ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.เสนอ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตต่อสภา ครั้งแรกของไทยมีกม.รองรับคู่สมรสเพศเดียวกัน

ครม.เสนอ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตต่อสภา ครั้งแรกของไทยมีกม.รองรับคู่สมรสเพศเดียวกัน

8 กรกฎาคม 2020


นายนพดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่าตามที่มีสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปให้ความสนใจต่อร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ….ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณาแล้วเสร็จ พร้อมทั้งได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางมาตราให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. ในวันนี้ (8 กรกฎาคม 2563) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าว ต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวระหว่างบุคคลที่เป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิดอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และเป็นไปตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคในทางกฎหมายระหว่างบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองไว้ นอกจากนี้ การมีร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนี้จะช่วยสร้างความตระหนักถึงการมีอยู่ของครอบครัวรูปแบบใหม่ให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งจะช่วยป้องกันความขัดแย้งและสร้างความสงบสุขให้สังคมโดยรวม

ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. ประกอบด้วย 4 หมวด 46 มาตรา มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของคู่ชีวิต โดยเทียบเคียงกับคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ หมวด 1 ว่าด้วยเรื่องการจดทะเบียนคู่ชีวิต มีสาระสำคัญ อาทิการจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์หมวด 2 ว่าด้วยเรื่องการเป็นคู่ชีวิต มีสาระสำคัญ อาทิ คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภรรยา เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิตมีสาระสำคัญ อาทิ หน้าที่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน การเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูเรื่องทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิตมีสาระสำคัญ อาทิ ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิตนอกจากที่ได้แยกไว้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวย่อมเป็นทรัพย์สินร่วมกันของคู่ชีวิต เรื่องความเป็นโมฆะของการจดทะเบียนคู่ชีวิต มีสาระสำคัญ อาทิ การห้ามการสมรสซ้อนและจดคู่ชีวิตซ้อน เรื่องการสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต มีสาระสำคัญ อาทิ การเป็นคู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือ การเลิกการเป็นคู่ชีวิต หมวด 3 ว่าด้วยเรื่องบุตรบุญธรรมมีสาระสำคัญ อาทิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตโดยอนุโลม และสามารถรับบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายเป็นบุตรบุญธรรมของตนได้และหมวด ๔ ว่าด้วยเรื่องมรดกมีสาระสำคัญ อาทิ เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ และหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรส ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก เป็นต้น

ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีกฎหมายรองรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพศเดียวกันอันเป็นการตระหนักถึงความเป็นจริงของสภาพสังคมในปัจจุบัน และเป็นการส่งเสริมการก่อตั้งสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานที่จะช่วยให้ประเทศมีความมั่นคง โดยกำหนดสิทธิหน้าที่ไว้เช่นเดียวกับคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ในระยะแรกยังไม่ได้กำหนดให้ได้รับสิทธิ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามกฎหมายอื่น อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้บังคับไประยะหนึ่งแล้ว หน่วยงานจะทำการประเมินผลสัมฤทธิ์เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดให้ได้รับสิทธิอื่น ๆ ได้ด้วย

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แล้ว โดยมีหลักเพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติและให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

สาระสำคัญ ของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีดังนี้

    1. “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้
    2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้
    3. กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
    4. กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุ นิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต
    5. กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
    6. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน
    7. คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน ด้วยก็ได้
    8. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
    9. กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา1606 1652 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม

ในส่วนของ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระสำคัญ ดังนี้

    1. กำหนดให้ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี “คู่สมรส” หรือ “คู่ชีวิต” อยู่ไม่ได้
    2. กำหนดให้เหตุฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่น ฉัน “คู่ชีวิต”
    3. กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต

มากไปกว่านั้น ครม.เห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญภายหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ. รวม 2 ฉบับในเรื่องนี้ มีผลใช้บังคับแล้ว รวมทั้งให้ร่วมกับกระทรวงอื่นๆ พิจารณาศึกษาผลกระทบและแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของคู่ชีวิต ให้มีความเป็นธรรม เท่าเทียม และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างแท้จริง

ร่างพ.ร.บ คู่ชีวิตถือเป็นก้าวย่างสำคัญของสังคมไทยในการส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมของคนทุกเพศ เป็นการรับรองสิทธิ์ในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักที่มีเพศเดียวกันให้เป็นคู่ชีวิต และเป็นเครื่องมือทางกฏหมายในการจัดการกับความสัมพันธ์ทางครอบครัวได้เช่นเดียวกับคู่สมรส ครอบคลุมการจดทะเบียนและการเลิกการเป็นคู่ชีวิต สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรมและมรดก เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศและสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน

อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย ส่วนสิทธิอื่นๆที่อาจจะยังไม่มีเท่ากับการจดทะเบียนคู่สมรสชาย-หญิง เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะมีการประเมินผลเพื่อพัฒนาให้มีความเหมาะสมกับบริบทต่างๆต่อไป รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย