ThaiPublica > เกาะกระแส > AIS ทุ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลปีนี้ 4.5 หมื่นล้าน ใช้ 5G ยกระดับอุตฯ-ฟื้นฟูประเทศ

AIS ทุ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลปีนี้ 4.5 หมื่นล้าน ใช้ 5G ยกระดับอุตฯ-ฟื้นฟูประเทศ

25 มิถุนายน 2020


นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

AIS ประกาศวิสัยทัศน์ทุ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ใช้ 5G ยกระดับอุตสาหกรรม จับมือพันธมิตร ร่วมฟื้นเศรษฐกิจประเทศ มั่นใจอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโตไม่ต่ำกว่า GDP ประกาศวิสัยทัศน์ สร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล พลิกฟื้นเศรษฐกิจ

วันที่ 25 มิถุนายน 2563 เอไอเอสประกาศวิสัยทัศน์เครือข่าย “AIS 5G – Forging Thailand’s Recovery” ผ่านช่องทาง Zoom มุ่งเน้นสร้าง 5G ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศให้เป็น digital infrastructure สนับสนุนการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) ผนึกผู้นำอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นความถดถอยทางเศรษฐกิจมากที่สุดในรอบกว่าสิบปีที่ผ่านมา

“ผมเริ่มจากข้อมูลของ IMF ว่าจากปลายปี 2019 จนถึงปี 2020 มีประมาณการณ์ประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น หรือจีน ทุกคนมีความหวังว่าจีดีพีของแต่ละประเทศจะเติบโต แต่ทุกวันนี้จีดีพีตกหมด รวมถึงเมื่อปลายปีที่แล้วคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีจีดีพีโตถึง 2.5% แต่ ณ วันนี้ IMF ประมาณการณ์ไว้ว่าจีดีพีไทยจะตก 7.7% แต่ตัวเลขจริงจะเป็นอย่างไร คงขึ้นอยู่กับว่าเราจะฟื้นฟูประเทศได้อย่างไร” นายสมชัยกล่าว

นายสมชัยกล่าวถึงภาพรวมธุรกิจของเอไอเอสในช่วงโควิด-19 ว่า “หลายคนบอกว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโชคดีที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ ทุกคนใช้งานมากยิ่งขึ้น แต่ความจริงแล้ว ถึงมีคนใช้งานมากขึ้น แต่เราไม่สามารถสร้างมูลค่าทางรายได้เพิ่มขึ้นด้วยเหตุผล 2-3 ประการ ข้อแรก เราพบว่าการปิดประเทศของเราทำให้นักท่องเที่ยวหายไป รายได้จากการมี tourist sim มันหายไปอย่างสิ้นเชิง ข้อสอง รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้ช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าและบริการของเราไม่สามารถกระทำได้ ข้อสาม ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้ประชาชนไม่มีกำลังซื้อมากพอ รวมถึง กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) มีมาตรการให้เน็ตและซิมฟรี แต่ผมยังมั่นใจว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมยังโชคดีกว่าอุตสาหกรรมอื่นในช่วงโควิด”

นายสมชัยคาดการณ์ว่า การเติบโตที่ลดลงของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะลดลงน้อยกว่าตัวเลขจีดีพี เช่น จีดีพีลดลง 7% อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะลดลงเพียง 2-3%

อย่างไรก็ดี ภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แบ่งได้ 3 ประเภทธุรกิจ คือ บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (mobile services) จำหน่ายอุปกรณ์ (device trading) และโครงข่ายสัญญาณและรอดแบนด์ (fixed line&broadband) ซึ่งบริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของมูลค่าอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในรอบสิบปีที่ผ่านมามีมูลค่าในแต่ละปีดังนี้ ปี 2011 มูลค่า 232,000 ล้านบาท,ปี 2012 มูลค่า 285,000 ล้านบาท, ปี 2013 มูลค่า 346,000 ล้านบาท, ปี 2014 มูลค่า 357,000 ล้านบาท, ปี 2015 มูลค่า 375,000 ล้านบาท, ปี 2016 มูลค่า 396,000 ล้านบาท, ปี 2017 มูลค่า 423,000 ล้านบาท,ปี 2018 มูลค่า 431,000 ล้านบาท และปี 2019 มูลค่า 447,000 ล้านบาท

นายสมชัยกล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลก และก่อให้เกิดชีวิตวิถีใหม่ (new normal) โดยจะเห็นปรากฏการณ์เป็น 3 ช่วง ได้แก่ (1) ช่วง fall เป็นช่วงตกต่ำจากวิกฤติ (2) ช่วง fight ช่วงแห่งการต่อสู้เพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤติไปให้ได้ และ (3) ช่วง future สร้างอนาคตอย่างยั่งยืน

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประเทศให้ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ไปได้คือโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อเป็นฐานรากที่แข็งแกร่ง ช่วยประคับประคองและเสริมขีดความสามารถของภาคส่วนต่างๆ ทั้งยังเป็นโอกาสมหาศาลในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศใหญ่ๆ ได้

แนวคิดดังกล่าวทำให้เอไอเอสลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยนายสมชัยมองว่าในช่วงวิกฤติโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจเลือกที่จะไม่ลงทุนเพราะไม่มั่นใจกับสถานการณ์และผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ ขณะที่เอไอเอสเห็นว่าช่วงวิกฤติคือโอกาสที่จะลงทุนเพื่อขยายธุรกิจโทรคมนาคมและเพื่อรองรับผู้ใช้งานที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย อย่างไรก็ตาม งบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในอดีตอยู่ที่ราว 10,000-20,000 ล้านบาท

“ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี เอไอเอสได้ลงทุนมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท โดยในปีนี้ได้เตรียมงบลงทุนไว้ที่ 35,000-45,000 ล้านบาท ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเอไอเอสเป็นผู้ให้บริการ Digital Life Service Provider ที่ถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด คือ LOW BAND (700-900 MHz) 50 MHz, MID BAND (1800-2600 MHz) 170 MHz และ HIGH BAND (26 GHz) 1200 MHz และเปิดให้บริการ AIS 5G เป็นรายแรกของประเทศตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 พร้อมขยายเครือข่ายไปครบทั้ง 77 จังหวัดเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เดือนพฤษภาที่ผ่านมา” นายสมชัยกล่าว

ตัวอย่างนวัตกรรม AIS 5G ที่ทำให้ประเทศไทยเป็นกลุ่มแรกของโลกที่นำมาใช้งานจริง ได้แก่

  • 5G Dual Mode SA/NSA ประเทศไทยเป็นกลุ่มแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยี SA หรือ Stand Alone และ NSA หรือ None Stand Alone Dual Mode โดยผสมผสานระหว่างเครือข่ายสำหรับ 5G โดยเฉพาะ และเครือข่าย 5G ที่ทำงานร่วมกับ 4G เพื่อรองรับการใช้งาน 5G ในอนาคตหลากหลายรูปแบบ เช่น Massive IoT และ Mission Critical
  • 5G Network Slicing กับเทคโนโลยี 5G Network Slicing ที่เสมือนมีหลากหลายเครือข่ายอยู่ในเครือข่ายเดียว (Multi Network In One Network) ทำให้ธุรกิจสามารถออกแบบเครือข่ายแต่ละชั้นได้อย่างสอดคล้องและยืดหยุ่นกับลักษณะของอุตสาหกรรมแต่ละรูปแบบ

นายสมชัยกล่าวอีกว่า จากขีดความสามารถของเครือข่าย AIS 5G เมื่อผสมผสานเข้ากับคุณสมบัติของ 5G คือ ความเร็ว แรง เสถียร, สนับสนุนและยกระดับการใช้งาน Multi Media Content สู่ VR หรือ AR, รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ได้ในจำนวนมหาศาล และมีอัตราการตอบสนองที่รวดเร็วจากความหน่วงต่ำ จึงยิ่งทำให้ 5G เหมาะสมกับการเสริมขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมหลักที่จะเป็นกลไกในการฟื้นฟูประเทศนั่นเอง ในแต่และภาคส่วนดังต่อไปนี้

1. ภาคสาธารณสุข AIS 5G ทำงานร่วมกับ Robot และ AI เข้าไปสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการ คัดกรองคนไข้ (Robot for Care), Telemedicine, AI Assisted CT SCAN และ Mobile Stroke Unit ตลอดช่วงระยะของการแพร่ระบาดรุนแรง จนถึงการผนึกกำลังกับเครือข่ายพันธมิตร (Strategic Partner) เพื่อพัฒนา Telemedicine อย่างต่อเนื่อง

2. ภาคอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor — EEC) ประกอบด้วยภาคพื้นดิน ภาคทางอากาศ และภาคทางทะเล ทั้งหมดเป็นรูปแบบความร่วมมือระหว่างเอไอเอสและกลุ่มบริษัทในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

  • ภาคพื้นดิน ร่วมกับกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อมตะ คอร์ปอเรชัน, สหพัฒนา อินเตอร์โฮลดิ้ง, กลุ่ม WHA โดยปัจจุบันได้เริ่มทดลองสอบ 5G Smart City แล้ว
  • ภาคทางอากาศ ร่วมกับกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ผู้ชนะการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ปัจจุบันเริ่มทดลองทดสอบ 5G Smart Airport แล้ว
  • ภาคทางทะเล ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดสอบ 5G ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง

3. ภาคการค้าปลีก โดยเอไอเอสกำลังพัฒนา 5G Smart Retail ร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัลรีเทล (CRC) ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมค้าปลีก

4. Multimedia โดยสร้าง Immersive Experience 5G Immersive Experience กับเทคโนโลยี AR/VR พร้อมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างประสบการณ์ Unseen Thailand ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงคอนเทนต์ด้านการศึกษา และความบันเทิง พลิกโฉมการสร้างสรรค์คอนเทนต์ของ Creator สัญชาติไทย ด้วย Next Reality Studio – AR/VR Studio แห่งแรกของเมืองไทย Sustainability Development

5. 5G กับการพัฒนา สิ่งแวดล้อม การเกษตร และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยผนึกพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้าง SDG Lab ในพื้นที่ 100 ไร่ ใน อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี หรือสวนป๋วย ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ต้นแบบการรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวแพลตฟอร์มการเรียนรู้ LearnDi จาก AIS Academy for Thais เพื่อขยายการสร้างความเข้มแข็งการพัฒนาบุคลากรสู่แต่ละองค์กรทั่วประเทศ

“ชาวเอไอเอส พร้อมอย่างยิ่งที่จะนำ AIS 5G ที่ดีที่สุด เข้ามาเป็นเส้นเลือดใหญ่ดิจิทัลหลักของประเทศไทยจากวันนี้เป็นต้นไป เพราะวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นบทเรียนสำคัญของคนไทยและทั่วโลกว่า ท่ามกลางวิกฤติยังมีโอกาสอันยิ่งใหญ่อยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะฉกฉวยโอกาสนั้นอย่างไร” นายสมชัยกล่าว

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งซึ่งได้รับการยอมรับจากทุกประเทศว่ามีระบบสาธารณสุขที่เป็นเลิศ มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ และอื่นๆ ดังนั้นเมื่อนำเทคโนโลยี 5G เข้าไปผสมผสานในอุตสาหกรรมต่างๆ จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมและเป็นพลังช่วยพลิกฟื้นประเทศไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติได้อย่างดีที่สุด