ThaiPublica > เกาะกระแส > ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอน 2): มองใหม่ภาคบริการไทย เติบโตสูงแต่สร้างรายได้ต่ำ

ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอน 2): มองใหม่ภาคบริการไทย เติบโตสูงแต่สร้างรายได้ต่ำ

12 กรกฎาคม 2020


ตลอดเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานและศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-ColLaR) ได้จัดกิจกรรมการสัมมนาระดมความคิดเห็นทางระบบออนไลน์ เรื่อง “ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19: ผลกระทบ แนวโน้มและทางออก” เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัย ความรู้ในเชิงนโยบาย ความร่วมมือเชิงวิชาการ การพัฒนาฐานข้อมูล และสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับแรงงานและทุกคนในสังคม โดยมีผู้แทนจากนายจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคประชาชน มาร่วมหารือว่าจะร่วมกันจับมือก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร

  • ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอน 1): กลับสู่ภาคเกษตร-ถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ไม่จ้างเด็กจบใหม่
  • หลังจากตอนแรกที่พูดถึงผลกระทบต่อแรงงานในภาคการผลิตทั้งอุตาสาหกรรมและเกษตรกรรมไปแล้ว ในตอนนี้จะเจาะลึกไปที่ภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบหลาย 10 ปีที่ผ่านมา แต่ภายเวลาไม่กี่เดือนกลับได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและอาจจะเรียกว่ามากที่สุดจากการระบาดของโควิด-19 

    ชี้ภาคบริการเติบโตเร็ว แต่สร้างรายได้ยังไม่มาก

    ดร.นครินทร์ อมเรศ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เมื่อมองย้อนกลับไป 50 ปีที่แล้ว (ปี 2513-2563) พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างมาก สำหรับประเทศไทยสัดส่วนการจ้างงานภาคเกษตรในรอบ 50 ปี ลดลงเหลือเพียงมาเหลือ 1 ใน 3 จากแต่เดิมที่สูงถึง 67% ของแรงงานทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนของการจ้างงานในภาคบริการสำคัญอย่างภาคการค้าปรับสูงขึ้นและมีความสำคัญถึง 25% จากเดิมมีเพียงแค่ 9% เท่านั้น

    เมื่อพิจารณาจากการสร้างรายได้ให้กับประเทศ มีข้อสังเกตว่าภาคการเกษตรสามารถทำเงินให้ประเทศได้ไม่มากตั้งแต่ช่วงแรกและช่วงหลังก็ยังคงทำเงินได้เท่าเดิม ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้คนจำนวนน้อยลง ประมาณ 10% เท่านั้น เเต่สามารถทำเงินได้ 1 ใน 3 ของประเทศ สุดท้ายส่วนภาคบริการมีการใช้คนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สัดส่วนการทำเงินยังค่อนข้างชะลอตัวในรอบ 30 ปีหลัง

    เมื่อเจาะลึกการวิเคราะห์ภาคบริการจะเห็นได้ว่าในช่วง 20 ปีให้หลัง โครงสร้างภาคบริการของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก โดยการบริการที่ใหญ่ที่สุดของประเทศยังคงเป็นการค้าขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าทั้งหมด ซึ่งจากการศึกษาของนางสาวฐิตา เภกานนท์ เศรษฐกร ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท. ได้ศึกษาภาคบริการได้ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 และพบว่าสามารถแบ่งกลุ่มธุรกิจบริการไทย ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้ดังนี้

    1. กลุ่มศักยภาพ เป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันต่ำ เพราะต้องใช้เทคโนโลยี และทักษะสูง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการยกระดับทักษะแรงงานจะส่งผลให้มีศักยภาพสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น บริการการเงิน บริการสุขภาพ ฯลฯ สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของกลุ่มศักยภาพนี้น้อยกว่ากลุ่มอื่น
    2. กลุ่มเสริมแกร่ง เป็นคนส่วนใหญ่ในภาคบริการไทยจะเป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง มีทักษะไม่ค่อยมาก และใช้เทคโนโลยีไม่มากนัก เช่น การท่องเที่ยว การขนส่ง สถานการณ์โควิด-19 จึงส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้อย่างมาก
    3. กลุ่มสวนกระแสโลก มีการแข่งขันไม่มาก แต่มีทักษะสูงและใช้เทคโนโลยีสูง อย่างไรก็ตามในประเทศไทยยังมีกลุ่มดังกล่าวค่อนข้างน้อย เช่น นักกฎหมาย วิศวกร computer software ฯลฯ
    4. กลุ่มต้องปรับตัว เป็นคนส่วนใหญ่ในภาคบริการไทยจะเป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง มีทักษะไม่ค่อยมาก และใช้เทคโนโลยีไม่มากนัก เช่นเดียวกับกลุ่มเสริมแกร่ง เช่น ภาคการค้า ธุรกิจก่อสร้าง เป็นต้น กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างมากเช่นกัน

    หากวิเคราะห์สถานการณ์หลังโควิด-19 มีความเห็นว่า ภาคบริการไทยกำลังจะเคลื่อนไปสู่บริการสมัยใหม่ที่ต้องใช้ทักษะสูง ซึ่งอาจมีบริการอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า “servicification” คือ รูปแบบของการแบ่งสินค้าและบริการที่เชื่อมโยงมากขึ้น เช่น ในอนาคตโดรนที่ใช้พ่นปุ๋ยในภาคการเกษตรจะเป็นการให้เช่าเพื่อนำไปใช้ โดยกิจกรรมรูปแบบนี้อาจมาแทนที่รูปแบบบริการแบบเดิม ซึ่งต้องใช้ทักษะที่มีความซับซ้อนค่อนข้างมาก ดังนั้น ทางออกของภาคบริการไทยจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญถึงการพัฒนาทักษะแรงงานในอนาคต

    ในส่วนของผลกระทบจากโควิด-19 พบว่าอัตราการว่างงานและการสูญเสียงานระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้น โดยภาครัฐก็ได้มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบให้สามารถขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทได้ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ แรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระ และแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมแต่ได้รับผลกระทบด้วยเหตุไม่มีงานอย่างสุดวิสัย ยกตัวอย่าง บริษัทค้าปลีกซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุด มีคนประกอบอาชีพอิสระอยู่ประมาณ 3,500,000 คน มีลูกจ้างได้รับเงินประกันสังคมประมาณ 750,000 คน มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบปานกลาง

    ทั้งนี้ เมื่อพิจารณากลุ่มอื่นๆ ในภาคบริการที่ได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงปานกลางเช่นกัน ได้แก่ ร้านอาหาร การขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ สินค้าทุน เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มงานการแพทย์ งานบริการส่วนบุคคล เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้จะเป็นบริการอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงต่ำ

    สำหรับนโยบายการพัฒนากำลังแรงงานในอนาคต จำเป็นต้องเน้นพัฒนาทักษะแรงงานอย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยสร้างแรงงานทักษะสูงที่ต้องปลูกฝังการศึกษาตั้งแต่ต้น แรงงานวัยทำงานต้องปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และผู้ประกอบการอาชีพอิสระที่ต้องพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ อีกทั้งการสร้างและส่งเสริมแรงจูงใจผ่านกลไกต่างๆ เพื่อให้แรงงานและนายจ้างพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่แรงงานมีเวลาว่างจากนโยบายการเว้นระยะทางสังคม ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะยกระดับศักยภาพแรงงานให้เป็นกำลังขับเคลื่อนหลักของประเทศได้

    แนะยึดไทยเป็นศูนย์ท่องเที่ยวอาเซียน

    นางพรรษพร  หงศ์ลดารมภ์ สมาคมการค้าธุรกิจที่พักบูติกไทย กล่าวถึงธุรกิจการบริการที่พักว่าประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในประเทศจำนวนมาก การท่องเที่ยวโดยรวมมีคนไทยท่องเที่ยวแค่ 1 ใน 4 ของรายได้ ส่วน 3 ใน 4 มาจากการท่องเที่ยวที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างมาก เพราะเป็นธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างชาติ การปิดประเทศจึงสร้างผลกระทบรุนแรงต่อทั้งระบบ ทั้งธุรกิจโรงแรม ที่พัก สายการบิน การขนส่ง ร้านอาหาร ไกด์ทัวร์ ร้านของชำร่วย ซึ่งจำต้องหยุดกิจการในช่วงระยะเวลานี้

