ThaiPublica > เกาะกระแส > เศรษฐกิจออสเตรเลียเติบโตมานาน 30 ปี ความมหัศจรรย์สิ้นสุดลง เมื่อเกิดโควิด-19

เศรษฐกิจออสเตรเลียเติบโตมานาน 30 ปี ความมหัศจรรย์สิ้นสุดลง เมื่อเกิดโควิด-19

6 กรกฎาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/8/80/Sydney_Opera_house

เป็นเวลานานกว่า 3 ทศวรรษมาแล้ว ที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งหลังสุดเกิดขึ้นในออสเตรเลีย ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา คนทำงานในอาชีพต่างๆ ของออสเตรเลียไม่เคยกังวลเรื่องความมั่นคงของการจ้างงาน ทุกคนเชื่อว่า หากทำงานหนักจะได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่แล้ว การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความคิดที่ว่าออสเตรเลีย เป็นประเทศที่ได้รับการยกเว้นทางเศรษฐกิจ หายไปอย่างรวดเร็ว

ดินแดนที่ “รุ่งเรือง” ตลอดกาล

บทความชื่อ A Lucky Country Says Goodbye to the World’s Longest Boom ของ The New York Times กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาอย่างมากต่อออสเตรเลีย ก่อนหน้านี้ ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ถูกเรียกว่าความรุ่งเรืองที่เป็นอมตะ เศรษฐกิจเติบโตแบบไม่หยุดชะงักเลยมานาน 29 ปี การค้าที่ขยายตัวกับเอเชีย โดยเฉพาะกับจีน แรงงานจากผู้อพยพจำนวนมาก และนโยบายการเงินที่สุขุมรอบคอบ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตแม้ในช่วงเกิดวิกฤติการเงินของโลก

แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ จนไม่มีประเทศไหนที่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร รวมทั้งประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่องมานานหลายสิบปีอย่างออสเตรเลีย ที่ต้องปิดพรมแดน และจำกัดการเดินทางภายในประเทศ ก่อนหน้าจะเกิดโควิด-19 มีคนออสเตรเลียประมาณ 7 แสนคนที่ขอรับเงินประกันสังคมเรื่องการว่างงาน ในออสเตรเลียเรียกว่าเงินค่าหางานทำ

คนออสเตรเลียคนหนึ่งบอกกับหนังสือพิมพ์ The Guardian ว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียเคยถดถอยครั้งหลังสุดเมื่อโทรศัพท์มือถือยังหนัก 2 กิโลกรัม จอร์จ บุช ผู้เป็นพ่อ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังจากนั้นเป็นต้นมา เศรษฐกิจออสเตรเลียก็ขยายตัวไม่หยุดชะงักเลย เพราะจีนมีความต้องการในเรื่องถ่านหินและแร่เหล็ก มากที่สุดเท่าที่จะผลิตมาได้ ทำให้คนออสเตรเลียในหลายรุ่นลืมเรื่องการเข้าคิวรับเงินการว่างงานไปแล้ว

แต่โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจออสเตรเลียในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้หดตัว 0.3% คนออสเตรเลียตกงานถึง 1.2 ล้านคน โดยเฉพาะคนทำงานในวัยหนุ่มสาว ที่เป็นแรงงานหลักของธุรกิจบริการและค้าปลีก ที่มักจะจ้างแรงงานที่มีอายุ 20-30 ปี แต่เนื่องจากเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้มาจากการตัดสินใจปิดกิจการของธุรกิจเอง ไม่ใช่เพราะการพังทลายของระบบการเงิน ดังนั้น เมื่อธุรกิจฟื้นตัวขึ้นมา คนที่ถูกเลิกจ้างก็จะถูกเรียกกลับมาทำงานใหม่

การทดสอบ COVID-19 ที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย ที่มาภาพ : https://covid19data.com/2020/06/30/australias-victoria-state-reimposes-lockdown-on-10-suburbs/

ความมหัศจรรย์ของออสเตรเลีย

บทความของ New York Time ชื่อ What the Rest of the World Can Learn From the Australian Economic Miracle กล่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่าการเติบโตอย่างต่อเนื่องของออสเตรเลียเกิดจากปัจจัยเรื่องความโชคดีกับนโยบายที่ดี ความโชคดีคือสินทรัพย์ใต้ดินที่เป็นถ่านหินและแร่เหล็กของออสเตรเลีย ซึ่งกลายเป็นวัตถุดิบการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ส่วนทรัพย์บนดินคือข้าวสาลีและปศุสัตว์ ที่หล่อเลี้ยงคนชั้นกลางของจีนซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

ที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจจีนเปรียบเหมือนลมส่งท้ายที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจออสเตรเลีย แต่การเติบโตที่นานอย่างต่อเนื่องก็มาจากนโยบายเศรษฐกิจที่ดีด้วย อย่างเช่นธุรกิจการเงินของออสเตรเลีย จะเน้นหนักการปล่อยกู้แก่ธุรกรรมภายในประเทศ ออสเตรเลียไม่มีธนาคารที่ทำธุรกรรมทางการเงินแบบซับซ้อนทั่วโลก ในนครซิดนีย์จึงไม่มีตำแหน่งงานด้านการเงินที่รายได้สูงแบบนิวยอร์ก ลอนดอน หรือฮ่องกง ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤติทางการเงินขึ้นทั่วโลก ออสเตรเลียจึงไม่นำเข้าวิกฤติดังกล่าวมาสู่ประเทศ

หนังสือชื่อ Why Australia Prospered กล่าวว่า…

ความมหัศจรรย์ของออสเตรเลีย ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องที่ว่า ทำไมออสเตรเลียจึงเป็นประเทศมีรายได้สูงมาตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 แต่ทำไมออสเตรเลียสามารถรักษาฐานะการเป็นประเทศรายได้สูงอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน 200 ปี ปัจจุบัน ออสเตรเลียมีรายได้ต่อหัวสูงอันดับ 12 ของโลก ที่ 54,907 ดอลลาร์ต่อคน ในโลกนี้ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้

หากจะเปรียบเทียบการพัฒนาของประเทศอื่น หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อิตาลีและญี่ปุ่นสามารถมีรายได้ระดับเดียวกับออสเตรเลีย เกาหลีใต้กำลังอยู่ในระดับการไล่ตาม ส่วนอาร์เจนตินาในต้นศตวรรษที่ 20 เคยอยู่ในกลุ่มประเทศร่ำรวยมั่งคั่งมาก่อน จากนั้น ฐานะทางเศรษฐกิจก็ตกต่ำลงมาตลอด

หนังสือ Why Australia Prospered กล่าวว่า ทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่สามารถนำมาใช้ได้ทั่วไป มักจะกล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจอาศัย 3 ปัจจัย คือ การลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐาน หรือทุนทางกายภาพ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือการศึกษา และเทคโนโลยี

แต่การเป็นประเทศมีรายได้สูงเป็นเวลายาวนานของออสเตรเลีย ทำให้ต้องมองหาปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นจักรกลขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพของสถาบันเศรษฐกิจและการเมือง เช่น ระบบกฎหมาย ปัญหาคอร์รัปชัน หรือระบบการเมือง ส่วนปัจจัยในเรื่องนโยบายสำคัญๆ ก็เช่น การเปิดประเทศกับการค้า หรือการแทรกแซงของรัฐต่อกลไกตลาด

ที่มาภาพ : https://press.princeton.edu/books/hardcover/9780691154671/why-australia-prospered

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านสังคมและศาสนา กรณีของออสเตรเลีย ปัจจัยแรกที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นยาวนาน เพราะทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการผลิตด้านการเกษตรและแร่ธาตุ ออสเตรเลียมีทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวสูงมาก เพื่อพิจารณาจาก “ทรัพยากรต่อคน” แม้จะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง แต่ 65% ของการส่งออกยังเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นปฐมภูมิ

ออสเตรเลียเป็นตัวอย่างที่ว่า ความมั่งคั่งของทรัพยากร ไม่ใช่คำสาป เหมือนกับที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศประสบ ที่ทรัพยากรธรรมชาตินำไปสู่คอร์รัปชัน การเติบโตต่ำ หรือรัฐที่ล้มเหลว

ปัจจัยประการที่สอง คือคุณภาพของสถาบันต่างๆ ที่เป็นบริบทให้กับการทำงานของระบบเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์ยอมรับว่า สถาบันของสังคมมีบทบาทสำคัญทำให้ประเทศมั่งคั่งหรือยากจน ความยืดยุ่นของสถาบันเศรษฐกิจการเมืองของออสเตรเลีย เป็นอีกปัจจัยทำให้เศรษฐกิจเติบโตเป็นเวลานาน สถาบันเการเมืองของออสเตรเลียสามารถจัดการความมั่งคั่งของทรัพยากรที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่การสูญเปล่าแบบตัวอย่างของประเทศกำลังพัฒนา

การเติบโตทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียที่เกิดขึ้นมายาวนานถึง 29 ปี ก่อนจะเกิดโควิด-19 ได้ให้บทเรียนแก่ประเทศต่างๆ ออสเตรเลียไม่จำเป็นต้องอาศัยภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาขจัดปัญหาการผลิตหรือการลงทุนที่ล้นเกินในภาคธุรกิจต่างๆ ความรอบคอบทางด้านนโยบาย และสถาบันเศรษฐกิจที่สามารถยืดหยุ่นปรับตัว ทำให้ประเทศสามารถหลีกเลี่ยงวัฏจักรเศรษฐกิจที่ก่อความเสียหายรุนแรงแก่เศรษฐกิจโดยรวม

เอกสารประกอบ

A Lucky Country Says Goodbye to the World’s Longest Boom, March 27, 2020, nytimes.com
What the Rest of the World Can Learn from the Australian Economic Miracle, April 6, 2019, nytimes.com
Why Australia Prospered, Ian W. McLean, Princeton University Press, 2013.