เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน โดยระหว่างการแถลงข่าวนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมามีการชี้แจงเป็นภาษาไทยแต่เหมือนสื่อไม่เข้าใจจึงต้องใช้ภาษาอังกฤษบ้าง โดยระบุว่าวันนี้ตนให้แนวทางข้าราชการว่าให้คิดใหม่ทั้งหมดไม่ใช่เอื้อประโยชน์ใคร แต่ต้องมองว่าจะเอื้อประโยชน์ประเทศชาติในอนาคต “make different for future” คือทำให้แตกจากจากเดิมโดยต้องไม่ได้มองจากข้อขัดแย้ง ปัญหาหรือทุจริตเดิมๆ และการทำงานวันนี้ต้องทำแบบ “tailor-made” คือหาเป้าหมายและจัดการให้ตรงกลุ่ม และรัฐบาลจะต้อง “tailor-made” ให้เหมาะกับทุกภาคส่วน ไม่ใช่ทำเพื่อไปเอื้อประโยชน์กับใครอย่างเดียว ต้องทำเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ กระจายรายได้สู่คนส่วนน้อยที่มีรายได้น้อย พร้อมยืนยันว่าผลประโยชน์ที่ประชาชนได้จะต้องไม่ลดลงจากเดิมที่เคยได้รับ
นายกฯ นั่งยัน นอนยัน ยืนยัน ไม่ยกเลิกบัตรทอง
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กฎหมายบัตรทอง) ว่า เราเตรียมเพื่อจะจัดหาและแก้ไขระบบบริหารจัดการในการใช้จ่ายงบประมาณให้เหมาะสม และให้ลงมาสู่บุคลากรรวมถึงประชาชนให้มากที่สุด จากนั้นค่อยไปทำอย่างอื่นและจะต้องมีสัดส่วนที่ชัดเจน ซึ่งจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยให้มีนักบริหารจัดการเข้ามาเป็นกรรมการ เป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วนไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมืออาชีพ เพราะการใช้งบประมาณจำนวนนี้มหาศาล
ในส่วนการจ่ายเงินสมทบ ยืนยันว่าตนไม่ได้ต้องการรีดเงินประชาชน ที่ผ่านมามีการลดเงินสมทบจาก 30 บาท เหลือศูนย์บาท โดยใช้งบที่มีอยู่แล้วจากภาษีต่างๆ แต่จะทำอย่างไรที่จะใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ให้มากที่สุด ต้องมามุ่งตรงส่วนนี้ก่อนว่าจะเพิ่มได้อย่างไร และที่เหลือถึงจะไปทำอย่างอื่น ซึ่งกรณีที่มีคนต่อต้านคัดค้าน อาจเพราะเสียผลประโยชน์ในการได้เงินเหล่านี้ไปทำอย่างอื่นด้วยในกิจกรรมของเขา
“วันนี้รัฐบาลปรับขึ้นให้ได้ประมาณ 3,100 บาทต่อหัว ถึงจะไม่มากนักแต่มากกว่าเดิม แล้วใครจะมาบอกว่าผมจะยกเลิก ยกเลิกได้อย่างไร ผมขอถามหน่อย ไอ้คนที่พูดโกหกบิดเบือน นักการเมืองพูดอยู่ได้อย่างไร ผมยืนยันมาหลายครั้งแล้ว มาถามผมว่าแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ก็ยืนยันมาหลายครั้งก็ยังไม่เชื่อกัน วันนี้ผมใช้คำว่ายืนยัน นั่งยัน นอนยัน จะเอาอะไรยันอีกไหมว่าผมไม่ยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ก่อนไปดูว่าโครงการนี้เป็นอย่างไร เมื่อก่อนเสียกัน 30 บาทกฎหมายก็มีอยู่ สุดท้ายไม่ต้องจ่ายและมันก็สร้างผลกระทบมากมายมหาศาล ถ้าทุกคนไม่มีส่วน หรือเสียสละกันบ้างเลยก็ไปไม่ได้ แต่ผมไม่ได้พูดว่าผมจะไปเก็บเงินใครเลย พูดแต่เพียงว่าเรามีกฎหมายเดิมอยู่แล้ว” นายกฯ กล่าว
ด้าน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงรายละเอียดต่อที่ประชุม พร้อมกับจะจัดงานชี้แจงรายละเอียดถึงความแตกต่างของร่างพระราชบัญญัติใหม่และพระราชบัญญัติเก่าประมาณ 14 ประเด็น เช่น การจัดสรรเงินส่วนลดที่ได้จากการซื้อยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งที่ผ่านมานำไปสนับสนุนองค์กรไม่แสวงหากำไรต่างๆ และอาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ จึงจำเป็นต้องแก้ไขให้รัดกุม เป็นต้น
ชี้รถไฟไทย-จีน มองความคุ้มค่า 2 ข้างทางดีกว่า
