ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “#ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ชี้ยังไม่นำไปสู่ความเท่าเทียมที่แท้จริง”​และ “คาซัคสถานโต้จีน ‘โรคปอดบวมไม่ทราบที่มา’ ไม่เป็นความจริง”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “#ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ชี้ยังไม่นำไปสู่ความเท่าเทียมที่แท้จริง”​และ “คาซัคสถานโต้จีน ‘โรคปอดบวมไม่ทราบที่มา’ ไม่เป็นความจริง”

11 กรกฎาคม 2020


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 4-10 ก.ค. 2563

  • #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต พรรคก้าวไกล ชี้ ยังไม่นำไปสู่ความเท่าเทียมที่แท้จริง
  • แจงอีกครั้งก็ยังไม่สิ้นสงสัย “ฌอน บูรณะหิรัญ” กับยอดเงินบริจาคที่เพิ่ม และความสงสัยที่เพิ่มตาม
  • ศธ. ห้ามครูกล้อนผมนักเรียน การลงโทษต้องยึดระเบียบกระทรวง 4 ข้อ
  • คาซัคสถานโต้จีน ‘โรคปอดบวมไม่ทราบที่มา’ ไม่เป็นความจริง

  • #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต พรรคก้าวไกล ชี้ ยังไม่นำไปสู่ความเท่าเทียมที่แท้จริง

    1. วันที่ 8 ก.ค. 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ….   หรือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต

    2. สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตก็คือ

    • คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิดและได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ.นี้
    • การกำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้
    • กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
    • กำหนดให้กรณีที่ผู้เยาว์จดทะเบียนคู่ชีวิตจะต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือ ศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต
    • กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย เช่นเดียวกับสามีหรือภรรยา และมีอำนาจ ดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกันกับสามีหรือภรรยา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
    • กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิตโดยแบ่งเป็นสินส่วนตัวและสินทรัพย์ร่วมกัน
    • คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ และคู่ชีวิตสามารถฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่ง มาเป็นบุตรบุญธรรมของตนเองก็ได้
    • เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
    • กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา 1606, 1652, 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม

    ส่วน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระสำคัญคือ

    • กำหนดให้ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี “คู่สมรส” หรือ “คู่ชีวิต” อยู่ไม่ได้
    • กำหนดให้เหตุฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉัน “คู่ชีวิต”
    • กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต

    ที่มา: เว็บไซต์บีบีซีไทย

    3. ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติและให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี


    “ร่าง พ.ร.บ”คู่ชีวิตถือเป็นก้าวย่างสำคัญของสังคมไทยในการส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมของคนทุกเพศ เป็นการรับรองสิทธิ์ในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักที่มีเพศเดียวกันให้เป็นคู่ชีวิต และเป็นเครื่องมือทางกฏหมายในการจัดการกับความสัมพันธ์ทางครอบครัวได้เช่นเดียวกับคู่สมรส ครอบคลุมการจดทะเบียนและการเลิกการเป็นคู่ชีวิต สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรมและมรดก เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศและสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน”

    นางสาวรัชดา ธนาดิเรก
    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


    4. ทว่า หลังจากข่าวการเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเผยแพร่ไปได้ไม่นาน แฮชแท็ก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ก็ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ โดยขึ้นไปถึงอันดับ 4

    5. การต่อต้าน พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ได้เกิดจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้สิทธิที่เท่าเทียมแก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทว่าเป็นการคัดค้านจากฝั่งผู้ที่สนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ

    6. ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับนี้นั้นยังไม่นำไปสู่ความเท่าเทียมที่แท้จริง เพราะยังขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์บางอย่าที่รัฐได้กำหนดไว้ให้ “คู่สมรส” เช่น ยังรับสวัสดิการของคู่ชีวิตที่เป็นพนักงานของรัฐไม่ได้ และขอสัญชาติให้กับคู่ชีวิตไม่ได้

    ความแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และแนวทางแก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรสของพรรคก้าวไกล
    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กแฟนเพจ iLaw

    7. อนึ่ง ขณะนี้พรรคก้าวไกลนั้นได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1448 เพื่อแก้กฎหมายสมรสจากคำว่า “ชาย” หรือ “หญิง” เป็น “บุคคล” เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงการสมรสที่เท่าเทียมในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ซึง่ขณะนี้กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยผู้สนใจสามารถไปแสดงความคิดเห็นได้ที่หน้าเว็บไซต์การรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ

    แจงอีกครั้งก็ยังไม่สิ้นสงสัย “ฌอน บูรณะหิรัญ”

    ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/SeanBuranahiran/

    1. สัปดาห์ที่แล้วเราพูดถึงเรื่องของ ฌอน บูรณะหิรัญ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ (ไลฟ์โค้ช) ที่ถูกตั้งคำถามเรื่องการรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือการดับไฟป่าดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยทีมอาสาดับไฟป่าออกมาตั้งคำถามเนื่องจากไม่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งจากนั้นทางฌอนก็ได้มีการชี้แจงถึงยอดเงินและการใช้เงินบริจาค แต่ก็มีจุดที่ทำให้สังคมสงสัยอยู่หลายประการ

    2. หลังจากนั้นฌอนก็เงียบหายไปหลายวัน จนกระทั่งวันที่ 7 ก.ค. 2563 ฌอนก็โพสต์คลิปชี้แจงอีกครั้ง

    3. ฌอนระบุว่าเงินบริจาคจำนวนเดิมที่ชี้แจงไว้วว่ามี 875,741.53 บาทคือคำนวณจากค่าใช้จ่ายตามใบเสร็จ แต่เมื่อตรวจสอบอีกทีก็พบว่ามีใบเสร็จอื่นๆ อยู่อีก ทำให้ยอดใช้จ่ายที่มีใบเสร็จนั้นจริงๆ แล้วอยู่ที่ 991,541.36 บาท และเงินที่มีผู้บริจาคเข้ามาทั้งหมดอยู่ที่ 1,338,644.01 บาท (รับบริจาคตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม – 30 เมษายน)

    4. ยอดบริจาคจำนวนดังกล่าวมาจากทั้งจำนวนเงินที่เข้ามาทางบัญชีที่เปิดรับบริจาค และที่มีการโอนเข้ามาในบัญชีบริษัท

    5. ส่วนเหตุผลที่มีการเปลี่ยนชื่อบัญชีรับบริจาค จากกองทุนลมหายใจเชียงใหม่มาเป็นบัญชีตัวเอง ฌอนอ้างว่าเพราะ “โตโน่ ภาคิน” ซึ่งเป็นดาราและนักแสดง ติดต่อมาว่าจะโอนเงินนบริจาค 1 แสนบาทเข้าบัญชีฌอนเพราะไว้วางใจและคล่องตัวในการจัดการเงิน ฌอนจึงเข้าใจผิดว่าต้องเปลี่ยนชื่อบัญชีในโพสต์รับบริจาค

    6. ส่วนที่ไม่ได้นำเงินบริจาคไปส่งมอบให้ทีมอาสาดับไฟป่า เนื่องจากทางทีมฯ ปิดรับบริจาคไปแล้ว และไม่รับบริจาคเป็นสิ่งของ เนื่องจากไม่มีที่เก็บ อีกทั้งสิ่งที่ทีมต้องการจริงๆ คือเครื่องเป่าแรงดันสูงและหน้ากาก ซึ่งฌอนหาซื้อไม่ได้ในขณะนั้น

    7. ฌอนจึงไปทำกิจกรรมกับชาวปากเกอะญอแล้วผลิตคลิปเพื่อให้ความรู้เรื่องไฟป่า โดยไม่ได้ใช้เงินบริจาคไปกับการผลิต ทว่าใช้ไปกับการจ่ายค่าโฆษณาให้เฟซบุ๊ก (ซึ่งประเด็นนี้เคยถูกตั้งคำถามในที่แรกว่า การจ่ายค่าโฆษณาแบบนี้ทำให้เพจของฌอนได้ประโยชน์ เพราะก็ทำให้คนเห็นเพจมากขึ้น ถือเป็นการใช้เงินบริจาคผิดวัตถุประสงค์หรือไม่)

    8. นอกจากนี้ ในระหว่างเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีโรงพยาบาลขอความช่วยเหลือเข้ามา จึงนำเงินบริจาคไปช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ขาดแคลน

    9. ฌอนยอมรับว่าการชี้แจงครั้งแรกมีความหละหลวมเพราะรีบร้อนด้วยความเป็นห่วงความรู้สึกของทุกคน ทำให้ข้อมูลไม่ครบ และบอกว่าจะนำเงินทั้งหมด 1,338,644.01 บาทตามยอดบริจาค ไปมอบให้กับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องไฟป่าตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค

    10. อนึ่ง ฌอนชี้แจงว่ามีการให้หน่วยงานในเชียงใหม่เข้ามาตรวจสอบสเตตเมนต์และใบเสร็จทั้งหมด แต่ไมไ่ด้ระบุว่าหน่วยงานดังกล่าวคือหน่วยงานใด ทำให้คนเกิดความสงสัยในข้อนี้

    11. นอกจากนี้ ในสเตตเมนต์วันที่ 7 เม.ย. 2563 มีการโอนเงินจากบัญชีบริจาคไปบัญชีของฌอนอีกธนาคารหนึ่งจำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 5 แสนบาท รวม 1 ล้านบาท ทำให้เกิดความสงสัยว่าเส้นทางการเงินของเงินจำนวนดังกล่าวเป็นอย่างไรต่อ

    12. ฌอนถูกตั้งคำถามอีกครั้งว่า เหตุใดจึงไม่มีการอธิบายหรือหารือกับผู้บริจาคก่อน ว่าจะมีการนำเงินไปบริจาคในเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องไฟป่าดังที่ระบุไว้ตอนเปิดรับบริจาค

    13. และอีกคำถามสำคัญที่ยังมีคนกังขาก็คือ คลิปที่ชม พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าน่ารักนั้น มีคนจ้างให้ทำหรือไม่อย่างไร

    ศธ. ห้ามครูกล้อนผมนักเรียน การลงโทษต้องยึดระเบียบกระทรวง 4 ข้อ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยพีบีเอส

    เว็บไซต์ไทยพีบีเอสรายงานว่า นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า แจ้งสถานศึกษาในสังกัดกำกับดูแล ยกเลิกการใช้บังคับระเบียบสถานศึกษาเดิมเกี่ยวกับทรงผมนักเรียน เมื่อปี 2518 ซึ่งหากสถานศึกษาใดยังใช้ระเบียบเดิมจะต้องวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมนักเรียนขึ้นใหม่ ตามประกาศกระทรวง และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน และชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบกระทรวง

    ส่วนภาพการกล้อนผมนักเรียน ที่มีการเผยแพร่อยู่ในขณะนี้ ยอมรับว่าโรงเรียนทำไม่ถูกต้อง เพราะการจะลงโทษนักเรียนไม่ว่าจะกระทำความผิดใด ๆ ก็ตามจะต้องยึดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 มี 4 ข้อดังนี้ 1. ว่ากล่าวตักเตือน 2. ทำทัณฑ์บน 3. ตัดคะแนนความประพฤติ และ 4. ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งรวมไปถึงการทำโทษนักเรียนในกรณีอื่นๆ ด้วย ต้องยึดหลักการลงโทษ 4 ข้อนี้เท่านั้น

    คาซัคสถานโต้จีน “โรคปอดบวมไม่ทราบที่มา” ไม่เป็นความจริง

    เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า หลังจากสถานทูตจีนในคาซัคสถานประกาศเตือนพลเมืองจีนที่อาศัยอยู่ในคาซัคสถานผ่านทางเว็บไซต์ให้ระวัง ‘โรคปอดบวมที่ยังไม่ทราบสาเหตุ’ ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยสูงกว่าผู้ป่วยโควิด-19 มาก ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขของคาซัคสถานได้ออกแถลงการณ์ ปฏิเสธข่าวที่เกิดขึ้น โดยระบุว่าเป็น “ข่าวปลอม”

    กระทรวงสาธารณสุขระบุวันนี้ (10 ก.ค.) ว่า ข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส ซึ่งรวมถึงกรณีที่ยังไม่ได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการนั้น เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

    “กระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐคาซัคสถานขอย้ำว่าข้อมูลที่สื่อคาซัคสถานและสื่อจีนเผยแพร่ออกมาไม่ตรงตามความเป็นจริง”

    ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สถานทูตจีนฯ ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2563 ว่า ‘โรคปอดบวมที่ยังไม่ทราบที่มา’ นี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตในคาซัคสถานแล้ว 1,772 คนในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ รวมถึง 628 คนเฉพาะในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

    “อัตราการเสียชีวิตของโรคนี้สูงกว่าโควิด-19 มาก” แถลงการณ์ระบุ

    สถานทูตจีนในคาซัคสถานระบุด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขของคาซัคสถาน กำลังศึกษาเชื้อไวรัสของโรคปอดบวมนี้แต่ยังไม่ได้ระบุชื่อไวรัส