ThaiPublica > เกาะกระแส > อนาคตของการเดินทางท่องเที่ยว ในโลกยุคหลังไวรัสโควิด-19

อนาคตของการเดินทางท่องเที่ยว ในโลกยุคหลังไวรัสโควิด-19

21 มิถุนายน 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : gulftoday.ae

เมื่อวันจันทร์ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากเยอรมันจำนวน 165 คน ได้เดินทางไปเที่ยวเกาะมายอร์ก้าของสเปน โดยการเดินทางครั้งนี้เป็นโครงการนำร่อง ระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น เกาะมายอร์ก้า สมาคมโรงแรม และบริษัททัวร์ TUI

การเดินทางของทัวร์จากเยอรมันคณะนี้เกิดขึ้น แม้ว่าสเปนจะยังมีกฎระเบียบว่า นักเดินทางจากต่างประเทศ จะต้องถูกกักตัว 14 วัน แต่ข้อกำหนดนี้จะไม่นำมาใช้กับนักท่องเที่ยวเยอรมัน เพราะถือเป็นโครงการทดลอง สำหรับการเริ่มต้นฤดูท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนของเกาะมายอร์ก้า ที่ค่อนข้างจะล้าช้าออกไปมาก เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ฤดูร้อนที่ศักดิ์สิทธิ์ของยุโรป

ในยามปกติ ฤดูร้อนถือเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่สูงสุดของยุโรป เพราะภาวะอากาศที่ดีเลิศ และโรงเรียนปิดเรียน คนยุโรปหลายล้านคนจะเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น เอเธนส์ บาร์เซโลนา หรือเวนิส นับจากวันที่ 15 มิถุนายน ฝรั่งเศส เยอรมัน และสวิตเซอร์แลนด์จะเปิดพรมแดนให้แก่นักเดินทางจากกลุ่มสหภาพยุโรปทั้งหมด กรรมาธิการยุโรปเองก็เปิดเว็บไซต์ reopen.europa.eu ให้ข้อมูลการเดินทางภายในกลุ่ม EU เช่น มาตรการกักตัว หรือแหล่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว

บทความชื่อ The Cost of Europe’s Soon-to-Be-Lost Summer ของ theatlantic.com กล่าวว่า แต่ฤดูร้อนปีนี้ คงไม่ได้เห็นภาพนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในยุโรป การท่องเที่ยวที่สูญหายไปดังกล่าว ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการจ้างงานหลายล้านงานในยุโรป การเปิดพรมแดนใหม่ของกลุ่ม EU แม้ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังต้องการอนุรักษ์วิถีชีวิตของยุโรปอีกด้วย

ยุโรปแตกต่างจากสหรัฐฯ ที่ว่าในฤดูร้อนช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม เป็นเวลาที่คนยุโรปวางแผนพักผ่อน ร้านค้าปิด และทั้งทวีปหยุดพักงานร่วมกัน

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของประธานกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า “ฤดูร้อนเปรียบเหมือนกับปอดของยุโรป เป็นช่วงเวลาที่เราหายใจสูดอากาศ เพื่อให้ได้พลังงานที่จำเป็นสำหรับเวลาที่เหลือของปี” มีเรื่องเล่ากันว่า ช่วงฤดูร้อนในอิตาลี ทุกบ้านจะปิดหน้าต่างหมด แม้แต่บ้านของคนที่ไม่ได้เดินทางไปไหน เพราะเป็นเรื่องน่าอับอาย ที่คนอื่นจะรู้ว่า ในปีนี้ ตัวเองไม่ได้ไปพักร้อนที่ไหนเลย

ที่มาภาพ : emerging-europe.com

ช่วงกรกฎาคมถึงสิงหาคม คนยุโรปจะเดินทางไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ เอาประโยชน์จากสิทธิ์การมีวันหยุด 4 สัปดาห์ ที่ได้รับค่าจ้าง

ขณะที่ในสหรัฐฯ พนักงานจะได้รับสิทธิ์การลาพักร้อนประมาณ 2 สัปดาห์ เพราะเหตุนี้ การเดินทางท่องเที่ยวจึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการใช้ชีวิตในยุโรป

แต่ปี 2020 ธุรกิจท่องเที่ยวเผชิญวิกฤติที่ไม่เคยประสบมาก่อน รายได้ทั่วโลกของธุรกิจนี้จะหายไป 1 ใน 3 หากว่าการเดินทางระหว่างประเทศฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ จะประสบกับภาวะปกติใหม่ทั้งหมด สายการบินที่ไม่ล้มละลาย แต่เครื่องบินจำนวนมากยังต้องจอดที่พื้น โรงแรม ร้านอาหาร และแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ยังไม่เปิดให้บริการ คำแนะนำด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการเดินทาง

นโยบาย Travel Bubble

ธุรกิจท่องเที่ยวของยุโรปจึงต้องพึ่งพาอาศัยการท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน องค์การการท่องเที่ยวโลก (WTO) กล่าวว่า ธุรกิจนี้ของยุโรปจ้างงาน 27 ล้านคน มีมูลค่า 10% ของเศรษฐกิจของทั้งทวีปยุโรป แต่เท่ากับ 13%, 14% และ 20% ของเศรษฐกิจอิตาลี สเปนและกรีซ เพราะเหตุนี้ หลายประเทศในยุโรป เช่น อิตาลี สเปน กรีซ และปอร์ตุเกศ จึงมีแผนที่จะเปิดพรมแดน สำหรับการท่องเที่ยวฤดูร้อนที่กำลังมาถึง

แม้บางประเทศจะค่อยๆยกเลิกมาตรการห้ามการเดินทาง เพราะเกรงว่า หากการเดินทางกลับคืนสู่ภาวะปกติเร็วเกินไป จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นมาใหม่ ทำให้มีการเสนอแนวคิดหลายอย่าง ที่ป้องกันไม่ให้เกิดสภาพดังกล่าว เช่น “ใบรับรองภูมิคุ้มกัน” การใช้แอปติดตามตัว และการตรวจวัดโควิด-19 เมื่อเดินทางถึงสนามบิน เป็นต้น

ที่มาภาพ : https://foreignpolicy.com/2020/06/13/travel-tourism-coronavirus-pandemic-future/

แต่นโยบายที่คาดว่าจะประสบความสำเร็จมากสุด ที่บรรดาผู้นำยุโรปได้หารือกันคือแนวคิด “travel bubble” หรือพันธมิตรระหว่างประเทศ ระหว่างภูมิภาค ที่มีการติดเชื้อต่ำ เช่น ข้อตกลงระหว่างแลตเวียกับลิธัวเนีย ข้อตกลงระหว่างออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ หรือสวนสนุก Universal Studios ที่โอซาก้า เปิดให้คนเข้าชมได้แล้ว แต่ต้องเป็นคนที่อาศัยอยู่ในโอซาก้าและเกียวโตเท่านั้น เป็นต้น

อีกแนวคิดหนึ่งคือ การแบ่งประเภทของภูมิภาคต่างๆในยุโรป โดยใช้หลักเกณฑ์ที่ว่า แต่ละภูมิภาคมีประสิทธิผลในควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้มากน้อยเพียงไร สีเขียวคือพื้นที่มีการติดเชื้อต่ำ ส่วนสีแดงคือพื้นที่มีการติดเชื้อสูง แนวคิดนี้ต้องการจะคืนชีวิตสู่ภาวะปกติระหว่างภูมิภาคสีเขียวด้วยกัน เช่น หากเบอร์ลินกับเอเธนส์ เป็นพื้นที่สีเขียว ประชาชนของ 2 เมืองนี้ ก็สามารถเดินทางปกติระหว่างกันและกัน

อนาคตการเดินทางท่องเที่ยว

แม้หลายประเทศจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนที่กำลังมาถึง แต่ธุรกิจเดินทางท่องเที่ยวยังเผชิญกับความไม่แน่นอนและความหวาดกลัว ไม่มีใครรู้ว่าการท่องเที่ยวและการเดินทางเพื่อธุรกิจ จะฟื้นตัวเร็วขนาดไหน ผู้คนจะยังเดินทางด้วยเครื่องบินมากเหมือนกับในอดีตที่ผ่านมาหรือไม่ ประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวจะมีลักษณะอย่างไร เมื่อมาตรการสาธารณสุขถูกนำมาใช้กับการเดินทาง คำถามสำคัญมีอยู่ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเปลี่ยนโฉมหน้าการเดินทางในอนาคตอย่างไร

เว็บไซต์ foreignpolicy.com ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินทางท่องเที่ยวชั้นนำหลายคนในเรื่องนี้ James Crabtree จาก National University of Singapore กล่าวว่า ก่อนที่จะมีวัคซีน การเดินทางท่องเที่ยวในอนาคตข้างหน้า คงจะเป็นรูปแบบการเดินทางระหว่างเขตปลอดภัยด้วยกัน

