ThaiPublica > เกาะกระแส > เส้นทางเดิน 1,500 ปีของฮาเกียโซเฟีย จากมหาวิหาร สุเหร่า พิพิธภัณฑ์ กลับคืนสู่สุเหร่า

เส้นทางเดิน 1,500 ปีของฮาเกียโซเฟีย จากมหาวิหาร สุเหร่า พิพิธภัณฑ์ กลับคืนสู่สุเหร่า

13 กรกฎาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

มหาวิหารฮาเกียโซเฟีย (Hagia Sophia) ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Hagia_Sophia#/media/File:Sainte-sophie,_a_Constantinople.jpg

เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ศาลปกครองของตุรกีมีคำพิพากษาให้ถอนสถานะภาพการเป็นพิพิธภัณฑ์ของมหาวิหารฮาเกียโซเฟีย (Hagia Sophia) ที่มีมานานกว่า 80 ปี ฐานะการเป็นพิพิธภัณฑ์ของมหาวิหารแห่งนี้ เคยเป็นสัญลักษณ์ของความคิดการแยกศาสนาไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจสังคม (secularism) แนวคิดดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นรากฐานความคิดอย่างหนึ่งของประเทศตุรกีสมัยใหม่

หลังจากการวินิจฉัยของศาลได้ไม่นาน ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ก็ประกาศเป็นคำสั่งประธานาธิบดี เปิดฮาเกียโซเฟียสำหรับการละหมาดของชาวมุสลิม และโอนอำนาจการดูแลจากหน่วยงานวัฒนธรรมให้ไปอยู่กับหน่วยงานกิจการศาสนา การยกเลิกฐานะการเป็นพิพิธภัณฑ์ทำให้ฮาเกียโซเฟียกลายเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิมอีกครั้งหนึ่ง

ฮาเกียโซเฟีย คือ มหาวิหารหรืออาสนสถาน (cathedral) ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 1,500 ปี สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 6 และกลายเป็นแบบอย่างสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรไบแซนไทน์ โดมของมหาวิหารมีชื่อเสียงมากในเรื่องความสง่างาม

ในปี ค.ศ. 1453 หลังจากที่กองกำลังพวกเติร์กเข้ายึดครองเมืองคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของอาณาจักรไบแซนไทน์ ฮาเกียโซเฟียถูกเปลี่ยนให้มาเป็นสุเหร่า ต่อมาในปี ค.ศ. 1934 เมื่อตุรกีกลายเป็นสาธารณรัฐสมัยใหม่ ฮาเกียโซเฟียก็กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ ในปี ค.ศ. 1985 ฮาเกียโซเฟียเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก

ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Hagia_Sophia#/media/File:Hagia_Sophia_Mars_2013.jpg

มหาวิหารอายุ 1,500 ปี

อาณาจักรโรมันถือกันว่าเป็นมหาอำนาจแห่งแรกของโลก ในศตวรรษที่ 3 อาณาจักรโรมันถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ อาณาจักรโรมันตะวันตก และโรมันตะวันออก อาณาจักรโรมันตะวันออกเจริญเฟื่องฟู และต่อมารู้จักในนามของอาณาจักรไบแซนไทน์ ที่มีผู้นำที่ยิ่งใหญ่อย่างเช่นจักรพรรดิคอนสแตนติน และจัสติเนียนที่ 1 อาณาจักรไบแซนไทน์ดำรงอยู่นาน 1,100 ปี และมีอิทธิพลต่อโลกในด้านต่างๆ

จัสติเนียนขึ้นครองอำนาจในปี ค.ศ. 527 แม้จะมีพื้นฐานมาจากชาวนายากจน แต่ต่อมาได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรไบแซนไทน์ ปี ค.ศ. 532 คนในนครคอนสแตนติโนเปิล ลุกฮือต่อต้านจัสติเนียม เพราะการปกครองที่เข้มงวด นครคอนสแตนติโนเปิลถูกทำลาย รวมทั้งมหาวิหารฮาเกียโซเฟีย ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิคอนสแตนติน

หลังจากการจราจลสงบลง จัสติเนียนสร้างนครคอนสแตนติโนเปิลขึ้นมาใหม่ จนกลายเป็นนครที่สวยงามที่สุดของยุโรป โดยเฉพาะการสร้างฮาเกียโซเฟีย ที่เดิมเป็นมหาวิหารทางคริสต์ของเมืองคอนสแตนติโนเปิล ให้ใหญ่ขึ้นและสวยงามขึ้น จัสติเนียนสร้างฮาเกียโซเฟียแล้วเสร็จภายใน 6 ปี

สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์สะท้อนออกมาที่โครงสร้างมหาวิหารฮาเกียโซเฟีย ที่จะมีหลังคาโดมเป็นวงกลมขนาดใหญ่ ภาพวาดต่างๆ จะใช้กระเบื้องโมเสก กระจกสี หรือโลหะมีค่า เนื้อหาหลักของงานศิลปะไบแซนไทน์จะเป็นเรื่องศาสนา เพราะรัฐกับศาสนามีความผูกพันกันอย่างใกล้ชิด ใบหน้าของภาพคนจะมีลักษณะเศร้าหมอง เพราะการวาดภาพบุคคลที่แสดงออกในการชื่นชมตัวบุคคลเป็นสิ่งที่ขัดกับศาสนา

ที่มาภาพ: amazon.com

หนังสือชื่อ Hagia Sophia: A History (2018) กล่าวว่า อารยธรรมของกรีซและโรมัน คือรากฐานของอาณาจักรไบแซนไทน์ ที่ปฏิเสธความเชื่อในเรื่องความหลากหลายของเทพเจ้า โดยหันมายอมรับอารยธรรมคริสต์ศาสนา นครคอนสแตนติโบเปิลคือกรุงโรมใหม่ โดยมหาวิหารฮาเกียโซเฟียคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ใหม่ ที่มาแทนวิหารพาร์เธนอนเดิมของกรุงเอเธนส์

คำว่าฮาเกียโซเฟียเป็นภาษากรีซ หมายถึง “ภูมิปัญญาศักดิ์สิทธิ์” (Holy Wisdom) ผลงานชิ้นเอกด้านสถาปัตยกรรมจึงสะท้อนภูมิปัญญาของความศรัทธาต่อศาสนา คนในปัจจุบันและคนในอดีต ล้วนประทับใจในความงดงามของฮาเกียโซเฟีย นักประวัติศาสตร์ในยุคไบแซนไทน์ชื่อ Procopius เขียนไว้เมื่อ 1.500 ปีมาแล้วว่า…

“ใครก็ตามที่เข้ามาสวดมนต์ในมหาวิหารแห่งนี้ จะเข้าใจทันทีว่า สิ่งนี้ไม่ใช่พละกำลังหรือทักษะของมนุษย์คนใด แต่เป็นพลังอำนาจของพระเจ้า ที่ทำให้เกิดผลงานที่งดงามหมดจด”

ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Hagia_Sophia#/media/File:Istanbul_036_(6498284165).jpg

หนังสือ Hagia Sophia กล่าวว่า หลังจากที่นครคอนสแตนติโนเปิล ถูกกองกำลังพวกออตโตมันยึดได้ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1453 สุลต่านโมฮัมเมด เมฮ์เมต ที่ 2 (Mohammed Mehmet II) ก็ประกาศให้ฮาเกียโซเฟียเป็นสุเหร่า มีการตั้งเสาไม้มินาเรทที่มุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิหาร แต่สุลต่านเมห์เมตยังให้รักษาภาพทำจากกระเบื้องโมเสกไว้ในวิหาร แต่งตั้งสังฆราชาคริสต์คนใหม่ และเรียกชื่อสุเหร่านี้ว่า “มหาสุเหร่าอายาโซเฟีย” (The Great Mosque of Ayasofya)

ในปี ค.ศ. 1935 มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐตุรกีประกาศให้ฮาเกียโซเฟียเป็นพิพิธภัณฑ์ เคมาลต้องการให้ตุรกีเป็นจุดผสมผสานของอารยธรรมตะวันตกกับตะวันออก การเปลี่ยนให้มีฐานะเป็นพิพิธภัณฑ์ จะทำให้มหาวิหารฮาเกียโซเฟียเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมและการปรองดองทางวัฒนธรรม

ในปี ค.ศ. 1985 องค์การยูเนสโกประกาศให้ “พื้นที่ประวัติศาสตร์ของอิสตันบูล” เป็นแหล่งมรดกโลก พื้นที่ดังกล่าวประกอบด้วยฮาเกียโซเฟีย มัสยิดสุลต่านอาเหม็ดหรือสุเหร่าสีน้ำเงิน พระราชวังโทพคาปิ และจตุรัสฮิปโปโดรม เนื่องจากตั้งอยู่ในทำเลทางยุทธศาสตร์ ทำให้อิสตันบูลเป็นจุดบูรณาการ ผลงานชิ้นเอกด้านสถาปัตยกรรมของตะวันตกกับตะวันออก

อนาคตของฮาเกียโซเฟีย

ทางการตุรกีกล่าวว่า การเปิดให้ฮาเกียโซเฟียเป็นสถานที่ละหมาด ไม่ได้หมายถึงการห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนมหาวิหารแห่งนี้ แต่สิ่งที่ยังมีประเด็นบางอย่างที่ไม่ชัดเจน ฮาเกียโซเฟียเป็นส่วนหนึ่งของ “พื้นที่ประวัติศาสตร์ของอิสตันบูล” ที่มีฐานะเป็นมรดกโลก กฎบัตรของมรดกโลกระบุว่า ในการปรับปรุงแหล่งมรดกโลก ทางตุรกีจะต้องแจ้งให้ยูเนสโกทราบล่วงหน้า และหากจำเป็น จะต้องได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการมรดกโลก

ทางยูเนสโกออกแถลงการณ์ว่า เสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการตัดสินใจของทางการตุรกี ในการเปลี่ยนสถานะภาพของฮาเกียโซเฟีย โดยไม่ได้มีการหารือล่วงหน้า ทางยูเนสโกได้แจ้งให้รัฐบาลตุรกีทราบถึงความกังวลว่า ในการปรับปรุงมหาวิหาร จะส่งผลกระทบต่อ “คุณค่าทางสากล” ของฮาเกียโซเฟีย

แต่การเปลี่ยนฐานะของฮาเกียโซเฟียไปเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ จะไม่ทำให้ฐานะการเป็นมรดกโลกของฮาเกียโซเฟียสิ้นสุดลง แหล่งมรดกโลกต่างๆ จำนวนนับพันแห่ง ประมาณ 20% ยังเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนา หรือด้านจิตวิญญาณ อย่างเช่น สำนักวาติกัน หรือสุเหร่าอิชฟาฮานของอิหร่าน

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Hagia_Sophia#/media/File:Comnenus_mosaics_Hagia_Sophia.jpg

แต่นักวิเคราะห์ก็กังวลว่า การเปลี่ยนสถานะของฮาเกียโซเฟีย จะกระทบต่อรูปภาพทำจากกระเบื้องโมเสกที่อยู่ในมหาวิหาร ในสมัยออตโตมัน เมื่อฮาเกียโซเฟียเปลี่ยนเป็นสุเหร่า ภาพวาดต่างๆ จะถูกคลุมหรือปิดด้วยปูนปลาสเตอร์ เพราะถือขัดต่อหลักศาสนาในการวาดภาพบุคคล

ผลกระทบอีกประการหนึ่งก็คือ รัฐบาลตุรกีจะเสียรายได้ ในปีหนึ่ง มีนักท่องเที่ยว 3.7 ล้านคนที่มาชมมหาวิหารแห่งนี้ ทางการตุรกีจะต้องตัดสินใจว่า จะยังเก็บเงินค่าเข้าชมคนละ 15 ดอลลาร์สหรัฐหรือไม่ หากยังเก็บค่าเข้าชม ก็ต้องอธิบายได้ว่า ทำไมการเข้าชมสุเหร่าสีน้ำเงิน หรือมัสยิดสุลต่านอาเหม็ด ที่อยู่ตรงกันข้ามกับฮาเกียโซเฟีย จึงไม่เสียเงิน

หนังสือ Hagia Sophia กล่าวสรุปว่า ทุกวันนี้ ฮาเกียโซเฟียเป็นมหาวิหารที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก สามารถดึงดูดผู้มาเยือนจากทุกศาสนาและจากทุกมุมโลก การมาเยือนของผู้คนจากทั่วโลก ไม่ได้มาในฐานะผู้แสวงบุญทางศาสนา แต่เป็นผู้แสวงบุญทางโลกวัตถุ เพื่อชื่นชมด้วยจิตคารวะ ต่อสถาปัตยกรรมชิ้นเอก ของยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ยุคหนึ่งของโลกเรา

เอกสารประกอบ

Erdogan Signs Decree Allowing Hagia Sophia to Be Used as a Mosque Again, July 10, 2020, nytimes.com
Hagia Sophia stripped of museum status, paving its return to a mosque, July 10, 2020, nationalgeographic.com
Hagia Sophia: A History, Richard Winston, New World City, 2027.