ThaiPublica > เกาะกระแส > ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอน 4): ต้องทบทวนยุทธศาสตร์แรงงานสูงอายุ

ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอน 4): ต้องทบทวนยุทธศาสตร์แรงงานสูงอายุ

7 สิงหาคม 2020


ที่มาภาพต้นฉบับ :
https://www.marketwatch.com/story/retirement-brain-drain-could-blindside-us-employers-2015-01-20

ตลอดเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานและศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-ColLaR) ได้จัดกิจกรรมการสัมมนาระดมความคิดเห็นทางระบบออนไลน์ เรื่อง “ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19: ผลกระทบ แนวโน้มและทางออก” เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัย ความรู้ในเชิงนโยบาย ความร่วมมือเชิงวิชาการ การพัฒนาฐานข้อมูล และสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับแรงงานและทุกคนในสังคม โดยมีผู้แทนจากนายจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคประชาชน มาร่วมหารือว่าจะร่วมกันจับมือก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร

ต่อจากตอนที่ 3 “ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอน 3): โจทย์ใหญ่แรงงานจบใหม่ในโลกที่เรียกร้องทักษะใหม่”

ในตอนนี้จะกล่าวถึงตลาดแรงงานของกลุ่มผู้สูงอายุทั้งในฐานะกลุ่มเสี่ยงในด้านสาธารณสุขที่หากติดเชื้ออาจจะรุนแรงถึงชีวิต แต่ขณะเดียวกันต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจเข้ามารุมเร้า แล้วคนกลุ่มนี้จะหาทางออกอย่างไรในยุคหลังโควิด-19

ผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ต่อผู้สูงอายุ

ศ. ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ และหัวหน้าโครงการจุฬาอารีฯ ได้แสดงให้เห็นถึงประเด็นท้าทายต่างๆ มากมายในการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชากรสูงอายุมีสภาพร่างกายและภูมิต้านทานต่ำลง เสี่ยงติดเชื้อ และเสี่ยงตายมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ เห็นได้จากอัตราการป่วยตายของโควิด-19 ที่สะท้อนว่าหากผู้ที่อายุเยอะติดโรคไปแล้ว มีโอกาสตายสูงกว่าวัยอื่นๆ อย่างชัดเจน และด้วยเหตุนี้รัฐจึงมีนโยบาย “อยู่บ้าน ลดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุออกไปเสี่ยงกับการติดเชื้อภายนอก

นโยบายแบบนี้เป็นนโยบายที่ค่อนข้างขัดกับที่ผ่านมา ที่ต้องการให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และที่น่าเป็นกังวลกว่านั้นคือผู้สูงอายุจำเป็นต้องทำงาน เพราะส่วนใหญ่ยังมีรายได้ค่อนข้างต่ำ อยู่ในภาะความยากจน มีหนี้สิน และไม่มีเงินออม ทั้งนี้เมื่อพิจารณานโยบายเกี่ยวกับการจ้างงานผู้สูงอายุในอนาคตก็มีความไม่แน่นอนว่าจะยังสามารถเป็นไปได้อยู่หรือไม่ โดยเฉพาะหากเรามองถึงกลุ่มผู้สูงอายุสำรอง คือ กลุ่มที่อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเป็นกังวล เพราะเป็นกลุ่มที่ถูกให้ออกจากงาน และหากกลุ่มคนนี้ไม่มีการพัฒนาทักษะเพื่อรองรับต่อตลาดแรงงานใหม่ ก็มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนตกงานอย่างถาวร

“นโยบายทั้งหมดในเรื่องของการส่งเสริมการทำงานสำหรับผู้สูงอายุที่ผ่านมา ซึ่งมีตั้งแต่แผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ ซึ่งเน้นบทบาทการทำงานของผู้สูงอายุเพื่อช่วยเสริมกำลังแรงงานที่กำลังลดลงในตลาดแรงงาน และเพื่อเสริมสร้างพลังผู้สูงอายุด้วย (active and productive ageing) ทั้งการขยายอายุการทำงาน การจ้างต่อ การจ้างใหม่ เมื่อมาถึงจุดนี้ โอกาสน่าจะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น เพราะโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของทุนมนุษย์หรือศักยภาพของท่านก็จะต่างกับประชากรวัยอื่นๆ ผู้จ้างเองก็คิดในมุมใหม่ๆ ต้องการคนที่รู้เทคโนโลยี ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ซึ่งแทนที่เราจะได้พลังของผู้สูงอายุมาตอนนี้ เราคงต้องคิดกันใหม่แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร”

