ThaiPublica > เกาะกระแส > จีนจับมือสิงคโปร์ คิดนอกกรอบ พัฒนาเศรษฐกิจวิถีใหม่ สร้างเมืองต้นแบบอนาคตที่ยั่งยืน

จีนจับมือสิงคโปร์ คิดนอกกรอบ พัฒนาเศรษฐกิจวิถีใหม่ สร้างเมืองต้นแบบอนาคตที่ยั่งยืน

8 มิถุนายน 2020


ที่มาภาพ: https://news.cgtn.com/news/2019-10-18/Amid-trade-slowdown-E-China-s-industrial-park-set-to-lead-upgrade-KTmkpYcQpy/index.html

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก การเชื่อมโยงของหลายประเทศและหลายภูมิภาค ผ่านการเดินทาง การลงทุน กระแสเงินที่เคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี รวมทั้งเทคโนโลยีที่กำลังพลิกโฉมเศรษฐกิจและธุรกิจ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและวิธีทำธุรกิจ เพื่อความอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่

ในช่วงเวลานี้ที่โควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก สร้างผลกระทบต่อชีวิตผู้คนและเศรษฐกิจไปจากเดิม ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ต้องคิดหาแนวทางใหม่ วิถีใหม่ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและการประกอบธุรกิจ ภายใต้สภาวะเช่นนี้ ธุรกิจยิ่งต้องมีความคล่องตัว มีขีดความสามารถมากขึ้น รวมทั้งมีนวัตกรรมเพื่อวางอนาคต

จีนและสิงคโปร์ได้ร่วมกันกำหนดทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดใหม่ วิถีใหม่ มาร่วมกว่าสองทศวรรษก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการนำพาประเทศไปสู่อนาคต ผ่านการพัฒนาเมืองใหม่ โดยสิงคโปร์ได้เข้าไปช่วยจีนสร้างเมืองใหม่บนแนวคิดใหม่หลายโครงการด้วยกัน

สำหรับโครงการที่เป็นการดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ (government-to-government) มี 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคซูโจว หรือ China-Singapore Suzhou Industrial Park 2) โครงการเทียนจิน อีโค-ซิตี หรือ Sino-Singapore Tianjin Eco-City และ 3) โครงการสาธิตความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์จีน (ฉงชิ่ง)-สิงคโปร์ หรือ China-Singapore (Chongqing) Demonstrative Initiative on Strategic Connectivity

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ดำเนินการระดับรัฐแบบทวิภาคี คือ โครงการเมืองแห่งการเรียนรู้กวางโจว หรือ China-Singapore Guangzhou Knowledge City และยังมีโครงการที่เอกชนเป็นผู้ริเริ่มอีกจำนวนมาก ตลอดจนความริเริ่มที่รัฐบาลสนับสนุน เช่น นิคมนวัตกรรมไฮเทคสิงคโปร์-เสฉวน (Singapore-Sichuan Hi-Tech Innovation Park) โครงการเกาะไฮเทคที่รักษาระบบนิเวศน์ที่นานจิง (Nanjing Eco High-Tech Island) และโครงการเขตอาหารจี้หลิน (Jilin Food Zone)

ส่วนในระดับมณฑล ได้ร่วมก่อตั้งสภาธุรกิจและเศรษฐกิจมณฑล 8 แห่ง คือ กับเสฉวน, ชานตง, เหลียวหนิง, เจ้อเจียง, เทียนจิน กว่างตง เจียงซู และเซี่ยงไฮ้

นับตั้งแต่ปี 2013 จีนได้กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของสิงคโปร์ และสิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่สุดของจีน หลังจากการเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีนในปี 2015 ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีจีน-สิงคโปร์ (China-Singapore Free Trade Agreement: CSFTA) ที่ได้มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2009 และการเจรจายกระดับข้อตกลงได้ข้อสรุปในเดือนพฤศจิกายน 2018 ซึ่งนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามของทั้งสองฝ่ายระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 33 และการประชุมที่เกี่ยวข้องที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

ข้อตกลงการค้าเสรีนี้ เป็นการเปิดตลาดให้การส่งออกสินค้าและบริการของสิงคโปร์ไปจีนมากขึ้น รวมทั้งมีผลให้การทำธุรกิจของบริษัททั้งสิงคโปร์และจีนมีความโปร่งใสมากขึ้น รวมทั้งคาดการณ์ได้