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่มีการเห็นชอบให้ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ว่า ตนยังไม่มีการพูดเลยว่าไปกู้ยืมเงินใคร เงินในประเทศก็มีพอสมควรอยู่แล้ว ทางจีนก็ไม่เคยเรียกร้อง เพียงแต่มีการเสนอข้อพิจารณาขึ้นมาว่าหากกู้เงินเขาต้องเสียดอกเบี้ยเท่าไร ซึ่งเราก็มีการเปรียบเทียบว่าการใช้เงินจากส่วนอื่นๆ จะเสียดอกเบี้ยต่ำกว่าหรือไม่ก็ไปใช้ตรงนั้น ไม่ได้มีข้อบังคับแต่อย่างใด
โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มทำในเส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีข้อติดขัด ส่วนตรงไหนติดขัดเรื่องพื้นที่มีคนบุกรุกต้องค่อยๆ จัดการไป หากไปทำตรงที่มีความขัดแย้งกันมาก ติดข้อกฎหมาย ก็จะเริ่มโครงการไม่ได้ ซึ่งกรอบวงเงินที่ใช้จำนวน 1.7 แสนล้านบาทนั้นเอามาทำโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 1.3 แสนล้านบาท จะเป็นการเปิดประมูล การก่อสร้างในประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งคือ ระบบบริหารจัดการการเดินรถประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
“ทางจีนเขาเอามาแค่วิศวกร เรื่องการก่อสร้างก็มีบริษัทของไทย หรือบริษัทร่วมทุนในประเทศไทยก็ประมูลตรงนั้นเอา ซึ่งสัญญาฉบับนี้จะทำเฉพาะเส้นทางสายนี้เท่านั้นไม่เกี่ยวกับที่อื่น ส่วนที่เหลือต้องไปประมูลหรือไปร่วมทุนต่างๆ ในเส้นอื่นอีก แต่เส้นทางนี้เป็นสายแรกต้องให้เกิดขึ้นให้สอดคล้องกับการพัฒนาเส้นทางการเชื่อมระหว่างประเทศ เราต้องคิดถึงประโยชน์ต่อเนื่องไม่ใช่คิดแค่รายได้จากผู้ใช้บริการ ต้องมองผลประโยชน์อย่างอื่นด้วยโดยเฉพาะผลประโยชน์ 2 ข้างทางที่จะทำให้เกิดผลทางด้านเศรษฐกิจกับประชาชนและผู้มีรายได้น้อย เป็นผลประโยชน์ต่อเนื่อง อย่างที่ญี่ปุ่นก็เป็นแบบนี้ อย่าไปคิดว่าคุ้มค่าหรือไม่คุ้ม คิดเฉพาะคนขึ้นรถอย่างไรมันก็ไม่คุ้ม เพราะการสร้างรถไฟไม่ได้เอาประโยชน์จากรถไฟอย่างเดียว” นายกรัฐมนตรีกล่าว
กลไกการเลือกตั้งมีอยู่แล้ว เสกสรรค์อยากพูดพูดไป
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณี รศ. ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าทหารวางกลไกอยู่ยาว 10 ปี ว่า ปล่อยให้ท่านพูดไป ท่านก็พูดมานานแล้ว ถ้าไม่เกิดประโยชน์อะไรกับผมแค่ก็ฟังไป เนื่องจากมีการติดตามทุกวันว่าใครพูดอะไร เพียงแต่จะรับอะไรมาเป็นสาระเท่าไร อย่างไร ซึ่งการที่บอกว่ารัฐบาลจะอยู่ยาวถึง 10 ปีจะอยู่ได้อย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน ซึ่งกลไกที่มีก็นำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2561
ส่วนรูปแบบการเลือกตั้งแบบไพรมารีโหวต ปล่อยให้เป็นการพิจารณาของกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติ (สนช.) ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานก่อน เพราะเรื่องนี้ยังไม่ถึงรัฐบาล เมื่อเขาพิจารณากันก็ถือเป็นกลไกของกฎหมายไปว่ากันมา เป็นเรื่องการปฏิรูปทางการเมือง หลายอย่างต้องมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง เพื่อให้ได้รัฐบาลในอนาคตที่มีธรรมาภิบาล
แจงเหตุบึ้ม รพ.พระมงกุฎ ฝีมือ lone wolf ที่อาจมีรายใหญ่หนุน
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการจับกุมตัวนายวัฒนา ภุมเรศ อดีตวิศวกรไฟฟ้า ผู้ต้องหาก่อเหตุวางระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการกระทำของรายย่อย ทำโดยอิสระ หรือ lone wolf ซึ่งกรณีเช่นนี้ก็มีในต่างประเทศ แต่ผู้ก่อเหตุที่เป็นรายย่อยในประเทศไทยมักมีรายใหญ่อยู่เบื้องหลังอยู่เสมอ
ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนสอบสวนต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ คดีพระธัมมชโยก็เช่นกัน แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถมาตอบคำถามทุกวันได้ บางเรื่องเป็นเรื่องของกลไกทำงาน เพียงแต่วันนี้ต้องทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เอาคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้มากขึ้น
“บอกว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษยอมแพ้ เขาจะยอมแพ้อะไร มีการสอบสวนอยู่ทุกวัน จะไปมองอะไร ‘โก’ คนเดียว ยังมีอีกหลายคนที่มีพฤติกรรมลักษณะนี้ แต่ไม่รู้ว่าจะใช่หรือไม่ใช่ ก็ต้องสืบกันต่อ เรื่องที่เขาบอกว่าไม่ชอบทหาร ก็อย่าไปสนใจ ก็เรื่องของท่าน ใครไม่ชอบผมก็ช่าง ผมไม่สนใจ ผมสนใจว่าประเทศมีปัญหาอยู่ที่ไหน จะเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างไร” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ยันย้ายผู้บริหารดีเอสไอไม่กระทบคดีต่างๆ
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ต้องหยุดชะงักไปนั้นจะกระทบกับการทำงานหรือคดีต่างๆ หรือไม่ ว่า ไม่มีปัญหาอะไร คณะกรรมการสรรหาหมดวาระไป ก็ตั้งใหม่ อะไรที่เป็นเรื่องของส่วนราชการเขาก็ทำของเขาไป ก็เพียงแต่ดูว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ ก็ขอให้แจ้งมา ตนจะแก้ปัญหาให้ ไม่ว่าจะเป็นพลเรือน ตำรวจ ทหาร ติดตามตรวจสอบให้อยู่ เรื่องซื้อตำแหน่งรัฐบาลก็ให้ความสนใจ ซึ่งตนได้สั่งการไปแล้ว ตำรวจก็ตรวจสอบในส่วนของตำรวจไป หากมีอะไรที่มีปัญหาก็นำมาหารือกันต้องให้ความเป็นธรรม นำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน เท่านี้ก็จบแล้ว
สั่ง สธ. สอบกรณีแป๊ะเจี๊ยะ เด็กต้องออกด้วย
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีโรงเรียนชื่อดังย่านพระราม 6 มีการเรียกรับเงินจากผู้ปกครองเพื่อฝากนักเรียนเข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 คนละ 400,000 บาท ว่า เรื่องดังกล่าวตนให้กระทรวงศึกษาธิการไปสอบสวนและดูว่าจะลงโทษได้หรือไม่ นอกจากนี้ต้องไปสืบสวนด้วยว่าใครเป็นคนจ่ายเงิน 400,000 บาท เพื่อให้เด็กได้เข้าเรียน ซึ่งเมื่อคนนั้นได้เข้าไปเรียนก็ต้องถูกเอาออกด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ขอย้ำว่าต้องไม่ให้การเรียกรับเงินอย่างนี้เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนาทุกโรงเรียนให้มีคุณภาพเหมือนกัน
ต่อคำถามกรณีทุจริตเงินทอนวัด นายกรัฐมนตรี ระบุว่า กรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างการสอบสวนเช่นกัน แต่จะให้ใช้กฎหมายมาตรา 44 มาปิดวัดหรือก็ไม่ใช่
มติ ครม. มีดังนี้
ทบทวนองค์การมหาชน 38 แห่ง ยุบ 1 แห่ง
พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลองค์การมหาชนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 ซึ่งสั่งให้ทบทวนความจำเป็นในการมีอยู่ขององค์การมหาชนของคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์กรมหาชน (กพม.) โดยมีหลักเกณฑ์ 3 ประการ ได้แก่ ต้องเป็นองค์การมหาชนที่มีบทบาทภารกิจให้บริการสาธารณะตามที่กำหนดไว้, เป็นองค์การมหาชนที่มีวัตถุประสงค์และหน้าที่เฉพาะด้าน ไม่มีหน่วยงานอื่นของรัฐทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์นี้ และขอบเขตงาน กลุ่มเป้าหมาย และพื้นที่ให้บริการขององค์การมหาชน มีความชัดเจนและมีผลปฏิบัติงานเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจัดตั้ง
ผลการประเมินพบว่า จากองค์การมหาชน 38 แห่งในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ 1) องค์การมหาชนที่มีภารกิจให้บริการสาธารณะและมีผลการปฏิบัติงานที่บรรลุวัตถุประสงค์จัดตั้ง มีประสิทธิภาพสอดคล้องและเหมาะสมกับงบประมาณ และสมควรให้คงไว้ จำนวน 32 แห่ง