ศ. ดร.วิพรรณ ยังฝากอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจไว้ว่า ในการปรับตัวในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ เราจำเป็นต้องปฏิบัติตัวโดยการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นจริงๆ และวิถีใหม่ที่เกิดขึ้นอาจเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงชั่วคราวเพื่อรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่วิถีเดิมของไทยเองที่เป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ น่าจะอาศัย “บววรร” หมายถึง บ้าน วัด วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชน โรงเรียน และโรงพยาบาล ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อเข้ามาดูแลผู้สูงอายุทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ เพื่อยังคงเป้าหมายให้ผู้สูงอายุเป็นพฤฒิพลังของประเทศได้ และที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ การเตรียมคนในรุ่นต่อๆ ไป โดยเฉพาะการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตให้ทันการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ให้มีภูมิคุ้มกันในทุกด้าน เพราะสังคมสูงวัย ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้สูงอายุ แต่เป็นเรื่องของคนทุกวัยที่จะช่วยกันทำให้ประเทศเดินหน้าไปอย่างเข้มแข็งได้

แหล่งรายได้ของผู้สูงอายุ มุมมองต่อ COVID-19

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ รายจ่าย และการทำงานของผู้สูงอายุไว้น่าสนใจ โดยภาพรวมค่าใช้จ่ายส่วนตัวเฉลี่ยต่อเดือนของผู้สูงอายุอยู่ที่ประมาณ 7,800 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่ได้มาจากรายได้จากการทำงาน แต่มีส่วนที่มาจากการเกื้อหนุนหรือเงินโอนเข้าจากการสนับสนุนภายนอก เช่น สวัสดิการจากรัฐ เบี้ยยังชีพ ซึ่งหากวิเคราะห์ตามกลุ่มอายุของผู้สูงอายุจะมีความแตกต่างกันของรายได้ค่อนข้างชัดเจน โดยกลุ่มอายุ 60-69 ปี หรือวัยสูงอายุตอนต้นโดยส่วนใหญ่เป็นรายได้ที่มาจากการทำงาน

แต่รายได้ส่วนนี้ก็จะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยผู้สูงอายุกลุ่มนี้เกือบครึ่งได้รับค่าจ้างแบบรายวันซึ่งก็สะท้อนถึงความไม่มั่นคงของรายได้ และไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงาน แต่ถึงอย่างไรก็ตามในกลุ่มอายุเดียวกันนี้เป็นผู้ให้การเกื้อหนุนสมาชิกในครอบครัวมากกว่าที่จะเป็นผู้รับการเกื้อหนุน แต่เมื่อถึงอายุนึงผู้สูงอายุจึงจะกลายเป็นผู้รับการพึ่งพิงจากครอบครัว และรับสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ โดยเหตุผลหนึ่งของการที่ผู้สูงอายุตอนต้นยังคงทำงานอยู่ น่าจะมาจากความยากจน และยิ่งกว่านั้นผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะความยากจนยังคงต้องให้การเกื้อหนุนสมาชิกในครอบครัวมากกว่ากลุ่มที่ไม่ยากจน ซึ่งมีความสำคัญต่อการวิเคราะห์ความยากจนและผลกระทบของ โควิด-19 ของผู้สูงอายุที่ไม่ควรวิเคราะห์ในระดับปัจเจก แต่ควรวิเคราะห์ในภาพของทั้งครัวเรือนของผู้สูงอายุ

“ผู้สูงอายุที่ทำงานกลุ่มอายุ 60-69 ปี จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นลูกจ้าง เป็นการทำงานในงานที่ไม่มั่นคง และไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงาน แม้ได้รับการเยียวยา แต่ผลกระทบระยะยาวจากการตกงาน ส่งผลเรื่องการกลับเข้าสู่แรงงานได้ค่อนข้างยาก การปรับตัวเข้ากับ new normal จะทำได้หรือไม่ รวมไปถึงประเด็นสุดท้ายว่า เราคงมองเฉพาะกลุ่ม 60 ขึ้นไปอย่างเดียวไม่ได้ กลุ่มที่คอยจะ 60 ปี 50-59 ปี มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกเลิกจ้าง และไม่ต่อสัญญา ซึ่งถ้าหลุดออกมาจากตลาดแรงงาน แล้วการกลับเข้าไป นั่นคือประเด็นสำคัญ จะกลับเข้าไปได้หรือไม่ และจะกลับไปในรูปแบบไหน”

