ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup วงเงินสำรองสภาพคล่องอาเซียน+3 มีผลแล้ว-เวียดนามใช้กม.ลงทุน-กิจการใหม่ 1 ม.ค. 64

ASEAN Roundup วงเงินสำรองสภาพคล่องอาเซียน+3 มีผลแล้ว-เวียดนามใช้กม.ลงทุน-กิจการใหม่ 1 ม.ค. 64

28 มิถุนายน 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 21-27 มิ.ย. 2563

  • วงเงินสำรองสภาพคล่องอาเซียน+3 มีผลแล้ว 23 มิ.ย. 63
  • ไทยเสนอ 3 แนวทางขับเคลื่อนอาเซียนยุคหลังโควิด-19
  • เวียดนามใช้กฎหมายลงทุน-กิจการฉบับใหม่ 1 ม.ค. 64
  • อินโดนีเซียเดินหน้าสร้างเมืองหลวงใหม่
  • อินโดนีเซียโยกเงินเข้าแบงก์รัฐหนุนเศรษฐกิจฟื้น
  • กัมพูชาปรับราคาตั๋วนครวัดขายต่างชาติ
  • วงเงินสำรองสภาพคล่องอาเซียน+3 มีผลแล้ว 23 มิ.ย. 63

    นายคาร์ลอส โดมิงเกซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฟิลิปปินส์
    ที่มาภาพ: https://www.dof.gov.ph/about/secretarys-page/

    วงเงินสำรองสภาพคล่อง หรือความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราพหุภาคีภายใต้ชื่อ “มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM)” สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน+3 รวมทั้งเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ฉบับปรับปรุง ได้มีผลใช้แล้วเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2563 หลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางของทุกประเทศสมาชิกอาเซียน+3 คือ อาเซียน เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้ลงนามเรียบร้อยแล้ว จากการเปิดเผยของ นายคาร์ลอส โดมิงเกซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฟิลิปปินส์

    ฟิลิปปินส์ได้ลงนามใน CMIM ฉบับปรับปรุงปีที่แล้ว ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง วางแผน และอุตสาหกรรม ของเมียนมา ได้ลงนามในวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา จึงเป็นลงนามครบถ้วนทั้ง 27 รายเพื่อให้ CMIM มีผลบังคับใช้

    จากการลงนามใน CMIM ฟิลิปปินส์สามารถขอเงินช่วยเหลือได้ถึง 22.76 พันล้านดอลลาร์ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการชำระเงิน และยังสามารถช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้ประเทศสมาชิก CMIM ได้เช่นกัน

    CMIM เป็นกลไกในการเสริมสภาพคล่องระยะสั้นในกรณีที่ประเทศสมาชิกประสบปัญหาดุลการชำระเงิน และเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือด้านการเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ผ่านทางการแลกเปลี่ยนทุนสำรองระหว่างประเทศ ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐกับเงินสกุลท้องถิ่นของสมาชิกที่ขอรับความช่วยเหลือ

    อาเซียน+3 ได้ร่วมกันจัดตั้งกลไกความช่วยเหลือทางการเงินเรียกว่า มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative: CMI) ขึ้นในปี 2543 และได้ร่วมกันพัฒนา CMI ต่อเนื่อง จนปี 2553 ได้จัดทำความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราพหุภาคีฉบับเดียวระหว่างสมาชิกทั้ง 13 ประเทศ รวมทั้งเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ภายใต้ชื่อ มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ต่อมา ปี 2557 อาเซียน+3 ได้เพิ่มวงเงินของ CMIM อีก 1 เท่าเป็น 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินสมทบจากประเทศอาเซียน 20% และจากจีน เกาหลี ญี่ปุ่น 80% โดยไทยมีวงเงินผูกพันเงินทุนสำรองนี้ 9.104 พันล้านดอลลาร์

    สมาชิกสามารถขอรับความช่วยเหลือจาก CMIM ได้ 30% ของวงเงินสูงสุดที่จะได้รับการช่วยเหลือ โดยไม่เชื่อมโยงกับเงื่อนไขการขอความช่วยเหลือจาก IMF

