ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ขอโทษ สั่งทบทวนมาตรการ ยังไม่ล็อกดาวน์ – มติ ครม. ปรับเกณฑ์จ่ายเงินประกันรายได้ฯ เร็วขึ้น 30 วัน

“บิ๊กตู่” ขอโทษ สั่งทบทวนมาตรการ ยังไม่ล็อกดาวน์ – มติ ครม. ปรับเกณฑ์จ่ายเงินประกันรายได้ฯ เร็วขึ้น 30 วัน

14 กรกฎาคม 2020


เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

ขอโทษ รับเสียใจ สั่ง ศคบ. ทบทวนมาตรการผ่อนคลาย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีนายทหารอียิปต์นายหนึ่งมีเชื้อโควิดและออกไปในพื้นที่ภายนอกโรงแรมที่พัก ว่า เรื่องสำคัญที่เป็นประเด็นที่ จ.ระยอง ซึ่งวันนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย เกิดจากการไม่เคารพกติกา ไม่มีวินัย ไม่คิดถึงส่วนรวม ทำให้เกิดปัญหา ความรับผิดชอบก็โทษกันไปมา ซึ่งตนในฐานะผู้อำนวนการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ขอรับผิดชอบตรงนี้ด้วย

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุด ต้องหาวิธีการปิดจุดหละหลวมเหล่านี้ให้ได้ และวันนี้ ได้ส่งทีมลงพื้นที่ติดตามเก็บข้อมูลเชิงลึกแล้ว รวมถึงตรวจหาพื้นที่สัมผัส และผู้อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว และหาจุดการลงทะเบียนเข้าออกทางแอปพลิเคชันไทยชนะด้วย นอกจากนี้ จะมีการตรวจเชื้อเพิ่มเติมกับบุคคลที่สัมผัส  และมีความกังวลในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อให้ทุกคนเกิดความสบายใจมากที่สุด และเร็วที่สุด

“ผมได้สั่งการให้ ศบค. ไปทบทวนเรื่องเหล่านี้ มาตรการผ่อนคลายต่างๆ ทั้งบรรดาสถานทูต เอกอัครราชทูต ต้องปฏิบัติตามระบบระเบียบทุกปราการ ต้องทบทวนตรงนี้ใหม่ ส่วนการอนุญาตบินเข้ามาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินทหาร หรือที่ใดก็ตาม ต้องมาตรการตามที่กำหนดไว้แล้ว อันนี้เป็นเรื่องความไม่รับผิดชอบในส่วนที่รับปากกันไปแล้ว และผ่านการตรวจสอบไปแล้ว แต่ออกไปนอกพื้นที่ ถือเป็นการฝ่าฟืน ผมได้ให้กระทรวงการต่างประเทศหารือกับสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยไปแล้ว อย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก พร้อมกับระงับทุกเที่ยวบินที่เข้ามาทั้งหมด ไม่ให้เข้ามาอีก จนกว่าจะแก้ปัญหานี้ได้”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ทุกปัญหามีความสำเร็จและมีส่วนที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการ ซึ่งรัฐบาลโดยศูนย์โควิดฯ ไม่ได้หยุดยั้งเรื่องเหล่านี้เลย ฉะนั้นขอให้เชื่อมั่น มาตรการสาธารณสุขของเราน่าจะรองรับได้ แต่มันไม่ควรจะเกิดขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่ตนเสียใจ พร้อมกล่าวขอโทษประชาชน ต่อจากนี้ต้องดูแลกันให้มากที่สุด ซึ่งหลายปัญหาเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด อาจเกิดข้อบกพร่องบางประการ ในหลายที่

โดยตนได้ย้ำในที่ประชุม ครม. และให้ ศบค. แก้ไขทบทวนทุกอย่าง โดยเฉพาะมาตรการในการผ่อนคลายต่างๆ เพราะมันจะกระทบไปถึงเรื่องความเชื่อมั่น ความปลอดภัยของประชาชนโดยรวม ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น จะต้องดำเนินการให้ดีที่สุด และรับว่าจะดำเนินการให้ดีที่สุด ขอเวลาให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและ ศบค. ได้แก้ปัญหา

“สิ่งที่กังวลอีกในกรณีที่การ์ดตกในหลายส่วนด้วยกัน ทั้งภาคประชาชน สถานผู้ประกอบการต่างๆ ผมได้เน้นย้ำให้ตรวจตราให้รัดกุมมากกว่าเดิม และปิดทันทีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานที่เที่ยวกลางคืน ผับ บาร์ ที่ที่มีคนหนาแน่น ผู้ประกอบการต้องร่วมมือ เมื่อกำหนดมาตรการไปแล้ว แต่ถ้าไม่ปฏิบัติก็ต้องยกเลิกไปจนกว่าจะแก้ไขให้ได้ และวันนี้ต้องขอย้ำเรื่องการสวมหน้ากาก ล้างมือ โหลดแอปพลิเคชัน ในการเช็คอิน สถานที่ต่างๆ การเว้นระยะห่างยังต้องมี ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าที่ทำมาลำบากโดยตลอด ผลที่ออกมาวันนี้เราอยู่ในระดับที่รักษาความปลอดภัย มาตรฐานสาธารณสุขเรื่องโควิด-19 อยู่ในลำดับแรกๆ ของโลกด้วยซ้ำไป”

เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวจะมีการกลับไปล็อกดาวน์ห้ามชาวต่างชาติเข้ามาหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนขอทบทวนก่อน ถ้าจะปิดทีเดียวเลยต้องหามาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ตอนนี้ยังมีการติดตามอยู่ว่าไปที่ไหนอย่างไร มีใครติดเชื้อบ้างหรือยัง ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับคนหลายคน ถ้าทุกคนไม่ทำตามระเบียบ ระบบ มันก็มีปัญหาอีก วันนี้จริงๆ แล้วเครื่องบินที่เข้ามาเป็นเครื่องบินทางทหารที่เปลี่ยนเที่ยวบิน ปกติมาแล้วจะต้องไปเลย แต่ปรากฏว่ามีการหยุดค้างคืน และมีบริษัทพาเข้าโรงแรม ซึ่งตามกติกาต้องอยู่ในโรงแรม ปรากฏว่าไม่ควบคุม และควบคุมกันไม่ได้ดี ตนได้สั่งการเข้มงวดทุกพื้นที่แล้ว และวันนี้ไม่อยากให้เป็นประเด็นที่ทำให้ความก้าวหน้าของมาตรการต่างๆ มีปัญหาอีก

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องแบล็กลิสต์ประเทศอียิปต์เลยหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น

เมื่อถามว่าจากกรณีที่เกิดขึ้นจะต้องมีการพิจารณาขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีกหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่พูดถึงตรงนั้น เพราะยังมีเวลา เหลืออีกเกือบเดือน พูดไปก่อนเดี๋ยวเป็นเรื่องอีก ต้องดูตามสถานการณ์ ส่วนพื้นที่ชายแดนก็ยังต้องเข้มงวด

“วันนี้เสริมให้ใช้กล้องโดรนลาดตระเวนกลางอากาศ แต่ก่อนคนเดินข้ามน้ำในจุดที่ไม่มีน้ำ แต่วันนี้ว่ายน้ำข้ามมาเลย สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องตามคนเหล่านี้ให้ได้ คนเราต้องรักษากติกา เข้าใจดีว่าเดือดร้อน ประเทศไทยปลอดภัยที่สุด ใครก็อยากเข้ามา แต่ต้องเข้ามาให้ถูกช่องทาง สื่อต้องช่วยด้วย อาจจะจับตามมองแต่รัฐบาล บกพร่องตรงนี้ตรงนู้น แต่ไม่สร้างการรับรู้ให้ประชาชนปฏิบัติตามระเบียบ ไม่เช่นนั้นจำเลยก็คือรัฐบาลตลอด ดังนั้นขอให้ช่วยกัน”

อย่างไรก็ตาม พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ตนไม่โทษใคร จะโทษลูกน้องก็ไม่ได้ เพราะเต็มที่แล้ว ชายแดนเรามีระยะทาง 5,000 กว่ากิโลเมตร กองกำลังทหารประมาณ 40,000 คน ต้องใช้ลาดตระเวนเอา วางลวดหนาม ก็มีการพังลวดหนามกันอีก คนทำได้ทุกอย่าง มันเป็นเรื่องสุขภาพ ตนเห็นใจตรงนี้ รังเกียจรังงอนใครไม่ได้ แต่เราก็ต้องมีมาตรการที่เหมาะสม ขอแค่นี้จะไม่ยุ่งไม่วุ่นวายทั้งหมด

การแก้ปัญหาโควิด ต้องให้ความสำคัญด้านสาธารณสุข งบประมาณที่จะต้องใช้ด้านนี้ มาตรการรองรับการแพร่ระบาด จัดหาอุปกรณ์เพิ่มเติม การใช้งบวิจัย พัฒนาวัคซีน เราต้องตั้งงบส่วนนี้ไว้ ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น วันหน้าเงินที่เหลือก็จะไปพัฒนาโรงพยาบาลต่างๆ ในระดับตำบลและกลุ่มจังหวัด เพื่อไม่ต้องเข้ามาถึงกรุงเทพฯ สิ่งเหล่านี้อยู่ในแผนงานทั้งสิ้น

ชี้ชะลอแผน Medical Tourists – ยันยังไม่ล็อกดาวน์

สำหรับแผนการ Medical Tourists ตนได้แจ้งทางกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาไปแล้ว ให้เตรียมการไว้ก่อน แต่การจะอนุมัติหรือไม่ต้องดูสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เราไม่ผลีผลาม  ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาอีก เพราะถ้าคนจำนวนมากเข้ามาและเจอแบบนี้ ที่ไม่รักษาวินัย ไม่เคารพกติกา ก็จะเกิดปัญหา

“ฉะนั้นเรายังไม่ผ่อนคลายตรงนี้ แต่ไม่ถึงขั้นล็อกดาวน์หรือห้ามทั้งหมด เพียงแต่ต้องหามาตรการที่เข้มเข้มในจุดที่อ่อนไหว มีปัญหา เช่น เจ้าหน้าที่ทูต ครอบครัว ต้องเข้าพื้นที่กักกันโดยรัฐ บุคคล วีไอพี นักธุรกิจ จะต้องทบทวนมาตรการต่างๆ รวมถึงความพร้อมของเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกัน เรื่องน้ำยาตรวจเชื้อต้องมีเพียงพอทุกพื้นที่ โดยตนย้ำว่า ทุกสนามบินต้องมีมาตรการเช่นเดียวกันในการตรวจสอบ”