2) องค์การมหาชนที่มีภารกิจให้บริการสาธารณะและมีผลการปฏิบัติงานที่บรรลุวัตถุประสงค์จัดตั้งฯ แต่ควรเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การ เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการนำนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติ จำนวน 3 แห่ง
– สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) เปลี่ยนจากนายกรัฐมนตรีรักษาการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
– สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) เสนอให้เปลี่ยนจากนายกรัฐมนตรีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่ พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่าภารกิจของ สสปน. ไม่เหมือนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมีผลงานทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำอาเซียนด้านการประชุม การท่องเที่ยว และการจัดนิทรรศการ การทำงานของ สสปน. โดยมีนายกรัฐมนตรีรักษาการจึงมีความเหมาะสม เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยง เกิดความคล่องตัว สามารถมอบหมายนโยบายให้ สสปน. นำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้รวดเร็ว และ ครม. มีมติให้นายกรัฐมนตรีรักษาการต่อไป
– สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (สคพ.) เปลี่ยนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
3) องค์การมหาชนที่ควรต้องปรับบทบาทภารกิจ ปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองการมหาชนให้เหมาะสม จำนวน 2 แห่ง
– องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) ให้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีรักษาการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยว แต่ พล.อ. ธนะศักดิ์ เห็นว่าให้นากยกรัฐมนตรีรักษาการมีความเหมสะสมแล้ว และเห็นควรให้ปรับลดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านการบริหารภายในองค์กรลง เพื่อให้มีงบประมาณสำหรับการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์จัดตั้งและการปฏิบัติงานกับประชาชน
– สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (สบร.) หรือ OKMD ปรับลดขอบเขตภารกิจงาน 4 ประเภท ได้แก่ สำนักงานส่วนงานกลาง สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ซึ่งมีลักษณะเป็นองค์การมหาชนซ้อนองค์การมหาชน จึงให้ยุบสำนักงานส่วนกลาง และคงเหลือเพียงส่วนของอุทยานการเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และให้ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรลงอย่างน้อย 20% นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้แยกศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบจัดตั้งเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
4) องค์การมหาชนที่ควรปรับสถานะ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) (สพค.) เห็นชอบให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน และงบประมาณของสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีไปเป็นขององค์การสวนสัตว์ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารสวนสัตว์เชียงใหม่ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันและสวนสัตว์อีกหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคทั่วประเทศ มีระบบการบริหารจัดการสวนสัตว์ ควรจะรองรับงานนี้ได้ และให้โอนบรรดากิจการฯ ของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาไปเป็นของกระทรวงการคลัง
