ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ลงนามข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลกับนิวซีแลนด์-ชิลี MoU กับเสิ่นเจิ้นหนุนสมาร์ทซิตี้

ASEAN Roundup สิงคโปร์ลงนามข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลกับนิวซีแลนด์-ชิลี MoU กับเสิ่นเจิ้นหนุนสมาร์ทซิตี้

21 มิถุนายน 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 14-20 มิถุนายน 2563

  • สิงคโปร์ลงนามข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลกับนิวซีแลนด์-ชิลี
  • สิงคโปร์เซ็น MoU เสิ่นเจิ้น 8 ฉบับ หนุนสมาร์ทซิตี
  • สิงคโปร์รั้งอันดับหนึ่งประเทศศักยภาพแข่งขันสูง
  • เวียดนามลดภาษีนิติบุคคลให้ SME
  • กัมพูชายกจดทะเบียนธุรกิจขึ้นออนไลน์
  • เมียนมาออกธนบัตรชนิดราคา 500 จ๊าดใหม่
  • สิงคโปร์ลงนามข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลกับนิวซีแลนด์-ชิลี

    สิงคโปร์ได้ลงนามใน ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy Partnership Agreement (DEPA) ครั้งแรกกับชิลีและนิวซีแลนด์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือกับทั้งสองประเทศในประเด็นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล

    นายชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีว่ากระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม, นายเดวิด พาร์กเกอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและการส่งออก นิวซีแลนด์, นายทีโอโดโร ริเบรา นิวมานน์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศชิลี ร่วมกันลงนามผ่านระบบประชุมทางไกลในข้อตกลงเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563

    การลงนามในข้อตกลง DEPA เป็นการยืนยันความมุ่งมั่นของสิงคโปร์ ชิลี และนิวซีแลนด์ ที่จะกระชับความร่วมมือระหว่างกันด้านเศรษฐกิจดิจิทัลให้มากขึ้น

    ข้อตกลง DEPA นี้เป็นข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลแรกที่สิงคโปร์ได้สรุปและลงนาม และการลงนามครั้งนี้ยังตอกย้ำถึงโอกาสด้านการเชื่อมโยงผ่านดิจิทัลที่ยังช่วยให้ธุรกิจดำเนินกิจการได้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 อีกทั้งยังเป็นความร่วมมือในเรื่องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และส่งเสริมการทำงานร่วมกันของระบบจากประเทศที่มีแตกต่างกัน

    ภาคธุรกิจของสิงคโปร์จะได้ประโยชน์ เช่น ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ลดต้นทุน และเพิ่มความไว้วางใจ เมื่อทำธุรกิจและการค้าบนระบบดิจิทัลกับพันธมิตรต่างชาติในทั้งสองประเทศนี้

    ที่มาภาพ: https://www.mti.gov.sg/Improving-Trade/Digital-Economy-Agreements/The-Digital-Economy-Partnership-Agreement

    นายชาน ชุน ซิง กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลก เพราะธุรกิจต้องทำธุรกิจผ่านดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้นข้อตกลง DEPA ก็จะยิ่งมีความสำคัญในการช่วยให้ภาคธุรกิจทำธุรกรรมและการค้าอย่างไร้รอยต่อ สิงคโปร์จะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับชิลีและนิวซีแลนด์ รวมทั้งพันธมิตรอื่นๆ ที่มีแนวคิดเหมือนกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของการเชื่อมโยงดิจิทัล และส่งเสริมภาคธุรกิจให้ใช้ประโยชน์จากโอกาสในเศรษกิจดิจิทัลได้ดีขึ้น

    หุ้นส่วนในข้อตกลง DEPA ได้เริ่มจัดทำโครงการร่วมกันที่ดำเนินงานสำคัญๆ ในข้อตกลง ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์กำลังร่วมกับนิวซีแลนด์ในการพัฒนาระบบเชื่อมต่อระหว่างประเทศ หรือ International Connectivity System (ICS) ซึ่งครอบคลุมการแลกเปลี่ยนข้อมูลใบรับรองอิเลกทรอนิกส์ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อ และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากนิวซีแลนด์

    นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเข้าร่วมในความริเริ่มดิจิทัลต่างๆ เช่น โครงการ SME Go Digital และ Nationwide E-invoicing Network ซึ่งมีแนวทางสอดคล้องกับ DEPA เพื่อเข้าถึงตลาดระหว่างประเทศมากขึ้นและได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมเศรษฐกิจดิจิทัล

    สิงคโปร์เซ็น MoU เสิ่นเจิ้น 8 ฉบับ หนุนสมาร์ทซิตี

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/singapore-shenzhen-ink-mous-in-support-of-smart-city-initiative
    สิงคโปร์ได้ลงนามผ่านระบบออนไลน์ในบันทึกความเข้าใจ 8 ฉบับ หรือ memorandum of understanding (MOU) กับเสิ่นเจิ้น เพื่อความร่วมมือด้านดิจิทัลและความเชื่อมโยงของสองเมือง

    นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมความริเริ่มเมืองอัจฉริยะสิงคโปร์-จีน หรือ Singapore-China (Shenzhen) Smart City Initiative (SCI) ที่ได้ตกลงกันไว้ในปีที่แล้ว เพื่อความร่วมมือด้านเทคโนโลยีที่มากขึ้นระหว่างสองเมือง และครอบคลุมการจัดตั้ง Asia SME Hub ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม เพื่อสร้างเสริมการเป็นพันธมิตรข้ามแดนที่ไว้วางใจได้ เพราะธุรกิจกำลังขยายไปในตลาดใหม่

    บันทึกความเข้าใจนี้มีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงระบบนิเวศน์ทางธุรกิจและเสริมความเชื่อมโยงระหว่างสิงคโปร์กับเมืองเทคโนโลยีของจีน จึงเปิดให้คนจากทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์จากโอกาสในในกรอบความร่วมมือระหว่างมณฑลกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือ Guangdong-Hong Kong-Macau Greater Bay Area และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    โดยคาดว่าจะเชื่อมโยงธุรกิจจีนราว 4 ล้านรายผ่านชุมชนธุรกิจขนาดเล็กออนไลน์ YiQiYi กับ ธุรกิจเอสเอ็มอีสิงคโปร์ 50 รายซึ่งจำหน่ายสินค้าฮาร์ดแวร์ อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเครื่องใช้ในสำนักงานแบบ B2B บนแพล็ตฟอร์ม Eezee.sg

    งานวิจัยจาก OneConnect บริษัทฟินเทค พบว่า ลูกค้ามากกว่าครึ่งสนใจที่จะซื้อฮาร์ดแวร์สำหรับอุตสาหกรรม อาหารแปรรูป และสินค้าอื่นจากสิงคโปร์ แต่ไม่มีข้อมูลผู้ขายที่เชื่อถือได้

    นอกจากความเชื่อมการค้าแบบดิจิทัลแล้ว ธุรกิจยังสามารถเข้าถึงบริการประกันภัยดิจิทัลและบริการการเงินจากธนาคารที่เร็วกว่า และจะได้ประโยชน์จากการทำธุรกรรมแบบไร้รอยต่อ จากการสตรีมเอกสารทางอิเลกทรอนิกส์

    อีกทั้งยังแก้ไขข้อพิพาทข้ามแดน ผ่านแนวทางการไกล่เกลี่ยที่จัดทำโดยศูนย์แก้ไขข้อพิพาท Singapore International Mediation Centre (SIMC) ด้วยความร่วมมือจากศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่เสิ่นเจิ้น (Shenzhen Court of International Arbitration) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าข้อตกลงที่ได้ตกลงกันผ่าน SIMC จะมีผลบังคับใช้ในจีนด้วย

    ทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงที่จะร่วมกันแลกเปลี่ยนบุคลากรที่มีความสามารถ ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล การทำงานร่วมกันในด้านการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (digital identity platforms) การจัดการข้อมูล

    สิงคโปร์รั้งอันดับหนึ่งประเทศศักยภาพแข่งขันสูง

    ที่มาภาพ: https://www.businesstimes.com.sg/government-economy/singapore-ranks-2nd-in-asia-18th-worldwide-for-ease-of-doing-business-report

    International Institute for Management Development (IMD) แห่งสวิตเซอร์แลนด์ เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ IMD World Competitiveness Rankings 2020 ประจำปี 2563 ว่า สิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงสุดของโลก จากการจัดอันดับ 63 ประเทศ

    การที่สิงคโปร์ยังคงอันดับหนึ่งไว้ได้เพราะเศรษฐกิจยังเดินหน้า เป็นผลจากประเมินด้านการค้าและการค้าลงทุนระหว่างประเทศ การจ้างงานและตลาดเแรงงาน

    สิงคโปร์การดำเนินการที่มีเสถียรภาพทั้งในระบบการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ประกอบด้วยเทเลคอม ความเร็วของอินเทอร์เน็ต และการส่งออกสินค้าไฮเทค

    สำหรับประเทศและเขตปกครองที่มีอันดับรองจากสิงคโปร์ คือ เดนมมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง

    นายอาร์ตูโร บริส ผู้อำนวยการ IMD World Competitiveness Center ให้ความเห็นว่า ถ้ามองกลุ่มนี้ในภาพรวม สะท้อนภาพเศรษฐกิจขนาดเล็กที่มีความเข้มแข็ง และข้อดีของการเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กในภาวะวิกฤติขณะนี้ มาจากความสามารถในการต่อสู้กับการระบาดของไวรัส และจากความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

    แต่นายโฆเซ คาบาลเลโร เศรษฐกรอาวุโสของ IMD ให้ความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจจะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคตของสิงคโปร์ เพราะเศรษฐกิจถดถอยจะมีผลทางลบต่อการปรับตัวและมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น รวมทั้งจะมีผลต่อเนื่องไปยังการลงทุน “นอกจากนี้ อาจจะมีผลต่อการดึงแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูง เพราะโอกาสการจ้างงานลดลง และมีผลต่อระดับผลตอบแทน ซึ่งเป็นสองปัจจัยหลักต่อการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์”

    ที่ผ่านมาสิงคโปร์ได้รับประโยชน์จากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เพิ่มมากขึ้น และหลังจากที่สหรัฐฯ ร่วงลงมาที่อันดับ 3 ถูกสิงคโปร์แซงหน้าไปยืนหนึ่งในการจัดอันดับปีที่แล้ว ปีนี้ก็ร่วงลงอีก 7 ขั้นไปอยู่ที่อันดับ 10 ส่วนจีนลดลงไปที่อันดับ 20 จากอันดับ 14

    ในเอเชียมีเพียงสิงคโปร์ที่คงตำแหน่งผู้นำกับไต้หวันเท่านั้นที่เลื่อนขึ้นไปที่อันดับ 11 จาก 16 ส่วนประเทศเอเชียที่เหลืออันดับลดลงทั้งสิ้น เนื่องจากส่วนใหญ่พึ่งพาจีนสูงในด้านการค้า ดังนั้นเมื่อเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจจีน ประเทศอาเซียนก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

    แต่หากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังคงมีอยู่ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์ในระยะยาว โดยเฉพาะในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อการจ้างงาน ภาระการคลัง ประสิทธิผลโดยรวม และการเข้าถึงแรงงานต่างชาติที่มีทักษะ

    ภายใต้สถานการณ์ที่กระแสโลกาภิวัตน์ถดถอย ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจคือปัจจัยพื้นฐานสำหรับการปรับตัวของเศรษฐกิจ และจากการวิจัยของ IMD พบว่า ธุรกิจที่จะแข่งขันได้ต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อ คือ มีการยกระดับการกำกับดูแลกิจการให้ดีขึ้น มุ่งพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถ และมีการพัฒนานวัตกรรม และธุรกิจที่มีคุณสมบัติแบบนี้จะมีผลอย่างมากต่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ

    IMD จัดอันดับประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 1989

    เวียดนามลดภาษีนิติบุคคลให้ SME

    ที่มาภาพ: https://en.nhandan.org.vn/business/item/8784302-vietnam-cuts-corporate-income-tax-for-medium-sized-businesses.html
    การประชุมสมัชชาแห่งชาติของเวียดนามได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ความเห็นชอบข้อเสนอลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี 2563 ลง 30% ให้กับธุรกิจที่มีรายได้ปี 2563 ไม่เกิน 200,000 ล้านด่องหรือ 8.8 ล้านดอลลาร์

    การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลนี้เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพราะจะมีผลดีต่อธุรกิจเอสเอ็มอี โดยจะมีผลบังคับใช้ภายใน 45 วันหลังจากมีการลงนาม และจะประกาศแนวปฏิบัติต่อไป

    ที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ ยังให้ความเห็นชอบการลงทุนสร้างทางด่วนเหนือ-ใต้ในรูปแบบโครงการร่วมทุนรัฐและเอกชน public-private partnership หรือ PPP สำหรับเส้นทางหลวงสาย 45 มัยเซิน ในส่วนจากเมืองวินห์ไปฟานเทียต จากฟานเทียตไปเมืองโด่ว-ซยาย และได้รับวงเงินเพิ่ม 23.5 ล้านล้านด่องหรือ 1 พันล้านดอลลาร์

    การก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2565

    กัมพูชายกการจดทะเบียนธุรกิจขึ้นออนไลน์

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50734483/business-registering-goes-online/
    กัมพูชาได้ยกการจดทะเบียนธุรกิจขึ้นไปอยู่บนระบบออนไลน์ โดยได้มีการเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยนายอัน พรมณีรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังประเทศกัมพูชา

    นายอันกล่าวว่า แพลตฟอร์มจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์จะทำให้กระบวนการต่างๆ ใช้เวลาน้อยลง ต้นทุนต่ำ และไม่ยุ่งยาก นักธุรกิจสะดวกขึ้น เพราะระบบจดทะเบียนใหม่จะช่วยให้นักลงทุนจดทะเบียนธุรกิจกับกระทรวงพาณิชย์ จดทะเบียนภาษีกับกรมสรรพากร และแสดงตัวตนกับกระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพได้พร้อมกันในจุดเดียว ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียง 8 วันทำการ และลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนลงมากกว่า 50%

    นอกจากนี้ยังเป็นกระบวนการจดทะเบียนที่มีประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะรับบาลมีวัตถุประสงค์ที่จะอำนวยความสะดวก ลดอุปสรรคให้กับนักลงทุน และส่งเสริมธุรกิจใหม่ให้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการเพื่อเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย

    แพลตฟอร์มนี้ยังเชื่อมต่อกับการจดทะเบียนโครงการลงทุนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนของสภาพัฒนาแห่งชาติ (Council for the Development of Cambodia) โดยใช้เวลาไม่นาน และระยะต่อไปทั้งสองระบบจะรวมเป็นระบบเดียว สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องเตรียมเอกสารไว้หลายชุด และสามารถขอเอกสารทางการได้ในเวลาสั้นๆ

    “แพลตฟอร์มนี้จะทำให้กัมพูชามีความน่าสนใจและกลายเป็นเป้าหมายการลงทุน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีการย้ายฐานการผลิตและการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่การผลิต” นายอันกล่าวและว่า อีกทั้งเสริมสร้างภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ ตลอดจนเสริมความสามารถในการแข่งขันของกัมพูชา เนื่องจากรัฐบาลได้จัดตั้งโครงสร้างหลักการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ หรือ Cambodia Data Exchange (CamDX) ที่ช่วยให้ระบบการจดทะเบียนธุรกิจตามกระทรวงและหน่วยงานสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้โดยไม่ต้องรวมเป็นระบบเดียว ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก

    ระบบการจดทะเบียนธุรกิจใหม่กับโครงสร้างการแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นระบบระหว่างกระทรวงระบบแรกของรัฐบาล ที่ทำให้ข้อมูลทั้งหมดถูกจัดส่งโดยอัตโนมัติไปยังแพลตฟอร์มเทคโนโลยีสารสนเทศของกระทรวงและสถาบันที่เกี่ยวข้อง เพื่อการตรวจสอบและอนุมัติ

    กระบวนการของการจดทะเบียน การส่งเอกสารอ้างอิง รวมถึงการขอใบรับรองการจัดตั้งบริษัท ใบรับรองการจดทะเบียนภาษี สิทธิบัตร และเอกสารอื่นๆ ทั้งหมดจะอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และจะออนไลน์อย่างสมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องใช้สำเนาเอกสารอีกแล้ว

    “นี่คือการปฏิรูปครั้งสำคัญในด้านการจัดการภาครัฐ” นายอันกล่าว “ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปแนวคิดและนิสัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่ต้องเปลี่ยนจากการตรวจสอบเอกสารกระดาษ เป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและหลีกเลี่ยงการติดต่อทางกายภาพระหว่างเจ้าหน้าที่และนักลงทุน”

    การเปิดตัวระบบจดทะเบียนครั้งนี้เป็นเพียงระยะแรก ในเฟสต่อไปรัฐบาลจะขยายขอบเขตของระบบให้กว้างขึ้นเชื่อมกับกระทรวงและสถาบันอื่นๆ เพื่อให้ออกใบอนุญาตผ่านระบบออนไลน์

    เมียนมาออกธนบัตรชนิดราคา 500 จ๊าดใหม่

    ที่มาภาพ: http://www.mizzima.com/article/general-aung-san-appear-kyat-500-banknotes

    ธนาคารกลางเมียนประกาศว่า เมียนมาจะนำธนบัตรชนิดราคา 500 จ๊าดชุดใหม่ ออกใช้ในระบบวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 นี้ โดยธนบัตรชนิดราคา 500 จ๊าดใหม่ซึ่งมีขนาดยาว 150 มิลมิเมตร กว้าง 70 มิลลิเมตรนี้จะมีรูปนายพลอองซานอยู่บนธนบัตร

    สำหรับธนบัตร 500 จ๊าดแบบเดิมยังคงใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางได้พิมพ์ธนบัตรที่มีรูปนายพลอองซานและนำออกใช้แล้วในวันที่ 4 มกราคมปีนี้ในชนิดราคา 1,000 จ๊าด

    ปัจจุบันธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบ มีทั้งชนิดราคา 50 จ๊าด, 100 จ๊าด, 200 จ๊าด, 500 จ๊าด, 1,000 จ๊าด, 5,000 จ๊าด และ 10,000 จ๊าด