ข้อมูลในปี 2018 พบว่าสิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในจีน และติดอันดับนี้มาต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แล้ว

โครงการนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคซูโจว

โครงการแรกได้แก่นิคมอุตสาหกรรมซูโจว หรือ China-Singapore Suzhou Industrial Park (SIP) ที่เป็นต้นแบบความร่วมมือทางเศรษฐกิจของจีนกับประเทศอื่นๆ

SIP ได้ฉลองความสำเร็จในวาระครบรอบการดำเนินงาน 25 ปีไปแล้วในปี 2019 หลังจากเริ่มพัฒนามาในปี 1994

จาง เจิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กองงาน Adopting Singapore’s Experience Office ของคณะกรรมการบริหาร SIP กล่าวว่า แม้ผู้บริหารโครงการได้เปลี่ยนไปแล้ว 6 ชุด แต่ทั้งหมดบริหารบนแนวทางการพัฒนาหลักที่วางไว้ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความสำเร็จของโครงการ

เดือนกุมภาพันธ์ 1994 ได้มีการเปิดตัวโครงการ SIP ภายใต้ความร่วมมือของรัฐบาลจีนและรัฐบาลสิงคโปร์ ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมในท้องถิ่นและส่งเสริมธุรกิจไฮเทค จนส่งผลให้ SIP ติดอันดับต้นๆ ของนิคมอุตสาหกรรมที่ดีที่สุด ในบรรดานิคมอุตสาหกรรมในลักษณะเดียวกันนี้ที่มีกว่า 200 แห่งในจีน

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1994 รองนายกรัฐมนตรีหลี่ หลางเฉียงของจีนและรัฐมนตรีอาวุโสเกียรติคุณ ลี กวนยูของสิงคโปร์ ในฐานะตัวแทนประเทศได้ลงนามในข้อตกลงสร้างนิคมอุตสาหกรรมซูโจว ณ เรือนรับรองเตียวหยูไถ่ โดยมีนายกรัฐมนตรีหลี่ เผิงของจีนและนายกรัฐมนตรีโก๊ะ จ๊กตงของสิงคโปร์ร่วมเป็นสักขีพยาน ที่มาภาพ:https://chinareportasean.com/2019/05/29/a-park-for-the-ages-china-singapore/

ตลอดทั้ง 25 ปี SIP ได้มีส่วนร่วมในการจัดเก็บเงินภาษีถึง 800 พันล้านหยวน หรือ 119.11 พันล้านดอลลาร์ มีปริมาณการค้ากับต่างประเทศกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ มีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรกว่า 900 พันล้านหยวน และดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ 31.27 พันล้านดอลลาร์

นิคมอุตสาหกรรมนี้ตั้งอยู่ในบริเวณทะเลสาบจิ้นจี๋ ทางตะวันออกของเมืองซูโจว ทั้งสองประเทศประกาศเมื่อเปิดตัวในปี 1994 ว่า นิคมอุตสาหรรมซูโจวนี้ จะรองรับอุตสาหกรรมไฮเทคโดยมีอุตสาหกรรมสมัยใหม่เป็นหลัก และมีธุรกิจภาคบริการเป็นส่วนเสริม

ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ (ซูโจว) เซมิคอนดักเตอร์ ได้เปิดตัวและเป็นบริษัทต่างชาติที่ลงทุนใน SIP เป็นรายแรก ตามมาด้วยซีเมนส์ ฟิลิปส์ และบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ที่ได้เข้ามาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมทั้งกลุ่มบริษัทจากสิงคโปร์ที่ได้เข้ามาตั้งสำนักงานในซูโจว

Suzhou Industrial Park นับว่าเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จของความร่วมมือที่จริงใจระหว่างกัน และเป็นช่องทางของจีนในการก้าวสู่โลก เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของผู้นำจีนในยุคนั้นคือ เติ้ง เสี่ยวผิง และลี กวนยู ผู้นำของสิงคโปร์