เมื่อถามถึงมาตรการทบทวนการปิดสนามบิน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นการทบทวนว่ามาตรการมีจุดรั่วตรงไหน แต่ไม่ได้ปิด เพียงแค่ชะลอนิดหน่อย อย่างเคสที่เกิดขึ้น มันไม่น่าจะเกิดขึ้น ซึ่งหลายอย่างเราหยุดหมดไม่ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรอกลับไทยอีกเยอะ และนักธุรกิจต่างๆ ที่ต้องเข้ามาดูกิจการของเขาก็มีอยู่ นักการทูตก็ต้องเดินทาง ระดับผู้นำก็ต้องเดินทางพบปะผู้นำระดับสูง ซึ่งต้องมีมาตรการเข้มงวด

เมื่อถามว่า ในระยะเวลาอันใกล้ ไม่สามารถดึงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มเติมอย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลจะสนับสนุนวงเงินกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 40-60% ประชาชนออกส่วนหนึ่ง รัฐบาลสนับสนุนส่วนหนึ่ง และมีมาตรการท่องเที่ยวเมืองรอง ทั้งหมดต้องดูงบประมาณด้วย รวมถึงความพร้อมของสถานประกอบการ

“วันนี้รัฐบาลต้องสร้างความรับรู้สถานที่ท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัดในเมืองรอง ใน 55 เมือง เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงิน คงไม่ยากและไม่ง่ายนักในการแก้ปัญหาเหล่านี้ และผมก็ได้ฟังจากสื่อมาด้วย รับปัญหามาหมดแล้ว บางเรื่องแก้ได้เลย บางเรื่องต้องแก้กฎหมาย ซึ่งต้องอาศัยระบบสภา โลกเปลี่ยนก็ต้องปรับ ไม่เช่นนั้นจะถูกต่อว่าอยู่แบบนี้”

เผยก้าวหน้าวัคซีนโควิด เตรียมทดลองกับคน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิดว่า ตอนนี้มีความก้าวหน้า ตามลำดับ เตรียมการนำไปสู่การทดลองกับคนด้วย ดังนั้นวันนี้ต้องหาอาสาสมัคร จำนวนหลายพันคนเพื่อทดสอบวัคซีนตัวนี้ ขณะเดียวกันต้องส่งไปตรวจสอบที่ต่างประเทศด้วย ก่อนจะมีการทดลอง ถ้าเราสามารถทำได้เป็นประเทศต้นๆ ของโลก จะเป็นชื่อเสียงของประเทศไทยอย่างยิ่ง ข้อสำคัญที่สุดประเทศไทยจะปลอดภัย จากโรคนี้ ต้องขอขอบคุณคณะแพทย์ โดยเฉพาะโรงพยาบาลจุฬาฯ และโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องอีกหลายโรงพยาบาลที่ช่วยกันตรงนี้

เมื่อถามถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เตรียมจะไปยื่นร้อง ปปช. เอาผิด ศบค. ทั้งคณะ ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จากกรณีนายทหารจากประเทศอียิปต์ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นเรื่องการฟ้องร้องไป ให้ไปแก้ปัญหากันในกระบวนการยุติธรรม ถ้าฟ้องกันทั้งหมดทุกเรื่อง ก็ฟ้องได้ทั้งวัน ตนก็ไม่ได้ไปห้าม แต่ขอให้มีความเป็นธรรม จะฟ้องร้องอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน ต้องดูประเด็นให้ครบทุกมิติ เราทำอย่างไร ปัญหาอยู่ที่ไหน

พอใจผลงาน 1 ปี เคลียร์โปรเจกต์ใหญ่ได้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถาม ครม. ถึงความพึงพอใจในการเข้ามาบริหารราชการในฐานะที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่จะครบ 1 ปีในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ว่า ตนไม่สามารถระบุได้ว่ามากหรือน้อย แต่ตนพอใจที่ได้แก้ปัญหาได้สำเร็จเสร็จสิ้นในบางปัญหา ซึ่งเป็นงานใหญ่ๆ บางอย่างที่ยังไม่สำเร็จก็ไม่พอใจ ก็ต้องมาดูกิจกรรมย่อยว่าทำไปได้แล้วแค่ไหนเพื่อนำไปสู่กิจกรรมใหญ่ซึ่งจะเป็นผลสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างความเป็นธรรม การแก้ปัญหาความยากจน การกระจายรายได้

ถ้าเรามองในกลุ่มงานข้างล่างหลายอย่างสำเร็จไปแล้ว แต่ถ้าจะเป็นภาพรวมข้างบนทั้งหมดต้องใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งข้าราชการ ประชาชน ถ้ารัฐบาลทำเพียงฝ่ายเดียวรัฐบาลก็จะมองเพียงว่าจะเอาเงินลงไปที่ไหนอย่างไร ทุกคนต้องมองว่าเราจะใช้เงินอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด บางโครงการมีความจำเป็นหรือไม่จำเป็น