เส้นตาย 3 เดือน ซ่อมกล้องวงจรปิด 30,000 ตัว – ติดใหม่ 47,000 ตัว
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ. ประยุทธ์ ได้สอบถามถึงกรณีการรักษาความปลอดภัยของกล้องวงจรปิดของส่วนราชการต่างๆ โดย พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รายงานว่าได้ประชุมเรื่องประเด็นรักษาความปลอดภัยก่อนหน้านี้ พบว่าส่วนราชการต่างๆ มีกล้องวงจรปิดทั้งหมดประมาณ 321,000 ตัว มีประมาณ 30,000 ตัวที่เสีย และต้องติดตั้งเพิ่มอีกประมาณ 47,000 ตัว เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งได้สั่งการให้จัดการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และหากมีเหตุเกิดขึ้นแต่กล้องวงจรปิดของหน่วยงานใดมิสามารถใช้งานได้เหมาะสม ผู้บังคับบัญชาหน่วยจะต้องรับผิดชอบ
รมว.เกษตร รายงานความคืบหน้าแก้ปัญหาราคายางตก
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ. ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำว่ามีการดำเนินการใน 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะแรก ชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกร รวมถึงดำเนินการในเรื่องที่เคยเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหา และเชิญบริษัทรับซื้อยางจำนวนมากเข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจ โดยขอความร่วมมือเพื่อไม่ให้ราคายางตกต่ำ ซึ่งที่ผ่านมา ครม. ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพสต็อกยาง ที่เกษตรกรอ้างว่ามีส่วนทำให้ราคายางตกต่ำ
และในระยะที่ 2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะจัดตั้งตลาดรับซื้อยางขนาดใหญ่ 6 แห่งทั่วประเทศและไม่มีการเก็บไว้ในสต็อก รวมทั้งลดพื้นที่การปลูกยางและส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นตามที่ตลาดต้องการ และจะมีการนัดพูดคุยระหว่าง 3 ประเทศ ประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย เพื่อจัดตั้งตลาดและให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนประเด็นที่นายกรัฐมนตรีเคยสั่งการให้แต่ละกระทรวงสำรวจความต้องการใช้ยางของหน่วยงานในสังกัดซึ่งมีจำนวนหลายแสนตัน แต่ติดปัญหาที่แต่ละหน่วยงานต้องนำงบประมาณไปใช้ดำเนินการตามแผนงานที่มีอยู่ ไม่สามารถแบ่งงบประมาณมาทำภารกิจเรื่องการจัดซื้อยางมาทำวัสดุอุปกรณ์ตามที่เคยระบุไว้ได้ จึงให้แต่ละกระทรวงให้ความสำคัญในเรื่องนี้และพิจารณาจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการในภารกิจที่มีข้อตกลงว่าจะรับซื้อยางในประเทศมาใช้ ถ้างบประมาณไม่มีจะขอในส่วนไหนให้นำเสนอมา ซึ่ง ครม. จะพิจารณาเป็นกรณีไป
สั่งการผู้ที่เกี่ยวข้องให้จัดประชุม ครม.สัญจรในพื้นที่ 6 ภูมิภาค
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกลับมาดำเนินการจัดประชุม ครม.สัญจร ซึ่งภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลปัจจุบันได้เคยมีการจัดประชุม ครม.สัญจรครั้งแรกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และครั้งที่ 2 จัดประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นได้ว่างเว้นการจัดประชุม ครม.สัญจรมาระยะหนึ่ง แต่ระหว่างที่ไม่ได้มีการจัดประชุม ครม.