ในช่วงแรกนั้นสิงคโปร์ลงทุนในสัดส่วน 65% ในบริษัทไชน่า-สิงคโปร์ ซูโจว อินดัสเทรียล พาร์ก ดีเวลอปเมนต์กรุ๊ป (CSSD) จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลจีนและรัฐบาลสิงคโปร์ในเดือนสิงหาคม 1994 เพื่อวางแผนพัฒนานิคมรวมทั้งงานด้านบริหาร และได้กลายเป็นต้นแบบในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งอื่นๆ ต่อมาได้ลดการลงทุนเหลือ 35% ในปี 1999

ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา SIP ประสบความสำเร็จบนพื้นที่ 288 ตารางกิโลเมตร และมีบริษัทเข้ามาดำเนินการกว่า 25,000 ราย จนเป็นหนึ่งในอันดับต้นๆ ของเขตอุตสาหกรรมกว่า 200 แห่งในจีน อีกทั้งยังมีส่วนสร้างจีดีพีของเมืองถึง 14% ในรอบ 7 เดือนแรกของปี 2019 ซึ่งอยู่ในระดับเท่ากับเมืองชั้นหนึ่งของจีน

ในช่วงปี 1994-2000 ซึ่งเป็นการพัฒนาระยะแรกของ SIP การเข้ามาของบริษัทต่างชาติอย่างต่อเนื่องถือเป็นการวางรากฐานสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่เน้นการนำเข้าและการส่งออก ประกอบกับแรงงานราคาถูก ที่ดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน ส่งผลให้บริษัทข้ามชาติย้ายการผลิตเข้ามาใน SIP และส่งสินค้าออกไปจำหน่ายในประเทศอื่น

ช่วงปี 2005 นิคม SIP เริ่มยกระดับอุตสาหกรรมและส่งเสริมธุรกิจในประเทศ ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศที่เพิ่มขึ้นทำให้การให้บริการของนิคมรองรับไม่ทัน ดังนั้นจึงได้พัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในวงกว้าง โดยในด้านนวัตกรรมการเงิน ได้ศึกษาความสำเร็จจากสิงคโปร์ และเริ่มจัดตั้งสถาบันวิจัยและการบ่มเพาะผู้ประกอบการ

ที่มาภาพ: https://chinareportasean.com/2019/05/29/a-park-for-the-ages-china-singapore/

จาง เจิน กล่าวว่า “ในช่วง 10 ปีแรก นิคมได้เรียนรู้และพัฒนาจากประสบการณ์ของสิงคโปร์ แต่นับจากปี 2006 ได้เริ่มเข้าสู่เวทีการส่งออก”

ในแผนพัฒนาของมณฑลเจียงซูได้มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมซูโจว-ซูเฉียน (Suzhou-Suqian Industrial Park) โดยอิงจากรูปแบบและการดำเนินการของ SIP เช่นเดียวกันการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซูโจว-หนานทง (Suzhou-Nantong Science and Technology Industrial Park)

นายหยิน เจียน รองประธานบริษัทกล่าวว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมในเจียงซูเป็นก้าวแรกที่จะออกไปสู่โลกกว้างและต่อยอดความเข้าใจในภูมิภาคแม่น้ำแยงซีเกียง และส่งมอบประสบการณ์ ช่วยเมืองอื่นในการเริ่มโครงการพัฒนาเมือง

ระยะต่อไป บริษัทจะขยายประสบการณ์ไปในตะวันตกเฉียงเหนือของจีนและในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ภายใต้กรอบโครงการแถบและเส้นทางหรือ Belt and Road Initiative

คณะกรรมการบริหารท้องถิ่นมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2025 นิคม SIP จะวางกรอบการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคระดับโลก ภายในปี 2035 จะกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคระดับโลก และภายในปี 2050 จะก่อสร้างอุตสาหกรรมไฮเทคระดับโลกสำเร็จ

โครงการเทียนจิน อีโค-ซิตี

ที่มาภาพ: https://www.mnd.gov.sg/tianjinecocity/who-we-are#vision

ในปี 2007 ได้มีการริเริ่มโครงการชิโน-สิงคโปร์ เทียนจิน อีโค-ซิตี (Sino-Singapore Tianjin Eco-City) ภายใต้ความร่วมมือแบบทวิภาคีระดับประเทศ เพื่อสร้างต้นแบบเมืองยั่งยืน