“ผมดูแลมาในทุกจังหวัดด้วยดีมาตลอด ไม่เคยเลือกปฏิบัติทั้ง 76 จังหวัด จะเห็นได้ว่าผมมีเม็ดเงินลงไปให้ทุกจังหวัด มากบ้างน้อยบ้างแต่ก็ถือว่ามากกว่าที่ผ่านมาเยอะพอสมควรในหลายงบประมาณ อีกทั้งก็เกิดผลผลิตมาบ้างแล้ว แต่แน่นอนว่าเรามีคนถึง 67 ล้านคน ไม่ใช่แค่เพียง 4-5 ล้านคนแบบบางประเทศ ที่สำคัญคนส่วนใหญ่ของประเทศเรามีรายได้น้อย เราต้องมาดูว่าทำอย่างไรจะให้มีรายได้สูงขึ้น วันนี้ก็ต้องคุยกันต่อว่าจะต้องคุยกับรัฐวิสาหกิจ และบรรดาบริษัทห้างร้านใหญ่ๆ ว่าจะมาช่วยประชาชนได้อย่างไรบ้างในลักษณะพี่จูงน้อง  ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในส่วนความรับผิดชอบนั้นผมเต็มๆ อยู่”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ต้องไปดูว่าอะไรสำเร็จแล้วบ้าง อะไรยังไม่สำเร็จ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการใหญ่ทั้งสิ้น ปัญหาทุกปัญหามันไม่ใช่เพียงปัญหาเดียว ถ้าปัญหาเดียวแก้แป๊บเดียวก็จบ และก็แก้ไปเยอะแล้ว แต่ปัญหาใหญ่ในเชิงโครงสร้างยอมรับว่ายากจึงจำเป็นต้องเดินหน้าไปทุกปีแล้วจะสำเร็จถ้าร่วมมือกัน ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่เป็นไปตามคำบิดเบือน การปลุกระดมต่างๆ ทุกอย่างก็จะเกิดเร็วขึ้น ถ้าต่อต้านกันทุกวันก็คงทำอะไรไม่ได้ทั้งหมด แล้วจะสำเร็จได้อย่างไร ก็ต้องช่วยกันลดแรงกดดันตรงนี้ให้บ้าง ก็ขอร้องกันเท่านั้น

น้ำต้นทุนไม่มี ชี้เกษตรกรปิดถนนไปไม่มีประโยชน์

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งของเกษตรกรจากการขาดแคลนน้ำในการทำนาใน จ.อ่างทอง ที่ขู่จะปิดถนนประท้วง ว่า ขอร้องเกษตรกรว่าอย่าปิดถนนเลย วันนี้ต้องดูว่าแหล่งน้ำเรามีที่ไหนบ้าง และสามารถผ่อนคลายช่วยเหลือได้ตรงไหนบ้าง ซึ่งตนได้สั่งการให้ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมชลประทาน ไปดูแลแล้วว่าจะทำอย่างไร จะช่วยเหลือเกษตรกรได้แค่ไหน ปัญหาคือเมื่อน้ำต้นทุนไม่มีตรงนั้น จะหาน้ำจากที่อื่นได้หรือไม่ ปัญหาน้ำอุปโภค บริโภค จะทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้กำลังแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น และระยะยาว เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ

“วันนี้ได้สั่งเร่งรัดรัดไปทุกที่ ทั้งการใช้น้ำบนดินและใต้ดิน ปัญหาสำคัญที่สุดคือน้ำสำหรับการเกษตรที่ต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ฝนก็ตกน้อย แหล่งเก็บน้ำก็เก็บน้ำไม่ได้ ที่เราทำไว้เพิ่มก็ไม่มีน้ำ ก็จะทำอย่างไร อยู่ที่วิธีการว่าจะทำได้แค่ไหน อย่างไร ผมก็ยืนยันว่าจะดูแลให้เต็มที่ อย่าปิดถนนเลย ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าน้ำมันไม่มี มันไม่มีน้ำต้นทุน ปิดถนนไปก็ไม่มีน้ำต้นทุนอยู่ดี แต่จะต้องหาวิธีอย่างอื่น ถ้าขัดขวางการปฏิบัติงานก็มีปัญหาหมด คนอื่นก็เดือดร้อนด้วย”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีประเทศจีนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในรอบหลายสิบปี และจะระบายน้ำในเขื่อนที่กั้นแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมากนั้น ว่า วันนี้ตนจะได้โทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงโดยตรงตัวต่อตัวในเย็นวันนี้ ซึ่งจะมีการหารือในหลายมิติด้วยกัน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาโควิดระหว่างประเทศเรากับเขา ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจต่างๆ เรามีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด อย่างให้เกียรติซึ่งกันและกันมาโดยตลอด ถือว่าเราให้ความร่วมมือกันในฐานะเป็นมิตรประเทศมายาวนาน

