ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเทศที่ประสบความสำเร็จ จะสร้าง “มหาเศรษฐีที่พึงประสงค์” (Good Billionaire)

ประเทศที่ประสบความสำเร็จ จะสร้าง “มหาเศรษฐีที่พึงประสงค์” (Good Billionaire)

27 กรกฎาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

Jeff Bezos เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของโลก มีทรัพย์สิน 113 พันล้านดอลลาร์ เจ้าของ Amazon ยักษ์ใหญ่เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ ที่มาภาพ : https://learnaboutus.com/jeff-bezos-puts-another-24-billion-in-his-bank-account-as-amazon-stock-hits-record-high.html

ในเดือนมีนาคม 2020 นิตยสาร Forbes ได้จัดอันดับมหาเศรษฐีโลกปี 2020 โดยกล่าวว่า มหาเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุดของโลก ก็ไม่ได้มีภูมิคุ้มกันจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 มหาเศรษฐี 2,095 คนในโลก มีจำนวน 51% ที่ทรัพย์สินลดลงจากปีที่แล้ว 700 พันล้านดอลลาร์ แต่คนเหล่านี้ก็ยังมีทรัพย์สินรวมกันกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับมูลค่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกับเยอรมันรวมกัน

Jeff Bezos เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของโลก มีทรัพย์สิน 113 พันล้านดอลลาร์ เขาเป็นเจ้าของ Amazon ยักษ์ใหญ่เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 Amazon จ้างงานเพิ่ม 1 แสนคน เพราะคนกักตัวอยู่กับบ้าน และหันมาซื้อสินค้าออนไลน์ Bill Gates อยู่อันดับ 2 ส่วนอันดับ 3 คือ Bernard Arnault ที่ครอบครัวเป็นเจ้าของแบรนด์เนมสินค้าฟุ่มเฟือยชั้นนำของโลก

นิตยสาร Forbes จัดอันดับมหาเศรษฐีโลก มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ปรากฏว่า ทั้งความมั่งคั่งและจำนวนของมหาเศรษฐี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ช่วงปี 2009-2019 แม้เศรษฐกิจโลกจะอ่อนตัว จำนวนมหาเศรษฐีในโลกกลับเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 1,011 คนเป็น 2,153 คน ความมั่งคั่งรวมกันของคนเหล่านี้ เพิ่มจาก 3.6 ล้านล้านดอลลาร์ เป็น 8.7 ล้านล้านดอลลาร์

ปัญหาของความเหลื่อมล้ำ

ในอดีต ผู้คนในวงการต่างๆจะมองว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นปัญหาทางสังคม ไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบัน งานวิจัยต่างๆชี้ให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ 3 ด้านด้วยกัน คือ

    1) เป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายเพื่อบริโภคของคนส่วนใหญ่
    2) ส่งเสริมให้เกิดการคอร์รัปชัน
    3) เป็นชนวนสร้างความไม่พอใจทางการเมือง จนเป็นเหตุทำให้เกิดผู้นำแบบประชานิยมขึ้นมา

หากรายได้ประชาชาติตกไปอยู่กับคนที่มีฐานะร่ำรวยเพิ่มมากขึ้น คนพวกนี้มีแนวโน้มที่จะเก็บออม มากกว่าที่จะนำไปใช้จ่าย หรือหากจะนำไปใช้จ่าย ก็มีสัดส่วนที่น้อย แต่กับคนยากจนหรือคนชั้นกลาง หากว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะนำไปใช้จ่ายในสัดส่วนที่มากกว่า ประเด็นในจุดนี้อธิบายว่า ทำไมความเหลื่อมล้ำเป็นเหตุให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง

นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำยังส่งเสริมการจัดสรรเงินลงทุนไปในทางที่ผิด แทนที่จะถูกนำไปลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ เป็นอุตสาหกรรมของอนาคต แต่กลับถูกนำไปลงทุนในธุรกิจ “ทุนนิยมแบบพวกพ้อง” ดังนั้น ความมั่งคั่งที่กระจุกตัวในกลุ่มคนชั้นนำ จึงเป็นชนวนทำให้เกิดกระแสประชานิยม ที่ต่อต้านการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ รัฐบาลประชานิยมหันไปใช้นโยบายต่อต้านการเติบโต