Sino-Singapore Tianjin Eco-City เป็นโครงการสำคัญที่เป็นสัญญลักษณ์ของความร่วมมือระดับรัฐบาลกับรัฐบาลระหว่างจีนกับสิงคโปร์โครงการที่สอง หลังจากได้ร่วมกันพัฒนาโครงการแรก Suzhou Industrial Park

โครงการอีโค-ซิตี เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน 2007 โดยนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์กับนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า ของจีนขณะนั้น และในเดือนกันยายนปีถัดมา นายโก๊ะ จ๊กตง รัฐมนตรีอาวุโสเกียรติคุณของสิงคโปร์ และนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า ร่วมกันวางศิลาฤกษ์

โครงการนี้เริ่มพัฒนาในปี 2008 โดยหัวหน้าโครงการ คือ Sino-Singapore Tianjin Eco-City Investment and Development Company Ltd (SSTEC) ที่มีกลุ่มกิจการค้าร่วมสิงคโปร์นำโดย Keppel Corporation และกลุ่มกิจการค้าร่วมจีนนำโดย Tianjin TEDA Investment holdings ถือหุ้นฝ่ายละ 50% เท่ากัน และเป็นองค์ประกอบสำคัญของการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (public-private partnership) ขับเคลื่อนการสร้างต้นแบบที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ถอดแบบและปรับขนาดได้เพื่อการสร้างเมืองอัจฉริยะและยั่งยืนให้กับเมืองต่างๆ ที่เริ่มต้นจากเทียนจิน

สำหรับการสนับสนุนจากสิงคโปร์ ในเดือนมกราคม 2011 Enterprise Singapore ขณะนั้นซึ่งยังมีสถานะเป็น International Enterprise Singapore และยังไม่ได้รวมตัวกับ SPRING ( International Enterprise Singapore รวมตัวกับ SPRINGในเดือนเมษายน 2018) ได้เปิดตัว Tianjin Eco-City Assistance Programme (TAP) เพื่อสนับสนุนเงินให้เปล่าแก่บริษัทที่มีคุณสมบัติครบถ้วนซึ่งได้ลงทุนในโครงการเทียนจินอีโค-ซิตี

Enterprise Singapore เป็นหน่วยงานภาครัฐ ทำหน้าที่ส่งเสริมบริษัทสิงคโปร์ให้ขยายธุรกิจสู่นานาชาติ รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างนวัตกรรมและก้าวสู่ความเป็นสากล

Enterprise Singapore ได้ใช้กลยุทธ์ในการมีส่วนร่วมและธุรกิจที่เป็นพันธมิตร ใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญระดับโลกและระดับประเทศเพื่อช่วยให้บริษัทก้าวไปสู่เวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งได้ใช้หลายช่องทางเพื่อผลักดันบริษัทสิงคโปร์ให้ก้าวหน้า และเพิ่มโอกาสในต่างประเทศ

เพื่อส่งเสริมให้บริษัทสิงคโปร์มีส่วนร่วมมากขึ้น Enterprise Singapore จึงได้ทำบันทึกความเข้าใจกับ Building and Construction Authority และ บริษัท SSTEC ในปี 2011 ร่วมก่อสร้างอาคารพาณิชย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ ในเขต Eco-Business ภายในโครงการอีโค-ซิตี

อาคารนี้มีชื่อว่า Low Carbon Living Lab เป็นห้องทดลองเพื่อการใช้ชีวิต มีการทดสอบเตียงนอน และมีการแสดงถึงสิ่งที่อาคารสีเขียวหรือ green building ต้องมี และมีการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น การประหยัดพลังงาน การลดคาร์บอน

ที่มาภาพ: http://www.chinadaily.com.cn/a/201904/26/WS5cc2b5a2a3104842260b89ab.html

ในเดือนมีนาคม 2011 Enterprise Singapore ได้ประกาศวงเงิน 9.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อช่วยเหลือบริษัทสิงคโปร์ที่แสวงหาช่องทางการทำธุรกิจในทางตอนเหนือจีนผ่านโครงการอีโค-ซิตี โดยเงินจะให้ความช่วยเหลือเป็นเวลา 5 ปี และมี SSTEC ทำหน้าที่บริหารเงิน

นอกจากยังมีการพัฒนาเขต Eco-Information ขึ้นใกล้กับศูนย์อีโค-ซิตีในอนาคต เพื่อรองรับบริษัทในแวดวงไอที อุตสาหกรรมสื่อแบบใหม่ และจะเสริมกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่แล้วในอีโค-ซิตี ภายใต้ชื่อ National Animation Industry Park, Eco-Business Park และ Eco-Industrial Park

โครงการ Sino-Singapore Tianjin Eco-City เป็นตัวอย่างของโครงการแพล็ตฟอร์มขนาดใหญ่ ซึ่งมีบริษัทสิงคโปร์เป็นผู้นำ และโครงการเปิดให้พันธมิตร นักลงทุนร่วม และผู้ให้บริการ สร้างความร่วมมือพัฒนาแนวทางที่สมบูรณ์แบบให้กับประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจ และโดยที่เป็นโครงการใหญ่ จึงต้องการผู้เชี่ยวชาญจากหลายระดับและเปิดโอกาสให้บริษัทหลายประเภททั่วทั้งห่วงโซ่อุปทานและทั่วทุกอุตสาหกรรม

โครงการอีโค-ซิตีเป็นหนึ่งในเขตหลักที่ใช้งานได้จริงของเมืองใหม่เทียนจิน ปินไห่ (Tianjin Binhai New Area: TBNA) ซึ่งการพัฒนาโครงการอีโค-ซิตี ไม่เพียงมีประโยชน์ของผู้ที่เข้าร่วมแต่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของ TBNA

ในฐานะผู้มีส่วนร่วมสำคัญต่ออารยธรรมแห่งนิเวศน์ และผู้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้รายแรกๆ โครงการอีโค-ซิตี กำลังร่วมกันพัฒนาสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนสำหรับการใช้ชีวิตให้แก่ผู้คนจำนวนมาก ด้วยการส่งมอบความเชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาและเมืองไปยังเมืองอื่นในจีนควบคู่กับโครงการแถบและเส้นทาง(Belt and Road)

ใช้พลังงานหมุนเวียน ที่มาภาพ: http://www.chinadaily.com.cn/a/201904/26/WS5cc2b5a2a3104842260b89ab.html

โครงการ Sino-Singapore Tianjin Eco-City เป็นเมืองอัจฉริยะและเป็นต้นแบบเมืองแห่งความยั่งยืนในอนาคต เพราะมีการใช้ทรัพยากรประเภทที่ใช้แล้วหมดไปให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของวันนี้และรองรับความต้องการในอนาคต

Sino-Singapore Tianjin Eco-City ได้ปรับพื้นที่ที่รกร้าง ดินเค็ม มีน้ำเน่าเสีย เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับการอยู่อาศัย และเป็นที่ที่คนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้ ด้วยการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีที่สร้างโอกาสมหาศาลทางเศรษฐกิจ นำพาผู้คนซึ่งมีพื้นฐานหลากหลายมาอยู่รวมกันเป็นชุมชนเดียว และเป็นเมืองที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจในอนาคต

ข้อมูลในเดือนเมษายน 2019 ระบุว่า หลังจากการพัฒนามาร่วมทศวรรษ โครงการอีโค-ซิตี มีคนเข้าอาศัยอยู่ราว 100,000 คน และมีบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งในโครงการ 7,700 ราย รวมทั้งมีการก่อตั้งสถาบันหลายแห่งซึ่งมีทุนจดทะเบียนรวมกัน 289 พันล้านหยวน

คณะมนตรีแห่งชาติในปี 2013 ได้กำหนดให้โครงการอีโค-ซิตี เป็นเขตสาธิตการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Green Development Demonstration Zone) แห่งแรก จนกลายเป็นเมืองอัจฉริยะแถวหน้าของจีนในปัจจุบัน

โครงการอีโค-ซิตี พัฒนาบนแนวคิดรักษาระบบนิเวศน์ เริ่มต้นจากการสร้างอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้พลังงานหมุนเวียน มีระบบบำบัดนำเสีย ระบบบริหารจัดการน้ำ มีการบริหารโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานแบบอัจฉริยะ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสปาร์กจอย (spark joy) ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะของเมือง (Smart City Operation Centre) เชื่อมต่อเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลที่ใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเทศบาล และสนับสนุนการพัฒนาของอีโค-ซิตี ให้เป็นแบบจำลองระดับชาติสำหรับเมืองอัจฉริยะในปี 2020