การทำงานของผู้สูงอายุในภาคเอกชน และผลกระทบจาก COVID-19 ต่อผู้สูงอายุ

ในด้าน ดร.ชลธิชา อัศวนิรันดร นักวิจัยประจำวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอข้อมูลตลาดแรงงานผู้สูงอายุ ซึ่งแนวโน้มตลาดแรงงานผู้สูงอายุมีการขยายตัวอย่างมากในช่วงปี 2017-2018 ซึ่งอาจเนื่องมาจากมีนโยบายเรื่องการจ้างงานผู้สูงอายุออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอัตราการแข่งขันของแรงงานผู้สูงอายุนั้นค่อนข้างคงที่มาโดยตลอด โดยผู้สูงอายุมีโอกาสได้เข้าทำงานเพียงครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุที่สมัครทั้งหมด ซึ่งตำแหน่งงานที่สถานประกอบการมีความต้องการรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน 2 ลำดับแรกเป็นตำแหน่งที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยทักษะระดับสูง คือ ตำแหน่งงานเกี่ยวข้องกับการบริการ เช่น พนักงานบริการ เสมียน และพนักงานในร้านค้าและตลาด ลำดับรองลงมาคือ แรงงานในภาคการผลิต

นอกจากนี้ จากการศึกษารูปแบบการทำงานของผู้สูงอายุในบริษัทเอกชน 8 แห่ง พบว่ามีทั้งการรับสมัครผู้สูงอายุเข้ามาทำงานใหม่ ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งงานบริการระดับทั่วไป เช่น บริการลูกค้า จัดเรียงสินค้า แคชเชียร์ แม่บ้าน รวมถึง call center และเป็นรูปแบบการจ้างต่อแม้ว่าจะเกษียณไปแล้ว โดยมีทั้งตำแหน่งระดับสูงที่ต้องอาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญ และตำแหน่งระดับทั่วไปที่ทำงานอยู่กับบริษัทมาเป็นระยะเวลานาน เช่น แม่บ้าน โดยข้อกำหนดในการจ้างงานผู้สูงอายุในแต่ละบริษัทสอดคล้องกับประกาศของกระทรวงแรงงาน ทั้งในประเด็นเรื่องของจำนวนวัน จำนวนชั่วโมง และการจ่ายค่าตอบแทน แต่ก็ยังมีปัญหาของการทำงานอยู่บ้าง เนื่องจากผู้สูงอายุมีความต้องการได้รับสวัสดิการอื่นๆ จากการทำงาน ในขณะที่นายจ้างเองไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยเหตุของข้อจำกัดเรื่องอายุในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม

ในสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อการทำงานของผู้สูงอายุในหลายรูปแบบ เช่น มีการให้ผู้สูงอายุย้ายสถานที่ทำงาน หรือปรับเปลี่ยนตำแหน่ง รวมถึงมีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ทำงานแบบออนไลน์มากขึ้น และที่น่าเป็นห่วงคือ บางทีมีการเลิกจ้างผู้สูงอายุชั่วคราวซึ่งหมายถึงรายได้ที่หายไป ทั้งนี้ตัวผู้สูงอายุเองก็มีความพยายามปรับตัว หารายได้โดยการเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น เช่น ขับ Grab หรือ ทำอาหารขาย ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ค่อนข้างมีความเสี่ยงสูงในการที่จะไม่ได้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีก

“หลังพ้นโควิด-19 รูปแบบตลาดแรงงานก็จะเปลี่ยนรูปแบบไป โดยอาจจะต้องมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาอย่างเร็วขึ้นกว่าเดิม ด้วยข้อบังคับจากสถานการณ์ ทำให้ถ้าเกิดกลุ่มแรงงานสูงอายุกลุ่มนี้ เขาปรับตัวได้ ก็ยังชื่นใจว่า ท่านก็จะยังสามารถกลับเข้าทำงานได้ แต่ถ้าในกรณีที่ท่านอาจจะยังปรับตัวไม่ได้ หรือว่ายังไม่สามารถปรับได้ ก็ค่อนข้างจะน่าวิตกว่าน่าจะมีการตกงานหรือการว่างงานของกลุ่มนี้สูงขึ้น”

บทบาทของกระทรวงแรงงานหลังสถานการณ์ COVID-19

นายชาญวิทย์ ทะนันชัย นักวิชาการแรงงาน กลุ่มงานแรงงานนอกระบบ แรงงานสูงอายุและแรงงานคนพิการ จากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของกระทรวงแรงงานต่อประเด็นการทำงานของผู้สูงอายุ และแนวทางการรับมือของกระทรวงแรงงานจากผลกระทบของโควิด-19 ไว้ว่า ทางกระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลประชาชนผู้ใช้แรงงานของทั้งประเทศได้ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่สำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการจ้างงานแบบพาร์ตไทม์ การรับงานอิสระ รวมถึงการรวมกลุ่มของผู้รับงานไปทำที่บ้าน การลดอัตราดอกเบี้ยและพักชำระหนี้ให้แก่หนี้กองทุนของผู้รับงานกลับไปทำที่บ้าน การเพิ่มโอกาส up skill เสริม ในเรื่องของการฝึกอาชีพออนไลน์ และมาตรการการจ้างงานภายใต้โครงการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ และการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน และชราภาพ

สำหรับผลกระทบของโควิด-19 ต่อการทำงานของผู้สูงอายุจากการที่สถานประกอบการหลายแห่งต้องปิดตัวลง คุณชาญวิทย์ชี้ให้เห็นว่าความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (disruptive technology) ของกลุ่มผู้สูงวัยยังมีน้อย ภาครัฐก็ควรจะมาเสริมสร้างทักษะรอง โดยเฉพาะการติดอาวุธทางด้าน digital literacy (ความรู้เท่าทันทางดิจิทัล) การสร้างช่องทางอาชีพจาก supply chain ในสาขาอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การผลิตสินค้า, การขายของออนไลน์, การบรรจุภัณฑ์ หรือการควบคุมคุณภาพ เพื่อเป็นอีกช่องทางให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานอยู่กับที่ได้ โดยไม่ต้องออกไปทำงานข้างนอก เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19

“ในหลังจากนี้ เราอาจจะเกิดนวัตกรรมใหม่ หรือแม้กระทั่งปัญหาใหม่ๆ ที่จะเข้ามา ทุกท่านอย่าลืมนะครับว่า เนื่องจากผลกระทบที่เป็นลูกโซ่ที่สถานการณ์สถานประกอบการปิดตัวลง ก็จะทำให้การเลิกจ้างเยอะขึ้น งานพาร์ตไทม์ควรจะเน้นในเรื่องของสาขาบางอาชีพที่ผู้สูงอายุทำได้ดี หรือสามารถทำได้ ควรจะเพิ่มเติม เพิ่มช่องทางอย่างไรบ้าง ควรจะเพิ่มในเรื่องของกลุ่มอาชีพอิสระ “ฟรีแลนซ์” พวกนี้ ควรจะไปติดอาวุธในเรื่องของแหล่งทุน ในเรื่องขององค์ความรู้ ในเรื่องของการบรรจุภัณฑ์ การตลาดให้กับแหล่งพวกนี้ ซึ่งจะกำลังเติบโตขึ้นทุกวัน ควรเน้นในเรื่องของการรวมกลุ่มเพื่ออำนาจต่อรอง ยกตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุรวมกลุ่มกัน กลุ่มอาชีพหรือรัฐวิสาหกิจชุมชน ก็จะง่ายต่อการบริหารจัดการของภาครัฐเอง ส่วนสุดท้าย ก็เป็นในเรื่องของการ work from home ก็คงต้องมีระยะนี้อีกต่อไป จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น”

ตลาดแรงงานไทยกับการขยายโอกาสการทำงานของวัยเกษียณ

นางนภาพร ศรีสุตา Chief  People & Culture Officer บริษัท Restaurants Development Co., Ltd. ได้แชร์ประเด็นของโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุและการปรับตัวจากมุมมองของสถานประกอบการว่าโครงการ “เกษียณสำราญ ทำงานทำเงิน” เพื่อรับผู้สูงอายุเข้าทำงานของบริษัท RD เริ่มต้นมาตั้งแต่ประมาณกลางปี 2562 หากแต่มีแนวคิดมา 2 ปีแล้วเนื่องจากแนวโน้มการทำงานขอเจนใหม่ๆ ที่อายุงานค่อนข้างสั้น เปลี่ยนงานค่อนข้างไว จึงทำให้เกิดแนวคิดของการรับผู้สูงอายุเข้ามาทำงานทั้งในตำแหน่งหน้าร้านและหลังร้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าในตำแหน่งของแคชเชียร์ ซอฟต์เสิร์ฟ เคาน์เตอร์ ที่ขายไอศกรีมหรือว่าน้ำดื่ม หรือ supply base ที่เป็นคนเตรียมอาหารของเรา เตรียมไก่บรรจุใส่กล่อง บรรจุใส่ถุง หรือว่าอยู่ด้านหลังในตำแหน่งของกุ๊ก ทอดไก่ หรือพนักงาน delivery (wow) ซึ่งบริษัทเปิดรับสมัครผ่านหลายช่องทางทั้งการติดโปสเตอร์หน้าร้าน สแกนคิวอาร์โค้ด และเฟซบุ๊ก

ผู้สูงอายุที่ทำงานกับบริษัทยังมีโอกาสได้รับการฝึกอบรมและการเติบโตในสายงานใน 5 ขั้นตอน กล่าวคือ team member, star, all-star, superstar และ shift manager ซึ่งใช้ระยะเวลาโดยเฉลี่ย 1 ปี คุณค่าของการรับผู้สูงอายุเข้าทำงานมักจะเป็นคุณค่าเชิงนามธรรมที่วัดออกมาเป็นตัวเลขได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบที่สูง ความมีน้ำใจ การเป็นที่ปรึกษาที่ดี และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทีม การปรับตัวในช่วงโควิด-19 นโยบายต่างๆ ของบริษัท ขั้นตอนวิธีการทำงานปรับเปลี่ยนตามมาตรการของรัฐบาล แต่สิ่งหนึ่งที่บริษัทยังคงไว้เหมือนเดิมชัดเจน ก็คือการรักษาพนักงานให้ทำงานกับเราอยู่ เพราะฉะนั้น กลุ่มที่เป็นพนักงานวัยเกษียณยังคงสามารถทำงานกับบริษัท ตราบใดที่เขายังรู้สึกว่าเขาปลอดภัย และพร้อมที่จะมาทำงาน บริษัทก็ยังรับเขาอยู่

“ส่วนหนึ่งที่อยากจะฝากถึงหน่วยงานรัฐก็คือ วันนี้ประกันสังคมยังไม่รองรับในเรื่องของรักษาพยาบาลให้กับพนักงานกลุ่มนี้ อยากจะฝากว่าทำอย่างไรที่จะสามารถให้คนกลุ่มนี้ได้สวัสดิการจากภาครัฐมากยิ่งขึ้นด้วย บริษัทมีสวัสดิการส่วนหนึ่งให้แล้ว เราพร้อมที่จะสนับสนุนประกันสังคมของกลุ่มเกษียณอายุกลุ่มรายนี้นะคะ แล้วก็อีกข้อนึง คือ ในเรื่องของภาครัฐ ในเรื่องของกระทรวงแรงงาน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานต่างๆ อยากจะขอให้มี flexible นิดนึงนะคะ ความยืดหยุ่น สามารถจะลดหรือเพิ่มชั่วโมงทำงานของกลุ่มคนเหล่านี้ได้หรือไม่ พร้อมที่ให้คนกลุ่มเหล่านี้ มาทำงานลักษณะเป็นพาร์ตไทม์ได้มั้ย สุดท้ายที่อยากจะฝาก ในเรื่องของประชาสัมพันธ์การรับสมัครงาน วันนี้ RD เรามีลงประกาศรับสมัครงานของเราเอง แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าช่องทางของเราจะไปไกลแค่ไหน เรามีอยู่ที่สาขาอยู่ต่างจังหวัดด้วย ถ้าหากภาครัฐสามารถช่วยประชาสัมพันธ์การรับสมัครงานกลุ่มนี้ได้ เราก็จะสามารถได้ผู้สมัครมากยิ่งขึ้น”