ที่มาภาพ : https://ruchirsharma.com/books/the-10-rules-of-successful-nations/

Ruchir Sharma นักวิเคราะห์ของ Morgan Stanley Investment Management เขียนไว้ในหนังสือ The 10 Rules of Successful Nations (2020) ว่า 1 ใน 10 ปัจจัยที่ทำให้ประเทศประสบความสำเร็จ คือ การสร้าง “มหาเศรษฐีที่พึงประสงค์” (good billionaire) ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น เพราะสังคมมีมหาเศรษฐี ที่มั่งคั่งจากธุรกิจที่ดีงาม วิธีการของ Ruchir Sharma ที่ใช้ติดตามความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คือการอ่านรายชื่อมหาเศรษฐีของโลก ที่นิตยสาร Forbes จัดทำขึ้นมาทุกปี

ประเด็นสำคัญที่ Ruchir Sharma สนใจคือ (1) สัดส่วนความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี เมื่อเทียบกับมูลค่าเศรษฐกิจโดยรวม หรือ GDP ของประเทศ และ (2) ความมั่งคั่งของพวก “มหาเศรษฐีที่ไม่พึงประสงค์” (bad billionaire) ที่ร่ำรวยขึ้นมาจากการทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ไม่เกิดผลิตภาพ อุตสาหกรรมที่เป็นตัวถ่วงความเจริญเติบโต แต่สำหรับประเทศที่ประสบความสำเร็จ มักจะสร้าง “มหาเศรษฐีที่พึงประสงค์” ขึ้นมา

หนังสือ The 10 Rules of Successful Nations กล่าวว่า ความมั่งคั่งของพวกมหาเศรษฐีชาวจีน มีสัดส่วนเพียง 1% ของเศรษฐกิจจีนทั้งหมด แต่กรณีของอินเดีย จะมีสัดส่วนสูงถึง 12% ของ GDP อินเดีย เจ้าหน้าที่อินเดียมักจะอธิบายว่า ความเหลื่อมล้ำและคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติของประเทศกำลังพัฒนา ในต้นศตวรรษที่ 20 อเมริกาก็มีพวกมหาเศรษฐีที่มั่งคั่ง จากทำธุรกิจผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม โดยเรียกคนพวกนี้ว่า Robber Baron แต่เมื่อเศรษฐกิจอินเดียชะลอตัวลง เจ้าหน้าที่อินเดียเริ่มมองเห็นแล้วว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ประเภทของมหาเศรษฐี

Ruchir Sharma กล่าวว่า ระดับความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีแต่ละคน ไม่ช่วยทำให้เห็นจุดอ่อนของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มีต่อสังคม แต่จะต้องพิจารณาดูว่า คนๆนั้นเป็นมหาเศรษฐีประเภทไหน ประเภทที่พึงประสงค์ หรือที่ไม่พึงประสงค์

ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีที่ไม่พึงประสงค์ เกิดจากการทำธุรกิจ ที่เรียกว่า “อุตสาหกรรมแสวงหาค่าเช่า” หรือ Rent-Seeking Industry

ในทางเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจอุตสาหกรรม Rent-Seeking หมายถึง การประกอบธุรกิจที่พยายามทำให้ตัวเองมีรายได้มากขึ้น โดยที่ไม่ได้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เปรียบเหมือนกับขนมเค้กที่มีขนาดเท่าเดิม แต่คนพวกนี้ต้องการให้ตัวเองมีส่วนแบ่งมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การเรียกค่าคุ้มครองจากร้านค้า กลุ่มธุรกิจผูกขาดฮั้วกันขึ้นราคาสินค้า การใช้อิทธิพลการเมืองเพื่อปกป้องธุรกิจของตัวเอง เช่น กดดันให้รัฐลดภาษี การประกอบธุรกิจแบบ “แสวงหาค่าเช่า” จึงไม่ได้สร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา แต่กลับไปเพิ่มต้นทุนให้กับสังคมแทน

Ruchir Sharma เห็นว่า อุตสาหกรรม “แสวงหาค่าเช่า” ได้แก่ ก่อสร้าง เหล็ก อะลูมิเนียม น้ำมัน ก๊าซ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่การประกอบธุรกิจ มาจากการขุดทรัพยากรจากพื้นดิน อุตสาหกรรมเหล่านี้ จะหาทางเก็บค่าเช่าให้ได้มากที่สุด จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัด หากจำเป็นก็ติดสินบนพวกเจ้าหน้าที่รัฐ การสร้างความมั่งคั่งจากการเก็บค่าเช่า จึงไม่ได้ใช้นวัตกรรมทางเศรษฐกิจใดๆ