ขนส่งอัจฉริยะ ที่มาภาพ: http://www.chinadaily.com.cn/a/201904/26/WS5cc2b5a2a3104842260b89ab.html
สมาร์ทเซอร์วิสบริการไร้ขีดจำกัด ที่มาภาพ:http://www.chinadaily.com.cn/a/201904/26/WS5cc2b5a2a3104842260b89ab.html

นอกจากนี้ยังมีระบบขนส่งอัจฉริยะ รถเมลสาธารณะที่ไร้คนขับ และป้ายรถเมลที่มีสมาร์ทฟังก์ชันมากมาย เป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มการขนส่งอัจฉริยะ ที่เปิดตัวเพื่อให้การสื่อสารที่แปลกใหม่ มีปฏิสัมพันธ์และการเดินทางราบรื่น สำหรับประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองและคนงานที่เพิ่มขึ้นของอีโค-ซิตี

ด้านบริการก็เป็นระบบอัจฉริยะ ที่ไร้ข้อจำกัด สภาพแวดล้อมที่มีชีวิตชีวาและเอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีของอีโค-ซิตีช่วยส่งเสริมการขยายของบริการอัจฉริยะที่ก้าวล้ำ เช่น อี-ซิติเซนพอร์ทัล และหุ่นยนต์ส่งพัสดุไปรษณีย์ของเจดี ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหาร

ตลอดจนยังมีสมาร์ทคัลเจอร์และเอนเตอร์เทนเมนต์ ชนิดที่โลกอยู่ใกล้มือ โครงการอีโค-ซิตีได้ให้คำนิยามใหม่ของประสบการณ์ทางวัฒนธรรมและความบันเทิง ผ่านการใช้เทคโนโลยีแบบอินเทอร์แอคทีฟที่ช่วยให้ผู้คนได้สัมผัสกับโลกที่ไม่เคยมีมาก่อน

โครงการอีโค-ซิตียกระดับตัวชี้วัดความยั่งยืนให้สูงขึ้น โดยตั้งเป้าที่จะบำบัดน้ำเสียและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ในปี 2020 บรรลุเป้าหมายที่มีเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะใกล้บ้านเพียงเดินไปแค่ 5 นาทีภายในปี 2035 ลดการก่อตัวของเกาะความร้อนเพื่อไม่ใฟ้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 2.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2035 นอกจากนี้ เด็กนักเรียนทุกคนจะต้องมีสุขภาพกายตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดภายในปี 2020 และ 80% ของผู้ใหญ่จะต้องมีสุขภาพกายตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ภายในปี 2035

โครงการสาธิตความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์จีน (ฉงชิ่ง)-สิงคโปร์

ที่มาภาพ: https://news.cgtn.com/news/2019-11-05/-27-7-bln-projects-signed-at-China-Singapore-financial-summit-LmBaJMmTMk/index.html
โครงการสาธิตความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์จีน (ฉงชิ่ง)-สิงคโปร์ หรือ China-Singapore (Chongqing) Demonstration Initiative on Strategic Connectivity (CCI) เป็นหนึ่งโครงการสำคัญโครงการที่สาม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากความร่วมมือของรัฐบาลจีนและรัฐบาลสิงคโปร์ ที่จะช่วยพัฒนาพื้นที่ทางตะวันตกของจีน ให้ความเชื่อมโยงกับภายนอกภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)

การเชื่อมโยงจะส่วนใหญ่ในรูปแบบของการบริการและการค้า ซึ่งเน้นใน 4 ด้าน ประกอบด้วยการเชื่อมโยงบริการทางการเงิน, การบิน, การขนส่งและโลจิสติก และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

โครงการเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปี 2015 มีความก้าวหน้าต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2019 ความเชื่อมโยงทางการเงินข้ามแดนมีมูลค่าถึง 11 พันล้านดอลลาร์ ส่วนความเชื่อมโยงด้านการบินมีผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างสิงคโปร์กับฉงชิ่งเพิ่มขึ้น และมีเที่ยวบินระหว่างกัน 14 เที่ยวบินแต่ละสัปดาห์ และยังประสบความสำเร็จในการเปิดตัวช่องทางการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างสิงคโปร์กับฉงชิ่ง