สะท้อนมุมมองจากผู้สูงอายุ – การทำงานทำให้ยังแข็งแรง

นายธนาคม เย็นสบาย พนักงานบริการบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่นในโครงการ อายุ 60 ปี มีไฟในการทำงาน ได้พูดถึงประสบการณ์ และสถานการณ์ของการทำงานในช่วงโควิด-19 จากมุมมองของลูกจ้างว่า การทำงานช่วยให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีความสุขมากขึ้น แต่การระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงส่งผลให้บริษัทต้องหยุดบริการชั่วคราวตามคำสั่งของรัฐบาล เกิดการปรับตัวโดยลดวันทำงาน ลดรายได้ ซึ่งทางบริษัทได้จัดเงินก้อนหนึ่งให้พนักงานยืมมาใช้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ นอกเหนือไปจากการขอเงินชดเชยจากประกันสังคม อย่างไรก็ตาม ด้วยอายุที่เกิน 60 ปีจึงไม่สามารถใช้สิทธิ์ของประกันสังคมมาตรา 33 ได้ จึงทำให้คุณลุงใช้เวลาจากการหยุดงานมาช่วยภรรยาขายอาหารและเตรียมอาชีพเสริมสำรองคือการขายเมี่ยงคำออนไลน์

“สำหรับผมที่อายุเกิน 60 ไม่สามารถที่จะใช้มาตรา 33 ได้ และไม่ได้ทำมาตรา 39 และ 40 ไว้ จึงไม่ได้สิทธิ์ แต่ก็ไปใช้สิทธิ์ของเยียวยาของรัฐ เราไม่ทิ้งกัน ก็ได้เงินมาเดือนละ 5,000 บาท ก็ถือว่าช่วยได้เยอะ ผมโชคดีที่มีภรรยาทำอาหารขาย มีฝีมือดี ลูกค้าประจำเยอะ มีเวลาช่วยภรรยาได้มากขึ้นในช่วงนี้ อันนี้เป็นผลดีนะครับ ถ้าไม่ได้ทำอาหารขายก็คงจะกลุ้มแล้วก็เครียดเหมือนกัน สำหรับผมพอรับได้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ต้องปรับตัวในการทำงาน แล้วก็บนมาตรการที่ทางรัฐบังคับใช้ ผมได้เตรียมทำเรื่องการขายออนไลน์ในระยะใกล้ๆ นี้ เป็นอาชีพเสริมสำรองไว้ เผื่อหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นอย่างที่เกิดมาแล้ว จะได้มีรายได้ทดแทนรายได้จากการทำงานประจำอยู่”

ผลกระทบของ COVID-19 ต่อคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีมุมมองถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อผู้สูงอายุไว้ 3 ด้านหลัก คือ ด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น และในกรณีที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลอาจประสบปัญหาการให้ใช้บริการทางแพทย์ส่งผลให้เกิดความเครียดตามมา ด้านเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุหลายท่านไม่มีงานทำในช่วงนี้ ประกอบกับผู้สูงอายุบางส่วนอยู่ในครอบครัวที่ลูกหลานก็กำลังว่างงาน ขาดรายได้ และจำเป็นต้องนำเงินออมที่อาจมีไม่มากมาใช้จ่ายในช่วงนี้ และด้านสังคม ผลกระทบที่สำคัญคือ การขาดการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม รวมถึงกิจกรรมที่ทางกรมกิจการผู้สูงอายุได้ดำเนินการไว้ เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ หรือกิจกรรมที่จัดให้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญา ซึ่งจำเป็นต้องงดจัดไปในตอนนี้

