ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > สิงคโปร์เปิดโรงกลั่นน้ำทะเลแห่งที่ 4 รับมือภัยคุกคาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สิงคโปร์เปิดโรงกลั่นน้ำทะเลแห่งที่ 4 รับมือภัยคุกคาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

19 กรกฎาคม 2020


ที่มาภาพ: https://www.businesstimes.com.sg/companies-markets/keppel-desalination-plant-in-marina-east-begins-commercial-operations

โรงกลั่นน้ำทะเลแห่งที่ 4 หรือ Keppel Marina East Desalination Plant (KMEDP) ของสิงคโปร์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา

บริษัท Marina East Water ซึ่งถือหุ้นเต็มโดย Keppel Infrastructure รับผิดชอบบริหารโครงการภายใต้สัญญาสัมปทานแบบเป็น DBOO คือ design ออกแบบโครงการ, build ลงทุนก่อสร้าง, own เป็นเจ้าของตามอายุของสัมปทาน และ operate เป็นผู้ประกอบการแล้วนำรายได้ส่งรัฐ ที่ได้ตกลงไว้กับคณะกรรมการสาธารณูปโภคสาธารณะ (Public Utilities Board — PUB) เป็นเวลา 25 ปี จากปี 2020-2045

แถลงการณ์รวมของ Keppel Corp และ PUB ระบุว่า KMEDP เป็นโรงกลั่นขนาดใหญ่แห่งแรกที่มีระบบกลั่น 2 แบบ โดยมีกำลังการผลิตน้ำจืดได้ถึง 137,000 ลูกบาศก์เมตร หรือราว 30 ล้านแกลลอนต่อวัน

KMEDP เป็นโรงกลั่นแห่งที่ 2 ที่ก่อสร้างและบริหารโดย Keppel ภายใต้สัญญาสัมปทานแบบ DBOO ซึ่งโรงกลั่นแห่งแรกคือ Keppel Seghers Ulu Pandan NEWater Plant

การที่ KMEDP ตั้งอยู่ในมารีนาอีสต์ ทำให้สามารถจัดการได้ทั้งน้ำทะเลและน้ำจืดที่ดึงมาจากอ่างเก็บน้ำ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์น้ำในขณะนั้น

“โรงกลั่นใหม่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับแหล่งน้ำของสิงคโปร์ในขณะที่เผชิญกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” แถลงการณ์ระบุ

ในช่วงหน้าแล้ง โรงกลั่นจะดึงน้ำจากทะเลมากลั่นเป็นน้ำจืด แต่ในหน้าฝน KMEDP จะใช้น้ำฝนที่กักเก็บในอ่างเก็บน้ำเพื่อผลิตเป็นน้ำบรรจุขวด ซึ่งใช้พลังงานที่น้อยกว่าและกระบวนการกลั่นที่สั้นกว่าการกลั่นน้ำทะเล

ซีอีโอของ PUB นายอึ้ง จู ฮี กล่าวว่า น้ำจืดที่ได้จากการกลั่นน้ำทะเลเป็น 1 ใน 4 ของแหล่งน้ำ หรือ Four National Tap และเป็นแหล่งที่ไม่มีวันหมด ต่างจากแหล่งน้ำอื่นๆ และ KMEDP ยังเสริมความมั่นคงด้านน้ำของสิงคโปร์

สิงคโปร์ได้วางรากฐานอุปทานในประเทศที่ยั่งยืน เพื่อรองรับสำหรับความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นด้วยกลยุทธ์ 4 แหล่งหรือ “Four National Tap” ประกอบด้วย

    1) นำเข้าจากมาเลเซีย
    2) แหล่งน้ำในประเทศ การกักเก็บน้ำฝน และอ่างเก็บน้ำ
    3) การแปลงน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด
    4) นำน้ำใช้แล้วทิ้งมาบำบัด ในโครงการ NEWater

นายอ่อง เตียง กวน ซีอีโอของ Keppel Infrastructure กล่าวว่า โรงกลั่นใหม่จะเป็นแหล่งรายได้ที่สม่ำเสมอ เพิ่มความสามารถในการสร้างคุณค่าให้ผู้ถือหุ้นในระยะยาว

นายอ่องกล่าวว่า ในการทดสอบรอบสุดท้ายและการว่าจ้างมีความท้าทายบางด้าน เนื่องจากกำลังคนลดลงในช่วงการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม Keppel ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ PUB และผู้รับเหมาเพื่อก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ เพื่อส่งมอบโครงการที่ประสบความสำเร็จ

โรงกลั่นแห่งนี้ผนวกเข้ากับสวนสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยมีฉากหลังเป็นย่านธุรกิจของสิงคโปร์ขนานกับเส้นทางปั่นจักรยาน Eastern Coastal Park Connector ที่เชื่อมพื้นที่นันทนาการของสวนสาธารณะอีสต์โคสต์และการ์เดนบายเดอะเบย์

ห้องกลั่นที่มีอุปกรณ์เครื่องมือทั้งหมดตั้งอยู่ใต้ดินสามารถดูได้ผ่านระบบส่วนตัว ส่วนดาดฟ้าเป็นพื้นที่สีเขียวเปิดโล่งราว 20,000 ตารางเมตรสำหรับกิจกรรมชุมชนและนันทนาการ และยังช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากเกาะความร้อนในเมือง

นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่ เช่น บ่อเก็บน้ำฝน และระบบการจัดการน้ำฝน

ในเว็บไซต์ของ PUB ระบุว่าการกลั่นน้ำทะเล เช่น NEWater (โรงงานผลิตน้ำจากแหล่งน้ำทิ้ง) เป็นแหล่งน้ำที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ช่วยให้สิงคโปร์รับมือกับภัยคุกคามของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น PUB ได้หันมากลั่นน้ำทะเลให้กลายเป็นน้ำดื่ม โดยใช้เทคโนโลยีเมมเบรนขั้นสูง และยังคงลงทุนในการวิจัยและเทคโนโลยีเพื่อค้นหาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการกลั่นน้ำทะเล

ที่มาภาพ: https://www.pub.gov.sg/watersupply/fournationaltaps/desalinatedwater