ตรงกันข้าม พวกมหาเศรษฐีที่พึงประสงค์ จะทำธุรกิจที่ดีมีประโยชน์ เป็นธุรกิจที่มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตด้านผลิตภาพ (productivity) ทางเศรษฐกิจ หรือผลิตสินค้าที่ผู้บริโภคนิยม เช่น รถยนต์ หรือสมาร์ทโฟน อุตสาหกรรมที่ดียังประกอบด้วยเทคโนโลยี อุตสาหกรรมต่างๆ ยารักษาโรค โทรคมนาคม การค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ และอุตสาหกรรมบันเทิง เป็นต้น

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มหาเศรษฐีที่ไม่พึงประสงค์ จะเป็นเจ้าของความมั่งคั่งของสังคม ในสัดส่วนที่ไม่สูง อย่างเช่นในสวีเดน ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี ที่ร่ำรวยจากอุตสาหกรรมแสวงหาค่าเช่า มีสัดส่วน 13% ของ GDP ส่วนความมั่งคั่งที่เหลือมาจากบริษัทของสวีเดนที่มีธุรกิจทั่วโลก เช่น H&M หรือ IKEA บริษัทเหล่านี้มีรายได้ส่วนใหญ่จากต่างประเทศ และก็นำเงินรายได้กลับเข้ามาสวีเดน

ในสหรัฐฯ มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ล้วนครองตำแหน่งนี้มานานนับสิบปี แต่บริษัทธุรกิจที่พวกนี้เป็นเจ้าของ มีส่วนทำให้เศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขัน เช่น บริษัท Microsoft, Berkshire, Oracle และ Walmart เป็นต้น ส่วนมหาเศรษฐีรุ่นใหม่ๆ ก็มาจากธุรกิจไฮเทค เช่น Google, Apple และ Facebook เจ้าของธุรกิจเหล่านี้มีฐานะเหมือนเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้คนศรัทธา ทั้งนี้ก็เพราะคนสมัยใหม่นิยมในสินค้าและบริการของบริษัทเหล่านี้

ในกรณีของรัสเซีย ความมั่งคั่งโดยรวมของพวกมหาเศรษฐี 70% มาจากมหาเศรษฐีประเภทที่ไม่พึงประสงค์ คนรัสเซียทั่วไปจึงมีท่าทีรังเกียรติคนพวกนี้ เพราะเห็นว่าทำธุรกิจที่ไม่ชอบธรรม ในเม็กซิโกก็มีสภาพแบบเดียวกัน ความมั่งคั่งรวมของมหาเศรษฐี เกือบ 70% มาจากพวกที่ไม่พึงประสงค์ มหาเศรษฐีของเม็กซิโกมีชื่อเสียง เพราะความร่ำรวยที่มาจากการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม ทำให้สามารถทำกำไรจากการผูกขาด

แต่กรณีของญี่ปุ่น ความมั่งคั่งของพวกมหาเศรษฐีญี่ปุ่นมีสัดส่วนแค่ 2% ของ GDP ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำสำหรับประเทศที่มีฐานะร่ำรวย ทำให้มีการตั้งข้อข้อสังเกตกันว่า สิ่งนี้ สะท้อนถึงปัญหาเรื้อรังของญี่ปุ่น ที่ไม่สามารถสร้างความั่งคั่งที่สำคัญๆขึ้นมา งานวิจัยทางวิชาการจึงกล่าวว่า การเติบโตทางเศษฐกิจมีแนวโน้มจะชะลอตัว เมื่อสังคมมีความเหลื่อมล้ำสูง รวมทั้งหรือเมื่อสังคมมีความเหลื่อมล้ำต่ำ

นักเศรษฐศาสตร์เคยคิดว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะค่อยๆหายไป เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นในช่วงระยะแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาทำให้คนชนบทเข้ามาทำงานในเมือง ที่มีรายได้ดีกว่าในชนบท และเกิดคนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น แต่ทุกวันนี้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของการพัฒนา ทั้งประเทศที่ยากจน ที่มีรายได้ปานกลาง หรือที่ร่ำรวย

สาเหตุหนึ่งของการเกิดช่องว่างความมั่งคั่งที่เพิ่มมากขึ้น มาจากกระแสโลกาภิวัฒน์ เช่น การย้ายโรงงานไปประเทศค่าแรงถูก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติ ก็ล้วนเป็นปัจจัยกดค่าแรงของคนทำงาน หรือเข้ามาแทนที่การจ้างงานที่ทำโดยคน งานดังกล่าวที่ครั้งหนึ่งเคยยกระดับคนจำนวนมาก ขึ้นมาเป็นคนชั้นกลาง เพราะเหตุนี้ การจับตาและติดตามปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญของทุกประเทศ

เอกสารประกอบ
The 10 Rules of Successful Nations, Ruchir Sharma, W.W. Norton & Company, Inc., 2020.