    นอกจากนี้ CMIM ได้เพิ่มความช่วยเหลือในการป้องกันการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ (CMIM Precautionary Line: CMIM-PL) จากเดิมที่จะให้ ความช่วยเหลือเฉพาะเมื่อประสบวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว (CMIM Stability Facility: CMIM-SF) เท่านั้น

    ไทยเสนอ 3 แนวทางขับเคลื่อนอาเซียนยุคหลังโควิด-19

    นายกรัฐมนตรีร่วมการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 36 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล 26 มิ.ย. 2563
    ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/5413

    วันที่ 26 มิ.ย. 2563 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมประชุมด้วย

    ในช่วงแรก นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้กล่าวเปิดการประชุม ซึ่งมีใจความสำคัญโดยสรุปดังนี้ เศรษฐกิจของอาเซียนใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) แล้ว 6 ฉบับ กับ 7 หุ้นส่วนใหญ่ของโลก ทำให้อาเซียนได้รับการยอมรับว่าเป็นภูมิภาคที่มีอำนาจของโลก จากความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่โลกไม่เคยประสบมาก่อน อาเซียนจำต้องใช้โอกาสและประสิทธิภาพที่มีให้เป็นประโยชน์สูงสุด

    1. สันติภาพ ความมั่นคง ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และความรุ่งเรือง จะยังคงเป็นเป้าหมาย และเอกลักษณ์ที่สำคัญของอาเซียน
    2. ความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนแบบไร้รอยต่อ
    3. ความสามารถในการฟื้นตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
    4. การเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง

    สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในอนุภูมิภาคอาเซียน

    และนายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

    นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ไทยและประชาคมโลกอยู่ในช่วงกำลังปรับตัวกับชีวิตวิถีใหม่ และในขณะเดียวกันก็กำลังรับมือกับสภาพภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ผันผวนมากขึ้น ส่งผลต่อความมั่นคงและเสถียรภาพระหว่างประเทศ ซึ่งอาเซียนควรร่วมมือกันเสริมสร้างระบบภูมิภาคนิยมให้เข้มแข็ง และส่งเสริมการช่วยเหลือกันในระดับโลก

    โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอ 3 แนวทาง เพื่อขับเคลื่อนอาเซียนในยุคหลังโควิด-19

    หนึ่ง เร่งดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (MPAC) 2025 และส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่ออาเซียนที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นอย่างแท้จริง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าอาเซียนควรเริ่มพิจารณาแนวทางการผ่อนคลายมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง เพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจและการเดินทางระหว่างกันของประชาชน

    สอง เร่งขับเคลื่อนบูรณาการทางเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน และเร่งลงนาม RCEP ภายในปีนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายในช่วยให้อาเซียนฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพราะเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะเพิ่มมูลค่าจีดีพีของอาเซียนให้สูงขึ้น ตลอดจนต้องต่อยอดจุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมตาม “โมเดลเศรษฐกิจ BCG”

    สาม เร่งเตรียมความพร้อมต่อความผันผวน และความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นในระยะยาว โดยนายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนทั้งสามเสาหลักเริ่มจัดทำแผนฟื้นฟูเพื่อวางแนวทางให้แก่อาเซียนในอนาคต โดยต่อยอดจากความสำเร็จต่างๆ และควรครอบคลุมประเด็นความมั่นคงทางสาธารณสุข เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร เสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ และการป้องกันแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ด้วย

    ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า อาเซียนต้องเร่งดำเนินการเชิงรุกเตรียมการในทุกมิติ ต้องยึดมั่นแนวทางการมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติ โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ร่วมรับรอง “วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง” พร้อมแสดงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมเสริมสร้างความร่วมมือและความเป็นปึกแผ่นในอาเซียน ควบคู่ไปกับการแสวงหาความเป็นหุ้นส่วนกับภาคีภายนอก

    เวียดนามผ่านกฎหมายลงทุน-กฎหมายกิจการฉบับใหม่

    ที่มาภาพ: https://www.vir.com.vn/real-foreign-investment-and-ma-capital-up-despite-nominal-drop-64849.html

    เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2563 ที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติของเวียดนามได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ความเห็นชอบกฎหมาย 2 ฉบับ คือ กฎหมายการลงทุน (Law on Investment 2019) และกฎหมายกิจการ (Law on Enterprises 2019) โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2564 แทนกฎหมายฉบับเดิม (Law on Investment no. 67/2014/QH13) และ กฎหมายกิจการ (Law on Enterprises no. 68/2014/QH13) ซึ่งสมัชชาแห่งชาติได้อนุมัติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557