สัญจร นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้มีการเดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในภูมิภาคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม วันนี้นายกรัฐมนตรีมีความประสงค์ที่จะให้หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องกลับมาดำเนินการจัดการประชุม ครม. สัญจรเหมือนเช่นที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญกับ 6 ภูมิภาคของประเทศไทย ประกอบด้วย ภาคเหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้ ภูมิภาคในบริเวณพื้นที่เขตเศรษฐกิจระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC และในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา ส่วนจะจัดประชุม ครม. สัญจรพื้นที่ใดในภูมิภาคดังกล่าวจะมีการพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังได้สั่งการถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ในกรณีลงพื้นที่ปฏิบัติงานว่าอยากให้บูรณาการงานต่างๆ อย่างเป็นระบบ จากเดิมที่อาจจะลงไปเพื่อกิจกรรมบางอย่างกิจกรรมเดียวก็ขอให้ปฏิบัติงานอื่นๆ ร่วมไปด้วย เช่น พบปะประชาชน ทำความเข้าใจกับข้าราชการในพื้นที่ เป็นต้น
รับทราบผลดำเนินการตามข้อสังเกตคณะ กมธ.วิสามัญ ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ข้อสังเกตตามมาตราที่ 23 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ที่บัญญัติให้ปิโตรเลียมเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์ในการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐในการบริหารจัดการ แต่โดยที่ปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน การทำหน้าที่ของรัฐที่เป็นตัวแทนของประเทศและประชาชนจึงควรต้องดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน
ส่วนนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ดำเนินการตามหลักการมาโดยตรง เช่น ที่ผ่านมาสามารถจัดเก็บค่าภาคหลวง ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ส่งเป็นรายได้แผ่นดินจำนวนเงิน 1.83 ล้านล้านบาท และก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในโครงการต่างๆ หรือเงินกว่า 60% ที่ได้จากการเก็บค่าภาคหลวงที่จัดเก็บจากกิจการปิโตรเลียมบนบกก็ได้จัดสรรไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2) ประเด็นผู้ทรงคุณวุฒิ ให้มีส่วนจากภาคประชาสังคม จากเดิมที่คณะกรรมการ 15 คนมาจากภาครัฐ 10 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ส่วนนี้กระทรวงพลังงานระบุว่าตามพระราชบัญญัติฯ ได้ระบุคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิไว้หลากหลายอยู่แล้วและแต่ละคนก็มีวาระกำหนดชัดเจน ซึ่งในอนาคต หากครบวาระจะนำข้อเสนอดังกล่าวมาพิจารณาประกอบด้วย
3) ประเด็นสัญญาแบ่งปันผลผลิตที่ควรจะเป็นขั้นบันไดตามความยากง่ายหรือผลประโยชน์ที่ได้รับ ส่วนนี้กระทรวงพลังงานระบุว่าในพระราชบัญญัติขั้นต้นได้กำหนดไว้ที่ 50:50 ขณะที่การกำหนดในลักษณะขั้นบันไดไม่สามารถกำหนดลงไปในพระราชบัญญัติได้ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีความยากง่ายหลากหลายแตกต่างกันไป ซึ่งส่วนนี้สามารถใช้การออกประกาศกำหนดการแบ่งผลประโยชน์ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ประเทศเสียโอกาสในการสำรวจพื้นที่หรือผลประโยชน์ที่ควรจะได้ไป
4) เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Company: NOC) กระทรวงพลังงานระบุว่าจะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาภายใน 60 วันหลังจากพระราชบัญญัติใหม่ประกาศใช้และต้องได้ข้อยุติภายใน 1 ปี ส่วนเรื่องอำนาจหน้าที่ที่อาจจะทับซ้อนกับหน่วยราชการเดิม ก็ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปและหากมีมติให้จัดตั้งค่อยโอนย้ายอำนาจให้มาทำหน้าที่แทน
งัด ม.44 คลายปม ที่ดิน ส.ป.ก. ใช้ประโยชน์อย่างอื่น – แก้ปัญหาภายใน มสธ.