    “ภาคการท่องเที่ยวของไทยชะลอตัวอย่างมาก โดยมีความเห็นว่าหลังจากสถานการณ์ดังกล่าวสิ้นสุดลง ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวต้องเริ่มจากมีการเดินทางภายในประเทศก่อน ซึ่งอาจจะช่วยทำให้ได้รายได้กลับคืนมาประมาณ 1 ใน 4 ของรายได้ ส่วนรายได้ที่จะกลับคืนมา 3 ใน 4 อาจจะต้องรอนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเข้ามาในไทยโดยนักท่องเที่ยวรายใหญ่ 5 ประเทศหลักๆ ได้แก่ ประเทศจีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเช่นกัน โดยประเทศไทยเองก็ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นในการป้องกันความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคด้วยเช่นกัน”

    นอกจากนี้ สำหรับนักท่องเที่ยวในอดีตมีการใช้จ่ายเงินต่อหัวที่นำมาใช้จ่ายในประเทศไทย อยู่ที่วันละ 3,000 – 5,000 บาท แต่หากเป็นนักท่องเที่ยวที่อัปเกรดสูงขึ้น เช่น นักท่องเที่ยวสุขภาพ นักท่องเที่ยว long stay จะมีการใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น เช่น นักท่องเที่ยวจากยุโรปจะใช้เวลานานขึ้นในการท่องเที่ยวแต่ละครั้ง เนื่องจากประเทศไทยเป็นเหมือนศูนย์กลางการเชื่อมโยงไปยังประเทศอื่นๆ หมายความว่า หากประเทศไทยฟื้นตัวประเทศข้างเคียงก็จะฟื้นตัวตามไปด้วย เพราะนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจะไปท่องเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านโดยผ่านชายแดน

    ฉะนั้น หากเปลี่ยนแนวทางการท่องเที่ยว ให้เป็นเทศไทยเป็นเหมือนศูนย์กลางของการเชื่อมโยงการเดินทางก็อาจมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

    อีกด้านหนึ่ง แรงงานจำเป็นต้องมีการปรับตัวในการเรียนรู้ การใช้ภาษา การเชื่อมโยงการสื่อสาร การเรียนรู้วัฒนธรรม เช่น การศึกษาความต้องการของแต่ละประเทศ ซึ่งอาจได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐในการสอนทักษะด้านภาษา การสื่อสาร ทักษะเกี่ยวกับการเอาใจใส่ลูกค้า

    แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะต้องเป็นแรงงานที่มีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างมากในอนาคต เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เป็นต้น เพราะเป็นการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างและดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และในอนาคตหากแรงงานมีความต้องการค่าตอบแทนที่สูงขึ้น จำเป็นอย่างมากที่ต้องพัฒนาทักษะความสามารถให้หลากหลาย (Multi-Function) เพื่อเพิ่มศักยภาพ และโอกาสในการทำงาน”

    นายวิจิตร  ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการจังหวัดภูเก็ต อภิปรายต่อมาในประเด็นเกี่ยวกับแรงงานในส่วนของธุรกิจโรงแรมและบริการของจังหวัดภูเก็ต ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวและการบริการเป็นสำคัญ จึงได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ธุรกิจโรงแรมและการบริการบางแห่งต้องปิดการให้บริการเพื่อหยุดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้กลุ่มแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบโดยตรงจากการหยุดงาน และการเลิกจ้าง

    “แรงงานในจังหวัดภูเก็ตมี 2 ส่วน คือ ในระบบที่เข้าประกันสังคม และนอกระบบที่ไม่นำเข้ามาสู่ประกันสังคม มีทั้งโรงแรมเล็กๆ หรือธุรกิจต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวที่อยู่นอกระบบ ซึ่งกลุ่มนี้ได้สะท้อนว่าประสบความลำบากมาก ต้องการให้รัฐช่วยในส่วนของเงินเยียวยา เนื่องจากไม่มีประกันสังคม ส่วนลูกจ้างในระบบต้องการให้ประกันสังคมเร่งรัดในการปล่อยเงินออกมาให้เร็ว”

    “แท็กซี่-วินมอไซค์” วอนรัฐกำกับดูแลอย่างจริงจัง

    นายเฉลิม  ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ได้เล่าถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่ออาชีพจักรยานยนต์รับจ้างว่า อาชีพจักรยานยนต์รับจ้างเป็นอาชีพที่อยู่ใต้ผู้มีอิทธิพลมาแต่เดิม หากแต่ต่อมารัฐบาลได้ประกาศขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันนี้จักรยานยนต์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องในกรุงเทพมหานครเละปริมณฑลมีอยู่ประมาณ 200,000 คน