ส่วนที่มีข่าวจะมีการระบายน้ำที่เขื่อนบริเวณแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมากนั้น พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง มีการประสานงานกัน ทราบว่าพื้นที่น้ำท่วมของจีนนั้นจะไม่กระทบมาที่ลุ่มน้ำโขง เป็นคนละลุ่มน้ำกัน ดังนั้นคิดว่าไม่มีปัญหาในขณะนี้ ความจริงแล้วเราต้องการน้ำในแม่น้ำโขงมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป เพราะตอนนี้มันมีปัญหา น้ำของเราไม่มี ก็คงต้องรอน้ำฝนอีกสักระยะหนึ่ง ระหว่างนี้ก็มีการช่วยเหลือน้ำอุปโภค บริโภค ช่วยเหลือในเรื่องของการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ซึ่งดำเนินการขุดมาหลายพันบ่อแล้ว ก็คงต้องใช้เวลามากพอสมควร

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรมันจะมีน้ำมากขึ้น การจูงน้ำจะทำอย่างไร เพราะน้ำบางทีไปอยู่ในที่ต่ำ แต่พื้นที่ทำเกษตรกรรมอยู่ในพื้นที่สูง ซึ่งตามธรรมชาติน้ำก็จะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำอยู่แล้ว ดังนั้น การหาแหล่งน้ำในที่สูง การหาแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรกร มันมีความจำเป็น ที่เรียกว่าขนมครก ถ้าทุกบ้านมีการขุดบ่อน้ำสักจำนวนหนึ่งก็พอจะประทังไปได้บ้าง แต่จะถึงขนาดทำเกษตรขนาดใหญ่มันต้องใช้น้ำในระบบชลประทาน

“วันนี้ผมได้แบ่งมอบความรับผิดชอบไปแล้ว กระทรวงไหนรับผิดชอบในเขตชลประทานหรือนอกเขตชลประทานบ้างให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในการจัดหาแหล่งน้ำให้กับประชาชน เราต้องแก้ปัญหาทั้งในเชิงมหภาค ทั้งลุ่มน้ำทั้งหมด ทั้งในส่วนของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดด้วย นี่คือปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่มีมายาวนาน มันคงจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนที่ตกด้วย”

ศธ. กำลังแก้ไข ปมตัดงบสร้างตึก รร. บ้านตาพรวนฯ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงปัญหาโรงเรียนบ้านตาพรวนสร้างแซ่ง จ.มหาสารคาม จากกรณีถูกตัดงบฯ สร้างอาคารเรียนดึงไปแก้ปัญหาโควิด-19 ขณะที่ได้ทุบอาคารเรียนเพื่อสร้างใหม่ จนทำให้นักเรียนต้องกางเต็นท์เรียนว่า กระทรวงศึกษาธิการกำลังเข้าไปแก้ไข ตนก็เห็นใจ เด็กเรียนในเต็นท์ก็ไม่ไหวมันร้อน

“วันนี้กำลังพิจารณาในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รัฐบาลต้องบริหารจัดการปัญหานี้ให้ได้ ถ้าผ่านงบประมาณปี 2564 ก็จะสามารถใช้งบฯ เพิ่มเติมได้ในส่วนที่ขาดไป ทั้งนี้ เรื่องอาคารเรียนต้องแก้ปัญหาไปก่อน กระทรวงศึกษาธิการจะเข้าไปดูแล ถ้าจะให้สร้างตึกให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์คงไม่ได้ ต้องหาที่เรียน”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า  งบประมาณปี 2564 กำลังเข้าสภา ถ้างบฯ ปี 2564 ถูกตัดในชั้น กมธ. ในวาระที่ 2 ก็สามารถนำกลับมาใช้ในโครงการท่ีไม่มีอยู่ในแผนโครงการเดิมของแต่ละกระทรวงที่ขาดแคลนอยู่ รัฐบาลไม่ได้เอาเงินที่ถูกตัดงบฯ ไปทำอย่างอื่น ฉะนั้นจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ขอให้อดทนไปสักนิดหนึ่งก่อน ขอให้เป็นไปตามวาระการพิจารณา ไม่อย่างนั้นรัฐบาลก็ลำบากในการใช้เงิน งบประมาณต่างๆ ส่วนความต้องการของประชาชนก็มีความหลากหลายมาก เราจำเป็นต้องจัดลำดับความเร่งด่วนซึ่งงบประมาณมีอยู่เท่านี้ ซึ่งตนได้สั่งการทุกกระทรวงแยกโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนเฉพาะหน้า

ขอบคุณสื่อสิ่งพิมพ์-คอลัมนิสต์ แนะนำสิ่งดีให้รัฐบาล

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการได้เดินทางและพบปะกับสื่อทุกสำนักพิมพ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ตนได้รับฟังข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์มากมายหลายประการ สิ่งใดที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ก็จะรีบดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ตรงกับความต้องการของประชาชน สื่อก็เป็นตัวกลางในการสร้างความเข้าใจอันดีและถูกต้องให้กับประชาชน ให้ได้รับทราบว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ หลายเรื่องมีความก้าวหน้าไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรเลย

“ขอขอบคุณบรรดาสื่อ เจ้าของสื่อและสำนักพิมพ์ทุกคน ทั้งในส่วนของคอลัมนิสต์ต่างๆ ผมได้มีโอกาสพบกับพวกท่านหลายคนจากทุกๆ สำนักพิมพ์ ยืนยันว่านายกฯ ไม่เคยหยุดนิ่ง ทั้งคิดทั้งเขียนต่างๆ มาโดยตลอด ติดตามประเมินผล”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้าย พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวกับสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลอย่างอารมณ์ดี ว่า “ช่วงนี้ขอให้ทุกคนระวังการไม่สบายเนื่องจากมีฝนตกมาเป็นระยะ” พร้อมปรารภว่า “ทำไมผู้สื่อข่าวจึงมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หรือเป็นเพราะให้ผู้ชายไปทำหน้าที่เป็นช่างภาพ ให้ผู้หญิงทำหน้าที่จดข่าว แต่ไม่ว่าจะถ่ายภาพหรือจดข่าว ก็ขอให้ตรงกันด้วย”