นอกจากนี้ที่ประชุม คสช. ได้เห็นชอบใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ตามกฎหมายมาตรา 44 ใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1) การใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก) ในการใช้ประโยชน์อย่างอื่น และ 2) การใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาภายในสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)
โดยกรณีการใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหาที่ ส.ป.ก. เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้นอกจากทำการเกษตรใน 3 กิจการ ได้แก่ 1. การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2. การวางกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า 3. การทำเหมืองแร่ โดยต้องเป็นกิจการที่ได้ยื่นขออนุญาตไว้แล้ว ปัจจุบันที่ดิน ส.ป.ก. มีจำนวน 41 ล้านไร่ เป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์ใน 3 ด้านข้างต้นที่ไม่เกี่ยวกับเกษตรกรรมจำนวน 3,695 ไร่ คิดเป็น 0.09% ส่วนที่กำลังขออนุญาตในอนาคต คสช. จะพิจารณาเป็นกรณีไป
“พื้นที่ ส.ป.ก. ที่จะขออนุญาตในอนาคตจะต้องอยู่ต่อในหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ คือ จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงกำหนดให้ชัดเจนว่ามีค่าตอบแทนที่ได้จากการนำที่ดินเหล่านี้ไปใช้ในการสาธารณประโยชน์ เงินที่ได้มาจะต้องนำไปจัดหาที่ดินให้เกษตรกร เพื่อให้เพียงพอต่อการทำการเกษตร และกำหนดเงื่อนไขในการคืนประโยชน์ให้สังคมในรูปแบบเงินกองทุน การดูแลประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกำหนดแผนฟื้นฟูที่ดินเป็นระยะด้วย” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
ส่วนการใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหาภายใน มสธ. โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้าไปแก้ไขข้อขัดข้อง เนื่องจากความขัดแย้งภายในระหว่างคณะกรรมการสภาและนายกสภา มสธ. ส่งผลให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ บางส่วนลาออกจนไม่สามารถประชุมกรรมการสภาฯ ได้ และไม่สามารถลงนามในงานพระราชทานปริญญาบัตรได้
แจงซ้ำ ม.44 ดันรถไฟไทย-จีน
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวถึงการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2560 เรื่องรถไฟไทย-จีนซึ่งซ้ำกับการแถลงข่าวภายหลังการประชุม ครม. สัปดาห์ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2560 พร้อมกับระบุว่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศคำสั่งดังกล่าว
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวถึงการออกคำสั่งฯ เพียงวันเดียวหลังการประชุม ครม. แม้จะระบุว่าต้องนำเข้าการประชุม คสช. ในวันนี้ว่า ในองค์ประชุมของ ครม. ส่วนหนึ่งก็มีตำแหน่งอยู่ใน คสช. ด้วยหลายราย และส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับทำงานในส่วนนี้ ซึ่งได้ประชุมคณะเล็กไปก่อนแล้วพร้อมกับได้ความเห็นชอบจาก ครม. ในครั้งนี้จึงเพียงเป็นการแจ้งเพื่อทราบกับสมาชิก คสช. อื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำเหล่าทัพต่างๆ ที่ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง
นอกจากนี้ ในการหารือกับสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาวิศวกร ทางสภาวิศวกรได้ยอมรับโดยยื่นข้อเสนอให้วิศกรไทยมีส่วนร่วมทำงานประมาณ 100 คนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงขอให้มีตัวแทนจากสภาต่างๆ มีตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างสัญญา พร้อมทั้งขอให้มีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ หรือ Local Content ประมาณ 10 รายการ ซึ่งเรื่องเหล่านี้อยู่ในการหารืออยู่แล้ว