    DFDL สำนักงานกฎหมายได้ให้รายละเอียดว่า

    การเปลี่ยนแปลงหลักในกฎหมายการลงทุน 2019 เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่จะลงทุนในเวียดนาม ขั้นตอนการอนุมัติการควบรวมกิจการ (M&A) สำหรับนักลงทุนต่างชาติเพื่อซื้อหุ้น/การสนับสนุนเงินทุนในองค์กรเศรษฐกิจ ประเภทของโครงการลงทุนที่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจนโยบายการลงทุน โดยเฉพาะ

    1) ปรับปรุงรายการประเภทธุรกิจที่มีเงื่อนไข: ภายใต้กฎหมายลงทุน 2019 อนุญาโตตุลาการธุรกิจ แฟรนไชส์ และบริการโลจิสติกส์ จะไม่ถือว่าเป็นสายธุรกิจที่มีเงื่อนไขอีกต่อไป ส่วนประเภทธุรกิจที่มีเงื่อนไขใหม่ ได้แก่ บริการด้านสถาปัตยกรรม, ศูนย์ข้อมูล, บริการระบุตัวตนและตรวจสอบสิทธิ์ทางอิเล็กทรอนิกส์, บริการกระจายข่าวนำเข้า, การลงทะเบียนเรือประมง และการฝึกอบรมลูกเรือเรือประมง นอกจากนี้ กฎหมายลงทุน 2019 พิจารณารายการของประเภทธุรกิจที่จำกัดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงประเภทธุรกิจที่ต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้ลงทุน หรือประเภทธุรกิจที่ต่างประเทศลงทุนได้ภายใต้เงื่อนไข รัฐบาลจะประกาศรายชื่อประเภทธุรกิจอีกครั้ง

    2) เกณฑ์ใหม่การถือหุ้นของของต่างประเทศ กฎหมายลงทุน 2019 ลดเพดานการถือเป็นเจ้าของของต่างชาติลงจาก 51% เป็น 50% เพื่อตรวจสอบว่าองค์กรเศรษฐกิจที่มีต่างชาติเป็นเจ้าของได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนการลงทุนหรือไม่ เงื่อนไขเหล่านี้ใช้กับองค์กรเศรษฐกิจที่ใช้เงินทุนต่างชาติจัดตั้ง การใส่เงินทุน การได้มาซึ่งหุ้น หรือการลงทุนบนพื้นฐานของสัญญาความร่วมมือทางธุรกิจ

    3) การอนุมัติการลงทุนควบกิจการของต่างชาติ กฎหมายลงทุน 2019 ได้ยกเลิกการอนุมัติการควบรวมกิจการ หากการควบรวมกิจการไม่ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในบริษัทเป้าหมายเพิ่มขึ้น แม้บริษัทเป้าหมายนั้นดำเนินธุรกิจในภาคธุรกิจที่ต้องกำหนดเงื่อนไขการเข้ามาประกอบธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติ กรณีการควบรวมกิจการส่งผลให้สัดส่วนการเป็นเจ้าของของนักลงทุนต่างชาติในบริษัท เป้าหมายและนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นมากกว่า 50% ของหุ้นหรือทุนจดทะเบียนหลังจากควบรวม การควบรวมกิจการนั้นก็จะต้องได้รับความเห็นชอบ

    4) โครงการการลงทุนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนโยบายการลงทุน กฎหมายลงทุน 2019 จะเพิ่มประเภทของโครงการลงทุนที่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการลงทุน หรือนายกรัฐมนตรี โครงการเพิ่มเติมภายใต้การตัดสินใจของนโยบายการลงทุนนี้ รวมถึงโครงการที่ลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติในพื้นที่ที่มีความกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติและโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและเขตเมือง

    สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของกฎหมายกิจการปี 2019 ได้แก่ การลดขั้นตอนการบริหารจัดการของบริษัท ขยายการคุ้มครองผู้ถือหุ้นส่วนน้อยและลดความซับซ้อนของโครงสร้างการจัดการของบริษัทจำกัดที่มีผู้ก่อตั้งคนเดียว