โดยสิ่งที่กรมกิจการผู้สูงอายุได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ หรือส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในสถานการณ์เช่นนี้ มีอยู่หลายรูปแบบ ได้แก่ การออกมาตรการกลไกต่างๆ ในการกำกับดูแลผู้สูงอายุ โดยมีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่สำคัญ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล โดยออกเป็นคู่มือเรื่องการดูแลผู้สูงอายุอย่างเข้มข้น ซึ่งจัดทำทั้งรูปแบบอีบุ๊กและเอกสารเผยแพร่ไปตามจังหวัดต่างๆ นอกจากนี้ทางกรมกิจการฯ ได้เปิด “สูงอายุ Market Place” เพื่อเป็นช่องทางให้กับผู้สูงอายุได้นำผลิตภัณฑ์ หรือสิ่งของที่มีอยู่ ทำอยู่ ลงประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์เพื่อจำหน่าย นอกจากนี้ยังได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมร่วมกันของผู้สูงอายุให้เป็นออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในโรงเรียนผู้สูงอายุที่เริ่มมีความคิดที่ให้ผู้สูงอายุเรียนผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงมีการจัดทำสื่อต่างๆ และการบรรยายผ่านเสียงตามสายในชุมชน

โดยประเด็นที่สำคัญที่ท่านทิ้งท้ายไว้ คือ ภายใต้วิกฤติตรงนี้ ยังมีโอกาสให้เกิดการพัฒนาระบบคิดทางสังคม ในเรื่องของการมีจิตสาธารณะ การแบ่งปัน และความพอเพียง เพื่อให้คนในสังคมทุกคนมีระบบความคิดเดียวกัน และพัฒนาให้กลายเป็นวิถีในการสร้างความมั่นคงให้กับคนทุกกลุ่มในสังคมได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“เราคงจะต้องมีส่วนในการที่จะดึงพลังเหล่านั้นออกมาเป็นพลังที่จะต้องขับเคลื่อนสังคม พัฒนาระบบคิดของสังคม และขับเคลื่อนสังคม ผู้สูงอายุจะต้องเป็นคนที่ยืนและตอบโจทย์ได้ว่า เราคือคนๆ หนึ่ง ในสังคมที่มีความสำคัญในการสร้างและขับเคลื่อนสังคมให้ไปสู่การเป็นสังคมที่มีความสุขได้ ด้วยวิถีและวิธีการต่างๆ ที่เป็นภูมิปัญญาของท่านผู้สูงอายุ”

สถานะทางสุขภาพและโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุ

นายแพทย์ภูษิต ประคองสาย ที่ปรึกษาและรักษาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการส่งเสริมคุณภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับ 3 ประเด็นสำคัญต่อกลุ่มแรงงานสูงวัย คือ (1) การสร้างเสริมสถานะทางสุขภาพ การป้องกันโรคที่เกิดจากความเสื่อมต่างๆ รวมถึงการลดข้อจำกัดของผู้สูงอายุ ทั้งในเรื่องของ physical health, mental health และ spiritual health (2) การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงานในรูปแบบที่ทำให้ท่านสามารถแสดงศักยภาพหรือสร้าง productivity ของท่านให้สูงที่สุดในช่วงเวลาหลังโควิด-19 ที่มาตรการ social distancing และ work from home ยังคงมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานพาร์ตไทม์ การรับงานไปทำที่บ้าน หรือการทำธุรกิจออนไลน์ โดยนายแพทย์ภูษิตได้หยิบยก 3 ตัวอย่างของผู้สูงอายุที่เป็น active ageing บนโลกออนไลน์ ซึ่งสามารถปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อโมเดลทางธุรกิจแบบใหม่ได้ ได้แก่ ป้าแต็กออนไลน์ โดโด้พาเที่ยว และผ้าไหมของป้ามะลิที่บุรีรัมย์ และ (3) การเสริมทักษะ พัฒนาศักยภาพ และเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มที่เป็น pre-aging (อายุ 40-45) ก่อนเข้าสู่การเกษียณอายุ โดยเฉพาะในส่วนของความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT literacy) การให้ความรู้กับแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Facebook, Line, Twitter คอนเนกชันต่างๆ ให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ตรงนี้เพื่อเป็นทางออกให้ผู้สูงอายุมีบทบาทในตลาดแรงงานได้