    แต่ที่ผ่านมากลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างไม่ทราบว่า หากมีปัญหาสามารถเรียกร้องหรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานใด รวมถึงภาครัฐไม่มีการจัดงบประมาณและนโยบายที่ชัดเจนเพื่อดูแลกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง ที่ผ่านมาต้องดูแลตัวเองมาโดยตลอด รวมทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการรับเงินเยียวยาจากรัฐได้

    มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล รวมทั้งแนวปฏิบัติ social distancing และ work from home ที่บริษัทกำหนดให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการจักรยานยนต์รับจ้างลดลง จึงทำให้รายได้ของกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างลดลงอย่างมาก จากเดิมที่เคยมีรายได้วันละประมาณ 1,000 บาท ลดลงมาเหลือประมาณ 200-300 บาท โดยผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างบางส่วนเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเอง เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

    “อาชีพจักรยานยนต์รับจ้างยังได้รับผลกระทบจากบริษัทแอปพลิเคชันที่มีการนำรถที่ไม่ได้รับจดทะเบียนป้ายสาธารณะมาให้บริการรับส่งผู้โดยสาร ซึ่งเป็นการแข่งขันให้บริการกับกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างจึงส่งผลให้รายได้ลดลงอย่างมากเช่นกัน”

    นายเฉลิมเสนอแนะว่า ควรมีการพัฒนายกระดับอาชีพจักรยานยนต์รับจ้าง เนื่องจากในปัจจุบันมีหลายบริษัทตั้งขึ้นมาเพื่อแข่งขันให้บริการกับจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างไม่สามารถฟ้องร้องบริษัทเหล่านี้ได้ และไม่สามารถไปเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ดังนั้น ในอนาคตการพัฒนาทักษะเรื่องของภาษา การเรียนรู้การใช้แอปพลิเคชัน จึงเป็นเรื่องที่ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างทุกคนต้องตื่นตัวและให้ความสำคัญ และต้องการให้แก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระเข้าถึงหลักประกันสุขภาพมาตรา 33 ได้อย่างทั่วถึง

    นายวรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ กล่าวถึงผลกระทบต่ออาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ว่าเรื่องของดอกเบี้ย non-bank หรือดอกเบี้ยสหกรณ์แท็กซี่มีอัตราสูงมาก การผ่อนรถแท็กซี่หนึ่งคัน ราคารถและดอกเบี้ยรวมประมาณ 1.8-2 ล้านบาท อีกทั้งผลกระทบจากแอปพลิเคชันที่บริษัทต่างชาติตั้งขึ้นมาหรือแอปเถื่อน เพื่อแข่งขันการให้บริการกับผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ ทำให้มีรายได้ลดลงอย่างมาก

    “ในส่วนของประเด็นที่ต้องการให้ภาครัฐให้การช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขยายเวลาต่ออายุผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ จาก 9 ปี เป็น 12 ปี การขอยกเลิกแท็กซี่ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งเรื่องการขอปรับราคาค่าโดยสารรถแท็กซี่ เพื่อให้เพียงพอกับรายจ่ายและมีรายได้ที่สมเหตุสมผล พร้อมทั้งต้องการให้กระทรวงแรงงานเข้ามามีบทบาทในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ และผู้ขับรถรับจ้างทั่วไป ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และต้องการให้ภาครัฐดูแลเรื่องรายได้จากผลกระทบของโควิด-19 เนื่องจากรายได้ที่ได้รับในช่วงวิกฤตโควิด-19 ไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าเช่ารถ”

    แรงงานต้องการพัฒนาอาชีพด้วย

    นางสาววาสนา ลำดี มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ชี้แจงถึงผลกระทบที่ได้รับจากมาตรการปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยง อย่างเช่นพิพิธภัณฑ์ว่าแรงงานส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานอาสา ไม่ใช่แรงงานที่จ้างประจำ และภาครัฐไม่ได้เข้ามาสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ภาคเอกชนอย่างเต็มที่ หากแต่ทิศทางในอนาคตที่จะต้องปรับการให้บริการการท่องเที่ยวเป็นเชิงประวัติศาสตร์ เชิงวัฒนธรรม และเชิงสุขภาพ ต้องดูว่าพิพิธภัณฑ์ที่มี ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน ท้องถิ่น หรือที่ทำโดยภาคเอกชนมีศักยภาพและความพร้อมแล้วหรือไม่