สั่งประเมินผล ขรก. ชี้ต้องทำงานให้สมเป็นคนของประชาชน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ได้สั่งการให้มีการประเมินผลข้าราชการให้ดีด้วย ทุกคนจะต้องทำงานให้เต็มที่ในขณะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อน ให้สมกับคำว่าเป็นข้าราชการของประชาชน เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องทำทุกอย่างไปสู่การปฏิบัติ วันนี้ก็เดินเล่นในเรื่องแผนการจ้างงาน ทั้งนิสิต นักศึกษา ที่จะต้องมีการอบรมก่อนจะลงไปในพื้นที่เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนและให้คำแนะนำต่างๆ จำเป็นจะต้องรู้ข้อมูลในพื้นที่ไปด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีข้อมูลที่จะลงไปช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ตนเห็นความสำคัญของคนรุ่นใหม่ นิสิตนักศึกษาที่จบใหม่ ผู้ที่ตกงาน ว่างงาน กลุ่มคนเหล่านี้มีแรงขับเคลื่อนสูง ทำอย่างไรจะให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด ดังนั้นการใช้จ่ายงบประมาณในการจ้างงานจำเป็นต้องใช้จำนวนมากพอสมควร ในส่วนของกระทรวงแรงงานก็ได้มีการเตรียมการไว้แล้ว และแต่ละกระทรวงก็มีเม็ดเงินที่จะจ้างงานส่วนของตัวเอง

สิ่งสำคัญที่สุดอยากให้มีการใช้งบประมาณไปให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกบ่อน้ำหรือการดูแลบ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน ในท้องถิ่นและต่อไปจะมีการพิจารณาในเรื่องของกองทุนหมู่บ้านเป็นระยะๆจะต้องมีเงินลงไป ต้องเตรียมโครงการที่เกิดประโยชน์ ไม่ใช่โครงการที่ลงไปแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร ดังนั้นถ้าทุกคนร่วมมือกันจากข้างบนถึงข้างล่างก็จะเกิดผลเป็นรูปธรรม ถือเป็นการทำงานแบบใหม่ของรัฐบาลคือรวมไทยสร้างชาติ

มติ ครม. มีดังนี้

ยกเว้นค่าทางด่วนวันหยุดยาวสิ้นเดือน

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษ 7 และ 9 หรือช่วง กทม. พัทยา และวงแหวนรอบนอกกาญจนาภิเษก สืบเนื่องจากที่ ครม. มีมติเพิ่มให้วันที่ 27 กรกฎาคม 2563 เป็นวันหยุดสงกรานต์ชดเชยและมีวันหยุดยาว 4 วัน จึงให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในช่วงดังกล่าว

ตั้ง อนุ กก. แก้ปมราคาปาล์ม-ปรับเกณฑ์จ่ายเงินประกันรายได้ฯ เร็วขึ้น 30 วัน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบมติการประชุมนโยบายปาล์มแห่งชาติ ในการประชุมวันที่ 4 มิถุนายน 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มหลังจากประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคลดลงไปหลังจากวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะการใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนโดยคาดการณ์ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการใช้น้ำมันดีเซลลดลง 8.2% จาก 67 ล้านลิตรต่อวันเหลือ 61-62 ล้านลิตรต่อวัน ที่ประชุมจึงมีมติ 5 ข้อ

  1. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และนครศรีธรรมราช
  2. ให้กระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เร่งรัดการจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบส่วนที่เหลือ จำนวน 37,550 ตันให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
  3. มอบหมายให้กระทรวงพลังงานโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตพิจารณาจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบส่วนที่สำรองอีก 100,000 ตัน เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง หากยังไม่สามารถดูดซับระดับสต็อกส่วนเกินได้ หรือสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันยังไม่ดีขึ้น (ตามมติ ครม. เมื่อ 27 สิงหาคม 2562) ทั้งนี้ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาความคุ้มค่าในการดำเนินการและภาระงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้น
  4. ให้กระทรวงพลังงานเร่งดำเนินการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งเร่งรัดในการรณรงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 ให้กับผู้บริโภค ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ และสถานีบริการ เพื่อให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบสามารถรองรับปริมาณผลปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นได้
  5. ให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณจำนวน 56 ล้านบาท ให้กรมการค้าภายในเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์มเพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต็อกน้ำมันปาล์มตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 และให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดการเงินโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

“ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน จากเดิมที่เห็นชอบงบประมาณ 13,000 ล้านบาทที่ต้องจ่าย 9 งวด จนถึงวันนี้ 351,000 ครัวเรือน และจ่ายไปแล้ว 7 งวด โดยงวดที่ 3, 4, 5 ไม่ต้องมีการชดเชยส่วนต่างเพราะราคาตลาดอ้างอิงสูงกว่าราคารับประกันที่ 4 บาท ส่วนงวดที่ 7, 8 และ 9 ทางคณะกรรมการได้ปรับเกณฑ์การจ่ายให้เร็วขึ้นเป็น 30 วันจากเดิม 45 วัน โดยจ่าย 16 มิ.ย. 2563 ไปแล้วในงวดที่ 7 และจะจ่ายทุกวันที่ 16 ของเดือนถัดๆ ไป”

เคาะเพิ่มพื้นที่ ส.ป.ก. 1,354 ไร่ ต.กำแพง จ.สตูล

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ ให้มีที่ดินทำกินเพียงพอโดยการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพตนและครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในด้านการลดความเลื่อมล้ำ

ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ นี้ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว โดยตัดพื้นที่ทับซ้อนกับป่าสงวนแห่งชาติ ป่าควนทัง-ป่าเขาขาว และพื้นที่ที่จำแนกออกจากป่าไม้ถาวร ป่าควนทัง-ป่าเขาขาว คงเหลือพื้นที่ที่นำมากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 1,354 ไร่ 40 ตารางวา ตามที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีหนังสือยืนยันให้ความเห็นชอบแล้ว

“สาระสำคัญ คือ เป็นการกำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล จำนวน 1,354 ไร่ 40 ตารางวา เพื่อให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมสามารถจัดซื้อที่ดินและนำมาจัดสรรให้เกษตรกรผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินไม่เพียงพอแก่การครองชีพ หรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นประกอบเกษตรกรรม ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป”

รับเงินให้เปล่าลดสารก่อโลกร้อน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างหนังสือข้อตกลงรับความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากธนาคารโลก สำหรับโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ระยะที่ 2 (HCFC Phase Out Project Stage 2) วงเงินรวม 5,083,929 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณการใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (HCFC) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสเปรย์โฟมและตู้แช่เย็น ซึ่งเป็นสารที่ทำลายโอโซนและทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

“ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สาร HCFC ระยะที่ 1 แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยสามารถลดและเลิกการใช้สาร HCFC ได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มากถึง 576.69 ODP ตัน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้  209 ODP ตัน ภายใต้กรอบพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol: MP) และข้อตกลงเฉพาะ (HPMP) รวมถึงการออกกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ระบบโควตาการนำเข้าสาร HCFC การยกเลิกใช้สาร HCFC บางส่วน เป็นต้น”

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญของร่างหนังสือข้อตกลงรับความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากธนาคารโลก โครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ระยะที่ 2 คือ  โครงการมีวงเงินทั้งสิ้น 5,083,929 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินทุนจากกองทุนอนุรักษ์โอโซน (Ozone Projects Trust Fund) ที่มีธนาคารโลกเป็นผู้บริหารกองทุน โดยมีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และธนาคารออมสิน เป็นผู้ดำเนินโครงการและจัดสรรวงเงิน ซึ่งการจัดสรรเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการผู้ผลิตสเปรย์โฟมและตู้เย็น จะต้องมีการจัดทำข้อตกลงย่อยในการรับความช่วยเหลือทางการเงินแบบให้เปล่า ระหว่างธนาคารออมสินกับผู้ประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน และจะมีการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบต่อไป

ให้เงินกู้ช่วยเมียนมาปรับปรุงระบบไฟฟ้า 1,458 ล้านบาท

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สำหรับโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าเมืองย่างกุ้ง (เขต North Okkalapa และเขต North Dagon) โดยให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (concessional loan) ทั้งจำนวน วงเงิน 1,458.248 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและปรับปรุงสถานีไฟฟ้าย่อยและสายส่งของเมียนมา

โดยใช้แหล่งเงินจาก 2 ส่วน คือ 1) เงินงบประมาณ วงเงิน 729.124 ล้านบาท โดยขอจัดสรรงบประมาณเป็นรายปี รวม 3 ปี ตั้งแต่งบประมาณปี 2564-2566 และ 2) เงินกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศ วงเงิน 729.124 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 5 ปี ด้วยวิธีการประมูลเพื่อหาผู้เสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุดตามเงื่อนไขที่กำหนด

สำหรับเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน ประกอบด้วย 1) อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1.50 ต่อปี 2) อายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 10 ปี) 3) ใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา 4) ผู้รับเหมาก่อสร้างและวิศวกรที่ปรึกษาเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย และ 5) กฎหมายที่ใช้บังคับสำหรับสัญญากู้เงินเป็นกฎหมายไทย

“การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เมียนมาในครั้งนี้ เป็นไปตามยุทธศาสตร์สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน และยังเป็นการสนับสนุนการผลิต การค้าและบริการของผู้ประกอบการไทย รวมถึงการจ้างงานในประเทศไทย มากไปกว่านั้น ยังดึงดูดนักลงทุนชาวไทยให้เข้าไปลงทุนในเมียนมามากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากเงื่อนไขเงินกู้ที่ได้กำหนดให้ใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ จากประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา รวมทั้งให้ใช้บริการรับเหมาก่อสร้างและวิศวกรควบคุมงานจากประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินโครงการด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันเมียนมาเป็นประเทศที่มีนักลงทุนชาวไทยเข้าไปลงทุนอยู่ในอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และจีน โดยมีมูลค่าการลงทุน ณ สิ้นปี 2562 จำนวน 11,341.918 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 13.66 ของมูลค่ารวมของการลงทุนทางตรงในเมียนมา”

เห็นชอบร่างแถงการณ์ ขนส่งอาเซียน-จีนฯ

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีนด้วยการเสริมสร้างการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ราบรื่นเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 และการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโควิด-19 ด้วยระบบการประชุมทางไกล ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 นี้

ทั้งนี้ แถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว แสดงออกถึงความมุ่งมั่นระหว่างอาเซียนและจีนในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก การเดินทางและการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิต การค้าปลีก การคมนาคม และการบริการด้านอื่นๆ รวมทั้งห่วงโซ่อุปทานและตลาดการเงินหยุดชะงัก โดยมีสาระสำคัญ คือ เสริมสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าที่จำเป็นข้ามพรมแดน รวมถึงอาหาร ยาและเวชภัณฑ์สำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และสินค้าและบริการอื่นๆ

อำนวยความสะดวกในการเข้า ออก และผ่าน ของวัสดุและสินค้า ให้ความสำคัญต่อการเดินเรืออย่างปลอดภัย ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสข้ามพรมแดน และลดความเสี่ยงของกลุ่มที่นำเชื้อโรคเข้าประเทศ รวมทั้ง อาเซียนและจีน จะอำนวยความสะดวกในการเตรียมการเดินทางโดยค่อยๆ ลดข้อจำกัดด้านการเดินทางแต่ยังคงเคารพซึ่งการป้องกันสุขภาพ โดยอาเซียนและจีนเห็นพ้องถึงความสำคัญที่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างความปลอดภัยด้านสาธารณสุขและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย

16 ก.ค.นายกฯ เยือนศรีสะเกษ พบธุรกิจ-เกษตรกร

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 นี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญของรัฐบาล โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ นายกฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการเกษตรให้สามารถดำรงอยู่คู่กับสังคมไทยในปัจจุบันได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการได้ครบวงจร สามารถวางแผนการผลิตได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตลอดจนรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ จะได้ติดตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานศึกษา ที่ใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบ New Normal

ปรับชื่อ-เพิ่มอำนาจ ตร.ราชวัลลภ 904 เป็น “กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ”

รายงานข่าวเพิ่มเติมจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ครม. มีมติเห็นชอบเปลี่ยนชื่อส่วนราชการระดับกองบังคับการ “กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904” ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็น “กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ” และแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการดังกล่าว เช่น ต่อต้านการก่อการร้าย สนับสนุนการป้องกันและปราบปราม การระงับเหตุฉุกเฉิน ปราบปรามการก่อการร้าย การก่อวินาศกรรมทั่วราชอาณาจักร และรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันปราบปรามการก่อจลาจล การควบคุมฝูงชน ที่มีผลกระทบต่อการถวายความปลอดภัยรอบเขตพระราชฐาน

นอกจากนี้ยังเปลี่ยนชื่อส่วนราชการภายในระดับกองกำกับการ ในกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จาก “กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ” เป็น “กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย”

ทั้งนี้ การแก้ไขชื่อ และเพิ่มเติมอำนาจของส่วนราชการดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้กำลังพลมีความพร้อมรับมือกับอาชญากรรมพิเศษ ภัยคุกคามและภัยพิบัติต่างๆ สามารถที่จะรองรับวิกฤตการณ์ได้ทุกรูปแบบ และทันต่อเหตุการณ์ภัยคุกคามในปัจจุบันหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และความสงบเรียบร้อยของประเทศ สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการดังกล่าวจะทำให้การปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น ข้าราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ลดความสูญเสีย สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ ตช.

อย่างไรก็ตามก็ส่งผลให้ ตช. มีค่าใช้จ่ายงบบุคลากรเพิ่มขึ้นในส่วนของเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ แต่สามารถถัวจ่ายจากงบประมาณประจำปีที่ ตช. ได้รับการจัดสรร (งบบุคลากร) ได้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่องบประมาณหมวดเงินเดือนของ ตช. และไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด

ตั้ง “นรินทร์ กัลยาณมิตร” นั่ง ปธ.บอร์ดนิคมอุตสาหกรรม

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวม 10 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการเดิมจะครบวาระการดำรงตำแหน่งสามปี ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ดังนี้
1. นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการ
2. นายสรัญ รังคสิริ กรรมการ
3. นายก้อง รุ่งสว่าง กรรมการ
4. พลโท กานต์ กลัมพสุต กรรมการ
5. นางสิรินทร์ แดงไชยวัฒน์ กรรมการ
6. นายณกฤศพรรชธ์ ธนัตถ์อนนตชัย กรรมการ
7. พลตำรวจตรี เทียนชัย คามะปะโส กรรมการ
8. นายดำรงศักดิ์ เครือแก้ว กรรมการ
9. นายเดชา จาตุธนานันท์ กรรมการ
10. นายสรศักดิ์ มีนะโตรี ผู้แทนกระทรวงการคลัง กรรมการ
ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 เพิ่มเติม