    1) ยกเลิกการใช้ตราประทับขององค์กรและรายงานเกี่ยวกับผู้บริหาร กฎหมายกิจการ 2019 ลดขั้นตอนการบริหารองค์กรโดยการยกเลิก หนึ่ง การใช้ตราประทับขององค์กร และสอง รายงานการเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริหารองค์กร

    2) การคุ้มครองผู้ถือหุ้นส่วนน้อย-ลดเกณฑ์ กฎหมายกิจการ 2019 อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นหรือกลุ่มผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 5% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดมีสิทธิขอให้เรียกประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในบางกรณีและขอให้คณะกรรมการทำการตรวจสอบเพื่อตรวจสอบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและการจัดการของบริษัท ซึ่งสัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายย่อยนี้ลดลงจาก 10% จากเดิมที่กำหนดไว้ในกฎหมายกิจการ 2014

    3) ยกเลิกข้อกำหนดให้มีผู้ตรวจสอบในบริษัทจำกัดที่มีผู้ก่อตั้งรายเดียว ภายใต้กฎหมายกิจการ 2019 บริษัทจำกัดที่มีผู้ก่อตั้งรายเดียวไม่จำเป็นต้องมีผู้ตรวจสอบอีกต่อไป

    อินโดนีเซียเดินหน้าสร้างเมืองหลวงใหม่

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/news/2020/06/24/government-to-start-construction-of-new-capital-city-next-year.html

    รัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มที่จะก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ในพื้นที่เปนายัม ปาเซร์ ด้านตอนเหนือ ในกาลีมันตันตะวันออก ตามที่กำหนดไว้ในปี 2564 แม้เศรษฐกิจชะลอตัวจากการระบาดของโควิด-19

    “เรายังคงเดินหน้าเป็นระยะตามแผน เรากำลังดูการออกแบบพื้นฐานของเมืองหลวงใหม่และร่างกฎหมายการโยกย้ายกับสภาผู้แทนราษฎร” นายบาซูกิ ฮาดีมัลโจโน รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสาธารณะและการเคหะกล่าว และว่า “เราคาดว่าปีหน้าจะเริ่มการก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ได้” พร้อมกับเสริมว่า รัฐบาลได้ประสานงานกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในโครงการโยกย้ายเมืองหลวง

    “รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการคนเดียวได้ในโครงการนี้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับ ภาคเอกชนจากประเทศอื่นๆ” โดยเมืองหลวงใหม่จะเป็นเมืองสมาร์ทซิตีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    นายบาซูกิกล่าวว่า ในเดือนเมษายนกระทรวงไม่ได้ตั้งงบส่วนหนึ่งของปี 2563 สำหรับการก่อสร้างในช่วงเริ่มต้น ขณะที่รัฐมนตรีประสานงานกระทรวงกิจการทางทะเลและการลงทุน นายลูฮุต ปันด์จาอิตัน กล่าวว่า รัฐบาลไม่อยู่ในสถานะที่จะบอกได้ว่าจะเดินหน้าโครงการย้ายเมืองหลวงเพราะยังจัดการกับการระบาดของไวรัสในประเทศ

    รัฐบาลยังคงก่อสร้างเขื่อนเซพากู เซมอย แหล่งน้ำสำหรับเมืองหลวงใหม่ตามแผน โดยจัดสรรเงิน 676.72 พันล้านรูเปียะห์จากงบประมาณ 2563 สำหรับการก่อสร้างเขื่อนขนาด 378 เฮกตาร์ ซึ่งกระทรวงกิจการสาธารณะและการเคหะกำลังดำเนินการจัดซื้อที่ดิน และคาดว่าเขื่อนจะกักน้ำได้ถึง 11.6 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้รัฐบาลมีแผนจะสร้างอีก 3 เขื่อนรอบเมืองหลวงใหม่ด้วย

    อินโดนีเซียโยกเงินเข้าแบงก์รัฐหนุนเศรษฐกิจ

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/news/2020/05/05/state-banks-say-debt-relief-program-could-harm-bottom-line.html
    รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศว่าจะใส่เงินจำนวน 30 ล้านล้านรูเปียะห์ไปยังธนาคารของรัฐในกลุ่มฮิมบารา (Himbara) เพื่อเป็นช่องทางการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