“เราคงจะต้องพิจารณาเรื่องของกลุ่มที่เราเรียกว่าเป็น pre-aging ให้เขาได้มีการพัฒนาศักยภาพ แล้วก็เตรียมความพร้อมก่อนที่เขาจะเข้าสู่การเกษียณอายุ โดยเฉพาะสถานการณ์หลังโควิด-19 ผมคิดว่า เราคงต้องมีการพิจารณาว่า กลุ่มพวกนี้ เขาจะเข้าไปทำงานอะไรที่จะใช้ศักยภาพของเขาได้หลังจากการเกษียณอายุแล้ว แล้วก็ เราก็คงจะต้องพัฒนาช่องทางและกลไกในการเสริมศักยภาพผู้สูงอายุทั้ง จากหน่วยงานของท่านภาครัฐ และเอกชน บนหลักการเรื่องของ inter-generation approach และ social distancing”

ต้องทบทวนยุทธศาสตร์แรงงานสูงอายุ

ในด้านการศึกษาวิจัยก็มีความสำคัญสำหรับเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายในอนาคตต่อไป โดยแพทย์หญิงลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้ให้ข้อมูลว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องการจ้างงานผู้สูงอายุในช่วงแรกนั้น พบจำนวนผู้สูงอายุที่ทำงานในสถานประกอบการน้อยมาก แต่ละสถานประกอบการมีเพียงแค่หลักหน่วย ซึ่งในปัจจุบันถือว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก งานวิจัยประเด็นนี้ได้นำไปสู่การพัฒนารูปแบบการจ้างงานต่อเนื่องของผู้สูงอายุ และที่สำคัญคือการนำไปสู่การออกแบบระบบบำนาญที่ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มที่ออกมาเป็นกองทุนการออมแห่งชาติในปัจจุบัน ทั้งนี้ งานวิจัยเรื่องแรงงานในช่วงแรกจะให้ความสำคัญกับแรงงานในระบบที่มีนายจ้างก่อน เนื่องด้วยตลาดแรงงานถูกนำโดยแรงงานระบบที่มีสถานประกอบการเป็นนายจ้าง รวมถึงข้าราชการ ซึ่งถ้าสามารถขับเคลื่อนประเด็นด้านต่างๆ ของแรงงานในระบบให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้ ก็จะต่อยอดไปถึงรูปแบบการจ้างงานของแรงงานนอกระบบซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่มากของผู้สูงอายุ เช่น ลักษณะงาน ระยะเวลา ค่าตอบแทน

ทิศทางการขยายตัวของการจ้างงานผู้สูงอายุ แม้จะไม่ได้สูงมาก แต่ก็ค่อนข้างคงที่มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 นี้ จึงเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการออกไปทำงานของผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคิดทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อหาแนวทางการทำงานรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากที่ต้องออกจากบ้านมาทำงาน โดยต้องอยู่บนพื้นฐานให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ พ้นจากภาวะความยากจน แพทย์หญิงลัดดาได้ให้ข้อเสนอต่อการขับเคลื่อนในระยะต่อไปของงานผู้สูงอายุ แบ่งเป็นระยะสั้น คือ ต้องรับมือต่อการป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุติดเชื้อ ต้องมีระบบบริการต่างๆ ให้เข้าถึงผู้สูงอายุ รวมถึงการช่วยเหลือให้มีรายได้ มีงานทำได้ โดยที่ไม่ได้ต้องออกมาเสี่ยงนอกบ้าน สำหรับระยะกลางและระยะยาว ต้องให้ความสำคัญกับการดึงศักยภาพของผู้สูงอายุออกมาใช้ การใช้เทคโนโลยี หรือวิธีการในการช่วยให้เข้าถึงตัวช่วยต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้เกิดนวัตกรรมเหล่านี้ และต้องเข้าถึงตัวผู้สูงอายุได้จริง

“ทิศทางหลักของการขับเคลื่อน ต้องทำให้ผู้สูงอายุพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ พ้นจากความยากจน เพราะฉะนั้น มันก็ต้องมานั่งคิดรูปแบบใหม่ อันนี้คือต้องสร้างความรู้ใหม่ เพื่อที่จะตอบให้ได้ว่า เราจะมีวิถีใหม่ยังไงในการที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้ และพ้นจากความยากจนได้ ไม่ได้พึ่งพาแต่สวัสดิการแห่งรัฐอย่างเดียว รวมทั้งการเตรียมการสำหรับคนที่อยู่ในวัยแรงงานเข้าสู่ระบบการออมเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตบั้นปลาย”

อ่านต่อตอนที่5