นายหาน เป่าชาง ผู้บริหารสำนักงาน CCI เปิดเผยว่า ปัจจุบันมี 211 โครงการที่ได้ลงนามข้อตกลงภายใต้กรอบโครงการ CCI คิดเป็นมูลค่าโครงการรวม 31.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งความร่วมมือส่วนใหญ่อยู่ใน 4 ด้านคือ การบริการทางการเงิน การบิน การขนส่งและโลจิสติก และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ในปีนี้มีการลงนามในข้อตกลง 2 โครงการ และมี 3 โครงการที่ได้เริ่มดำเนินการแล้วโดยมีมูลค่ารวมกว่า 30 ล้านดอลลาร์ แม้มีการระบาดของไวรัสโควิด-19

โครงการเมืองแห่งการเรียนรู้กว่างโจว

ที่มาภาพ: http://www.ssgkc.com/P02_03.asp

โครงการเมืองแห่งการเรียนรู้กว่างโจว China-Singapore Guangzhou Knowledge City (CSGKC) หรือในชื่อเดิม Sino-Singapore Guangzhou Knowledge City (SSGKC) ที่พัฒนาในช่วงต่อมาจากสองโครงการแรกก็ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือระหว่างจีนกับสิงคโปร์ ที่เกิดจากการมีวิสัยทัศน์ร่วมกันของผู้นำกว่างตงและสิงคโปร์ เพื่อเป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์และเป็นต้นแบบของการเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจและการยกระดับอุตสาหกรรม โดย CSGKC เริ่มวางศิลาฤกษ์เพื่อก่อสร้างในวันที่ 30 มิถุนายน 2010 จากจุดเริ่มต้นของความคิดริเริ่มในเดือนกันยายน 2008

โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสิงคโปร์ และขยายการเข้าถึงนานาชาติของกว่างตง รวมทั้งต้องการที่จะเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องและยกระดับเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลหรือแม่น้ำจูงเจียง ตลอดจนนำเสนอกวางโจวและกว่างตงในฐานะแพลตฟอร์มการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในอนาคต

CSGKC วางตำแหน่งเมืองด้วยสโลแกน การใช้ชีวิต การทำงาน การเรียนรู้และการเล่น หรือ Live, Work, Learn and Play ที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาและยั่งยืนซึ่งที่ดึงดูดของทั้งผู้ที่มีความสามารถและอุตสาหกรรมฐานความรู้ (knowledge-based industries) ในอีก 20 ปีข้างหน้า

CSGKC ซึ่งมีพื้นที่โครงการทั้งหมด 123 ตารางกิโลเมตร จะรองรับผู้คนได้มากกว่า 500,000 คน ในสภาพแวดล้อมที่มีความกลมกลืนระหว่างการใช้ชีวิต การทำงาน การเรียนรู้ และการเล่น คณะกรรมการบริหารเมืองได้รับอำนาจในระดับเดียวกับคณะกรรมการเขตเทศบาล ซึ่งมีอำนาจทางกฎหมายในหลายด้าน อีกทั้งได้รับนโยบายส่งเสริมจากรัฐเพื่อให้การพัฒนาและการดำนินการด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม การพัฒนาคนที่มีความรู้ความสามารถ การพัฒนาเทคโนโลยีและการเงินราบรื่น

Knowledge City พัฒนาบนแนวคิดการจัดสรรพื้นที่เพื่อการใช้งานแบบผสมผสาน ประกอบด้วยเขตธุรกิจไฮเทค พื้นที่อาศัย พื้นที่เชิงพาณิชย์ พื้นที่พักผ่อนและสันทนาการ รวมทั้งพื้นที่สาธารณูปโภค มีพื้นที่สีเขียว และลำน้ำที่เชื่อมเป็นเครือข่ายทั่วทั้งเมือง จัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นตอนเหนือ ตอนกลางและตอนใต้

โครงการมีพื้นที่ทั้งหมด 123 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ที่พัฒนาได้ 60 ตารางกิโลเมตร หรือ 6,000 เฮกตาร์ มีระยะเวลาการพัฒนา 20 ปีขึ้นไป รองรับประชากรได้ 540,000 คน สร้างงาน 270,000 คน จะจัดแบ่งพื้นที่เป็น 1/6 สำหรับพื้นที่ที่อยู่อาศัย, 1/3 เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และ1/2 สำหรับการบริหาร เทศบาล ถนน พื้นที่สีเขียว

พื้นที่โครงการ CSGKC เดิมเป็นที่เพาะปลูก แต่ได้โยกย้ายเกษตรกรออกไปอาศัยในอาคารสูงในบริเวณใกล้เคียง เพื่อก้าวสู่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนด้วยการลงทุนร่วมของ Ascendas-Singbridge ซึ่งมีรัฐบาลสิงคโปร์ให้การสนับสนุนกับคณะกรรมการปกครองเขตพัฒนากว่างโจว ของจีนในสัดส่วนที่เท่ากัน 50:50

นายเฮง สวี เคียต รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เยี่ยมชมโครงการ CSGKC ในเดือนพฤษภาคม 2019 ที่มาภาพ: https://www.businesstimes.com.sg/government-economy/dpm-heng-tours-singapore-china-knowledge-city-in-guangzhou

CSGKCตั้งอยู่นอกตัวเมืองกวางโจวเมืองใหญ่อันดับสามของจีนออกไม่ไกล ใช้เวลาเดินทางเพียง 45 นาทีโดยรถยนต์ การก่อสร้างระยะแรกจะรองรับผู้คนเข้ามาอาศัยและทำงานราว 80,000 คนในพื้นที่มากกว่า 2 ตารางไมล์เล็กน้อย และมีโรงเรียน 18 แห่ง ซึ่งหากการก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีพื้นที่ใหญ่พอๆ กับเมืองพิตต์สเบิร์กในเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ

หนี่ ป๋ายชี รองประธาน Singbridge International ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลคาดหวังว่าการพลิกพื้นที่เพาะปลูก เพื่อก้าวสู่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน จะทำให้ CSGKC เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจด้านการค้าและการวิจัย รวมทั้งสร้างโมเดลที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ชนบทอื่นๆ ในจีน

“ในระดับจุลภาค สิงคโปร์มีประสบการณ์ในการจัดการเมืองขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ซึ่งคิดว่าเราสามารถส่งมอบประสบการณ์บางด้านให้จีนได้”

นอกจากนี้คาดว่าโครงการจะดึงดูดชาวสิงคโปร์ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีและต้องการที่จะเข้าไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น

Knowledge City ยังมอบสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจ เช่น เงินอุดหนุน และไม่คิดค่าเช่าสำนักงาน เพื่อดึงบริษัทจากสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัป หรือบริษัทใหญ่ที่ติดอันดับ 500 บริษัทของนิตยสารฟอร์จูน เพียงแค่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด นอกจากนี้ผู้พัฒนาโครงการยัรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในบางด้าน เช่น การยื่นขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จัดหาผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ในการเสนอขขายหุ้นแก่ประชาชน รวมทั้งด้านกฎหมาย

โครงการ CSGKC ยังสร้างอาคารให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ต่ำ มีเทคโนโลยีล้ำยุค ทั้งอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์ การประหยัดพลังงาน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้สอดคล้องกับกรอบการพัฒนา Guangzhou Eastern Scenic New City โครงการจึงได้สร้างระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้มีมาตรฐานสูงและเปลี่ยนโฉมไปสู่เมืองที่มีระบบนวิเวศน์ในระดับรัฐ

เรียบเรียงจาก
Suzhou Industrial Park celebrates 25 years
Sino-Singapore Tianjin Eco-City: a city that is dynamic and future-ready
Amid trade slowdown, E China’s industrial park set to lead upgrade
Suzhou joint industrial park hailed as Singapore steps up China cooperation
Overview of the Sino-Singapore Tianjin Eco-city project
Tianjin Eco-City
Overview A Vision for a City Today, a City of Vision Tomorrow
Singapore is helping to build a city in China for up to 500,000 people
211 projects inked under China-Singapore connectivity initiative
China-Singapore (Chongqing) Demonstration Initiative on Strategic Connectivity
People’s Republic of China