ThaiPublica > เกาะกระแส > สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ “ฝากการบ้าน” นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ “ฝากการบ้าน” นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ

9 มิถุนายน 2020


เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มอบนโยบายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 กระทรวงการคลัง

“สมคิด” ฝากผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง คิดมาตรการกระตุ้นการบริโภค-ท่องเที่ยวในประเทศ กำชับสภาพัฒน์ เร่งพิจารณาโครงการขอใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน เฉพาะที่มีคุณภาพ สั่งแบงก์รัฐ-กรมในสังกัดคลัง ตั้งโรงทานทั่วประเทศดูแลชาวบ้าน หลังใช้เงินเยียวยาหมด

เหตุการณ์กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐลาออกเกือบทั้งชุด ตามด้วยข่าวปรับ ครม. (คณะรัฐมนตรี) ออกมาเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งมาถึงช่วงเช้าของวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลถึงกระแสข่าวที่ออกมา ซึ่งยังไม่รู้เป็นข่าวจริงหรือข่าวเท็จ พร้อมตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า“คนดีมีเยอะในเมืองไทย และอยากให้เขาเข้ามา ถ้าเข้ามาได้ก็เชิญเข้ามาเลย คนที่อายุมากแล้วจะได้ถอยไป”

จากนั้นในเวา 13.30 น. ดร.สมคิดเดินทางไปประชุมร่วมกับ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังทุกกรม รัฐวิสาหกิจในสังกัด ข้าราชการการเมือง และคณะทำงานรัฐมนตรี รวมทั้งเชิญผู้บริหารระดับสูงขององค์กรอิสระมาประชุมด้วย เช่น ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์, น.ส.รื่นฤดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ กลต. (คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์), ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์, ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เข้าประชุมมอบนโยบาย ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 ชั้น 4 กระทรวงการคลัง

ภายหลังการประชุม ก่อนที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเปิดให้ผู้สื่อข่าวสายกระทรวงการคลังซักถาม ดร.สมคิดออกตัวก่อนว่า “ใครถามนอกเรื่อง ไม่ตอบ บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ เล่นข่าวกันสนุกสนาน เดี๋ยวพวกคุณจะเดือดร้อน”

ดร.สมคิดกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมวันนี้ว่า หลังจาก พ.ร.ก. 3 ฉบับก็ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา และรัฐบาลก็เริ่มจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปบ้างแล้ว

เรื่องแรก “ผมได้ถามในที่ประชุม ก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเงินเยียวยาที่จ่ายไปทั้งหมดถึงมือประชาชนครบถ้วนหรือยัง ทางกระทรวงการคลังก็รายงานว่าได้แจกเงินเยียวยาครบตามเป้าหมายที่กำหนดแล้ว แต่ในส่วนของประกันสังคมก็ยังมีเรื่องร้องเรียนกันอยู่ ผมมอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลังไปประสานกับกองทุนประกันสังคม เพื่อช่วยกันแก้ไขในเรื่องนี้”

เรื่องที่ 2 ได้ฝากให้ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก. (พระราชกำหนด) ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยจัดซอฟต์โลนช่วยเหลือ SMEs รวมไปถึงตราสารหนี้ โดยให้ความช่วยเหลือผ่านธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการบางส่วนเข้าไม่ถึงแหล่งเงินเยียวยา อย่างเช่นมาตรการช่วยเหลือเอกชนที่ไปออกตราสารหนี้ ต้องเป็น investment grade โดยใช้เรตติ้งของ TRIS หรือ FITCH Rating ซึ่งบริษัทจัดเครดิตเรตติ้งเหล่านี้ จัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทหรือพันธบัตรภายใต้ภาวะปกติ แต่ในยามที่ไม่ปกติ ถ้าใช้วิธีปกติมาจัดอันดับความน่าเชื่อถือของธุรกิจในภาวะไม่ปกติ ถ้าใช้วิธีนี้ก็จะทำให้กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพไม่ได้รับการเยียวยาตามที่รัฐบาลประสงค์ เจตนาของรัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ได้ investment grade เท่านั้น เราต้องการช่วยกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพพอไปได้ด้วย ซึ่งจะต้องรักษาเอาไว้

“ประเด็นนี้ ผมฝากกระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษา เพื่อหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มนี้ เราพยายามอุดช่องโหว่ ผู้ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล SMEs ให้ได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด จึงมอบหมาย ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือกับสมาคมธนาคารไทย ธปท. และแบงก์รัฐ ร่วมกันกำหนดกลไกให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มนี้โดยเร็ว”