    “ภาครัฐควรเข้าไปช่วยสนับสนุนให้สามารถทำงานบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร รวมทั้งสนับสนุนเงินทุน และยกระดับความรู้และทักษะแรงงานภาคบริการอื่นๆ เช่น ร้านนวด ให้เป็นการบริการด้านสุขภาพ เมื่อมีมาตรการปิด แรงงานกลุ่มนี้จะไม่มีรายได้ ซึ่งจากเงินเยียวยา 5,000 บาท ไม่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตได้ และบางคนไม่ได้รับเงินเยียวยา ธุรกิจเสริมสวย แม้ปัจจุบันจะเปิดแล้ว แต่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รัฐควรช่วยคิดในส่วนนี้ด้วย”

    นางสาววาสนายกข้อเสนอของภาคภาคีสังคมแรงงานที่ต้องการให้หน่วยงานของรัฐช่วยดูแลว่าควรมีการดูแลแรงงานภาคบริการอย่างครบถ้วน ไม่ควรแบ่งว่าเป็นแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ แรงงานในระบบ หรือแรงงานนอกระบบ กองทุนประกันสังคมควรดูแลแรงงานทุกกลุ่มหรือคนทำงาน อาจไม่ใช่แค่แรงงานในระบบที่มีจำนวนประมาณ 13 ล้านคน หากแต่ควรรวมมาตรา 39 และ 40 ประมาณ 16 ล้านคน เข้าไปด้วย รวมทั้งทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพื่อที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึง

    “แรงงานนอกระบบไม่ได้ต้องการให้รัฐมาเยียวยา 5,000 บาท ทั้งหมด แต่ต้องการการดูแลด้านอาชีพด้วย ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับการดูแลด้านอาชีพ เช่น หาบเร่แผงลอย ควรเปิดให้ทำมาหากินได้ และบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะให้รองรับโอกาสทางอาชีพของแรงงานนอกระบบ”

    แนะแรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคม

    ดร.สุชาติ  เปรมสุริยา สำนักเสริมสร้างความมั่นคงแรงงานนอกระบบ สำนักงานประกันสังคม ได้อภิปรายต่อในประเด็นของการทำงานของสำนักงานประกันสังคมว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ จากการปรับตัวไม่ทันต่อมาตรการล็อกดาวน์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมจะได้รับความคุ้มครองจากสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดจากโรคระบาดโควิด-19 โดยได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน จากกองทุนประกันสังคมในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน

    ดังนั้น ภายหลังจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สิ้นสุดหรือทุเลาเบาบางลงควรส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบในกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบความคุ้มครองประกันสังคมให้ความสำคัญของการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับตนเอง โดยสมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในระบบประกันสังคม ซึ่งจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อต้องหยุดงานเนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากกองทุนประกันสังคม ในอัตราวันละ 300 บาท ไม่เกิน 30 วันต่อปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันความคุ้มครองทางสังคมที่แรงงานนอกระบบมีโอกาสเลือกซื้อความคุ้มครองได้ตามความสมัครใจจากระบบประกันสังคมมาตรา 40

    “ทางสำนักงานประกันสังคมเองก็มีการปรับปรุงและพัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 40 ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่แรงงานนอกระบบที่มีความต้องการได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันสังคมที่มีความหลากหลายและสอดคล้องกับความสามารถและรายได้ของแต่ละบุคคลซึ่งมีความต้องการแตกต่างกัน”

    นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการขยายอายุผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ สามารถเข้าสู่ระบบความคุ้มครองประกันสังคมมาตรา 40 ได้ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุที่ต้องการเข้าสู่ระบบความคุ้มครองประกันสังคมมาตรา 40 แต่ไม่สามารถเข้าได้เนื่องจากมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ อีกทั้งยังประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่แรงงานนอกระบบได้เห็นความสำคัญของการมีหลักประกันทางสังคมสำหรับตนเองเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงวางแผนจะพัฒนาช่องทางสื่อสารผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ เพื่อเพิ่มระดับของการรับรู้และการตระหนักถึงความสำคัญในจุดนี้