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ให้เร็วขึ้น

    กัมพูชา ลาว เวียดนามทำแผนท่องเที่ยวร่วมกัน

    ที่มาภาพ:
    https://www.akp.gov.kh/post/detail/223344
    กัมพูชา ลาว เวียดนาม เห็นชอบ แผนพัฒนาการท่องเที่ยว ในพื้นที่สามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนา หรือ CLV (CLV Development Triangle Area ) ปี 2563-2568

    เอกสารข่าวของกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา ระบุว่า ผู้นำของกัมพูชา ลาวและเวียดนามได้อนุมัติแผนพัฒนาการท่องเที่ยวสำหรับพื้นที่สามเหลี่ยมการพัฒนา CLV ปี 2563-2568 และ วิสัยทัศน์สำหรับปี 2573 ในการประชุมสุดยอด CLV ครั้งที่ 11 ผ่านระบบออนไลน์

    แผนท่องเที่ยวนี้เป็นยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคที่เชื่อมโยงการพัฒนาการท่องเที่ยวใน 13 จังหวัดของภูมิภาค (4 จังหวัดในกัมพูชา: กระแจะ, สตึงแตรง, รัตนคีรีและมณฑลคีรี), ลาว (4 จังหวัด) และเวียดนาม (5 จังหวัด) ในวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาพื้นที่สามเหลี่ยม

    ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อการประชุมสุดยอด CLV สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวว่า รัฐบาลได้ลงทุนมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐOเพื่อพัฒนา 4 จังหวัดของประเทศในพื้นที่สามเหลี่ยมการพัฒนา (Development Triangle Area :DTA)

    นายกรัฐมนตรีกัมพูชาย้ำว่า เพื่อให้บรรลุแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการที่วางไว้เพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาอย่างแท้จริงรัฐบาลกัมพูชาได้ลงทุนประมาณ 3.146 ล้านดอลลาร์สหรัฐจนถึงเดือนตุลาคม 2563 ใน 86 โครงการซึ่ง 66 โครงการอยู่ในสาขาเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร สร้างงานมากกว่า 120,000 ตำแหน่ง

    ส่งผลให้ผลผลิตภายในประเทศทั้งหมดสำหรับ 4 จังหวัดของกัมพูชาที่อยู่ในพื้นที่ DTA เพิ่มขึ้น 12% ในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2561

    DTA ในพื้นที่สามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนาเป็นพื้นที่บูรณาการสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและแหล่งท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ การปรับปรุงคุณภาพของบริการในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย และมรดกที่ช่วยยกระดับชีวิตของผู้คนใน 3 ประเทศเพื่อนบ้าน

    เมียนมาขายก๊าซให้ไทย 50% จีน 20% ปีนี้

    ที่มาภาพ:
    https://elevenmyanmar.com/news/myanmar-to-sell-50-of-gas-to-thailand-20-to-china-this-year
    รายงานข้อมูลงบประมาณของรัฐปี 2563-2564 ระบุว่า เมียนมาคาดว่าจะ ขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากโครงการนอกชายฝั่งให้กับไทย 50% และขายไปยังจีน 20% ส่วนที่เหลือ 30% กันไว้สำหรับขายในประเทศตาม

    ด้านการใช้ก๊าซภายในประเทศนั้น 85.9% ใช้เพื่อารผลิตไฟฟ้า 5.3% สำหรับการผลิต CNG 4%สำหรับการผลิตปุ๋ยและ 4.8% สำหรับภาคอื่น ๆ

    80% ของรายได้จากน้ำมันและก๊าซมาจากโครงการนอกชายฝั่ง ส่วนโครงการใหม่ยังไม่สามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้

    ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงจากการระบาดของโควิด -19 ทำให้เมียนมาต้องขายก๊าซจากโครงการนอกชายฝั่งยานาดา เยตากุน และซอว์ติกาให้ไทยในราคา 6 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ล้านบีทียู(MMBTU) และก๊าซจากโครงการนอกชายฝั่งของชเวไปยังประเทศจีนในราคา 5.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 MMBTU ในปีงบประมาณปัจจุบัน 2563-2564

    ในปีงบประมาณ 2562-2563 มีการผลิตไฟฟ้า 23,663.16 ล้านกิโลวัตต์ โดยที่ 11,618.21 ล้านกิโลวัตต์ ผลิตจากก๊าซธรรมชาติและ 9,366.35 ล้านกิโลวัตต์จากพลังงานน้ำ

    ไทยหนุนตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

    นายกฯ เน้นย้ำการส่งเสริมความเชื่อมโยง ความร่วมมือด้านสาธารณสุข และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

    ที่มาภาพ
    :https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/6355

    วันที่ 9 ธันวาคม ณ อาคารภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วม การประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS ) ครั้งที่ 9 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกอีก 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม และเลขาธิการอาเซียน โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญการประชุม ดังนี้

    การประชุม ACMECS ครั้งที่ 9 เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ 3 สาขาหลักของแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี ได้แก่ (1) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ (Seamless Connectivity) (2) การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronized ACMECS Economies) และ (3) การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS) นอกจากนี้ ยังมีการติดตามความคืบหน้าของการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS และการมีปฏิสัมพันธ์กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ซึ่งหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากลุ่มแรก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และออสเตรเลีย และในปีนี้ นิวซีแลนด์และอิสราเอลก็จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากลุ่มที่สอง

    ผู้นำสมาชิก ACMECS ยังเห็นพ้องกับหลักการใหม่ที่ไทยเสนอ เรื่อง “อนุภูมิภาคที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้” ให้เป็นอีกหนึ่งสาขาความร่วมมือภายใต้แผนแม่บท ACMECS เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงภาพลักษณ์ของอนุภูมิภาค และส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และเต็มไปด้วยโอกาสที่หุ้นส่วนภายนอกจะเข้ามาร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้รับรอง “ปฏิญญาพนมเปญ” ซึ่งให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมยุคหลังโควิด-19 เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตในอนาคตและความท้าทายรูปแบบใหม่ต่าง ๆ การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข และการบูรณาการห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเน้นย้ำการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอ 3 ประเด็น ดังนี้

    ประการแรก “การพัฒนาความเชื่อมโยงในทุกมิติ” ทั้งด้าน hardware software และ digital ที่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เป็นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในในระยะยาว โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนข้ามพรมแดน การเร่งปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ Micro SMEs เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ สร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างกัน

    สำหรับการขับเคลื่อนแผนแม่บท ACMECS ในระยะต่อไป ต้องยกระดับความร่วมมือด้านสาธารณสุขให้สูง และยั่งยืนมากขึ้น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แจ้งที่ประชุมว่า ไทยได้ลงนามกับบริษัทแอสทราเซเนกาเพื่อจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 คาดว่าจะได้รับอนุญาตให้ใช้และผลิตได้ในช่วงกลางปี 2564 และไทยพร้อมสนับสนุนให้ยาและวัคซีนดังกล่าวเป็นสินค้าสาธารณะเพื่อให้ประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ในราคาที่สมเหตุสมผล

    ประการที่สอง “การจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS” เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม และตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของอนุภูมิภาค โดยขอความร่วมมือให้แต่ละประเทศเร่งดำเนินกระบวนการภายในให้แล้วเสร็จ และยืนยันคำมั่นที่จะสนับสนุนเงินจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่กองทุน เพื่อใช้ขับเคลื่อนโครงการที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและต่ออนุภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยยังส่งเสริมการจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACMECS เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล จัดทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนโครงการ และประสานการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

    ประการที่สาม “การจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACMECS” ต้องมีกลไกกลางเพื่อทำหน้าที่ผู้ประสานงานหลัก ทั้งในกลุ่ม ACMECS เอง และระหว่าง ACMECS กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณสำคัญให้ประชาคมโลกได้รับทราบว่า ในวันที่โลกเผชิญกับความท้าทายที่ยากจะควบคุม ACMECS พร้อมที่จะผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างแข็งขัน มีบทบาทที่สร้างสรรค์ และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบ

    ทั้งนี้ ในการปิดประชุม นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาได้ส่งมอบตำแหน่งประธานให้นายกรัฐมนตรี สปป. ลาวในฐานะประธานวาระต่อไป (วาระปี 2564-2566)