เรื่องที่ 3 ได้มอบหมายนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และอธิบดีทุกกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง ร่วมกันศึกษาหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการชุดต่อไป ยกตัวอย่าง ตอนนี้ร้านค้าเปิดกิจการแล้ว แต่คนยังไม่กล้าออกไปซื้อของ ผู้ประกอบการเหล่านี้มีรายจ่ายค่าเช่าพื้นที่ และถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ไม่ช้าผู้ประกอบการก็อยู่ไม่ได้ กระทรวงการคลังจะช่วยลดต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ลงมาเพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอด แทนที่จะรอให้ผู้ประกอบการปลดคนงานแล้วไปเยียวยา อย่าลืมเงินที่จ่ายเยียวยาไปอยู่ได้แค่ 3-4 เดือน ก็หมด กรมสรรพากรต้องไปช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ โดยยอมให้นำค่าจ้างมาหักค่าใช้จ่ายได้บางส่วน แลกกับการไม่ปลดคนงาน

“ช่วง 3-4 เดือนข้างหน้าปัญหาจะเริ่มหนักขึ้น สิ่งหนึ่งที่กระทรวงการคลังจะช่วยได้มาก คือ ให้แบงก์รัฐทุกแบงก์ร่วมกับทุกกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง แบ่งพื้นที่รับผิดชอบเป็นอำเภอหรือจังหวัด จัดโรงทานช่วยชาวบ้าน ลดค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 1 มื้อ”

เรื่องที่ 4 ได้สั่งการให้ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2563 มีหน่วยงานของรัฐส่งโครงการมาขอใช้เงินกู้ 400,000 ล้านบาท มาเป็นจำนวนมาก “ผมขอให้สภาพัฒน์เร่งพิจารณา ส่วนโครงการที่ไม่มีคุณภาพไม่ต้องให้ ให้เฉพาะที่มีคุณภาพ จัดสรรเงินไม่หมดไม่เป็นไร เพราะสามารถปรับโอนมาจ่ายเป็นเงินเยียวยาได้ในภายหลัง”

ในส่วนของสภาพัฒน์เอง ก็มีโครงการตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว และเมื่อนำมารวมกับโครงการของส่วนราชการต่างๆ คาดว่าจะเบิกจ่ายเงินออกไปได้ภายในไตรมาสที่ 3

เรื่องที่ 5 ฝากกระทรวงการคลังศึกษา ต่อจากนี้ไปเรื่องการกระตุ้นภาคการบริโภคกับท่องเที่ยวภายในประเทศจะมีสำคัญมากๆ ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดคงไปหวังพึ่งการส่งออกไม่ได้ดังนั้น ในระยะต่อไป หวังว่าจะได้เห็นกระทรวงการคลังออกมาตรการใหม่มากระตุ้นคนที่มีอำนาจซื้อไปจับจ่ายใช้สอย มาตรการชุดนี้ต้องออกภายในไตรมาสที่ 3 ประสานกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ช่วงแรกเน้นการท่องเที่ยวภายในประเทศก่อน กระแสตอนนี้คนอยากออกไปเที่ยว

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย โดยมาตรการที่จะให้คนกรุงเทพฯ ออกไปในจังหวัดที่ต้องการกำลังจะมีมาตรการออกมา เพื่อให้เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเข้าไปหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3-4 ได้

“ส่วนการคลายล็อกกับต่างประเทศ ผมได้หารือกับนายกรัฐมนตรีแล้ว การคลายล็อกต่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องเลือกประเทศที่จะเปิด โดยจับคู่กัน ที่สำคัญต้องเป็นประเทศที่ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสมาพอสมควร และไม่จำเป็นต้องเปิดให้ท่องเที่ยวได้ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างมณฑลกับพื้นที่ท่องเที่ยวของไทย ค่อยๆ เปิด ก็จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในประเทศ มาตรการนี้เตรียมเอาไว้สำหรับไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้”

“หวังว่าจะช่วยประคองเศรษฐกิจไทยไปได้ถึงต้นปีหน้า การคิดนโยบายต่างๆ ต้องมองล่วงหน้าเป็นรายไตรมาส และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปีหน้าการส่งออกและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศน่าจะดีขึ้น แต่ถ้ายังไม่ดี ซึ่งผมสมมติน่ะ ทางกระทรวงการคลังได้เตรียมการล่วงหน้าแล้วว่าจะทำอย่างไร จัดเตรียมเงินจากแหล่งไหนมาเยียวยา นี่เป็นเรื่องใหญ่ๆ ที่คุยกันวันนี้”

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเรียกประชุมในวันนี้ของ “ดร.สมคิด” แค่ต้องการฝากนโยบายต่างๆให้กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไว้เป็นการบ้าน หรือต้องการสื่อถึงบทบาทความรับผิดชอบที่ยังต้องดำเนินการอยู่ เพราะจากนี้ไป เป็นโจทย์ยากว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศอย่างไร เมื่อเงินเยียวยาหมด