กลุ่มประเทศที่มีความปลอดภัยจะเปิดพรมแดนระหว่างกัน หรือการมีช่องทางพิเศษเรียกว่า Green Lane สำหรับตรวจตรานักเดินทางที่มีภูมิคุ้มกันโควิด-19 แล้ว ดังนั้น การเดินทางจะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น ระหว่างประเทศที่มี่ความปลอดภัย เช่น เกาหลีใต้กับจีน หรือเยอรมันกับกรีซ ส่วนประเทศที่ยังมีปัญหาควบคุมการแพร่ระบาด เช่น อินเดียหรืออินโดนีเซีย การฟื้นตัวด้านการเดินทางจะช้า

ที่มาภาพ : https://foreignpolicy.com/2020/06/01/travel-bubbles-borders-flights-coronavirus-uk-france-air-bridge/

Elizabeth Becker ที่เขียนหนังสือชื่อ Overbooked กล่าวว่า ภายในชั่วพริบตา โลกเราเปลี่ยนจากการท่องเที่ยวล้นเกิน (over-tourism) มาเป็นภาวะไม่มีการท่องเที่ยวเลย ท้องถิ่นต่างๆได้เห็นสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ดีขึ้น เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาเยือน ในอนาคต จะเกิดแนวโน้ม 2 แบบ แบบแรกคือ รัฐบาลและท้องถิ่นกำหนดมาตรการท่องเที่ยว ที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม และอีกแบบหนึ่งคือ รัฐบาลปล่อยให้ธุรกิจท่องเที่ยวดำเนินการเอง โดยใช้การลดราคาอย่างหนักด้านที่พักและค่าโดยสารเครื่องบิน เพื่อมาฟื้นฟูการท่องเที่ยว

Alexandra de Juniac ผู้อำนวยการสมาคมการบิน IATA กล่าวว่า เป็นเรื่องเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ระยะยาว แต่เมื่อพวกนักเดินทางคนแรกกลับสู่ท้องฟ้า พวกเขาจะพบกับมาตรการต่างๆ ที่เป็นเรื่องปกติในการโดยสารเครื่องบิน เช่น การลดการติดต่อระหว่างคน มาตรการสาธารณสุขที่มากขึ้น การตรวจอุณหภูมิร่างกาย และการรักษาระยะห่างทางสังคม

กรณีของเครื่องบินโดยสาร ที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างทางสังคม ก็จะต้องมีการสวมหน้ากาก ทางองค์การการบินระหว่างประเทศ ICAO โดยการสนับสนุนของ IATA กำลังดำเนินการเรื่อง ความปลอดภัยของผู้โดยสารปลอดภัยในช่วงเดินทาง มาตรการนี้จะนำมาใช้ดำเนินการแบบสากล เพื่อให้ทั้งนักเดินทางและรัฐบาล มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของการเดินทางทางอากาศ

ส่วน Carsten Spohr CEO ของ Lufthansa ให้สัมภาษณ์กับ spiegel.de ว่า ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การเติบโตของการเดินทางทางอากาศจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การเดินทางจากเหตุผลทางธุรกิจ ไปเปลี่ยนไปเป็นการเดินทางของตัวเอง ไม่เกี่ยวกับองค์กร โดยนักเดินทางเหล่านี้ ยังมีความต้องการที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ

อุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ ที่คนใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้การเดินทางเพราะเหตุผลทางธุรกิจ ล้าสมัยลงในอนาคต เศรษฐกิจโลกจะเล็กลง โลกาภิวัตน์จะเกิดการถดถอย สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ ทำให้ Lufthansa กำลังสร้างแบบจำลองสถานการณ์ต่างๆในอนาคต เพื่อพิจารณาว่า Lufthansa จะมีขนาดที่เล็กลงอย่างไร

ส่วนสถานการณ์ที่ธุรกิจการบินจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ อาจใช้เวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือนานกว่านั้น แต่เมื่อสายการบินต่างๆเริ่มเปิดดำเนินงานขึ้นมาใหม่ การเดินทางทางอากาศจะไม่สามารถเชื่อมโยงจุดต่างๆในโลก จากวันหนึ่งสู่อีกวันหนึ่ง เหมือนกับอดีตที่ผ่านมา แต่จะต้องใช้เวลาหลายปี ก่อนที่อุตสาหกรรมนี้ จะกลับคืนสู่สภาพก่อนวิกฤติ

เอกสารประกอบ
The Costs of Europe’s Soon-to-Be-Lost Summer, June 4, 2020, theatlantic.com
The Future of Travel After the Coronavirus Pandemic, June 13, 2020, foreignpolicy.com
Lufthansa ‘s CEO on how Coronavirus has radically upended the aviation industry, spiegel.com