    กลุ่มฮิมบาราประกอบด้วย ธนาคารบีอาร์ไอ (Bank Rakyat Indonesia: BRI) แบงก์เนการาอินโดนีเซีย (Bank Negara Indonesia: BNI) แบงก์แมนดิริ (Bank Mandiri) และแบงก์ทาบังกัน เนการา (Bank Tabungan Negara: BTN)

    ศรีมูลยานี อินทราวตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า รัฐบาลจะอัดเงินจากภาครัฐที่ฝากไว้กับธนาคารกลาง (Bank Indonesia: BI) เข้าไปยังธนาคารรัฐในกลุ่มฮิมบารา ซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะไม่ใช้เงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือเงินตราต่างประเทศ เงินก้อนนี้จะอยู่ในบัญชีเงินฝากในอัตราดอกเบี้ยระดับ 80% ของอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของธนาคารกลางที่ปัจจุบันอยู่ที่ 4.25%

    “เราคาดว่าการดำเนินการนี้จะสนับสนุนให้ธนาคารใช้มาตรการหนุนภาคเศรษฐกิจจริงด้วยขยายเงินกู้ไปยังภาคธุรกิจ ประชาชนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ” โดยจะมีกระทรวงรัฐวิสาหกิจคอยติดตามการดำเนินงาน

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า คาดว่า ในระยะต่อไปรัฐบาลจะสามารถจัดสรรเงินไปฝากกับธนาคารเอกชนที่มีฐานะแข็งแกร่งได้ หากการฝากเงินกับธนาคารรัฐในช่วงแรกประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

    ผู้บริหารของธนาคารบีอาร์ไอ นายซูนาร์โซ กล่าวว่า การฝากเงินของรัฐบาลจะทำให้ธนาคารมีสภาพคล่องสูงขึ้น และธนาคารมีแผนจะขยายสินเชื่อ 3 เท่าของเงินที่ได้รับเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าจะปล่อยเงินกู้ในชนบทราว 50% และเจาะไปในกลุ่ม MSMEs ในธุรกิจอาหารและเกษตร

    ด้านผู้บริหารแบงก์มันดิริกล่าวว่า ธนาคารได้ขยายสินเชื่อในแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังจะเปิดบริการให้เร็วๆ นี้ รวมไปถึงภาคธุรกิจการค้าและอื่นๆ เพื่อให้ธุรกิจ MSMEs ฟื้นตัว

    รัฐบาลได้จัดสรรเงิน 82.2 พันล้านบาทไปเสริมสภาพคล่องแก่ธนาคาร เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSMEs) และธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมากซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นเงินส่วนหนึ่งของงบที่ตั้งไว้ 695.2 ล้านล้านรูเปียะห์เพื่อดูแลด้านสาธารณสุขและเยียวยาเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัส

    กระทรวงสหกรณ์และเอสเอ็มอีรายงานในปลายเดือนเมษายนว่า ธุรกิจขนาดเล็กมียอดขายลดลง 57% ในช่วงการระบาดของไวรัส ซึ่งธุรกิจขนาดเล็กมีสัดส่วนราว 60% ของระบบเศรษฐกิจ

    ข้อมูลจากสำนักงานกำกับบริการการเงิน (Financial Services Authority: OJK) ธนาคารอินโดนีเซียได้ปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ไปแล้ว 6.27 ล้านรายรวมวงเงิน 655.8 ล้านล้านรูเปียะห์ และธนาคารยังมีสภาพคล่องอีกมาก โดยมีเงินฝากที่ธนาคารกลาง 440 ล้านล้านรูเปียะห์และ 940 ล้านล้านในรูปพันธบัตรรัฐบาล

    กัมพูชาปรับราคาตั๋วนครวัดขายต่างชาติ

    กัมพูชาได้ปรับราคาตั๋วเข้าชมนครวัดที่จำหน่ายให้กับชาวต่างชาติจาก 100 ดอลลาร์เป็น 200 ดอลลาร์ โดยชาวต่างชาติที่พักอยู่ในกัมพูชาเป็นเวลานานสามารถซื้อตั๋วแบบระยะเวลายาวได้สำหรับการเข้าชมนครวัด แต่ต้องแสดงพาสปอร์ตที่มีรูปและวีซ่าไม่ต่ำกว่า 3 เดือน